Loader

บทความพิเศษเรื่อง "ความรู้เรื่องเครื่องหอมจุณเจิม และการเจิมของชาวฮินดู"

Started by อักษรชนนี, January 04, 2013, 16:14:59

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.


บทความพิเศษเรื่อง

" ความรู้เรื่องเครื่องหอมจุณเจิม และการเจิมของชาวฮินดู "

บทความโดย
"หริทาส"
.

*******************************

จนฺทนสฺย มหตฺปุณฺยํ ปวิตฺรํ ปาปนาศนมฺ


อาปทามฺ หรเต นิตยํ ลกฺษฺมี ติษฺฐติ สรวทา

ผลบุญใหญ่แห่ง(การจุลเจิม)จันทน์ คือทำให้บริสุทธิ์(ปวิตร) บาปทั้งปวงย่อมสิ้นไป

แม้พกพาติดตัวเป็นนิตย์ พระลักษมี(คือความมีโชค) ย่อมสถิตอยู่ในกาลทุกเมื่อ

(นิตฺยกรฺมปธติ หน้า 14)


ออกจะเป็นความสงสัยขั้นพื้นฐาน สำหรับคนที่สนใจศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมอินเดียว่าทำไมชาวฮินดู จึงมีการเจิม หรือแต้ม ผง สีต่างๆบนหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ต่างๆก็มี ไปไหว้พระที่เทพมณเฑียรทำไมเขาเจิมให้ด้วยแป้งเหลวสีส้มๆ พอไปวัดสีลมทำไมเขาใช้ผงแดงๆกับขาวมาเจิม

ผมจะพยายามค้นหาข้อความรู้ เกี่ยวกับ วัสดุที่ใช้ในการเจิม คติความเชื่อ พิธีกรรม และข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ เครื่องจุณเจิม และการเจิม เท่าที่สติปัญญา จะพอมีนะครับ และแน่นอนว่า ผมอ้างอิงความรู้เหล่านี้ จากตำหรับตำราที่ได้เรียนรู้มา จากที่ครูอาจารย์สั่งสอน ซึ่งบางแห่งบางสำนักอาจต่างออกไป แต่พยายามค้นคว้าจากที่ยึดถือกันโดยแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างนะครับ ทั้งนี้มิได้มีเจตนาจะให้ท่านต้องไปเสาะแสวงหาวัสดุแปลกๆ หรืออะไรพิเศษๆมาใช้ เพียงแต่ต้องการนำความรู้มาเสนอเท่านั้น

การเจิมนี้ จะมีมาเมื่อไหร่ไม่ีทราบได้ ในสมัยโบราณ คงได้ทำกันมาแล้ว เฉกเช่นเดียวกับการทาสัญลักษณ์ต่างๆในชาวพื้นเมืองหลายเผ่าดงัที่เราเห้นกันในปัจจุบัน ทั้งนี้โดยอาจมีจุดมุ่งหมายที่พอจะสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้คือ

1.เป็นการฉาบไล้ร่างกายด้วยสมุนไพร หรือ วัสดุต่างๆ เพื่อเหตุผลทางสุขอนามัย เป้นสำคัญ เช่น เพื่อป้องกันโรคผิวหนัง แมงสัตว์ ป้องกันแดดร้อน สร้างกลิ่นที่หอมเพื่อขจัดกลิ่นกาย  ตัวอย่างนี้เช่นในปัจจุบัน บรรดานักบวชสาธุที่เร่รร่อนไปบางทีก็ได้ใช้ขี้เถ้าจากการเผาศพชโลมร่างกาย(ว่ากันว่า เพื่อปฏิบัติเช่นเดียวกับพระศิวะบรมโยคี) ซึ่งออกฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้ไม่เป็นโรคผิวหนัง  ไม่มีแมลงสัตว์กัดต่อย  นี่อาจเป็นเหตุผลที่โบราณและจำเป็นที่สุด สำหรับการจุณเจิม เหมือนในปัจจุบันที่เราใช้เครื่องสำอางชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวว่า การเจิม โดยเฉพาะที่จุดกึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมประสาท โดยสิ่งที่มีความเย็น เช่นแป้งจันทน์ จะช่วยให้ผู้นั้นมีสุชภาพที่ดี มีประสาทที่เปิดกว้าง หรือ มีคำอธิบายในเรื่องจักระและพลังงานอีกมาก

2.เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของเผ่าหรือหมู่พวกคณะของตน อันนี้คงเป็นความหมายมาแต่เดิม จนกระทั้ง ศาสนาฮินดูแตกเป็นนิกายต่างๆ การเจิมบนหน้าผาก ด้วยสี และรูปร่างที่แตกต่างกันคงแสดงถึงความหมายในข้อนี้  กล่าวคือแสดงสัญลักษณ์ของนิกาย ซึ่งแบ่งออกเป้นนิกายของนักบวชและของฆราวาส ซึ่งของนักบวชนั่นมีมากมายหลายร้อยนิกายย่อยๆ




ตัวอย่างการเจิมหน้าผากหลายๆแบบที่แสดงถึงนิกายต่างๆ โดยเฉพาะในฝ่ายไวษณวนิกายที่นับถือพระวิษณุ
ที่แยกย่อยไปตามคณาจารย์ เช่น รามานุชะ วัลลภาจารย์ มาธวาจารย์ เป้นต้น

3.แสดงสถานภาพทางสังคมและศาสนา เช่น การเจิมในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือแสดงว่าเป็นผู้ที่ผ่านศาสนพิธีต่างๆมา

4.เหตุผลอื่นๆ อันนี้ผมคิดว่าคงเป็นคำอธิบายที่มีขึ้น "ในภายหลัง"  เช่น ความเป็นสิริมงคล   โดยเฉพาะการเจิมบนหน้าผาก ที่ถือเป้นส่วนยอดของร่างกาย ฯลฯ

ผมสังเกตว่าในหนังสือนิตยกรรม หรือหนังสือแนะนำ กิจประจำวันทางศาสนาของฮินดูนั่น มักรวมเอาเรื่องทางสุขอนามัย ผสมผสานกับเรื่องทางศาสนาอย่างแยกไม่ออก เพราะในอดีต ความรู้ทางสุขอนามัยและวิทยาศาสตร์ มิได้แยกออกจากเรื่องทางศาสนา กิจที่สะอาด จึงเท่ากับเป็น กุศลมงคลและดี

คนอินเดีย มักจะเรียกเครื่องเจิมอย่างง่ายๆรวมๆว่า จันทน์(จนฺทน) ออกเสียงว่า จันดั้น ซึ่งจริงๆคำๆนี้หมายถึง ไม้จันทน์หอม และเรียก สัญลักษณ์จุลเจิมบนหน้าผากว่า ติลก (ติลก) หรือไทยเรียกว่า ดิลก
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

การเจิมนั้นมีหลากหลายวัสดุ หลากหลายรูปแบบ ในโศลกว่า

"อูรฺธฺวปุณฺฑร มฤทา กุรฺยาทฺ ภสฺมนา ตุ ตฺริปุณฺฑฺรกมฺ

อุภยํ จนฺทเนไนว อภฺยงฺโคตฺสวราตฺริษุ" (ปฺรโยคปาริชาต-อ้างในนิตฺยกรฺม-ปูชาปฺรกาศ หน้า 39)

ทั้งรูปตัวยู(อูรฺธฺปุณฺฑฺร)  ที่เขียนด้วย โคปีจันทน์ รูปแถวสามแถว(ตฺริปุณฺฑฺร)ด้วยภัสมะ(ขี้เถ้า) ดิน น้ำคงคา ศรีขัณฑจันทน์ ฯลฯ


ที่นี่ลองมาดูว่า มีวัสดุ ที่ใช้ในการจุณเจิมกี่ชนิดอย่างไรบ้าง

ประเภทแรก

1.ไม้จันทน์(จนฺทน)

ออกเสียงว่า จันดั้น ได้แก่ไม้จันทน์หอมตามธรรมชาติ มีทั้งชนิดที่เป็นไม้จันทน์ขาว มีสีเหลืองอ่อนๆ และไม้จันทน์แดง เวลาจะใช้ต้องนำมาฝนกับหินฝน(ดังที่เห็นในภาพ)ผสมกับน้ำนิดหน่อย จะได้วัสดุเหลวๆ เช่นเดียวกับที่ชาวพม่าฝน แป้งทนคา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ บางครั้ง จึงนิยมผสมเครื่องหอม อย่างอื่นลงไป เช่น ผงจันทน์ และอัษฏคัณธะ ฯลฯ เพื่อให้ได้สีที่สวยขึ้น เช่น สีส้ม และมีกลิ่นหอมมากขึ้น รวมทั้ง มีเนื้อที่เนียนละเอียดขึ้น เป็นเครื่องหอมที่ใช้ได้โดยทั่วๆไป ทั้งในการบูชาเทพเจ้าทุกพระองค์ การแต้มหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคลโดยไม่จำกัดลัทธินิกาย  มักเจิมเป้นจุดกลมๆ หรือฉาบไล้ทั้งหน้าผากก็ได้  วัดเทพมณเฑียรใช้จันทน์ชนิดนี้ในการบูชา และเจิมแด่ศาสนิกชน




ภาพไม้จันทน์ขาว และแดง หินฝน และเครื่องหอมสำหรับผสม

นอกจากแป้งจันทน์ชนิดแท่งไม้ (ซึ่งในปัจจุบันหายากและมีราคาแพง) จึงมีแป้งจันทน์ชนิดบดเป็นผงมาแล้ว เพื่อที่ศาสนิกชนจะได้ใช้ง่ายขึ้น แต่มักมีเนื้อที่ไม่ละเอียดเท่าจันทน์ที่ฝนเอง




ผงจันทน์ขาวและจันทน์แดงที่บดแล้ว

ในคัมภีร์นิตยกรรม ถือว่าจันทน์ เป็นหนึ่งในวัสดุมงคล ที่ควรเห็นในเวลาตื่นนอน เช่นเดียว กับ ทองคำ รัตนมณี กลองมฤทังคะ ฯลฯ (โรจนํ จนฺทนํ เหมํ มฤทงฺคํ ทรฺปณมฺ มณิมฺ-นิตยกรรม-ปูชาปรกาศ หน้า 3)

นอกจากนี้ถือว่า ในการบูชา จะไม่ใช้จันทน์ที่ฝนไว้ค้างคืนด้วย เพราะหมดกลิ่นหอมและความเย็น จะต้องฝนใหม่ทุกครั้งที่ใช้และใช้ได้ภายในวันนั้นเท่านั้น
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

2.โคปีจันทน์

วัสดุ ชนิดนี้เรียกว่า โคปีจันทน์(ออกเสียง โกปีจันดั้น) หรือจันทน์ของนางโคปี ที่เรียกว่าโคปีจันทน์เพราะต้องขุดมาจาก โคปีตาลัพ หรือบ่อของนางโคปี  ที่เมืองทวารกา อันเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ นอกจากทวารกา อีกแหล่งผลิตโคปีจันทน์ คือที่พฤณทาวัน ซึ่งก็เกี่ยวพันกับพระกฤษณะเช่นเดียวกัน วัสดุนี้เป็นประเภทเดียวกับดินสอพองที่เราใช้กันในเมืองไทยมีลักษณะเป็นดินเนื้อละเอียด ปั้นเป็นแท่งๆ หรือบดเป็นผง มี่ทั้งชนิดสีขาว เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม หรือสีส้ม มีทั้งผสมกลิ่นหอม หรือไม่มีกลิ่น วิธีใช้คือน้ำมาฝนกับน้ำ ในฝ่ามือ หรือภาขนะสำหรับฝน ใช้กันในหมู่ไวษณะนิกาย หรือนิกาย ที่นับถือพระวิษณุและพระกฤษณะโดยเฉพาะ ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันออกไป ตามแต่คุรุอาจารย์จะบัญญัติให้ทำสืบต่อๆกันมา (โดยธรรมเนียม ถือว่า จะใช้สัญลักษณ์บนหน้าผาก ในอนุนิกายแบบไหน ผู้นั้นต้องได้รับ "ทีกษา" หรือปฏิญานตนเข้าถือนิกายนั้นๆก่อนจึงจะใช้ได้ แต่บางกรณี ก็อาจใช้แบบกลางๆได้ เช่นในพิธีแต่งงาน เป็นต้น นอกจากทีกษาจะกำหนดเครื่องหมายและวัสดุที่เจิมแล้ว ยังกำหนด ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ เช่น ประคำ(มีหลายแบบเช่น กระเพรา รุทรากษะ) ทรงผม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งในหมู่นักบวชจะซับซ้อนกว่าฆราวาสมาก )




โคปีจันทน์ หลากหลายแบบ เหลืองเข้ม(ผสมขมิ้นและกลิ่นหอม) เหลืองอ่อน ขาว และส้ม

ตัวอย่างการใช้โคปีจันทน์  ซึ่งโดยมาก ทำเป็นรูปตัววีV หรือตัวยู U  เรียกว่า "อูรฺธวปุณฺฑฺร" อธิบายความกันว่า เป็นสัญลักษณ์ แทนพระบาททั้งสองของพระวิษณุ จุด หรือเส้นแดง เหลือง ภายใน อธิบายว่า หมายถึงพระศรี หรือพระลักษมี ฯลฯ




การใช้โคปีจันทน์ ในไวษณวะนิกายของท่านรามานุชะฝ่ายเตงคไล (นายแบบ ผู้เขียน ทดลองเขียนให้ดู)





การใช้โคปีจันทน์ ในไวษณวนินิกายของท่านรามานุชะ ฝ่ายวัทคไล (นายแบบ ผู้เขียน จำลองให้ดู)





การใช้โคปีจันทน์ในฝ่าย เคาฑิลยพราหมณ์ ซึ่งต่อมาคือ กลุ่ม ISKON หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ หเร กฤษณะ (จำลองเจิม โดย ผู้เขียน)





การใช้โคปีจันทน์ในนิกาย สวามีนารายัณ(จำลองโดยผู้เขียน)

นอกจากจะเขียนบนหน้าผากแล้ว ยังมีการเขียนยังส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งในขณะที่เขียนนั่นจะต้อง สวดพระนามต่างๆของพระวิษณุด้วย ดังภาพ (อันนี้ต่างกันไปในแต่ละอนุนิกาย)





การเขียนสัญลักษณ์พร้อทพระนามของพระวิษณุตามส่วนต่างๆของร่างกาย ในผู้ศรัทะาไวษณวนิกาย ฝ่ายเคาฑิยพราหมณ์


WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

3.ภัสมะหรือวิภูติ คือ ขี้เถ้าศักดิ์สิทธิ์

ภัสมะ แปลว่า เถ้า บางครั้งก็เรียกว่า วิภูติ ซึ่งมีความหมายถึง การทรงพลัง อำนาจ  เป็นลักษณะผงขี้เถ้า มีสีเทาเข้มไปจนขาว วัสดุ ชนิดนี้แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะคือ

1.ขี้เถ้าที่เกิดจากการทำยัญญะบูชา(ยัชญะ)หรือการบูชาไฟ(โหม) ซึ่งหลังจากทำพิธีแล้ว จะนำมาแต้มเจิมบนหน้าผากเพื่อเป้นมงคลและแสดงว่าผู้นั้นได้เข้าร่วมในยัญญะบูชา ถือเป็นเทวปรสาท แบบหนึ่ง(ของที่เหลือจากพิธี ที่ได้รับจากเทพเจ้า)

2.ขี้เถ้าจากการเผา วัตถุบางอย่าง ในอดีตขี้เถ้าที่ใช้จุณเจิมนี้ มาจาก การเผาศพ เรียกว่า จิตภัสมะ  (ในบางวัดก็ยังทำตามประเพณีนี้อยู่เช่นวัดมหากาเลศวร)โดยปกติชาวฮินดูจะรังเกียจ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับศพ หรือความตายว่ามีมลทินโทษ  แต่มันจะกลายเป็นวัตถุที่เป็นมงคลได้ เมื่อได้ถวายบูชาแด่พระศิวะ และประกอบด้วยมนตร์แล้ว

ผงภัสมะส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่มีวางขายตามท้องตลาด จะเป็นขี้เถ้า จากการเผามูลโค หรือ ใบมะตูม ผสมกับเครื่องหอมต่างๆ เหมือนในวรรณกรรมเก่าๆของเราว่า "พราหมณ์ฉาบไล้โคมัย" โคมัยในที่นี้หมายถึงมูลโค ซึ่งโดยปกติ ไม่ได้นำมาจุลเจิมกันสดๆ แต่จะผ่านการเผาเป็นเถ้าเสียก่อน(ใช้สดๆบ้างในบางพิธีกรรม)  ภัสมะที่มีชื่อเสียงผลิตขึ้นมากในเมืองพาราณสี

นอกจากนี้ยังมีภัสมะที่ได้จากการเผาต้นตุลสี(กระเพรา) มีสีดำ ใช้เฉพาะในผู้นับถือนิกาย วารกรี อันเป็นไวษณวนิกาย ในแคว้นมหาราษฏร์





ภัสมะชนิดต่างๆ ในภาพในซองและตลับ คือภัสมะ ทั่วๆไปที่ทำจากเถ้ามูลโค
ส่วนในห่อกระดาษด้านบนเป้นภัสมะจากพิธียัชญะ ซึ่งจะมีสีเข้มกว่า และ ผงสีดำด้านข้าง คือขี้เถ้าจากการเผาใบตุลสี(กระเพรา)
ใช้เฉพาะในผู้นับถืนิกายวารกรี ในแคว้นมหาราษฏร์ ที่ถือเป้นไวษณวะสายภักติพวกหนึ่ง


ภัสมะ ถือเป็นของที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระศิวะ เพราะในปุราณะกล่าวว่าพระองค์ ชโลมพระวรกายด้วยเถ้า ในพิธีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระศิวะ จึงต้องทำการ ภัสมธารณะ หรือการไล้ทาภัสมะก่อนเสมอ แม้แต่ พิธี สันธยา หรือ การภาวนาประจำวัน การอาบน้ำ(สนาน) การบุชาไฟ การให้ทาน การท่องสวด (สวธยาย)  หรือกิจอันเนื่องด้วยบรรพบุรุษ ฯลฯ (สฺนาเน โหเม ชเป ทาเน สฺวธยาเย ปิตฤกรฺมณิ กเรา สทรฺเภา กุรฺวีต ตถา สํธยาภิวาทเน-คัมภีร์สฺมฤตยนฺตร  อ้างใน นิตฺยกรฺม-ปูชาปฺรกาศ)

วิธีใช้

ภัสมะ ในโศลกในปุราณะเขียนว่า เมื่อใช้ในเวลาเช้า ให้ใช้ภัสมะที่ผสมด้วยน้ำ ในเวลากลางวัน ให้ผสมด้วยจันทน์ ในเวลาค่ำให้ไล้ทาแห้งๆ

(ปฺราตะ สสลิลํ ภสฺม มธฺยาหฺเน คณฺธมิศฺรตมฺ สายาหฺเน นิรฺชลมฺ ภสฺม เอวํ ภสฺม วิเลปเยตฺ -เทวีภาควตปุราณะ อ้างในนิตฺยกรฺม -ปูชาปฺรกาศ หน้า 40)

เมื่อจะใช้ เทภัสมะในฝ่ามือ เสกด้วยมนตร์ "โอมฺ อคฺนิริติภสฺม....." เมื่อจะไล้ทาเสกด้วยมนตร์ "โอมฺ ตฺรยายุษมฺ ชมทคฺเน" หรือมนตร์อื่นๆในยชุรเวท

หรือ จะไล้ทา ใช้มนตร์ มหามฤตุนฺชย หรือมนตร์ปัญจากษรี "โอมฺ นมะ ศิวาย" หรือโอมฺ  (ตฺรยมฺพเกน จ มนฺเตฺรณ สตาเรณ ศิเวน วา, ปญฺจากฺษเรณ มนฺเตฺรณ ปฺรณเวน ยุเตน จ--คัมภีร์กฺริยาสาร อ้างในนิตฺยกรฺม -ปูชาปฺรกาศ หน้า 41)

แล้วเขียนเป้นรูป ตฺริปุณฑร หรือสามเส้นในแนวนอน ทั้งหน้าผากและส่วนอื่นๆของร่างกาย บางท่านอาจแค่แต้มไว้เป็นจุดเล็กๆ หรือเส้นขาวเส้นเดียวบนหน้าผาก พอเป็นสัญลักษณ์ก็ได้





ตริปุณฑรเขียนด้วยภัสมะ แบบสามแถบ




ตริปุณฑร แบบเส้นเป็นวง ใช้ภัสมะผสมน้ำ





การเจิมอูรธวปุณฑร และใช้ ผงขี้เถ้าจากการเผาต้นกระเพรา (จุดสีดำ) ในผู้นับถือนิกายวารกรี
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

4.เครื่องสำอางโบราณหลากชนิด (นานาปริมลทรฺวย)

เครื่องเหล่านี้ บางชนิดก็มีความซับซ้อนในแง่คติความเชื่อ และการใช้ที่ยาวนาน บางชนิดก็มีเพื่อเป็นเครื่องประทินผิวโดยเฉพาะ หรือเพื่อความสวยงาม ในปัจจุบัน นอกจากจะอยกใช้ตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังใช้รวมกัน ในพิีธีกรรมบูชาด้วย เครื่องนานาปริมลทรฺวย  มี 4 อย่างได้แก่

4.1 กุงกุม หรือโรลี

4.2 หริทฺรา (ขมิ้นผง)

4.3 สินฺทูร (สนิมแดง)

4.5 อภรัก (แร่ไมก้า)





นานาปริมลทฺรวย ในภาชนะ สำหรับใช้ในพิธีบูชา สีแดงคือกุงกุม สีเหลืองคือหริทรา(ผงขมิ้น)
สีส้มคือสินทูร(สนิมแดง) เกล็ดเงินๆ แววๆ คือ อภรัก(แร่ไมก้า)

เพื่อความเข้าใจที่ละเอียดยิ่งขึ้นจะขออธิบายไปทีละอย่าง

4.1 กุงกุม หรือโรลี ( กุงฺกุมฺ)

ผงชนิดนี้มีสีแดง และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้ที่บูชาหรือสนใจเกี่ยวกับพิธีกรรมของฮินดู  ผงชนิดนี้มีสีแดง ซึ่งมีหลายเฉดสี โดยมากในอินเดียภาคเหนือ มักจะเรียกว่า โรลี และมักมีสีแดงเจิดจ้า ส่วนในอินเดียภาคใต้ มักจะมีสีที่เข้มกว่า เรียกว่าุกุงกุม (ศัพท์สันสกฤต เรียกว่ากุงกุม) สิ่งที่ใช้ทำ มาจากพืช หรือแร่ธาตุบางชนิด





ผงกุงกุมหรือโรลี หลากหลายเฉดสี


การใช้กุงกุม นิยมทำเป็นจุดวงกลมสีแดงที่หน้าผาก หรือเป็นรูปหยดน้ำ หรือขีดยาวๆ    มักแสดงถึง "พระแม่"   และเป็นเครื่องบูชาพระแม่ที่จะขาดเสียไม่ได้อย่างหนึ่ง

ทำไมกุงกุม จึงเกี่ยวพันกับพระแม่ และทำไมต้องสีแดง?

ด้วยข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีและการไปเห็นอะไรต่อมิอะไรต่างๆ

สีแดง ในศาสนาโบราณ (ก่อนฮินดู ก่อนพุทธ -ศาสนาก่อนประวัติศาสตร์) หมายถึงเลือด

เลือดที่ว่า มาจากไหน

1. การบูชายัญญด้วยชีวิต คน-สัตว์ ไม่ว่าศาสนาไหนก็ทำ เพื่อสังเวยพระแม่ คนโบราณที่เป็นชาวลุ่ม(ไม่ใช่อารยัน) จะอินเดีย ยุโรปหรืออุษาคเนย์ ล้วนนับถือธรรมชาติเป็นแม่ (ดูคำในปัจจุบัน แม่น้ำ แม่ธรณี) เพราะบันดาลชีวิตจากท้องแม่ แต่ชีวิตก็ต้องมีชีวิตแลก (ตายแล้วกลับสู่ดิน น้ำท่วมพัดความอุดมสมบูรณ์มา แต่ก็พาความตายมาด้วย)

เลือดจากสัตว์ จึงต้องหลั่งสู่พระแม่ เพื่อโลกจะอุดมสมบูรณ์ด้วยปศุและอาหาร





บูชายัญด้วยเลือดและชีวิต (เนปาล)


เมื่อกระทำบูชายัญแล้ว คงได้ใช้เลือดนั้นเจิมหน้ากันเป็นมงคล (หัวสัตว์ถูกนำไปแขวน -หน้ากาล หรือ ตัวกีรติมุข)




แห่หัวสัตว์บูชาไปในพิธี(ควาย) --ที่มาของหน้ากาล? -ไม่ทราบที่มา


ในศาสนาของอารยัน อารยัน บูชายัญเหมือนกรีก ฆ่าแล้วเผาบางส่วนลงในไฟ ให้ควันลอยขึ้นไปบนฟ้า ไม่สนใจเลือด

ทุกวันนี้ในอินเดียยังบูชายัญสัตว์ถวายเจ้าแม่ (แม้ว่าในลัทธิมัจฉมัสวิรัติในปัจจุบัน จะพยายามให้ใช้ ฟักแฟงต่างๆแทนแล้วก็ตาม) พระแม่เหล่านี้ล้วนพื้นเมือง มีมาก่อนอารยัน ถูกผนวกเข้าสู่ศาสนาฮินดูในภายหลัง กระนั้นพิธีก่อนประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

2.เลือดจากประจำเดือน มองด้วยสายตาปัจจุบัน ไม่ว่าศาสนาไหน ประจำเดือนคือมลทินโทษ ห้ามเข้าเทวสถาน ห้ามเข้าพระธาตุ ห้ามร่วมพิธี แต่ในศาสนาโบราณที่นับถือผู้หญิง (ยังคงอยู่ในลัทธิศากตะ หรือตันตระ ที่นับถือเจ้าแม่ของฮินดู หรือลัทธิเพเกินในตะวันตก) พระเจ้าต้องเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงเท่านั้นที่ให้กำเนิดชีวิต  และสิ่งแสดงว่าผู้หญิงพร้อมจะให้กำเนิดชีวิตได้คือการเริ่มมีประจำเดือน เลือดสีแดงที่หลั่งออกมาจากอวัยเพศหญิง จึงศักดิ์สิทธิ์ สำหรับคนโบราณ จนศาสนาแบบผู้ชายเป้นใหญ่เข้ามาแทน ความหมายเดิมถูกแทนด้วย ความสกปรก และมลทิน (ที่กล่าวเช่นนี้มิได้จะชักชวนให้พากันเอาเลือดมาเจิมหน้่าผาก หรือทำอะไรแบบนั้น แต่้ต้องการให้เข้าใจคติความเชื่อของคนโบราณเท่านั้น)

แต่สำหรับศาสนาฮินดู อาจยังคงรักษา คติความเชื่อนี้ไว้ได้อยู่ ตัวอย่างคือ การบูชาเทพฝ่ายสตรี ที่ต้องมีสัญลักษณ์ รูปสามเหลี่ยมคว่ำ สีแดง(แทนอวัยวะเพศหญิง ถ้าเพศชายมันเป็นสามเหลี่ยมหงายสีขาวหรือเหลือง) ดังปรากฏในยันตร์ต่างๆ และใน มณฑลของพระเคารีในพิธีบูชาต่างๆ





ยันตร์พระกาลี ตัวอย่างของอวัยวะเพศหญิงในรูปสามเหลี่ยมคว่ำสีแดง


นอกจากนี้ยังมีการบูชาสัญลักษณ์รูปอวัยวะเพศ และนำผงเจิมไปแต้มอวัยวะเพศของเทวรูปและนำมาแต้มหน้าผาก ตัวอย่างคือวัด กามขยเทวี ในรัฐอัสสัม ที่เชื่อกันว่า เป็น "โยนิปีฐ" หรือส่วนอวัยเพศเจ้าแม่ที่ตกลงมายังโลก ในสมัยพระแม่สตีสิ้นพระชนม์ ตามตำนาน ศักติปีฐ




เทวรูปเทพสตรีในวัดกามขยเทวี ที่ถูกนำผงกุงกุมไปแต้มที่อวัยวเพศ แล้วนำมาจุณเจิมหน้าผาก สาวก





การบูชาสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงในวัดกามขยเทวี


สีแดงจึงเป็นสีของเจ้าแม่ นักบวชลัทธิศากตะต้องนุ่งผ้าแดง ดอกไม้บูชาสีแดง ฯลฯ

มันเข้ากับอุษาคเนย์ได้ดี ดังนั้น จึงช่วยตอบคำถามว่า ทำไมการนับถือเจ้าแม่มันแพร่หลายได้ง่ายในบ้าน

เพราะมันตรงกันในทางคติความเชื่อผีพื้นเมืองของเรา

กุงกุมจึงเป็นของที่มีนัยพิเศษ ในเครื่องจุณเจิมทั้งหลาย (จริงๆ อาจคุยเรื่องนี้กันได้อีกยาวๆ) เพราะศาสนาฮินดูเป็นศาสนาโบราณ สิ่งที่เคยมีมาก่อนประวัติศาสตร์ที่รักษากันมา บางครั้งถูกก่อสร้างคำอธิบายใหม่ ทับของเดิม หรือใช้เทวตำนานกลบเกลื่อนสิ่งที่มีอยู่เดิม หรือพยายามจะอธิบายอย่างให้มีความละเมียดและเหตุผล

จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจทั้งสองส่วนได้

ขอยุติเรื่องกุงกุมเท่านี้ก่อนเดี๋ยวจะไปซะไกล
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

4.2 หริทฺราหรือผงขมิ้น

ผงขมิ้น เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ มีสรรพคุณทางยามากมาย ทำให้ผิวมีสีเหลืองทอง(แบบที่คนสมัยก่อนเขาว่าสวย)  นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันสัตว์ร้ายในน้ำได้เพราะมันเกลียดกลิ่นขมิ้น นัยของขมิ้น ในภาษาสันสกฤตยังหมายถึงความมีเสน่ห์อีกด้วย ขมิ้นเป็นเครื่องจุณเจิมที่ใช้ทั่วๆไป หรือใช้ประกอบกับสิ่งอื่นเพื่อให้เกิด สีสันที่สวยงาม ไม่ได้มีการใช้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ





ขมิ้นผง


4.3 สินทูร

ในพจนานุกรมสันสกฤต แปล สินฺทูร ว่า สนิมแดง บางคนออกเสียงผิดเป็น ซินดู๊ส (จริงอ่านใกล้เคียง ซิน ดู เ่ร่อะ) ผงชนิดนี้มักมีสีส้ม (แดงบ้างก็มี) มีเฉดสีอ่อนแก่ต่างกัน ผลิตจากแร่ธาตุบางชนิด




ผงสินทูร


สินทูร มักใช้ในหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว โดยให้สามีเจิมที่เฉกผมบนศีรษะเป็นเส้นยาว ซึ่งจะทำการเจิมครั้งแรกในพิธีแต่งงาน เรียกว่าพิธีสินทูรทาน




พิธีสินทูรทาน ในการแต่งงานของชาวฮินดู




การเจิมสินทูรบนศีรษะ ในพิธีสินทูรทานของเจ้าสาว


นอกจากนี้ผงสินทูรยังถือเป็นสิ่งที่พระคเณศโปรดปราน (บางท่านว่า คือสีพระวรกาย) และเป็นสีประจำของศาสนาฮินดู จึงมักใช้ แต้มทายังองค์เทวรูป ตัวอย่างเช่น พระคเณศอัษฏวินายก ในแคว้นมหาราษฏร์ ที่ถูกแต้มเจิมด้วยผงชนิดนี้ทั่วทั้งองค์




รูปพระจินตามณี หนึ่งในพระคเณศอัษฏวินายก ที่ถูกแต้มเจิมด้วยผงสินทูร


ดังนั้น ในวัดที่เกี่ยวข้องกับพระคเณศโดยเฉพาะ มักมีผงสินทูรแต้มเจิมให้ศาสนิกชน(เจิมแบบแห้งๆ)บนหน้าผาก ในฐานะที่เป็น เทวปรสาทหรือของประทานจากพระคเณศ

4.4 อภรัก (Abhrak)

สิ่งนี้ไม่รู้ว่าในภาษาไทยเรียกว่าอะไร พยายามสืบค้นจนทราบว่า คือ แร่ไมก้า(Mica) มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ เป็นแผ่นบางๆ มีความแวววาว สะท้อนแสง มีสีเงิน คล้ายๆกากเพชร





เกล็ดแร่ไมก้า หรืออภรัก


อภรักนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสำอางโบราณ ทำนองเดียวกับการใช้เครื่องสำอางที่มีกลิสเตอร์ ในปัจจุบัน เพื่อความระยิบระยับแวววาว  ไม่ได้เป็นเครื่องจุณเจิมที่มีข้อบ่งใช้พิเศษ


5.อักษัต

อักษัต (อกฺษตฺ) คือข้าวสาร ที่ย้อมด้วยผงกุงกุม หรือผงจันทน์ หรือขมิ้นก็ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เครื่องประทินผิวโดยตรง แต่ก็ใช้เจิม ควบคู่กับการใช้จันทน์ หรือกุงกุม เช่นเมื่อเจิมด้วย จันทน์หรือกุงกุมแล้ว ก็นำข้าวสารชนิดนี้ติดไปยังที่ๆเจิมไว้แล้วอีกที





อักษัตย้อมด้วย กุงกุม


อักษัต แปลว่า ไม่แตกหัก เนื่องจากข้าวเป็นเมล็ดพืช ที่ไม่สามารถแยกออกเป็นสองส่วนเช่นถั่วต่างๆ จึงมีความหมายที่เป็นมงคลว่าไม่แตกหัก  การใช้อักษัตนี้ ท่านอาจารย์บัณฑิตลลิตท่านเล่าให้ฟังว่า ในสมัยโบราณ คนสมัยก่อนเมื่อเจิมเครื่องหอมแล้ว ก็เอาไข่มุกมาติดตามหน้าผาก เป็นเครื่องประดับ ในปัจจุบันเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้วจึงใช้อักษัตแทน (ตามบทที่สวดว่า อลํการเถ อกฺษตาน สมรปายามิ คือใช้อักษัตแทนเครื่องอลังการต่างๆ)

นอกจากนี้อักษัต ยังใช้ในอีกมากมายหลายพิธี เช่นการปรติษฐา การทำบูชา ใช้แทนองค์เทพยดาในพิธี ใช้แทนสิ่งต่างๆในการบูชา ฯลฯ ถือเป็นของอย่างหนึ่งที่ขาดมิได้ในการบูชา

แต่ห้ามใช้บูชาพระวิษณุโดยเด็ดขาด (นากฺษไตรฺรจเยทฺวิษฺณุํ ..... นิตฺยกรฺมปธติ หน้า60) อันนี้อาจเกี่ยวพันกับคติ พระแม่ และการนับถือเทพเพศชาย(ต้องวิเคราะห์กันต่อไป)





อักษัต ติดบนหน้าผาก
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

เครื่องประกอบอื่นๆ

โดยมากเครื่องประกอบเหล่านี้ มีไว้เพื่อ ทำให้แป้งที่ฝนจากไม้่จันทน์มีสีสวยและหอมขึ้น เช่น ผงชวธุ ผงจันทน์สีส้มชนิดต่างๆ ผงอัษฏคัณธะ หรือผงหอม 8 กลิ่น ฯลฯ ซึ่งอันนี้เป็นเครื่องประกอบเท่านั้น บางคนที่ซื้อผงจำพวกนี้ไปใช้ก็จะ พบว่า เมื่อนำไปผสมน้ำจะเหลวจนไม่สามารถใช้ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของเครื่องหอมเหล่านี้คือเพื่อให้นำไปประกอบเครื่องจุณเจิมอย่างอื่น  ไม่ได้เอาไว้จุณเจิมโดยตรง





ผงชวธุ(ผงละเอียดๆสีน้ำตาล สำหรับเพิ่มความหอม) และผงจันทน์แบบที่ใช้เพื่อเพิ่มสีและกลิ่นหอม


ในปัจจุบัน เพื่อความสะดวก จึงมีบริษัทที่ผลิต ผงจันทน์สำเร็จรูป ผสมทั้งเครื่องหอมและสีต่างๆ ไว้แล้ว พร้อมที่จะให้นำไปใช้ได้ทันที่  ผู้ใช้เพียงนำไปผสมน้ำในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นก็จะนำไปใช้ได้เลย แต่ ผงจันทน์ที่ใช้นั้น เท่าที่สังเกต มักเป็น ประเภทโคปีจันทน์บด  ผสมเครื่องหอม ไม่ใช่ผงไม้จันทน์ ผงนี้มีหลายเฉดสี หลายกลิ่น แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้ และหาซื้อได้ง่ายที่สุด ใช้กันแพร่หลายที่สุด





ผงจันทน์สำเร็จรูป ที่มีวางขายทั่วไปในปัจจุบัน

ในการบูชาแต่ละครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือส่วนตัว ก็ตาม ก็มักใช้เพียง เครื่องจุณเจิมดังนี้

1.ผงจันทน์ ใช้สำเร็จรูปหรือฝนผสมเองก็ได้

2.กุงกุม

3. นานาปริมลทรวยะ ทั้ง 4 อย่าง แต่บางครั้งไม่สามารถหาได้จริงๆก็ไม่เป็นไร

4.อักษัต

ในบางครั้งถ้ามีการบุชาพระศิวะ ก็เพิ่มผงขี้เถ้าไปด้วย





เครื่องจุณเจิมที่ใช้ในพิธีต่างๆ ของฮินดู


ฟังอย่างนี้หลายท่านคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า  ถ้าไม่มีเครื่องจุณเจิมเหล่านี้จะทำอย่างไร

ไม่ต้องกังวลครับ เพราะสาระสำคัญ คือการถวายเครื่องไล้ทาที่มีกลิ่นหอม ดังนั้น ท่านจะใช้ดินสอพอง กระแจะจันทน์ ผสมน้ำอบแบบไทยๆ หรือน้ำปรุง ก็ไม่ผิดแต่อย่างใดครับ

ไม่จำเป็นต้องขวนขวายให้ลำบากเกินไป

หวังว่่าคงจะเป็นประโยชน์และได้รับความรู้ตามสมควรกันนะครับ  คุณความดีใดที่ท่านได้รับจากการอ่าน ขออุทิศให้กับครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ทุกท่านครับ

และหวังว่าท่านจะเข้าถึงสารสำคัญของศาสนาฮินดู เพราะพิธีกรรมจริงๆแล้วก็เป็นเพียงอุบายหรือเทคนิควิธีการอย่างหนึ่ง ในการเข้าสู่ความจริง หรือเพิ่มพูนศรัทธา ซึ่งย่อมมีแตกต่างหลากหลายกันไปครับ แต่ถ้าเราติดอยู่ตรงพิธีกรรม การไปต่อก็ลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

                  ทางทีมงานเว็บมาสเตอร์ และสมาขิก www.HinduMeeting.com ต้องขอขอบพระคุณพี่หริทาส เป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาอนุญาตให้เผยแพร่บทความที่มีสาระประโยชน์นี้ ในเว็บ HinduMeeting ของพวกเราครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0


ว้าววว!!! ได้ความรู้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกแล้ว ขอบคุณครับ
เรื่องของ ผงเจิมและเครื่องหมาย ก็พึ่งได้รู้ละเอียดก็วันนี้แหล่ะครับ
มีภาพด้วย ชัดเจนดีจังครับ