Loader

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

Started by อักษรชนนี, May 04, 2011, 12:20:05

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

 
โครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา


         เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ บริเวณเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

         นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) เป็นโครงการที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ได้รับโครงการนี้เป็นหนึ่งในหลายพันโครงการเข้าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยโครงการนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเป็นเทวสถาน หรือโบสถ์พราหมณ์ที่เก่าแก่เป็นที่นับถือและศรัทธาของประชาชนทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

          เทวสถาน หรือโบสถ์พราหมณ์ได้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ซึ่งตามคติโบราณในการสร้างพระนครใหม่นั้น จะสร้างเทวสถานและเสาชิงช้าเพื่อบูชาพระศิวะผู้ทรงประทานพร พระนารายณ์ผู้ทรงรักษา และพระพรหมผู้สร้าง รวมทั้งเพื่อเป็นสถานที่กราบไหว้เทพเจ้าสำคัญ ส่วนการสร้างเสาชิงช้านั้นเป็นคติในการทำให้บ้านเมืองแข็งแรง พิธีที่ทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามลัทธิ คือ พระราชพิธีตรียัมพวาย - ตรีปวาย ซึ่งจะทำพิธีโล้ชิงช้าแสดงตำนานเทพเจ้าตอนสร้างโลก โดยภายในเทวสถานมีศาสนสถานที่สำคัญอยู่ ๓ หลัง ประกอบด้วย ๑) สถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนไม่มีพาลัย เป็นที่ประดิษฐานพระอิศวร มีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่น ๒) สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาลัยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเนศวร ๓) สถานที่พระนารายณ์ (โบสถ์ริม) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาลัยทั้งด้าน หน้าและด้านหลัง เป็นที่ประดิษฐานพระนารายณ์ พระลักษมี (ศรีเทวี) และพระแม่มเหศวรี (ภูมิเทวี) ส่วนเทวรูปองค์อื่น ๆ ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ปีที่กรุงเทพมหานครประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ภายในเทวสถานโบสถ์ทั้งสามหลังได้ถอดแบบการสร้างให้คล้ายคลึงโบสถ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถาน สำคัญของชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ หน้าที่ ๕๒๘๑ ลำดับที่ ๑๑ ระบุว่า เทวสถานเป็นโบราณวัตถุสถานสำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๒

          ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ พระราชครูวามเทพมุณี และคณะพราหมณ์พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเห็นว่า ปัจจุบันเทวสถานโบสถ์พราหมณ์มีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงเห็นควรมีการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง และสวยงาม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้ชุมชนโดยรอบและทั่วไป รวมทั้งส่วนราชการได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมชาวไทย และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้เป็นมรดกของชาติสืบไป

          ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนท้ายว่า เนื่องจากโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนเป็นเวลาอันยาวนานเกือบ ๒๕๐ ปี โครงการนี้จึงได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย และรับเป็นที่ปรึกษาโครงการจากรัฐบาล กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน่วยงานเอกชน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริ ย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อยสถาปัตยกรรม เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ทั้งสาม รวมทั้งปรับปรุงหอเวทวิทยาคม ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจเก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่าง ๆ และภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งได้บูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาแล้วจนถึงวันนี้ เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จขอเชิญพี่น้องประชาชนมากราบไหว้ และชื่นชมโบราณสถานที่เก่าแก่อีกแห่งในกรุงเทพมหานคร ที่ได้มีการอนุรักษ์สืบทอดให้ดำรง และคงความสวยงามตลอดไป


ที่มาของภาพและข่าวจาก : www.opm.go.th
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ขอบพระคุณคุณอักษรชนนีสำหรับข่าวที่น่าปีติยิ่งนี้ค่ะ

เมื่อสองปีที่แล้วเคยเห็นกับตาว่าสีทาผนังสถานพระอิศวรซึ่งแห้งแล้วลอกเป็นแผ่น ร่วงลงมาโดนคนที่นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถึงคราบูรณะอีกที

ดูในภาพข่าว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างนิดๆหน่อยๆนะคะ เช่น จำได้ว่าพระรามแผลงศรองค์นั้นเคยประดิษฐานอยู่ในสถานพระนารายณ์ (เอ..หรือเราจำผิดหว่า) ท่านยกมาชั่วคราวเพราะโบสถ์ริมซ่อมอยู่หรือย่างไรคะ

ไม่ทราบว่าเบญจาดาดผ้าขาวหลังน้อยด้านขวาของภาพจะใช้ประดิษฐานอะไรคะ

ขอบพระคุณคุณอักษรชนนีอีกครั้งค่ะ
   ขอพาหาพลรามอันงามขาว    ดังจันทร์คราวเริ่มแรกอุทัยไข
ทรงกำลังสามารถฉกาจไกร       ดังว่าได้ดื่มซึ่งอาสวรส
เต็มด้วยอวตารแห่งปัทมา        ลักษมีกันยาสุภาสด
น่าใคร่ราววสันต์อันงามงด       จงคุ้มท่านทั้งหมดในที่นี้


(คัดจากเทวีวาสวทัตตา ของภาสะ แปลโดย ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล)

ที่ประดิษฐานในเบญจาหลังน้อย คือเทวรูปพระคเณศที่จำลองจากองค์ประธานของสถานพระคเณศครับ

ส่วนเทวรูปพระรามแผลงศรนั้น เข้าใจว่าขณะนี้กำลังทำการบูรณะสถานพระนารายณ์ จึงได้ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่สถานพระอิศวรเป็นการชั่วคราวครับ (อันนี้ผมสันนิษฐานเอานะครับ)
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ขอบพระคุณค่ะ
   ขอพาหาพลรามอันงามขาว    ดังจันทร์คราวเริ่มแรกอุทัยไข
ทรงกำลังสามารถฉกาจไกร       ดังว่าได้ดื่มซึ่งอาสวรส
เต็มด้วยอวตารแห่งปัทมา        ลักษมีกันยาสุภาสด
น่าใคร่ราววสันต์อันงามงด       จงคุ้มท่านทั้งหมดในที่นี้


(คัดจากเทวีวาสวทัตตา ของภาสะ แปลโดย ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล)