Loader

ธันเตราส (Dhanteras) วันแรกของเทศกาลดิวาลี (Diwali)

Started by สการะวาตี, November 08, 2012, 00:18:08

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

ธันเตราส (Dhanteras) เป็นวันแรกของเทศกาลดิวาลี (Diwali) ปีใหม่ของชาวฮินดู ที่เฉลิมฉลองกันทั้งในอินเดียและทั่วโลก ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ แห่งเดือนการ์ติก (Kartik) ตามปฏิทินฮินดู วันนี้ยังเรียกกันในชื่อต่างๆ เช่น ธันตระโยทศรี (Dhantrayodashi) หรือ ธันวันตาริ ไตรโอทาสิ (Dhanwantari Triodasi) เป็นต้น ซึ่งเป็นวันที่แสดงถึงการเริ่มต้นของเทศกาลดิวาลีที่จะดำเนินไปเป็นเวลาห้าวันนับจากวันนี้ และวันดิวาลีจริงๆ

ซึ่งจะเฉลิมฉลองกันเป็นเวลาสองวันก่อนวันปีใหม่จริง "ดิวาลี (Diwali)" หรือ "ดีปาวาลี (Deepavali)" เพื่อเป็นการสรรเสริญแด่ "ธันวันตาริ (Dhanvantari)" อวตารปางหนึ่งของ "พระนารายณ์" หรือ "พระวิษณุ (Vishnu)" เทพเจ้าที่สำคัญพระองค์หนึ่งของชาวฮินดู ในตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อเทพและอสูรต่างสามัคคีกันกวนมหาสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตนั้น ธันวันตาริ ก็ได้บังเกิดขึ้นจากเกษียรสมุทรพร้อมแบกหม้อน้ำอมฤตไว้ ในวันธันเตราสนี้

"ธันเตราส" ยังเรียกกันอีกชื่อว่า "ยมดีพ (Yamadeep)" ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับตำนานหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งพระโอรสของกษัตริย์หิมะ (Hima) ผู้ทรงมีพระชันษา 16 ชันษา ได้สิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากอสรพิษขบในวันที่สี่หลังวันอภิเษก ซึ่งเป็นไปตามพระชะตาของพระองค์ แต่มเหสีผู้ทรงพระเยาว์ไม่ยินยอมให้เจ้าชายบรรทม พระนางได้วางเครื่องประดับทั้งหมดและเหรียญเงินจำนวนมากไว้ที่ประตูทางเข้าเป็นกองขนาดใหญ่ขวางทางเข้าห้องบรรทมไว้ พร้อมทั้งจุดตะเกียงไฟจำนวนมากเต็มไปหมด แล้วพระนางก็ทรงเล่าเรื่องราวและขับร้องเพลงให้พระสวามีได้สดับฟัง

เมื่อพระยม เทพเจ้าแห่งความตายเสด็จมาถึงในรูปจำแลงของพญางู สายตาของพระองค์ถึงต้องพร่ามัวไปด้วยแสงสะท้อนจากกองเครื่องประดับและเหรียญเงินเบื้องหน้า ไม่สามารถเสด็จเข้าไปในห้องบรรทมของเจ้าชายได้ พระองค์จึงทรงขึ้นไปประทับนั่งบนกองเครื่องประดับและเหรียญเงินที่ขวางทางอยู่นั้น พร้อมสดับฟังเสียงเพลงอันไพเราะตลอดทั้งคืน และเมื่อถึงยามเช้าพระยมก็เสด็จจากไปอย่างเงียบๆ

ดังนั้นเจ้าหญิงจึงสามารถรักษาชีวิตเจ้าชายพระสวามีจากความตายไว้ได้ ตั้งแต่นั้นมา ดันเตราส จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ยมดีพดาน (Yamadeepdaan)" และการจุดตะเกียงไฟไว้ทั้งคืนก็เพื่อแสดงความเคารพต่อพระยม เทพเจ้าแห่งความตายนั่นเอง

โดยความหมายของคำว่า "ธัน (Dhan)" นั้นหมายถึง ความมั่งคั่ง ดังนั้นในวันธันเตราสนี้ จึงเน้นการบูชา "พระลักษมี" เทวีแห่งความมั่งคั่ง ในวันนี้ทุกบ้านเรือนและธุรกิจห้างร้านต่างก็ปรับปรุงและตกแต่งสถานที่กันใหม่ ส่วนทางเข้าหน้าบ้านหรือสำนักงานมักตกแต่งด้วย "รังโกลี" ภาพวาดด้วยทรายเป็นลวดลายงดงาม เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพธิดาแห่งความมั่งคั่ง เป็นสิ่งชี้บอกทางเข้าให้กับพระนาง ทั้งยังมีการวาดรอยเท้าเล็กๆ ด้วยผงแป้งและผงสีแดงทั่วบริเวณบ้าน และจุดตะเกียงไฟไว้ตลอดทั้งคืน

ซึ่งการบูชาพระลักษมีจะกระทำในตอนเย็น พร้อมทั้งจุดตะเกียงน้ำมันที่ทำด้วยดินเผาใบเล็ก ที่เรียกว่า "ดิยา (Diyas)" เพื่อขับไล่เงาแห่งวิญญาณร้ายออกไป และขับร้องเพลง "ภาจัน (Bhajans)" บทเพลงสรรเสริญพระเทวีลักษมี พร้อมถวายขนมหวานตามประเพณีนิยม ที่เรียกว่า "ไนเวดิยา (Naivedya)" แด่รูปเคารพของพระนาง และขอพรให้ครอบครัวมีสุขภาพดีและมั่งคั่ง

ในส่วนชุมชนชนบทจะมีการตกแต่งประดับประดาฝูงวัวควายของตนเองและทำพิธีบูชา เนื่องจากเป็นที่มาของรายได้ครอบครัว ทางตอนใต้ของอินเดีย วัว จะได้รับการเคารพบูชาสูงสุด เนื่องจากเชื่อว่าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระลักษมี

วันนี้ยังถือเป็นวันจับจ่ายซื้อหาข้าวของใหม่ๆ ที่ทำด้วยโลหะเข้าบ้านอีกด้วย เช่น เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ทอง หรือข้าวของเครื่องใช้ใหม่ที่ทำด้วยเหล็ก ทองแดง หรือทองเหลือง เพราะถือว่าเป็นมงคล หรือเป็นเครื่องหมายของความโชคดี

วันธันเตราสนี้ จึงไม่ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวเท่านั้น ธุรกิจร้านค้าเครื่องเงิน ทอง และโลหะต่างๆ ก็ร่ำรวยไปตามๆ กันด้วย

**[HIGHLIGHT=#ffff00]บัณเฑาะว์ขับรั่นร้อง[/HIGHLIGHT]...............[HIGHLIGHT=#ffff00]คีตา[/HIGHLIGHT] [HIGHLIGHT=#ffff00]เพลงเฮย [/HIGHLIGHT]
[HIGHLIGHT=#ffff00]พึงเพ่งฟังบูชา[/HIGHLIGHT]..........................[HIGHLIGHT=#ffff00]บทไหว้ [/HIGHLIGHT]
[HIGHLIGHT=#ffff00]ประนบหัตถ์ก้มหน้า[/HIGHLIGHT]....................[HIGHLIGHT=#ffff00]เกล้าเกศ ท่านนา [/HIGHLIGHT]
[HIGHLIGHT=#ffff00]เชิญช่วยอวยเทพไท้[/HIGHLIGHT]..................[HIGHLIGHT=#ffff00]จึ่งได้โดยสม[/HIGHLIGHT]**


ประพันธ์โดย [HIGHLIGHT=#ffffff]สการะวาตี [/HIGHLIGHT]