Loader

บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (ภาษาไทย)

Started by กาลิทัส, January 28, 2009, 09:11:13

Previous topic - Next topic

0 Members and 3 Guests are viewing this topic.

บทเทศนา ศรีสัตยนารายณ์ กถา (ภาษาไทย)
ศรีหริทาส แปลและเรียบเรียง
ถวายเทวสถานวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช
***


|| โอมฺ ศฺรีคุรุภฺโย นมะ ||
อารัมภกถา
พิธีสัตยนารายณบูชา( สตฺยนารายณ ปูชา) เป็นพิธีสำคัญอันหนึ่งในศาสนาฮินดู เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อถวายบูชาแด่องค์พระนารายณ์ โดยมีความพิเศษอยู่ตรงที่ เรียกองค์พระนารายณ์ว่า “ สัตยนารายณ์” ข้อนี้น่าพิเคราะห์ เพราะคำว่า “ สัตยะ(สตฺย) ” นั้นตรงกับคำว่า “ สัจจะ” ซึ่งหมายถึง “ ความจริง” การที่เราเรียกองค์พระนารายณ์ว่าทรงเป็น “ ความจริง” นั้นเพราะเหตุว่า ชาวฮินดูเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวง โลก ดวงดาว จักรวาลอันไพศาลรวมทั้งชีวิตของเราเองนั้น เป็นก็แต่เพียง “มายา” เป็นเพียงนาฎกรรมกรีฑาอันสนุกสนานขององค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น มิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเลย เพราะมันเกิดขึ้นมีขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็สูญสลายไป
มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นความจริงอันนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน คือองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในที่นี้เราเรียกพระนามแทนพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดนั้นว่า พระนารายณ์ ทั้งนี้ชาวฮินดูก็เข้าใจว่านั่นเป็นเพียงการสมมุติเรียกพระนามอันหนึ่งของพระเจ้า(God) เท่านั้น เพราะพระเจ้าสูงสุดย่อมทรงปรากฏในทุกรูปแบบ ทุกชื่อ ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติ แม้ในตัวเรา ทรงไม่อาจอธิบายให้เข้าใจจริงๆได้โดยอาศัยเพียงภาษาของมนุษย์ หรือหากกล่าวเน้นลงไปคือ พระองค์ทรงพ้นไปจากโลกสมมุติโดยสิ้นเชิง พ้นไปจากภาษาและความคิด เราต้องอาศัยศรัทธาและปัญญาที่จะเข้าถึงพระองค์
ในพิธีสัตยนารยณ์บูชานั้นใช้เพียงสิ่งที่เรียบง่ายเช่น มะพร้าว หมาก หม้อกลัศ หรือใช้หิน “ศาลิครามศิลา” เป็นตัวแทนพระผู้เป็นเจ้าในพิธีบูชา ศาลิครามนั้นเป็นหินสีดำชนิดหนึ่ง บางก้อนก็มีฟอสซิลของแอมโมไนท์อยู่ภายใน พบที่แม่น้ำ คัณฑกี ใกล้เทือกเขามุกตินาถในเนปาล ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาก เหตุเพราะเชื่อกันว่าเป็นองค์พระนารายณ์อวตารมาในรูปของหิน ชาวฮินดูจึงปรนนิบัติศาลิครามเยี่ยงปฎิบัติต่อเทพเจ้าเลยทีเดียว ข้าพเจ้าคิดว่านี้เป็นจิตวิญญาณของชาวฮินดูที่แท้จริง มิใช่การกระทำไปเพราะความงมงาย แต่การที่เราจะมองเห็น “พระเจ้า” ในสิ่งเล็กน้อยอย่างหินเล็กๆก้อนหนึ่งนั้น มิใช่เรื่องง่ายดายเลย เพราะมนุษย์ผู้อหังการจะยอมสละความยึดมั่นในอัตตาของตัวเอง ก้มลงศิโรราบกราบกรานหินเล็กๆได้ด้วยความจริงใจนั้นยากยิ่ง ความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติในฐานะภาคส่วนแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้นคือจิตวิญญาณของชาวฮินดูที่แท้จริง
ในพิธีสัตยนารายณ์บูชา นอกจากการกระทำบูชาตามประเพณีแล้วนั้น ก็มีส่วนสำคัญอันหนึ่งคือการแสดงธรรมโดยพราหมณาจารย์ผู้ประกอบพิธี ซึ่งยกเป็นนิทานปรัมปราเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับอานิสงค์หรือที่มาของพิธีนั้นๆ เรียกว่า “ กถา” เพื่อฉลองศรัทธาสาธุชนให้มีความยินดีในกุศล เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมพิธีสัตยนารายณ์บูชา ในเทศกาลมกรสังกรานติ ปูรณิมา ณ วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ก็ได้ฟัง สัตยนารายณ์กถา อาศัยว่ามีฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในมือ จึงพอจะตามเรื่องที่ท่านอาจารย์ ปัณฑิต ศรีลลิต โมหัน วยาสผู้เทศนา แสดงเป็นภาษาฮินดีไปได้บ้าง ข้าพเจ้าได้ถวายฉบับภาษาอังกฤษไปให้ท่านสำเนาหนึ่งเพื่อท่านจะได้สอนแก่ชาวอินเดียที่ไม่ได้ใช้ภาษาฮินดี และยังแจ้งต่อท่านว่าจะแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชาวไทยได้มีโอกาสเข้าใจความหมาย ได้มีโอกาสซาบซึ้งกับอรรถและธรรม เพื่อจะได้เจริญปัญญา ท่านได้อนุโมทนาและอำนวยพรในดำริของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเลือกเอา สัตยนารายณ์กถา ฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดย ศฺรี อโศก พาสเคการ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเวปไซต์ http://sanskrit .gde.to ซึ่งเป็นเวปไซต์ที่รวบรวมเอาโศลก บทสวดมนตร์ งานชิ้นสำคัญต่างๆในภาษาสันสกฤตและศาสนาฮินดูไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกไซเบอร์ โดยเผยแพร่เป็นวิทยาทานมานาน นับว่าน่าอนุโมทนายิ่งนัก ข้าพเจ้าก็ได้อาศัยเวปไซต์นี้เองเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ จึงขอแสดงความขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เหตุที่ข้าพเจ้าเลือกเอาสัตยนารายณ์ กถาฉบับนี้ เพราะศรีอโศก ได้สอดแทรก เนื้อหาเชิงสังคมเอาไว้ตลอดเรื่อง ทั้งยังปรับปรุงให้มีเนื้อหาร่วมสมัย ไม่โลดโผนพิสดาร จึงน่าที่จะเป็นที่รับฟังของคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ข้าพเจ้าได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบ้างเล็กน้อย เพื่อง่ายแก่การอ่าน ความผิดพลาดใดๆที่ปรากฏในหนังสือนี้จึงเป็นของข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว ข้าพเจ้าได้เพิ่มส่วนที่เป็น ศฺรีสตฺยนารายณาษฺโฏตฺตรศต นามาวลีะ หรือบทสวดพระนามทั้ง 108 ขององค์สัตยนารายณ์ โศลกชื่อชาคฤหิ (จงตื่นเถิด!) และปรา ปูชา(การบูชาอันสูงสุด)ซึ่งเป็นข้อเตือนใจและบทเพลงอารตี ชคทีศฺวรจี ภาษาฮินดี(ซึ่งยังไม่มีเวลาที่จะแปล หวังใจว่าจะได้แปลในโอกาสต่อๆไป) ไว้ในส่วนท้ายของเล่ม โดยเลือกถอดจากอักษรเทวนาครีเป็นภาษาไทย ตามหลักการถอดอักษรที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับ แม้ว่าจะค่อนข้างยากสำหรับการอ่านของคนทั่วๆไป แต่การถอดอย่างถูกต้องตามหลักการนั้น ก็ให้ประโยชน์หลายสถาน คือ
1. ย่อมทำให้สามารถพอจะเดาความหมายของศัพท์ต่างๆได้บ้าง เช่น หากถอดว่า “เทวา” ก็พอเดาได้ว่าแปลว่า “เทพ” แต่ถ้าถอดว่า “เดวา”(ตามการออกเสียง)อาจทำให้ไม่ทราบว่าจริงๆแล้วเป็นคำว่าอะไร หรือหากถอดว่า “ ดุะข” ก็จะไม่ทราบว่าเป็น ทุข หรือทุกข์นั้นเอง
2. การออกเสียงในภาษาอินเดียนั้นต่างจากไทยแม้ว่าจะใช้พยัญชนะตรงกันและมีศัพท์เหมือนๆกัน เช่น เราออกเสียงอักษรอูษมัน คือ “ส” “ศ” “ษ” ไม่ต่างกัน แต่ชาวอินเดียออกเสียงต่างกันทั้งสามตัว ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ผู้สนใจจริงๆ ที่อยากจะออกเสียงมนตร์ให้ตรงกับภาษาเดิม ( ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชาวอินเดีย ถือว่าเสียงมนตร์ที่ออกอย่างถูกต้อง มีผลต่อร่างกายและจิตใจ) จึงต้องเพียรพยายามฝึกฝน ไปสอบถามจากผู้รู้ หรือต้องหมั่นไปวัดฮินดู ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้แก่ตัวแล้ว ก็จะได้กุศลอีกทางหนึ่ง ผู้ที่สนใจจริงๆ การหาความรู้เช่นนี้คงมิใช่เรื่องเกินกำลังกระมัง
เนื้อหาของสัตยนารายณ์ ข้าพเจ้าคิดว่าฉบับดั้งเดิมเก่าแก่คงเป็นเรื่องอิทธิปาฎิหารย์ตามแบบนิทานในคัมภีร์ปุราณะ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ปาฎิหารย์มิใช่เรื่องสำคัญ จุดที่ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านใคร่ครวญคือ สิ่งที่ผู้เขียนได้สอดแทรกไว้ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรับใช้สามีภรรยาลูกหลาน การช่วยเหลือผู้อื่นและผู้ยากไร้ด้วยจิตใจดั่งการถวายต่อพระเป็นเจ้า การมีความภักดีและความจริงใจ เพราะทั้งหมดนี้คือความหมายแท้จริงอันหนึ่งของการ “บูชา” ซึ่งมิใช่เพียงพิธีกรรมตามประเพณีเท่านั้น ความรักในหัวใจเราคือเครื่องบูชาอันสูงสุด ซึ่งถวายผ่าน “พระเจ้า”ในตัวผู้อื่นและในสรรพสิ่งแห่งธรรมชาติ ความรักซึ่งหอมหวนยิ่งกว่าดอกไม้และหวานกว่าน้ำผึ้งป่าอันมิอาจซื้อหาได้ด้วยเงินทอง และความพยายามที่จะประจักษ์แจ้งความจริงสูงสุดโดยมิย่อท้อ คือสิ่งที่ผู้เขียนเสนออย่างน่าพินิจใคร่ครวญ
ท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากแก้ความเข้าใจผิดบางประการที่มีต่อชาวฮินดู ชาวฮินดูนั้นมิได้งอมืองอเท้าเฝ้าอ้อนวอนร้องขอแต่พระเมตตาของพระเจ้า แต่ชาวฮินดูเชื่อเรื่อง “ กรรม” พระเป็นเจ้าเป็นแต่ผู้อำนวยให้กฎของกรรมดำเนินไปอย่างถูกต้อง การไม่ทำความดี แม้ผู้นั้นจะร้องขอปานใดก็มิอาจให้ผลดีได้ การบูชาที่ดีควรเป็นไปเพื่อการเคารพสักการะด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ เราบูชาเพราะเรามีใจอยากบูชา เพราะเรามีความเคารพรักในพระเป็นเจ้า มิใช่กระทำในเชิงติดสินบนหรือเพื่อขอสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านทั้งหลายไม่ควรร้องขอผลประโยชน์ทางวัตถุใดๆจากพระเป็นเจ้า (บางคนร้องขอผลประโยชน์ทางอบายมุขจากพระเป็นเจ้าเช่น หวย เบอร์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งมิใช่สิ่งควรกระทำเลย) สิ่งที่เราอาจพอจะขอพระเมตตาต่อพระองค์ได้เช่น ความสันติสุขในจิตใจ กำลังใจ ส่วนสิ่งอื่นๆ พระองค์ย่อมจัดสรรให้เหมาะสมแก่เราเอง และการแสวงหาผลประโยชน์จากพระเป็นเจ้านั้นเป็นบาปหนักไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆก็ตาม เช่น การเข้าทรง (ซึ่งเป็นไปโดยอำนาจกิเลส เช่นความจงใจหลอกลวง หรือจิตใจอันผิดปกติ เจ็บป่วยของตนเอง) หรือในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นการหลอกลวงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ขอเน้นย้ำว่า การทรงเจ้าเข้าผีไม่มีในคำสอนของศาสนาฮินดู และเราย่อมเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้ด้วยความศรัทธาของตัวเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนทรงเจ้าหรือผู้วิเศษคนใด
ความดีใดๆอันพึงมีในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นเทวปูชาแด่เทพเจ้าทุกพระองค์ เป็นมาตาปิตรปูชา และเป็นคุรุปูชาแด่ ท่านปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และแด่ท่านอาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ ขอพระเป็นเจ้าประทานพรแด่ท่านที่ได้อ่าน ให้มีความสุขศานติ และได้พบกับสัจจธรรมอันสูงสุดด้วยเทอญ
โอม ศานติ
ศรีหริทาส
***

โอมฺ ศฺรีคเณศาย นมะ ||
|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ปรารมฺภ ||
|| ปหิลา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่1 (บทที่ 1)
บัดนี้
ข้าพเจ้าจักได้สาธยายเรื่องราวและความหมายที่อยู่เบื้องหลังพิธีสัตยนารายณ์บูชา ซึ่งเราทั้งหลายได้กระทำไปแล้ว ในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยตามประเพณีแล้วนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับสัตยนารายณ์บูชาจะถูกเล่าในเชิงนิทาน ซึ่งเป็นเรื่องอันเกิดในอดีตอันไกลโพ้น โดยในกาลครั้งนั้นผู้คนยังสามารถประสบกับปาฏิหาริย์ต่างๆได้ ผิดกับสมัยปัจจุบันที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเชื่อปาฏิหาริย์เช่นนั้นแล้ว คนในยุคเรานี้ล้วนเชื่อในปาฏิหาริย์สมัยใหม่เช่น ซิลิคอนชิปในคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้อย่างมากมาย แต่ไม่อาจทำใจให้เชื่อในปาฏิหาริย์อันถูกเล่าตามประเพณีมานับแต่อดีตจากรุ่นสู่รุ่นได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจะพยายามเล่าเรื่องสัตยนารายณ์โดย ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้(โดยเรื่องราวที่จะเล่านี้เก็บความจากคัมภีร์ปุราณะ) กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในป่าแห่งหนึ่งนามว่า ไนมิษฺ ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านฤาษีเศานักและบรรดาฤาษีทั้งหลาย ฤาษีเหล่านั้นพากันถามผู้เล่านิทาน(สูตะ)ว่า ทำอย่างไรที่บุคคลจะได้รับความสันติแห่งจิตใจ สุขภาพที่ดี ทรัพย์สมบัติและความสุข สูตะกล่าวตอบว่า คำถามเช่นนี้ก็ได้บังเกิดขึ้นในจิตของท่านพรหมฤาษีนารทมุนีเช่นกัน ขณะเมื่อท่านนารทรู้สึกขัดข้องว้าวุ้นใจและปราศจากความสุข เมื่อได้พบเห็นความทุกข์ของสรรพชีวิตทั้งหลายในจักรวาล ด้วยเหตุนั้น ท่านนารถมุนี จึ่งได้นั่งสมาธิดำดิ่งลงในความสงบอันลึกซึ้ง เพื่อค้นหาตัวตนอันแท้จริง และท่านได้ประจักษ์ถึง “โอมฺ” พยางค์ลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็คือ “อาตมัน” อันเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นจุดเริ่มต้นแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง คือสำนึกรู้แห่งการดำรงอยู่ของเรา และด้วยการประจักษ์เช่นนั้นเอง ได้ทำให้ท่านรู้ว่า เมื่อไหร่และที่ไหนที่สิ่งนั้นเกิดขึ้นมา และเมื่อใดคือจุดสิ้นสุดของมัน ภายใต้ดวงตาอันปิดสนิทนั้นเอง ท่านนารทมุนี ได้คิดคำนึงถึงสิ่งที่งดงามที่สุด หล่อเหลาที่สุด รูปลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ภายใต้ห้วงอวกาศอันไม่มีที่สุดนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยดวงดาวจำนวนนับอนันต์ซึ่งอยู่ภายใต้กาแลคซี่จำนวนนับอนันต์เช่นกัน กาแลคซี่ทางช้างเผือก ระบบสุริยจักรวาล พระอาทิตย์ และพระจันทร์ สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล ทวีป ประเทศ บ้านเมืองนี้ และผู้คนทั้งหลายที่อยู่รอบๆตัว ท่านรำพึงว่า ใครกันหนอที่ เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งเหล่านี้ ท่านผู้นั้นอยู่ที่ใด ท่านผู้นั้นเป็นอย่างไร ในที่สุดท่านนารทก็พบว่า ผู้สรรค์สร้างจักรวาลนี้มิใช่ใครอื่น แต่เป็นองค์พระวิษณุนารายณ์ผู้ทรงฤทธานุภาพ ซึ่งมีพระเนตร พระเศียร พระกร และพระบาทอย่างละพัน(ลักษณะของพระเป็นเจ้าที่กล่าวมานี้ ปรากฏใน “ปุรุษะสูกตะ” ซึ่งว่าด้วยการสร้างโลก ในคัมภีร์ฤคเวท – ผู้แปล) องค์พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนี้ ทรงอยู่ภายในทุกสรรพสิ่งในจักรวาลแต่ขณะเดียวกันพระองค์ก็อยู่เหนือสรรพสิ่งเหล่านั้นด้วย พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนั้นง่ายดายที่จะเข้าถึงในขณะเดียวกันก็ยากที่จะรับรู้ถึงพระองค์ พระองค์ทรงสถานุ(มั่นคงไม่เคลื่อนไหว) แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าความคิด พระองค์เล็กกว่าอะตอมที่เล็กที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการได้ ขณะเดียวกันก็ทรงใหญ่ยิ่งกว่าท้องฟ้า พระองค์ทรงสถิตในดวงใจของผู้เที่ยงธรรม ผู้ซึ่งเอาใจใส่ต่อสรรพชีวิตที่น่าสงสารและทุกข์ทนเฉกเช่นเดียวกับเอาใจใส่ต่อญาติมิตรของเขาเอง ทรงสถิตกับบุคคลผู้ที่เสียสละเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม ผู้ซึ่งคิดถึงความสุข ความปิติยินดี และเจตน์จำนงที่ดีของสังคมเสมอ และพระองค์ทรงสถิตในผู้เลี้ยงดูคนที่หิวโหยทั้งหลาย พระองค์ยังสถิตกับคนชอบธรรม คือผู้ทำงานหนักเพื่อขจัดเสียซึ่งความมืดมิดแห่งอวิชชาและจุดไฟแสงสว่างแห่งปัญญาแก่ผู้คน ด้วยการประจักษ์แจ้งถึงองค์พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพนี้เอง ท่านนารทมุนีก็เป็นสุข ความว้าวุ้นขัดข้องทั้งปวงในจิตใจของท่านก็ปลาสนาการไป จิตของท่านสงบสันติเป็นอย่างยิ่ง และนั่นก็ส่งผลให้สุขภาพของท่านดีขึ้น เมื่อร่างกายดีก็ไม่ยากที่บุคคลจะแสวงหาและได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติ ดังนั้นสุขภาพที่ดี ทรัพย์สมบัติ ความมีใจกว้างขวาง ความสันติสุขแห่งจิตใจ ก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อบุคคลได้ประจักษ์ถึงความจริงแท้ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ คือ องค์สัตยนารายณ์นั่นเอง
จบอัธยายที่ 1 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้
โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||
***

|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ||
|| ทุสรา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่2 (บทที่ 2)
วันหนึ่ง ท่านพรหมฤาษีนารทได้พบกับพราหมณ์ยากจน ในนครกาศี(พาราณสี)อันงดงาม พราหมณ์ยากจนผู้นั้นหิวโหย ทั้งยังเศร้าหมองเพราะความสังเวชในสภาพของตนเอง เมื่อท่าน นารทมุนี ได้เห็นพราหมณ์ผู้นั้นแล้ว ท่านได้เข้าไปใกล้แล้วถามขึ้นว่าเหตุใดเขาจึงดูเศร้าหมองนัก พราหมณ์ตอบว่า “ โอ ข้าแต่ท่านพรหมฤาษี ทำอย่างไรเล่าข้าพเจ้าจะสามารถขจัดเสียซึ่งความยากจนและความทุกข์ประดามีที่ข้าพเจ้าประสบอยู่ ข้าพเจ้าว้าวุ้นสับสนจนไม่อาจนอนหลับลงได้ในยามราตรี ได้โปรดบอกข้าพเจ้าหน่อยเถอะ ว่าทำไฉนข้าพเจ้าจะขจัดเสียซึ่งความเศร้าหมองที่ข้าพเจ้ามีในบัดนี้” ท่านนารทมุนีตอบว่า “นี่แน่ะ มิตรรัก ในเบื้องต้นท่านจงพยายามทำความเข้าใจว่า จริงๆแล้วท่านคือใคร จงพยายามทำความเข้าใจถึงรูปลักษณ์และธรรมชาติอันแท้จริงของ สัจธรรมสูงสุด จงพินิจพิจารณาเถิดว่าพิธีสัตยนารายณ์บูชานั้นกระทำอย่างไร ด้วยการประจักษ์แจ้งความจริงของตน ท่านก็จะบรรลุสิ่งทั้งปวงที่ท่านต้องการ” พราหมณ์ผู้นั้นจึ่งกลับไปบ้าน ในไม่กี่วันต่อมาเขาได้พินิจพิเคราะห์ว่าพิธีสัตยนารายณ์นั้นกระทำอย่างไร เขาได้สังเกตความเรียบง่ายของพิธีในการใช้ หมาก มะพร้าวและหม้อน้ำกลศ ที่ถูกใช้เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของสิ่งสูงสุด เขาเองก็ได้เริ่มวิธีการเช่นเดียวกันนี้เพื่อจะทำความเข้าใจองค์สิ่งสูงสุด เขาดูแลช่วยเหลือภรรยา ดั่งถวายบริการแด่องค์พระลักษมี เขามอบความรักแด่บุตรชายของตนดั่งถวายความรักต่อองค์พาลกฤษณะ(พระกฤษณะในวัยเด็ก) และเขามอบความรู้แด่บุตรสาวดั่งถวายต่อองค์พระสรัสวตี ทัศนะที่มีต่อชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือเศษเสี้ยวหนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ทั้งหมดนี้ได้ทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในหัวใจของเขา ความว้าวุ้นสับสนได้มลายไป เขากลายเป็นผู้ที่มีความสุข เมื่อใดที่จิตเป็นสุขร่างกายก็จะตอบสนองในแง่ดีด้วย ดังนั้นสุขภาพของเขาก็ดีขึ้น เขาสามารถที่จะทำงานหนักได้ และด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานหนักและธรรมชาติของตัวเขาเอง พราหมณ์ผู้นั้นกลายเป็นบุคคลอันเป็นที่ต้องการของสังคม สถานภาพทางสังคมของเขาก็ดีขึ้น ความซื่อสัตย์จริงใจและความรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยปราศจากความปรารถนาผลทางวัตถุใดๆ ก็ทำให้เขาได้รับสิ่งทั้งปวงอันเหมาะสมที่เขาจะพึงได้รับ วันหนึ่ง ขณะที่พราหมณ์ผู้นั้นกำลังประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาอยู่นั้น เขาก็สังเกตเห็น ชายขายฟืนยากจนและหิวโหยซึ่งเทินมัดกองฟืนไว้บนศรีษะ ยืนอยู่ที่ประตูบ้านของเขา ชายขายฟืนเอ่ยถามว่าพราหมณ์กำลังทำสิ่งใด พราหมณ์จึงเชื้อเชิญชายขายฟืนเข้ามาในบ้านและชวนให้เขาพินิจดูว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และกล่าวบอกชายขายฟืนว่าทำอย่างไรที่บุคคลจะได้รับสิ่งที่พึงใจอย่างเต็มที่จากการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าคือองค์สัตยนารายณ์ โดยการสังเกตพิธีสัตยนารายณบูชานั่นเอง ชายขายฟืนได้กลายเป็นผู้ที่มีความสุขอย่างยิ่ง เขาได้เจริญรอยตามพราหมณ์ผู้นั้น
ด้วยการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของจิตใจในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย พละ
กำลัง และการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ใจนี้นำมาสู่การทำงานที่หนัก
ขึ้นอันจะนำไปสู่ทรัพย์สิน บุตรที่ดีและครอบครัวที่เป็นสุข
จบอัธยายที่ 2 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้
โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||
|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ||
|| ติสรา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่ 3 (บทที่ 3)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าอุลกามุข(อุลฺกามุข) ทรงปกครองชมพูทวีปทั้งหมด พระองค์ทรงสามารถควบคุมกายใจของพระองค์ ทรงเที่ยงธรรม ทรงมีความรักภักดีในพระเป็นเจ้า และทรงเป็นผู้ที่มีสติปัญญาสูงยิ่ง พระองค์พระมเหสีที่งดงามเป็นอย่างยิ่งพระนามว่า พระนางสุนทรวทนา(สุนฺทรวทนา) ซึ่งทรงมีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อพระเจ้าอุลกามุข พระนางถวายการรับใช้ต่อองค์ราชาดั่งถวายต่อองค์พระนารายณ์ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาอยู่บ่อยครั้ง ณ ริมฝั่งน้ำ ด้วยความรักภักดีและความสุจริตใจ วันหนึ่ง ขณะที่สองพระองค์กำลัง กระทำพิธีสัตยนารายณ์บูชาอยู่นั้น พ่อค้าวาณิชผู้หนึ่งนามว่าสาธุ ได้นำเรือบรรทุกสินค้าและทรัพย์สมบัติผ่านมาพอดี
สาธุสังเกตเห็นองค์ราชาและมหารานีกำลังกระทำการบูชาอยู่ จึ่งนำเรือเข้าเทียบท่า
สาธุเข้าไปใกล้ทั้งสองพระองค์ครั้นแล้วก็เอ่ยถามขึ้นด้วยความเคารพว่าทั้งสองพระองค์กระทำสิ่งใด พระราชาตรัสตอบว่า “ นี่แน่ะสาธุ มีอะไรเล่าที่จะจำเป็นยิ่งไปกว่าการรู้ว่าจริงๆแล้วตัวเราเป็นใคร สิ่งที่ดำรงอยู่รอบตัวเราทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตคือใคร และอะไรคือจุดหมายแห่งการมีชีวิตอยู่ของเราภายใต้จักรวาลอันไพศาลนี้ ความรู้อันเนื่องด้วยสัจธรรมสูงสุดนั้น ย่อมนำมาซึ่งสันติสุขในจิตใจ นำมาซึ่งความสุขและสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้คนผู้นั้นแข็งแรงขึ้น มีพลังที่จะทำงานหนักและได้รับสิ่งจำเป็นทั้งปวงเพื่อการยังชีพ และไม่ช้าเราก็จะสามารถเป็นพ่อแม่ในอุดมคติของลูกหลาน ในที่สุดครอบครัวทั้งหลายก็จะมีความสุขสมบูรณ์ ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจว่า โดยการกระทำพิธีสัตยนารายณ์บูชา เราจะได้รับสิ่งทั้งปวงที่กล่าวมานี้” เมื่อนายวาณิชสาธุได้เรียนรู้เรื่องรายละเอียดต่างๆของการประกอบพิธีสัตยรายณ์บูชาแล้ว เขาเอ่ยขึ้นว่า “ กระหม่อมปราศจากความสุข เหตุเพราะกระหม่อมไม่มีบุตร กระหม่อมสัญญาว่า กระหม่อมจะประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาเป็นแน่ เมื่อกระหม่อมมีบุตร” ครั้นแล้วสาธุจึงเดินทางกลับบ้าน และเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงให้ภรรยานามว่าลีลาวตีฟัง มินานนัก ขณะเมื่อลีลาวตีปรนนิบัติสามีของนางจากส่วนลึกของหัวใจ ประดุจดั่งถวายต่อองค์นารายณ์นั้น นางก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้น ครั้นถึงเวลาที่เหมาะสมนางก็ให้กำเนิดบุตรสาวที่มีความงดงามน่ารักเป็นอย่างยิ่ง นามว่า กลาวตี
วันหนึ่ง ลีลาวตีเอ่ยถามสามีของนางว่า เมื่อไหร่เขาจะประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาตามที่สัญญาไว้ สาธุอิดเอื้อนเล็กน้อยแล้วตอบไปว่า เขาสัญญาว่าจะประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชา เมื่อกลาวตีแต่งงาน กลาวตีเติบโตขึ้นทุกวัน เมื่อเธอมีอายุได้สิบหกปี สาธุผู้บิดาตั้งใจจะจัดพิธีสยุมพร(แต่งงาน)ให้เธอกับพ่อค้าหนุ่มจากเมืองกานจน(กาจน)อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อพิธีสยุมพรผ่านพ้นไปแล้วสาธุและบุตรเขยก็ออกเดินทางไปค้าขาย เขาหลงลืมคำสัญญาไปเสียสิ้น โลกรอบๆตัวเขาหมุนวนไปด้วยเรื่องการค้าขายและเรื่องการหาเงินทองให้มากขึ้นเท่านั้น เขาเองมักกังวลว่าทำอย่างไรที่จะหาเงินทองมาเพิ่มอีก และทำอย่างไรที่จะปกป้องเงินทองที่หามาได้ ด้วยความกลัดกลุ้มสาธุได้ลืมการนอนหลับในยามราตรีไปเสียแล้ว วันหนึ่ง ขณะที่เขาเดินทางมาค้าขายในเมืองซึ่งปกครองโดย พระเจ้าจันทรเกตุ(จนฺทฺรเกตุ) สาธุและบุตรเขยมองเห็นหัวขโมยสองคนวิ่งมาพร้อมด้วยเพชรพลอยจำนวนมากซึ่งถูกขโมยมาจากพระราชวัง และกำลังถูกไล่ตามมาโดยทหารหลวง เมื่อจวนตัวขโมยทั้งคู่ก็โยนเพชรนิลจินดาทั้งหมดไว้เบื้องหน้าสาธุและบุตรเขย แล้วก็วิ่งหนีไปโดยเร็ว เมื่อทหารที่ติดตามมาเห็นเพชรพลอยกองอยู่หน้าคนทั้งสอง ก็คิดว่าสาธุและบุตรเขยเป็นผู้ขโมยเครื่องประดับเหล่านั้น ทหารจึงจับกุมคนทั้งคู่และนำตัวไปยังท้องพระโรง พระเจ้าจันทรเกตุได้มีพระบัญชาให้ยึดเครื่องประดับและบรรดาทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดของทั้งสองคน แล้วจึงให้จำคุก กล่าวถึงลีลาวตีและกลาวตี เมื่อสามีของทั้งสองของนางหายไปก็ได้รับความยากแค้นลำบากอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีหนทางแล้วสองแม่ลูกจึงต้องขอทานอาหารเพื่อยังชีพ ทั้งสองรู้สึกอึดอัดทุกข์ทรมานใจ และยังต้องทนทุกข์ด้วยความหิวโหยรวมทั้งความเจ็บป่วยอันเกิดแต่จิตใจที่ย่ำแย่ วันหนึ่ง ขณะที่กำลังขอทานอาหารที่หน้าบ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ทั้งคู่ก็ได้เห็นพราหมณ์เจ้าของบ้านกำลังประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชา ในบัดดลนั้นเองทั้งคู่ก็บังเกิดความสงบและความสุขในใจ เพราะการประจักษ์แจ้งถึงความจริงสูงสุด คือองค์สัตยนารายณ์ ทั้งคู่ได้ร่วมประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาในทันที ด้วยความสันติในจิตใจ ด้วยการประจักษ์แจ้งตนเอง ด้วยการรู้ว่าตนเองคือใคร และอะไรเป็นจุดหมายของชีวิต คนทั้งคู่ก็เริ่มรับใช้และดูแลผู้ยากไร้คนอื่นๆในสังคม
สถานภาพทางสังคมของทั้งสองก็ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดและต่อมาทั้งสองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามีขอพวกนางบริสุทธิ์ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิตเท่านั้น ในที่สุดพระเจ้าจันทรเกตุทรงปล่อยสาธุและบุตรเขย ทั้งยังทรงคืนทรัพย์สินให้ โดยทรงเพิ่มเป็นสองเท่าของที่ยึดมา ทรงสอนให้ทั้งสองคนรู้ว่าอะไรคือความจริงสูงสุด เราคือใคร ทำไมจึงมีตัวตนของเราบนโลกนี้และอะไรเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต ทั้งยังทรงเรียกร้องให้ทั้งสองคนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม และให้ช่วยทำให้สังคมตระหนักรู้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งหรือเศษเสี้ยวหนึ่งของความจริงสูงสุด คือองค์สัตยนารายณ์นั้นเอง
จบอัธยายที่ 3 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้
โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||
***


|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ||
|| เจาถา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่4 (บทที่ 4)
ครั้นแล้ว สาธุได้ถวายเงินจำนวนหนึ่งแด่พราหมณ์ เพื่ออานิสงค์นั้นจะได้ขจัดอุปสรรคในการเดินทาง เขารับพรแล้วจึงเตรียมเดินทางกลับบ้านเมือง พระเจ้าจันทรเกตุผู้ทรงธรรม ทรงมีพระประสงค์จะตรวจสอบดูว่า สาธุได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตใจจริงๆหรือไม่ ทรงพระบัญชาให้จารบุรุษ(ตำรวจสืบราชการลับ) ไปทดสอบความซื่อสัตย์ของสาธุ หนึ่งในจารบุรุษได้ปลอมตัวเป็นนักบวชโดยนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด เข้าไปสู่สาธุแล้วจึงถามขึ้นว่า มีอะไรอยู่ในเรือของพวกเขา สาธุและบุตรเขยก็หัวเราะขึ้นอย่างยโส และคิดว่านักบวชนั้นอาจประสงค์จะลักขโมยสมบัติในเรือของเขา จึ่งตอบไปว่าในเรือไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากฟางแห้งเท่านั้น บรรดาจารบุรุษอื่นๆซึ่งแอบฟังอยู่ในระยะไกล ได้ทำการสับเปลี่ยนสมบัติในเรือของเขาโดยนำฟางแห้งมาใส่ไว้แทน และทั้งสองคนมิได้ล่วงรู้เหตุการณ์ดังกล่าวเลย เมื่อสาธุและบุตรเขยเสร็จสิ้นธุระในเมืองนั้นแล้ว จึงกลับขึ้นไปยังเรือของตนเพื่อจะเริ่มเดินทางต่อไป แต่แล้วเมื่อพวกเขาตรวจดูเรือ ก็พบว่าในเรือมีแต่ฟางแห้งเท่านั้น ทั้งคู่ตกใจเป็นอย่างมากถึงกับสิ้นสติไปทันที ครั้นเมื่อได้สติคืนมาแล้ว พวกเขาพากันคิดว่า นักบวชผู้นั้นจะต้องมีอิทธิฤทธิ์และทำให้สมบัติทั้งหมดของพวกเขากลายเป็นฟางแห้งตามที่พวกเขาบอก ทั้งสองจึ่งรีบกลับไปตามหานักบวชผู้นั้น เมื่อพบแล้วก็กระทำการขอขมาลาโทษและขอให้นักบวชให้อภัย จารบุรุษในชุดนักบวชจึงเปิดเผยความจริงทั้งหมด ทั้งยังกล่าวเตือนให้สาธุและบุตรเขยปฏิบัติตามที่พระเจ้าจันทรเกตุทรงสั่งสอน เมื่อกล่าวเสร็จก็คืนสมบัติทั้งหมดให้สาธุ สาธุและบุตรเขยได้สัญญาต่อจารบุรุษผู้นั้นว่า พวกเขาจะทำงานหนักเพื่อสังคม จะพยายามเข้าใจว่า พวกเขาคือใครและ เพียรพยายามเข้าใจความจริงสูงสุด พวกเขาจะแสวงหาแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามและหลีกไกลจากสิ่งที่ผิด พวกเขาจะใช้สติปัญญาที่มีอยู่ ซึ่งได้รับจากองค์ความจริงสูงสุดนั้นเพื่อใช้ในการแสวงหาสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ ดังนี้แล้วสาธุและบุตรเขยก็ออกเดินทางกลับบ้านเมืองต่อไป กล่าวถึง รัตนปุรีเมืองบ้านเกิดของสาธุ ลีลาวตีและกลาวตีได้ข่าวว่าสามีของพวกนางกำลังกำลังเดินทางกลับมา ทั้งคู่ตื่นเต้นและมีความสุขมาก บรรดาผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่เคารพในเมืองต่างขอให้ทั้งสองประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชา แต่แม้เมื่อประกอบพิธีอยู่ ใจของพวกนางก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องของสามี พวกนางกระหายที่จะได้พบสามีและหลงลืมไปว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ ในหัวของพวกนางมีเพียงเรื่องสามีของนางเท่านั้น นางเร่งรีบประกอบพิธีเพื่อที่จะได้ไปยังท่าเรือเพื่อรอพบสามี แต่ทันใดนั้นเองพวกนางก็ได้ยินข่าวว่า มีเรือลำหนึ่งจมลงที่นอกชายฝั่ง ด้วยใจที่มีเพียงเรื่องคนรักและยังมิเห็นหน้าสามีกลับมา ต่างก็คิดไปว่าสามีของพวกนางคงตายเสียแล้ว ทั้งคู่ก็ถึงกับสิ้นสติด้วยความตกใจและโศกเศร้า เมื่อลีลาวตีและกลาวตีกลับฟื้นคืนสติแล้ว หนึ่งในบรรดาผู้อาวุโสก็กล่าวว่า นางทั้งสองลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ พวกเธอมิได้ใช้สติปัญญาแยกแยะว่าอะไรถูกและผิด บางสิ่งแม้ดูเหมือนมันจะถูกแต่มันก็ผิดเราจำต้องใช้ปัญญาญาณพินิจดู ดังนั้นขอจงมีความสงบ จงรู้ว่าอะไรถูกและผิด อย่าทำให้สิ่งที่ยังกระทำไม่เสร็จสิ้นนั้นตกล่วงไป จงออกห่างเสียจากอวิชชา จงรู้เถิดว่าเราคือใคร อะไรคือจุดหมายแห่งชีวิต และจงมอบตนเองแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด เมื่อลีลาวตีและกลาวตีได้ฟังถ้อยคำของผู้อาวุโสแล้ว ทั้งคู่ตระหนักว่า ไม่จำเป็นเลยที่จะกังวลเกี่ยวกับเรื่องสามีของนาง จริงๆแล้วสามีของพวกนางยังคงปลอดภัยดี แ ต่อมาเมื่อสาธุ บุตรเขย กลาวตีและลีลาวตีได้พบกันแล้ว ทั้งหมดก็ได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น พวกเขาสรุปว่า ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่าเกินไปกว่าการประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาด้วยความรักภักดีอย่างที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตใจโดยปราศจากความปรารถนาในลาภผลอันคับแคบใดๆเฉพาะตน
จบอัธยายที่ 4 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้
โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||
***

|| ศฺรีสตฺยนารายณ กถา ||
|| ปาจวา อธฺยาย || ศรีสัตยนารายณ์ กถา อัธยายที่5 (บทที่ 5)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคธวัช(องฺคธวชฺ) พระองค์ทรงเป็นที่เลื่องลือในเรื่องการรบพุ่งปกป้องไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ แต่ราษฏรก็ยังไม่มีความสุข เพราะพระองค์ทรงละเลยสิ่งที่พวกเขาต้องการ พระองค์ไม่ทรงเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎรเลย วันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จกลับจากการประพาสป่าล่าสัตว์ ทรงพบบรรดาโคบาล(คนเลี้ยงวัว)กำลังประกอบพิธีสัตยนารายณ์บูชาอยู่ พวกโคบาลทูลเชิญให้พระราชามาร่วมประกอบพิธีกับพวกเขา พระราชาไม่ทรงสนพระทัยและเสด็จกลับพระราชวัง โดยเหตุที่กล่าวมาในเบื้องต้นคือความไม่เป็นสุขของประชาชน พระเจ้าอังคธวัชก็ทรงไม่สบายพระทัยโดยไม่รู้สาเหตุ พระองค์ไม่มีความสุข ไม่อาจทรงบรรทมได้ในเวลากลางคืน และแน่นอนว่าทรงประชวร ผลนี้ได้กระทบกับพระราชวงศ์ของพระองค์เอง เมื่อองค์ราชาไร้ความสามารถที่จะบริหารบ้านเมือง พระองค์ก็สูญเสียพระราชทรัพย์มากมาย ไม่นานบรรดาพระโอรสของพระองค์ก็เริ่มขัดแย้งและต่อสู้กันเอง และนั้นทำให้มีพระโอรสจำนวนมากที่สิ้นพระชนม์ลงไป นายโคบาลผู้หนึ่งเห็นว่ากษัตริย์ของตนเศร้าหมองนัก จึงถวายการช่วยเหลือ โดยทูลขอให้พระองค์พยายามทำความเข้าใจและประจักษ์ในสิ่งสูงสุด เขาทูลต่อไปว่า หากราษฏร์ของพระองค์มีความสุข พระองค์ก็จะทรงมีความสุขด้วย ขอโปรดทรงดูแลคนยากคนจน ขอโปรดทรงแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธาในกระท่อมของผู้ยากไร้ ขอทรงโปรดพระราชทานอาหาร ที่พักอาศัย และอาชีพ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถทำงานเลี้ยงชีพ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม เขายังทูลต่อไปถึงความหมายที่แท้จริงของพิธีสัตยนารายณ์บูชาและอธิบายถึงวิธีที่เรียบง่ายที่จะเข้าถึงองค์สัตยนารายณ์ โดยการแนะนำของนายโคบาล พระเจ้าอังคธวัชทรงเริ่มประกอบพระกรณียกิจด้วยความจริงใจ และด้วยความรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า พระเมตตาที่พระองค์มีต่อราษฏร์ในพระราชอาณาจักรก็เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ทวยราษฏร์ทั้งปวงก็รักพระองค์อย่างยิ่ง พวกเขาเริ่มทำงานหนักเพื่ความกินดีอยู่ดีของสังคม และนี่ก็ทำให้พระราชทรัพย์ก็เพิ่มพูน ในที่สุดทวยราษฏร์ก็เป็นสุข และพระองค์ก็ทรงมีความสุข ดังนั้น ทุกๆคนควรเพียรพยายามที่จะประจักษ์ในสัจธรรมสูงสุด ควรแยกแยะถูกผิด และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ควรรับใช้ผู้อื่นดุจดั่งถวายปรนนิบัติต่อองค์พระนารายณ์และองค์พระลักษมี ด้วยความรักที่มีต่อผู้อื่นนี่เอง โลกของเราก็จะกลายเป็นสถานที่แห่งบรมสุข และเราจะพบว่าไม่ว่าเราจะมองไปทางใด ก็จะมีเพียงพระพักตร์อันการุณย์ขององค์พระเป็นเจ้าเท่านั้น
จบอัธยายที่ 5 แห่ง ศรีสัตยนารายณ์ กถา ด้วยประการฉะนี้
โอมฺ ศฺรีสตฺยนารายณาย นมะ || โอมฺ นโม ภควเต วาสุเทวาย ||
***

|| ศฺรีสตฺยนารายณาษฺโฏตฺตรศต นามาวลีะ || พระนามทั้ง 108 แห่งองค์พระสัตยนารายณ์(เพื่อสวดหรือภาวนา)
โอมฺ สตฺยเทวาย นมะ | โอมฺ สตฺยาตฺมเน นมะ | โอมฺ สตฺยภูตาย นมะ | โอมฺ
สตฺยปุรุษาย นมะ | โอมฺ สตฺยนาถาย นมะ | โอมฺ สตฺยสากฺษิเณ นมะ | โอมฺ
สตฺยโยคาย นมะ | โอมฺ สตฺยชฺญานาย นมะ | โอมฺ สตฺยชฺญานปฺริยาย นมะ |
(๙) โอมฺ สตฺยนิธเย นมะ | โอมฺ สตฺยสมฺภวาย นมะ | โอมฺ สตฺยปฺรภุเว นมะ
| โอมฺ สตฺเยศฺวราย นมะ | โอมฺ สตฺยกรฺมเณ นมะ | โอมฺ สตฺยปวิตฺราย นมะ
| โอมฺ สตฺยมํคลาย นมะ | โอมฺ สตฺยครฺภาย นมะ | โอมฺ สตฺยปฺรชาปตเย นมะ
| (๑๘) โอมฺ สตฺยวิกฺรมาย นมะ | โอมฺ สตฺยสิทฺธาย นมะ | โอมฺ
สตฺยาจฺยุตาย นมะ | โอมฺ สตฺยวีราย นมะ | โอมฺ สตฺยโพธาย นมะ | โอมฺ
สตฺยธรฺมาย นมะ | โอมฺ สตฺยาคฺรชาย นมะ | โอมฺ สตฺยสํตุษฺฎาย นมะ |
โอมฺ สตฺยวราหาย นมะ | (๒๗) โอมฺ สตฺยปารายณาย นมะ | โอมฺ สตฺยปูรฺณาย
นมะ | โอมฺ สตฺเยาษธาย นมะ | โอมฺ สตฺยศาศฺวตาย นมะ | โอมฺ
สตฺยปฺรวรฺธนาย นมะ | โอมฺ สตฺยวิภเว นมะ | โอมฺ สตฺยชฺเยษฺฐาย นมะ |
โอมฺ สตฺยศฺเรษฺฐาย นมะ | โอมฺ สตฺยวิกฺรมิเณ นมะ | (๓๖) โอมฺ
สตฺยธนฺวิเน นมะ | โอมฺ สตฺยเมธาย นมะ | โอมฺ สตฺยาธีศาย นมะ | โอมฺ
สตฺยกฺรตเว นมะ | โอมฺ สตฺยกาลาย นมะ | โอมฺ สตฺยวตฺสลาย นมะ | โอมฺ
สตฺยวสเว นมะ | โอมฺ สตฺยเมฆาย นมะ | โอมฺ สตฺยรุทฺราย นมะ | (๔๕) โอมฺ
สตฺยพฺรหฺมเณ นมะ | โอมฺ สตฺยามฤตาย นมะ | โอมฺ สตฺยเวทางฺคาย นมะ |
โอมฺ สตฺยจตุราตฺมเน นมะ | โอมฺ สตฺยโภกฺตฺเร นมะ | โอมฺ สตฺยศุจเย นมะ
| โอมฺ สตฺยารฺจิตาย นมะ | โอมฺ สตฺเยํทฺราย นมะ | โอมฺ สตฺยสํคราย นมะ
| (๕๔) โอมฺ สตฺยสฺวรฺคาย นมะ | โอมฺ สตฺยนิยมาย นมะ | โอมฺ สตฺยเมธาย
นมะ | โอมฺ สตฺยเวทฺยาย นมะ | โอมฺ สตฺยปียูษาย นมะ | โอมฺ สตฺยมายาย
นมะ | โอมฺ สตฺยโมหาย นมะ | โอมฺ สตฺยสุรานํทาย นมะ | โอมฺ สตฺยสาคราย
นมะ | (๖๓) โอมฺ สตฺยตปเส นมะ | โอมฺ สตฺยสิหาย นมะ| โอมฺ สตฺยมฤคาย
นมะ | โอมฺ สตฺยโลกปาลกาย นมะ | โอมฺ สตฺยสฺถิตาย นมะ | โอมฺ
สตฺยทิกฺปาลกาย นมะ | โอมฺ สตฺยธนุรฺธราย นมะ | โอมฺ สตฺยามฺพุชาย นมะ
| โอมฺ สตฺยวากฺยาย นมะ | ( ๗๒) โอมฺ สตฺยคุรเว นมะ | โอมฺ สตฺยนฺยายาย
นมะ | โอมฺ สตฺยสากฺษิเณ นมะ | โอมฺ สตฺยสํวฤตาย นมะ | โอมฺ
สตฺยสมฺปฺรทาย นมะ | โอมฺ สตฺยวหฺนเย นมะ | โอมฺ สตฺยวายุเว นมะ | โอมฺ
สตฺยศิขราย นมะ | โอมฺ สตฺยานํทาย นมะ | (๘๑) โอมฺ สตฺยาธิราชาย นมะ |
โอมฺ สตฺยศฺรีปาทาย นมะ | โอมฺ สตฺยคุหฺยาย นมะ | โอมฺ สตฺโยทราย นมะ |
โอมฺ สตฺยหฤทยาย นมะ | โอมฺ สตฺยกมลาย นมะ | โอมฺ สตฺยนาลาย นมะ | โอมฺ
สตฺยหสฺตาย นมะ | โอมฺ สตฺยพาหเว นมะ | (๙๐) โอมฺ สตฺยมุขาย นมะ | โอมฺ
สตฺยชิหฺวาย นมะ | โอมฺ สตฺยเทาษฺฎฺราย นมะ | โอมฺ สตฺยนาศิกาย นมะ |
โอมฺ สตฺยศฺโรตฺราย นมะ | โอมฺ สตฺยจกฺษเส นมะ | โอมฺ สตฺยศิรเส นมะ |
โอมฺ สตฺยมุกุฎาย นมะ | โอมฺ สตฺยาพราย นมะ | (๙๙) โอมฺ สตฺยาภรณาย นมะ
| โอมฺ สตฺยายุธาย นมะ | โอมฺ สตฺยศฺรีวลฺลภาย นมะ | โอมฺ สตฺยคุปฺตาย
นมะ | โอมฺ สตฺยปุษฺกราย นมะ | โอมฺ สตฺยาธฺริทาย นมะ | โอมฺ
สตฺยภามาวตารกาย นมะ | โอมฺ สตฺยคฤหรูปิเณ นมะ | โอมฺ สตฺยปฺรหรณายุธาย
นมะ |(๑๐๘)
|| อิติ สตฺยนารายณาษฺโฏตฺตรศต นามาวลีะ ||
***
 


|| ชาคฤหิ ชาคฤหิ || จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
อาศยา พทฺธเต โลกะ กรฺมณา ปริพทฺธฺยเต | อายุกฺษยํ น ชานาติ ตสฺมาตฺ
ชาคฤหิ ชาคฤหิ || ชนฺมทุะขํ ชราทุะขํ ชายาทุะขํ ปุนะ ปุนะ | อํตกาเล
มหาทุะขํ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ || กาม กฺโรเธา โลภ โมเหา เทเห
ติษฐนฺติ | ชฺญานรตฺนาปหาราย ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ || ไอศฺวรฺยํ
สฺวปฺน สํกาศํ เยาวนํ กุสุโมปมมฺ | กฺษณิกํ ชลมายุษฺจ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ
ชาคฤหิ ||
ชาวโลกถูกผูกมัดไว้ด้วยความปรารถนา และถูกผูกมัดแน่นยิ่งกว่าด้วยกรรมของตน พวกเขามิรู้เลยว่าช่วงชีวิตนั้นสั้นนัก ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ทุกข์แห่งชาติ ทุกข์แห่งชรา ทุกข์แห่งภรรยา เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในวันสุดท้าย(ของชีวิต) ทุกข์มหันต์ก็บังเกิดขึ้น ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
กาม และโกรธ โลภและหลง ซึ่งอาศัยในกายนี้ พวกมันคือโจร ผู้ขโมยเอารัตนะแห่งปัญญาไป ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ไอศวรรย์สมบัติเป็นดั่งความฝัน และเยาวภาพ เป็นดั่งบุปผชาติ(ซึ่งโรยราเพียงชั่ววัน) ทั้งสองสิ่ง และชีวิต ก็ล้วนไม่จีรัง เป็นดั่งสายน้ำไหล ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
***
ปรา ปูชา การบูชาอันสูงสุด
ปูรฺณสฺยาวาหนํ กุตฺร สรฺวาธารสฺย จาสนมฺ | สฺวจฺฉสฺย ปาทฺยมรฆฺยํ จ
ศุทฺธสฺยาจมนํ กุตะ || ๑ || ณ ที่ใดเล่าจะสามารถอัญเชิญ สภาวะแห่งความบริบูรณ์ แลอาจสามารถถวายอาสน์ แด่องค์ผู้ค้ำจุนสรรพสิ่ง การถวายน้ำล้างพระบาท การถวายสิ่งต่างๆลงในพระกร แลการถวายน้ำล้างพระโอษฐ์ ขององค์สภาวะอันบริสุทธิ์ จะมีจากที่ใด?
นิรฺมลสฺย กุตะ สฺนานํ วสฺตฺรํ วิศฺโวทรสฺย จ | นิราลมฺพสฺโยปวีตํ
ปุษฺปํ นิรฺวาสนสฺย จ || ๒ || การถวายน้ำสรงสนานแห่งองค์สภาวะนิรมล
แลการถวายเครื่องนุ่งห่มแห่งองค์ผู้มีอุทรเป็นสากลโลก จะมีจากที่ใดกัน? การถวายสายอุปวีต แห่งองค์ผู้ปราศจากประคับประคองจากสิ่งทั้งปวง แลการถวายบุปชาติแห่งผู้ที่กลิ่นสุคนธ์ไม่อาจกระทบ จะมีจากไหน?
นิรฺเลปสฺย กุโต คนฺโธ รมยสฺยาภรณํ กุตะ | นิตฺยตฤปตสฺย ไนเวทฺยํ
ตามฺพูลํ จ กุโต วิโภะ || ๓ ||
จากที่ใดเล่าที่จะถวายเครื่องหอมแห่งองค์ผู้ปราศจากมลทิน การถวายอาภรณ์เครื่องประดับแห่งองค์ผู้รื่นรมณ์อยู่เสมอจะมีจากไหน? การถวายอาหารทั้งหลายแห่งองค์ผู้อิ่มเอมเป็นนิตย์ แลการถวายหมากพลูแห่งองค์ผู้ทรงพลังจะมีจากที่ใด?
ปฺรทกฺษิณา หฺยนนฺตสฺย หฺยทฺวยสฺย กุโต นติะ | เวทวากฺไยรเวมยสฺย กุตะ
โสฺตตรํ วิธียเต || ๔ || การประทักษิณาแห่งองค์อนันตภาวะ
แลการนอบคำนับแห่งองค์ผู้ไม่เป็นสองโดยแท้จะมีจากที่ใด? การสวดบทสรรเสริญแห่งองค์ผู้ถ้อยคำพระเวทไม่อาจรู้ได้จะมีจากไหน?
สฺวยํ ปฺรกาศมานสฺย กุโต นีราชนํ วิโภะ | อนฺตรฺพหิศฺจ ปูรณสฺย
กถมุทฺวาสนํ ภเวตฺ || ๕ || การเวียนประทีปถวาย แห่งองค์ผู้มีจิตสว่างโชติช่วง เป็นอยู่ได้เอง ผู้ซ่านไปทั่วจะมีจากที่ไหน? พิธีกล่าวคำสวัสดิมงคล แห่งองค์ผู้บริบูรณ์ทั้งภายในแลภายนอก องค์พระผู้เป็นที่มาของทุกสิ่งจะมีจากที่ใดเล่า?
เอวเมว ปรา ปูชา สรฺวาวสฺถาสุ สรฺวทา | เอกพุทะยา ตุ เทเวศ วิเธยา
พฺรหฺมวิตฺตไมะ || ๖ || ดังนั้น การบูชาอันสูงสุด ย่อมมีในการณ์ทั้งหลายในกาลทุกเมื่อนั่นเทียว โดยความรู้ในเอกภาวะ(ความเป็นหนึ่งเดียวของสัจธรรม) อนึ่ง คือการกระทำให้แจ้งซึ่งความรู้แห่งพรหมันอันสูงสุด
***
ศานติ ปาฐ บทแผ่เมตตา
โอมฺ สรฺเว ภวนฺตุ สุขินะ สรฺเว สํตุ นิรามยาะ | สรฺเว ภทฺราณิ ปศฺยํตุ
มา กศฺจิทฺ ทุะขภาคฺ ภเวตฺ || โอมฺ ศาํติะ ศาํติะ ศาํติะ|| โอม
ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงมีสุข ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงปราศจากความป่วยไข้ ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงพบแต่สิ่งดีงาม ขออย่าให้ใครมีส่วนแห่งความทุกข์เลย โอม ศานติ ศานติ ศานติ
โอมฺ อสโต มา สทฺคมย | ตมฺโส มา ชฺโยติรฺคมย | มฤตฺโยรฺมา อมฤตํ คมย |
โอมฺ ศาํติะ ศาํติะ ศาํติะ|| โอม นำข้าฯ จากอสัตย์ สู่สัจจะ จากมืดมน
สู่สว่าง จากความตาย สู่อมฤต โอม ศานติ ศานติ ศานติ
***
|| ชคทีศ อารตี || อารตีพระเป็นเจ้าแห่งสากลโลก
(ปรารถนา-บทสวด) โอม วิศฺวานิ เทว สวิตรฺทุริตานิ ปราสุว | ยทฺ ภทฺรํ
ตนฺน อาสุว || โอมฺ ศาติะ ศาติะ ศาติะ || โอมฺ
ข้าแต่องค์พระสาวิตฤ(สุริยเทพ) พระเป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล โปรดขจัดความขาดแคลนของข้าฯ โปรดทรงนำสรรพสิ่งดีงามมาสู่ข้าฯเทอญ โอมฺ ศานติ ศานติ ศานติ ||
โอม แย ย่ะเก่อะดีเฉ่อะ หะเร สวามี แย ย่ะเก่อะดี เฉ่อะ หะเร ภักตะ
ย่ะโน เก สังกัฎ ดาสะ ย่ะโน เก สังกฎ เก่อะษัณ เม ดูเร่อะ กะเร ,โอม แย
ย่ะเก่อะดีเฉ่อะ หะเร
โย ธยาเว ผะเล่อะ ปาเว ดุเข่อะ บิเน่อะเส มะนะ กา | สวามี.. สุขะ
สัมปัตติ ฆัรเร่อะ อาเว่ กัษเฎ่อะ มิเฎ ตะนะ กา | โอม ..
มาตะ-ปิตา ตุมเม่อะ เมเร ฉ่ะระเณ่อะ กะหู แม กิสะกี| สวามี.. ตุมม่ะ
บินน่ะ โอเร่อะ นะ ดูยา อาส่ะ กะรู ยิสส่ะกี | โอม ...
ตุเม่อะ ปูระเณ่อะ ปะระมาตมา ตุมเม่อะ อันตัรยามี | สฺวามี..
ปะระบรัมเม่อะ ปะระเมฉ่ะวะเร่อะ ตุมเม่อะ สะบ่ะ เกสวามี| โอม
ตุมเม่อะ กะรุณา เก สาก่ะเร่อะ ตุมเม่อะ ปาลันเนอ่ะ กัรตา | สวามี..แม
เสวักเก่
อะ ตุมเม่อะ สวามี กฤปปา กโร ภัรเร่อะตา | โอมฺ ...
ตุมเม่อะ โฮ เอเก่อะ อโกจ่ะอะร สับบะเก ปรานเน่อะปติ | สวามี.. กิส
วิธิ มิลู ดยามัยย่ะ ตุมเม่อะโก แม กุมเม่อะตี | โอม ...
ดีเน่อะ บันธุ ดุะข่ะหัรเร่อะตา ตุมเม่อะ รักษ่ะเก่อะ เมเร | สวามี..
กะรุณา หัสเอะต บฐาโอ ดวาเร่อะ ปรา เตเร | โอม ...
วิฉ่ะย่ะ วิกาเร่อะ มิตฎาโอ ปาป่ะ ฮโรเดวา | สวามี.. ฉรัดธา ภักติ
บะรฺาโอ สันตันเน่อะกี เสวา | โอม แย ยะเก่อะดีเฉ่อะ หะเร
***
ศานติ ศานติ ศานติ...
ขอขอบคุณ (ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ)
1. พี่หริทาสผู้แปล เรียบเรียง และจัดทำ
2. ที่มา http://wongmalatorn-say.exteen.com/20080205

แม้จะต้องใช้ความพยายาม สักแค่ไหน ก็จะพยายามคร้าฟ .... อื่ม ยิบเรย ตัวหนังสือเหอะๆ


ขอบพระคุณมากคร้าฟผ้ม ....

พี่กาลิทัสขอ  ได้โปรดเมตตา  น้องเสือตาลาย  พี่กาลิทัสช่วยตกเเต่งตัวหนังสือหน่อยได้ไหมเจ้าค่ะ

ฮืดๆๆๆๆ  สูดยาดมก่อน

เเล้วน้องเสือ  จะมาปูเสื่อรอ  อ่านนะคะ
เสียหายไม่ว่า  แต่เสียหน้าไม่ได้