Loader

บทความพิเศษเรื่อง "สาระน่ารู้เกี่ยวกับเทศกาลคเณศจตุรถี"

Started by อักษรชนนี, August 26, 2014, 19:52:11

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

คเณศจตุรถี (Ganesha Caturthi )

เรียบเรียง โดย "ศรีหริทาส"

       

             พระพิฆเนศวร์ทรงเป็นที่เคารพสักการะทั้งในประเทศอินเดียและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศอินเดีย แคว้นที่เคารพพระพิฆเนศวร์เป็นพิเศษ คือแคว้นมหาราษฏร์ ซึ่งครอบคลุมเมืองมุมไบ และเมืองใกล้เคียงอื่นๆ  ดังจะเห็นได้จากจำนวนเทวสถานขององค์พระพิฆเนศวร์จำนวนมากมายในดินแดนแถบนั้น และเทศกาลที่ถือว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด คือ “ คเณศจตุรถี ”
พิธีคเณศจตุรถี หรือ วินายกจตุรถี( Vinayaka caturthi ) หรือ คเณโศตสวะ( Ganeshotsava ) คือพิธีสักการะพระคเณศ โดยถือว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระองค์ จตุรถี แปลว่า ลำดับที่ 4 ซึ่งหมายถึงวันขึ้น 4 ค่ำ(ศุกลปักษะ จตุรถี)ในเดือนภัทรบท( Bhadrapad )ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงราวๆกลางเดือนสิงหาคม และกันยายนของทุกปี ในพิธีนี้จะมีการปั้นเทวรูปพระคเณศขึ้นจากวัสดุธรรมชาติเช่นดินเหนียว หรือวัสดุอื่นๆ  ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กไม่กี่นิ้วไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าตึกสองหรือสามชั้น จากนั้นจะสร้าง “ มณฑป( Mandapa ) ” ขึ้น เพื่อประดิษฐานเทวรูปดังกล่าว รูปแบบของมณฑปขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและงบประมาณของเจ้าภาพเป็นสำคัญ ในเทศกาลคเณศจตุรถีบางแห่งมีการประกวดมณฑปและองค์เทวรูปทั้งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และความสวยงาม แม้แต่องค์เทวรูปที่สร้างขึ้นในเทศกาลก็ไม่ได้ถูกกำหนดรูปแบบที่ตายตัวไว้ เราจึงเห็นการสร้างเทวรูปพระคเณศในรูปแบบแปลกๆ เช่น พระคเณศในรูปแบบฮีโร่ในภาพยนตร์ซึ่งจะเห็นๆได้ เฉพาะในเทศกาลนี้เท่านั้น   เมื่อการเตรียมการต่างๆพร้อมแล้ว จะมีการอัญเชิญเทวรูปพระคเณศขึ้นประดิษฐานในมณฑป และเชิญพราหมณ์มาทำพิธี “ ปราณประติษฐา ” หรือการทำให้เทวรูปนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จากนั้นจะทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนาที่เรียกว่า โษทโศปจาร(อุปจาระทั้ง 16) เช่นการสรงด้วยนม ด้วยน้ำผึ้ง การบูชาด้วย ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ ตามด้วยสวดมนตร์ที่เรียกว่า “ คเณศาถรวศีรษะ ” หรือ คเณศ อุปนิษัท ในคัมภีร์พระเวท และทำการบูชาด้วยประทีป หรือการอารตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย นอกจากนี้ชาวฮินดูที่มีศรัทธาจะถือพรตอดอาหารหรือทานแต่มังสวิรัติ ในช่วงเทศกาลจตุรถีอีกด้วย

           การประดิษฐานพระคเณศจะเริ่มประดิษฐานไว้ตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำ(ศุกล จตุรถี)ไปจนถึงวัน
อนันตะ จตุรทศี หรือวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ในทุกๆวันจะมีการชุมนุมกันสวดมนตร์ และทำพิธีอารตีในเวลาค่ำ เมื่อถึงวันที่ 11 ที่เรียกว่า พิธีวิสรชัน หรือการส่งเทพเจ้ากลับเทวโลก ในวันนั้น จะมีพิธีการบูชาด้วยอุปจาระทั้ง 16 ขั้นตอน อีกรอบหนึ่ง และจะจัดขบวนแห่ เทวรูปไปตามท้องถนน พร้อมด้วยการบรรเลงดนตรีและการเต้นรำอย่างสนุกสนาน โดยจะมีการร้องตะโกนถวายพระพรแด่พระคเณศ เช่น  “ คณปติ บ๊าปป้า โมรยา !” (พระบิดาคเณศจงเจริญ) มงคล มูรติ โมรยา ! (พระผู้มีรูปมงคลจงเจริญ)ในภาษามาราฐี เป็นต้น และมีการสาดผงสินทูรหรือ ผงอพีระ สีแดง เพื่อเป็นสิริมงคล ไปยังผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน การแห่เทวรูปจะแห่ไปที่ทะเล หรือที่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้  เมื่อถึงชายฝั่งจะมีการทำพิธีอารตีอีกรอบหนึ่ง และ นำเทวรูปนั้นไปลอยลงในทะเลหรือแม่น้ำ เท่ากับ ได้ส่งพระคเณศกลับยัง   เทวโลก นอกจากนี้ชาวอินเดียยังเชื่อว่าการที่เทวรูปนั้นสลายสู่สภาวะเดิม เป็นการแสดงสภาวะของธรรมชาติ และถือว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เพราะแม่น้ำและดินจะได้รับพรจากองค์เทวรูปที่ได้ผ่านพิธีกรรมไปแล้วด้วย

         ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เดิมเทศกาลคเณศจตุรถีมิได้เป็นเทศกาลที่แพร่หลายระดับรัฐ แต่ในปี ค.ศ. 1893 ท่านพาล คงคาธร ดิลก นักเคลื่อนไหวทางสังคมและนักปฏิรูปสังคมอินเดีย ได้ปรับปรุงพิธีนี้และยกระดับให้เป็นพิธีของรัฐด้วยเห็นว่า พระคเณศนั้นทรงเป็น “ เทพเจ้าของทุกๆคน ” ซึ่งไม่ว่าคนในวรรณะไหนก็สามารถบูชาและเข้าถึงพระองค์ได้ การจัดเทศกาลนี้ก็ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นไปในตัว โดยเฉพาะชนชั้นพราหมณ์และพวกไม่ใช่พราหมณ์ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ออกกฎไม่ให้มีการชุมนุมกันตามท้องถนน โดยอาศัยการแห่พระคเณศออกมาในวันสุดท้ายของเทศกาล


          พิธีคเณศจตุรถีจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีความร่วมมือร่วมใจที่ต้องอาศัยกำลังของบุคคลในชุมชน ทั้งในส่วนของการจัดเตรียมองค์เทวรูป การสร้างประรำพิธี การจัดพิธีการบูชาและการแห่แหนในวันสุดท้าย  นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอินเดียไปสู่ชาวโลก ชาวอินเดียจึงมีความภาคภูมิใจในเทศกาลนี้มากและนับว่าเป็นเทศกาลที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมากที่สุด
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ทางทีมงานเว็บมาสเตอร์ และสมาขิก www.HinduMeeting.com ต้องขอขอบพระคุณพี่หริทาส เป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาอนุญาตให้เผยแพร่บทความที่มีสาระประโยชน์นี้ ในเว็บ HinduMeeting ของพวกเราครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0