Loader

บทความพิเศษเรื่อง " ชีวิตนักบุญฮินดู : สันตะเอกนาถ (Sant Eknath) "

Started by อักษรชนนี, November 23, 2012, 12:14:14

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

บทความพิเศษเรื่อง " ชีวิตนักบุญฮินดู : สันตะเอกนาถ (Sant Eknath) "

บทความโดย หริทาส

****************


ช่วงสองสามวันมานี้ ระลึกนึกถึงนักบุญท่านนึงในศาสนาฮินดู คือ ท่านสันตะเอกนาถ (Sant Eknath)(1533–1599) หนึ่งในนักบุญยิ่งใหญ่แห่งแคว้นมหาราษฎร์(Maharashtra)

ท่านเอกนาถ เป็นนักบุญยุคกลางที่มีเอกลักษณ์ที่ขันติธรรม ความเมตตากรุณาในเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ และเป็นนักบุญท่านแรกๆที่เน้นการปฏิรูปสังคม โดยเฉพาะกับคนที่ถูกข่มเหง หรือคนวรรณะต่ำในอินเดีย

ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ต่อมาได้ไปเรียนกับท่านชนารทนสวามี ซึ่งเป็นผู้รู้พระเวทและโยคะ จนเกิดประสบการณ์แห่งสมาธิรวมจิตเป็นหนึ่งเดียวกับท่านคุรุ และรอบรูทั้งพระเวทและปุราณะ ในเวลาต่อมา ท่านคุรุได้ให้กลับไปบ้านเพื่อครองเรือนตามประสงค์ของปู่ย่า ท่านจึงครองเพศคฤหัสถ์และแต่งงานกับ คิริชาพาอี(Girija Bai) ซึ่งเป็นภรรยาที่สมกับความเป็นภรรยาแห่งนักบุญทุกประการ มีจิตใจที่ไม่ต่างจากท่าน

ท่านเน้นสอนผู้คนให้เมตตา มีความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า(พระปาณฑุรังคะ หรือพระวิฑล หรือ วิโฑพา ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระกฤษณะ ประดิษฐานอยู่ที่ปันธรปุระ ดูในภาพ)

ท่านได้แปล "ภาควตปุราณะ" จากสันสกฤต สู่ภาษามาราฐี เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้

มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับจิตใจแห่งความเป็นนักบุญของท่าน

เรื่องแรก ท่านลงอาบน้ำที่แม่น้ำโคทาวารีตามประเพณีพราหมณ์ในตอนเช้า เมื่อขึ้นมาก็โดน มุสลิมผู้หนึ่ง ถ่มน้ำลายใส่ด้วยความคะนอง ท่านจึงลงกลับไปอาบน้ำอีกเพื่อล้างคราบน้ำหมากน้ำลาย แต่เมื่อกลับขึ้นมา ก็โดนถ่มน้ำลายใส่อีกหลายต่อหลายครั้งแต่ท่านก็ไม่ได้โกรธเคืองแต่อย่างใด

มุสลิมผู้นั้นอยากจะรู้ว่าท่านจะทนได้สักแค่ไหน จึงถ่มน้ำลายใส่ท่านขณะขึ้นจากน้ำอย่างซ้ำๆถึง 108 ครั้ง!

ครั้นถ่มไปมากถึงเพียงนั้น ท่านก็หาได้แสดงความโกรธไม่ จนมุสลิมผู้นั้นสำนึกผิด ร้องไห้ก้มกราบขอขมาในความผิดของตน

แต่ท่านกลับกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขอโทษเลย ท่านเสียอีกต้องขอบคุณต่อมุสลิมผู้นั้น เพราะทำให้ท่านได้มีบุญลงอาบในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ถึง108 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เป้นวันที่ท่านได้บุญมากมายมหาศาล

ท่านนักบุญเอกนาถถือว่า ทุกสรรพชีวิตมีกายเป็นวิหาร มีพระเป็นเจ้าอยู่ภายในใจ ดังนั้นท่านจึุงเคารพและให้เกียรติทุกชีวิต แม้ว่าชาติกำเนิดของท่านจะเป็นพราหมณ์ แต่ก็ไม่เคยรังเกียจคนวรรณะต่ำหรือสัตว์ต่างๆเลย เรื่องราวเกี่ยวกับความรักในเพื่อนมนุษย์ของท่านมีดังนี้

คราหนึ่งในเทศกาลศราทธ หรือเทศกาลอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษของชาวฮินดู ตามธรรมเนียมจะมี
การเชิญพราหมณ์มารับประทานอาหารที่บ้านเพื่ออุทิศกุศล เชื่อกันว่า เทพบิดร(ปิตฤ)จะได้รับอาหารนั้นด้วย

ในช่วงนั้น ขณะที่คิริชาพาอี ภรรยาของท่านเอกนาถเตรียมอาหารในครัว กลุ่มคนจัณฑาล(ชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคม)เดินผ่านบ้านของท่านพอดี และได้กลิ่นอาหารเข้า คนเหล่านั้นเปรยว่า
"แหม่ กลิ่นอาหารช่างหอมหวลเสียจริง ใครได้กินอาหารนี้คงเป็นบุญปากแท้ หิวเหลือเกิน"

ท่านเอกนาถได้ยินเข้า จึงเชื้อเชิญคนเหล่านั้นทั้งหมดให้เข้ามาทานอาหารที่บ้าน

แต่คิริชาพาอีร้องท้วงขึ้นว่า
"อย่ามาแค่นี้ กลับไปพาลูกเมียมาด้วย"
คนจัณฑาลเหล่านั้นจึงได้ทานอาหารในบ้านท่านเอกนาถ

ขณะเดียวกัน บรรดาพราหมณ์ต่างพากันรังเกียจ ไม่มีใครยอมเข้ามาทานอาหารในบ้าน พร้อมบริภาษท่านเอกนาถว่า บรรพบุรุษจะต้องหิวโหยแน่เพราะไม่ได้เลี้ยงอาหารแก่พราหมณ์

เล่ากันว่า ทันใดนั้นเทพบิดรหรือบรรพบุรุษต่างพากันมาจากปิตฤโลก ลงมาทานอาหารต่อหน้าพวกพราหมณ์เหล่านั้น

พวกพราหมณ์เก็บความแค้นไว้ วันหนึ่งจึงไปจ้างพราหมณ์แก่ให้ไปทำให้ท่านเอกนาถโกรธ
พราหมณ์คนนั้นเดินสวมรองเท้า เหยียบเข้าไปนั่งยังแท่นบูชาขณะที่ท่านเอกนาถกำลังบูชาพระอยู่

ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ท่านถอดรองเท้าของพราหมณ์ผู้นั้นออก นำถาดบูชารองเท้าของพราหมณ์ ล้างเท้า กระทำบูชาด้วยของที่ท่านเตรียมไว้สำหรับเทพเจ้า ท่ามกลางความตกตะลึงของพราหมณ์คนนั้น

"อติถิ เทโว ภว แขกผู้มาเยือนคือเทพเจ้า"

จากนั้นก็หาอาหารให้พราหมณ์กิน พราหมณ์แก่หาวิธีสุดท้ายที่จะทำให้ท่านโกรธ

จู่ๆก็กระโดดขี่หลังภรรยาของท่าน

ด้วยความเยือกเย็นท่านเอกนาถ จึงบอกภรรยาว่า "ดูแลท่านให้ดี ท่านขี่หลังเหมือนเด็กๆ ให้คิดว่าท่านคือลูกแล้วกันนะ" ภรรยาท่านรับคำ

พราหมณ์ผู้นั้นรีบลงจากหลัง ก้มกราบขอโทษ แล้วบอกความจริงทั้งน้ำตาว่า พราหมณ์พวกนั้นบอกว่า ถ้าทำให้ท่านเอกนาถโกรธได้ จะได้เงิน 6 รูปี

่ท่านเอกนาถจึงบอกกับพราหมณ์ว่า "ถ้าท่านบอกเราอย่างนี้แต่แรก เราจะโกรธท่าน"

จากนั้นท่านแกล้งทำเป็นดุว่าให้พวกพราหมณ์ที่รอดูเหตุการณ์อยู่ข้างนอกได้ยิน เพื่อที่พราหมณ์แก่จะได้เงิน 6 รูปี


ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแง่มุมแห่งความกรุณาในชีวิตของท่านอีกมากมาย

ไม่ว่าค่ำมืดดึกดื่นแค่ไหน หากมีแขกมาหาท่านจะต้อนรับเสมอ และภรรยาของท่านก็จะทำหน้าที่หุงหาอาหารให้แขกทานอย่างอิ่มหนำ

ท่านเชิญคนทุกชนชั้นมาทานอาหารที่บ้าน และไปทานอาหารในบ้านคนวรรณะต่ำอย่างไม่รังเกียจ

คราวหนึ่ง มีขโมยขึ้นบ้านท่านกลางดึก ในความมืด ขโมยผู้นั้นพยายามควานหาของเท่าที่จะหยิบได้

ท่านเอกนาถตื่นขึ้น และพบว่า ขโมยกำลังเงอะๆงะๆกับการหาของมีค่าในความมืด

ท่านจึงหยิบกล่องทรัพย์สินส่งให้ขโมย

ขโมยผู้นั้นตกใจมาก รีบก้มกราบขอโทษด้วยกลัวความผิด บอกกับท่านว่าเขาไม่ได้ทานอะไรมาเลย ที่ขโมยก็เพราะทำไปด้วยความหิว

ท่านเอกนาถตามไฟในบ้าน ปลุกคิริชาพาอีให้ตื่นเข้าครัว ทำอาหารกลางดึก

ขณะคิริชาพาอีเข้าครัวอย่างไม่อิดออด ท่านเอกนาถสำทับว่า "อย่าลืมทำให้เกินไว้นะ จะได้ใส่ห่อให้เขาเอากลับไปกินที่บ้านด้วย"...

นี่คือจิตใจแบบนักบุญ

ความเมตตาของท่านยังเผื่อแผ่ไปสู่สัตว์ทั้งหลาย เล่ากันว่า
ขณะที่ท่านเดินทางแสวงบุญตามประเพณีโบราณ คือ ตั้งต้นที่เมืองพาราณสี ตักน้ำจากแม่น้ำคงคาในพาราณสี ลงใต้ไปยังราเมศรัม เอาน้ำคงคาสรงพระราเมศรัมแล้ว ก็ตักน้ำทะเลจากราเมศวรัมกลับมาสรงพระวิศนาถที่พาราณสี จึงจะถือว่าการยาตราบริบูรณ์ ซึ่งกินเวลายาวนาน และระยะทางวที่ยาวไกล

ขณะท่านเดินทางไปราเมศรัม ก็พบกับ ลาตัวหนึ่งกำลังจะตายเพราะขาดน้ำ

ท่านจึงนำน้ำคงคาที่ตักมา เทให้ลาดื่มจนหมด

เพื่อนร่วมทางถามท่านว่า "แล้วท่านจะเอาอะไรไปสรงราเมศรัม?"

"เราสรงราเมศรัมที่สถิตในลาตัวนั้นไปแล้ว"


เล่าสืบกันมาว่า ความรักความเมตตาของท่านต่อผู้อื่น เป็นที่ประทับใจของพระผู้เป็นเจ้ามาก พระปาณฑุรังคะ หรือพระกฤษณะพระองค์เอง จึงได้ปลอมตนมาเป็นศิษย์คนหนึ่งของท่านและอยู่รับใช้ท่านเอกนาถถึง 12 ปี
(ตำนานของทางมาราฐา มักเล่าว่าพระเป็นเจ้าปาณฑุรังคะ หรือพระวิโฑพาเจ้า ชอบที่จะมามีปฏิสัมพันธ์กับสาวกเสมอๆ มาช่วยทำงานบ้านก็มี ในชีวิตนักบุญท่านอื่นๆก้มีเรื่องประมาณนี้ แต่ถึงกลับมาเป็นศิษย์ของสาวกตนเอง มีแค่ท่านเอกนาถ นี่คือแง่งามของความรักระหว่างพระเจ้ากับสาวก ในกลิ่นแบบฮินดูๆ)

คำสอนของท่านเอกนาถ เรียบง่าย เน้นชีวิตคฤหัสถ์ ไม่จำเป็นต้องออกบวช ไม่จำเป็นต้องทำพิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน ท่านสอนผู้คนให้ทำ "นามสังกีรตนัม"คือขับร้องสวดท่องพระนามแห่งพระเป็นเจ้าด้วยจิตใจซาบซึ้งเบิกบาน หนทางในการเข้าสู่พระเจ้าคือความรัก ท่านสอนให้ผู้คนไม่แบ่งแยก และมีเมตตาเคารพต่อกันเพราะพระเจ้าสถิตในทุกชีวิต

ท่านสร้างผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดคือการแปล ภาควตปุราณะเป็นภาษาพื้นเมืองเรียกว่า เอกนาถี ภาควัตตัม นอกนั้นยังปรับปรุงคัมภีร์ "ชญาเณศวรี" หรือ ภควัทคีตาฉบับที่ท่านนักบุญชญาเณศวร ซึ่งเกิดก่อนท่านถึง300 ปีแปลไว้ และบทกวีนิพนธ์ที่ใช้ขับร้อง เรียกว่า อภังคะอีกจำนวนหนึ่ง

ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เล่ากันว่า เมื่อได้สั่งเสียลูกศิษย์แล้ว ท่านได้เข้า "มหาสมาธิ"(คือการตายของนักบุญหรือนักบวช) โดยร่างท่านได้จมหายไปในแม่น้ำโคทาวารี เช่นเดียวกับนักบุญชญาเณศวรที่ท่านนับถือ


WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

                 ทางทีมงานเว็บมาสเตอร์ และสมาชิก www.HinduMeeting.com ต้องขอขอบพระคุณพี่หริทาส เป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาอนุญาตให้เผยแพร่บทความที่มีสาระประโยชน์นี้ ในเว็บ HinduMeeting ของพวกเราครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆที่นำมาให้เราได้อ่านนะครับ
                     
                    Jai Maa Adhi Shakti
                     जय माँ आधी शक्ति

นมัสเต

ขอขอบคุณสำหรับบทความมากๆครับ  ทำให้ได้ข้อคิดหลายๆอย่าง
ผมประทับใจตอนที่ท่านเชิญจัณฑาลมารับประทานอาหารร่วมกัน แสดงว่าท่านเข้าใจความเป็นระบบวรรณะอย่างจริงและไม่เลือกปฎิบัติกับระบบวรรณะเลยครับ
และผมประทับใจตอนที่ท่านโปรดลาโดยการนำน้ำจากแม่น้ำคงคาให้ลาดื่ม  แสดงให้เห็นว่าการโปรดสัตว์เป็นกุศลอันดีงามจริงๆครับ

โอม ศานติ ศานติ ศานติ
[HIGHLIGHT=#ffffff][HIGHLIGHT=#ffffff]Ohm Sri Ganesha [/HIGHLIGHT]Namah~~
Ohm Aaham Brahma asmi ~~

Ohm Sri Sarawati Namah~~
[/HIGHLIGHT]

ชอบมากๆเลยครับ ท่านเป็นนักบุญที่ไม่มีที่ติเลยนะครับ
สุดยอดเลย   

ไม่มีที่ติเลยจริงๆ ท่านนับว่าเป็นนักบุญที่มีจิตใจประเสริฐสูงสุด สาธุชนควรที่จะระลึกถึงท่่่่านอยู่เสมอ

พอน้องได้อ่านเรื่องราวของท่านแล้ว ท่านทำให้น้องมีกำลังใจที่จะปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีอารมณ์เยือกเย็นอย่างท่านได้ขึ้นเยอะเลยค่ะ
เจ สันตะเอกนาถ เจ สันตะเอกนาถ เจสันตะเอกนาถ

ขอบคุณ คุณหริทาส ที่ให้ความรุ้เรื่องนักบุญผู้นี้ค่ะ