Loader

แนะนำสถานที่สักการะพระคเณศในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง(ต้อนรับเทศกาลคเณศจตุรถี)

Started by อักษรชนนี, August 18, 2009, 19:15:57

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

เนื่องจากในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ นี้ เป็นเดือนสำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้นับถือพระเป็นเจ้าในศาสนาฮินดู ว่าเป็นเดือนแห่งการประสูติขององค์พระคเณศ มหาเทพแห่งสติปัญญาและความสำเร็จ พระผู้ทรงเป็นที่เคารพบูชาทุกชนชั้นและทุกนิกาย ไม่ว่าจะประกอบกิจการใดหากได้บูชาองค์พระคเณศก่อนแล้ว กิจการงานเหล่านั้นก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่า มีการนับถือพระคเณศมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ   ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพขององค์พระคเณศที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย กล่าวได้ว่า พระเป็นเจ้าองค์นี้ได้รับการเคารพสักการะมากที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูตั้งแต่อดีตจนกระทั่งในปัจจุบัน


ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ นาย"อักษรชนนี"จึงขอรวบรวมศาสนสถานและสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ อันเป็นที่ประดิษฐานพระคเณศ มาแนะนำให้เพื่อนๆพี่ๆที่สนใจและศรัทธาต่อองค์ท่านได้เดินทางไปสักการะในเทศกาลจตุรถีนี้ (หรือหลังจากงานนี้ก็สามารถนำไปเป็นไกด์ไลน์ได้ครับ) โดยบทความในตอนนี้ ผมได้นำบทความเก่าที่เรียบเรียงไว้เมื่อประมาณปีที่แล้ว เกี่ยวกับสถานที่แห่งศรัทธาขององค์พระคเณศ ซึ่งผมเคยนำมาเผยแพร่ในบอร์ดเก่าของHinduMeeting (คาดว่าทางพีกาลิทัสจะนำมาลงในเว็ปอีกครั้งเร็วๆนี้)  และเว็ปบอร์ดอื่นๆเมื่อประมาณปีที่แล้ว มาปรับปรุงเนื้อหาให้กระชับมากยิ่งขึ้นครับ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*
*
*
*
*
*
วิฆฺเนศฺวราย วรทาย สุรปฺรียาย

ลัมโพทราย สกลราย ชคัทธิตาย

นาคานราย ศฺรุติยชฺญ วิภูษิตาย

เคารีสุตาย คณนาถ นโม นมัสเต
.
.
.

" โอ, พระวิฆเนศ ท่านสามารถขจัดอุปสรรค และประทานพรให้กับผู้ปฏิบัติบูชาพระองค์

เทวดาทุกๆพระองค์ชอบท่าน เพราะท่านชอบเทวดาทุกองค์ ท่านมีท้องที่ใหญ่

ท่านเป็นเทพแห่งศิลปทั้งหลาย สิบสี่ประการ ขอท่านจงประทานพรอันเป็นมงคลต่างๆ แก่ผู้บูชาพระองค์

ท่านมีพระพักตร์เป็นช้าง ท่านเป็นโอรสของพระแม่ปาราวตี พวกเราขอนมัสการพระองค์ "
.
.
.
.
.
( จากเนื้อความตอนหนึ่งในหนังสือ "ประวัติพระคเณศ ฉบับของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์" )
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์







พระคเณศประจำเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ประดิษฐานอยู่ในสถานพระคเณศ หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า โบสถ์กลาง เนื่อจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) กับสถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) มีลักษณะเป็นอาคารหลังคาคลุม สร้างด้วยอิฐถือปูน มีเพิงกั้นที่ด้านสกัดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเรียกว่า “บังสาด” โดยทั้งตัวอาคารและหน้าบันไม่มีการประดับลวดลาย เพียงแต่ทาสีขาวและปูหลังคาด้วยกระเบื้องสีเขียวไว้เท่านั้น





(ลักษณะที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยความสง่างามของสถานพระคเณศ ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์)
.
.
.

เมื่อเข้าสู่ภายในสถานพระคเณศ ท่านจะพบกับบรรยากาศที่เข้มขลัง ซึ่งแฝงอยู่ในความเรียบง่าย สบายตาของการตกแต่งภายใน เนื่องจากภายในสถานพระคเณศไม่มีการประดับหรือวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังใดๆทั้งสิ้น มีเพียงแต่การทาผนังด้วยสีขาว และทาเพดานด้วยสีแดงประดับลายดาวเพดานสีทองเท่านั้น



(บรรยากาศภายใน)


พระคเณศที่ประดิษฐานอยู่บนฐานคล้ายกับฐานชุกชีภายในสถานพระคเณศ มีจำนวนทั้งสิ้น ๕ องค์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคลื่อนย้ายมาจากที่ใด แต่สันนิษฐานว่าบางองค์อาจจะมีการนำมาจากเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพระคเณศองค์ที่ประดิษฐานไว้เป็นองค์ประธานนั้นร้างมาจากโลหะสำริด ส่วนสี่องค์ที่เหลือสร้างมาจากศิลา ซึ่งแต่ละองค์มีลักษณะที่สำคัญดังนี้



องค์แรก เป็นเทวรูปพระคเณศที่ทำด้วยศิลาสีน้ำตาลอมชมพู ความสูงประมาณ ๗๐ ซม. ประทับนั่งท่ามหาราชลีลา โดยชันพระชานุซ้าย ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้ไม่มากนัก มีสองพระกร (ซึ่งชำรุด) จากลักษณะทางประติมานวิทยาแสดงให้เห็นว่าเป็นพระคเณศปางโยคะ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปเคารพของนักบวชที่สร้างขึ้นมา เพื่อขจัดอุปสรรคในการบำเพ็ญโยคะ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ถือว่าเป็นเทวรูปพระคเณศที่มีความเก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์



องค์ที่สอง เป็นเทวรูปพระคเณศที่ทำจากศิลาดำ มีความสูงประมาณ ๙๐ ซม. ประทับนั่งขัดสมาธิอย่างหลวมๆ พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายบนแท่นสี่เหลี่ยม มีสี่พระกร ถือ ปาศะ อังกุศะ ทันตะ และขนมโมทกะ โดยมีงวงซึ่งห้อยลงมาทางด้านซ้ายเอื้อมไปหยิบขนม ที่ฐานด้านหน้ามีร่องรอยรูปหนูหันหน้าเข้าหากันสองข้าง โดยรูปแบบทางศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากศิลปะของอินเดียใต้ ประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗



องค์ที่สาม เป็นเทวรูปศิลาดำ มีความสูงประมาณ ๑๑๐ ซม. ประทับนั่งท่ามหาราชลีลา โดยชันพระชานุขวา มีสี่พระกร ชำรุดพระกรหนึ่ง พระกรที่เหลือถือ ทันตะ อังกุศะ และถ้วยขนม ทรงใช้งวงหยิบอยู่ด้วย ระหว่างพระเนตรทั้งสองมีลวดลายคล้ายดอกประจำยามประดับอยู่


องค์ที่สี่ เป็นเทวรูปศิลาทรายสีชมพู สูงประมาณ ๗๐ ซม. มีร่องรอยการลงรักปิดทองประทับนั่งท่ามหาราชลีลา ชันพระชานุขวา พระอุทรมีขนาดใหญ่มาก จนดูราวกับว่าพระชงฆ์ทั้งสองแยกออกจากด้านหน้าพระโสณี มีสี่พระกร ทรงสังข์ ปาศะ และถ้วยขนม อีกพระกรที่ว่างคล้ายกับกำลังถอดงาข้างขวา


องค์ที่ห้า เป็นเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ ถือเป็นเทวรูปองค์ประธานของสถานพระคเณศ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๘๕ ซม. ประทับนั่งสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ลักษณะพระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน มีสองพระกร พระกรขวาถืองาหัก และพระกรซ้าย สันนิษฐานว่าถือเหล็กจารหรือ คณปติลิงคะ นอกจากเทวรูปทั้งห้าองค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานคล้ายกับฐานชุกชีแล้ว เบื้องหน้าของฐานชุกชียังมีเทวรูปพระคเณศอีกสององค์ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเทวรูปใหม่ที่เพิ่งนำมาประดิษฐานในภายหลัง



(หมู่เทวรูปพระคเณศที่ประดิษฐานภายในสถานพระคเณศ)

สถานพระคเณศ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖๘ ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ท่านที่ต้องการสักการะ สามารถเดินทางมาได้ทุกวัน ในเวลาราชการ (ประมาณ ๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ) แต่สำหรับท่านที่ต้องการเข้าไปสักการะถึงด้านในของสถานพระคเณศ ควรเดินทางมาในวันพฤหัสและวันอาทิตย์ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่จะเปิดประตูให้ท่านเข้าไปสักการะถึงภายในโบสถ์ครับ (ส่วนวันอื่นๆก็ต้องลองเสี่ยงดูนะครับ บางครั้งก็อาจจะเปิดให้เข้าไปได้ แต่แน่นอนที่สุดคือสองวันที่ผมแจ้งไปครับ)
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

เทพมณเฑียร









เทวรูปพระคเณศของเทพมณเฑียร ประดิษฐานอยู่ทางเบื้องซ้ายของซุ้มที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์และพระแม่ลักษมี (อันถือเป็นเทวรูปประธานของเทพมณเฑียร) โดยเทวรูปพระคเณศองค์นี้สร้างมาจากหินอ่อนสีขาวน้ำนม มีลักษณะทางประติมากรรมเป็นพระคเณศประทับนั่งห้อยพระบาทขวา มีสี่พระกร พระกรขวาด้านบนถือปรสุ (ขวาน) พระกรซ้ายด้านบนถือดอกบัว พระกรขวาด้านล่างอยู่ในลักษณะประทานพร ส่วนพระกรซ้ายด้านล่างถือวัตถุคล้ายผลไม้หรือขนม และที่งวงก็ตวัดขนมยกขึ้นไปทางด้านขวาด้วย ซึ่งที่องค์เทวรูปมีการประดับด้วยพัสตราพรและเครื่องประดับอย่างงดงาม 









(เทวรูปพระคเณศประจำเทพมณเฑียร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ)



เทวรูปองค์นี้เป็นที่รู้จักและเคยเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นเทวรูปพระคเณศหินอ่อนที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยแล้ว เทวรูปองค์นี้ยังได้เคยเกิดเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ขึ้น นั่นก็คือ เหตุการณ์ที่เทวรูปพระคเณศองค์นี้เสวยน้ำนมที่มีผู้นำไปถวาย เหมือนกับที่เกิดกับเทวรูปพระคเณศหลายองค์ทั่วทุกมุมโลก
.
.
.
[HIGHLIGHT=#ffffff].[/HIGHLIGHT]
(เทวรูปพระคเณศหินอ่อน ประดิษฐานอยู่ในเทพมณเฑียร งดงามด้วยฝีมือช่างตามแบบฉบับอินเดีย)


สำหรับท่านที่ต้องการที่จะเดินทางมาสักการะเทวรูปพระคเณศหินอ่อนและเทวรูปของพระเป็นเจ้าองค์อื่นๆ ณ เทพมณเฑียร กรุงเทพฯ สามารถมาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ช่วงเย็นตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๐.๓๐ น. โดยในระหว่างเวลา ๑๒.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น. ทางเทพมณเฑียรจะปิดงดให้เข้าไปสักการะภายในครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

วิทยาลัยนาฏศิลป์  (กรุงเทพมหานคร)










วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพมหานคร เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีเทวรูปขององค์พระคเณศประดิษฐานอยู่ เพื่อให้สานุศิษย์ทั้ง นักศึกษา ครูอาจารย์ พนักงานรวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ศรัทธาในพระองค์ได้เข้าไปกราบสักการะ ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วัดพระแก้ววังหน้า (เนื่องจากในอดีตบริเวณวิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นที่ตั้งของวัดบวรสถานสุทธาวาส วัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า)







(มุมหนึ่งของสถานที่ประดิษฐานพระคเณศ ซึ่งมองเห็นพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสอยู่เบื้องหลัง)





เทวรูปพระคเณศองค์นี้มีขนาดสูงประมาณ ๒๕๐ เซ็นติเมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่นสองชั้น ด้านหลังองค์เทวรูปเป็นแผ่นหินกลม มีสี่พระกร ทรงวัชระ ปาศะ ทันตะ และหม้อ(หรือขัน)น้ำ ประทับนั่งในลักษณะแยกพระชงฆ์ออกจากกันโดยฝ่าพระบาททั้งสองข้างหันเข้าหากัน ทรงเครื่องเทวพัสตราภรณ์ประดับด้วยงูและหัวกะโหลก ซึ่งถือเป็นลักษณะทางประติมากรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชวา






(ลักษณะของพระคเณศภายในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งเต็มไปด้วยความน่าเกรงขาม
เนื่องจากประดับด้วยพัสตราถรณ์ที่มีหัวกะโหลกปรากฏอยู่ด้วย)


เบื้องหลังความงามของเทวรูปองค์นี้ ได้รับการออกแบบโดยปรมาจารย์ทางด้านศิลปผู้ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และนายชิ้น ชื่นประสิทธิ์ เป็นผู้หล่อ โดยหล่อจากวัสดุปูนซีเมนต์ทั้งองค์ นับเป็นเทวรูปขนาดใหญ่ที่มีความงดงามและถือเป็นต้นแบบของพระพิฆเนศวรที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศนำไปเป็นต้นแบบสำหรับสร้างเพื่อประดิษฐานประจำยังวิทยาลัยนั้นๆ รวมถึงเป็นต้นแบบในการจัดสร้างวัตถุมงคลของทางกรมศิลปากรอีกด้วย (อาทิ พระคเณศรุ่นปี พ.ศ.๒๕๔๐ ๒๕๔๗ และล่าสุดคือรุ่นปี ๒๕๕๐)




(ความงามจากฝีมือการออกแบบของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)





สำหรับเวลาที่แนะนำให้ท่านที่ต้องการเดินทางไปสักการะนั้น ควรไปในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลาระหว่าง ๘.๓๐ น. - ๑๕.๓๐ น. (ในวันและเวลาราชการ) เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ราชการ แต่ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปสักการะได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษษความปลอดภัยหน้าประตูทราบด้วยว่าท่านต้องการเข้ามาสักการะพระคเณศภายใน และต้องไม่ส่งเสียงอึกทึกรบกวน ตามมารยาทของผู้เข้าไปในสถานที่ราชการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาครับ)
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)








พระคเณศที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระศรีมหาอุมาเทวี จากการสังเกตจะพบว่ามีประติมากรรมองค์พระคเณศ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในอาคารเทวาลัยประธานสององค์ด้วยกัน คือ  องค์แรก ประดิษฐานอยู่ภายในห้องขนาดเล็กด้านขวาของห้องที่ประดิษฐานเทวรูปพระศรีมหามารีอัมมัน ซึ่งถือเป็นเทวรูปประธานของวัด โดยมีลักษณะเป็นเทวรูปพระคเณศประทับนั่ง ทำจากหินแกรนิตสีดำ มีสี่พระกร พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วง) พระกรขวาบนถืออังกุศะ (ขอสับ) พระกรซ้ายล่างถือถ้วยขนม พระกรขวาล่างถืองา ปลายงวงตวัดไปทางซ้ายที่ถ้วยขนม งาที่ด้านขวาหัก และทรงสวมกรัณฑมงกุฎ มีซุ้มหน้ากาล(ทำจากโลหะ)ตั้งอยู่ด้านหลังเทวรูป โดยเทวรูปประดิษฐานอยู่บนแท่นหินสี่เหลี่ยมสีน้ำตาล ด้านหน้าแท่นดังกล่าว เป็นแท่นสีเหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่า สำหรับใช้เป็นที่ตั้งรูปพาหนะขององค์พระคเณศ นั่นก็คือ หนู ทำจากหินแกรนิตสีดำเช่นเดียวกัน



สำหรับเทวรูปพระคเณศองค์นี้ อ.จิรัสสา คชาชีวะ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สันนิษฐานตามลักษณะทางประติมานวิทยาว่า มีลักษณะตามแบบศิลปะอินเดียใต้ตอนปลาย พระวรกายอ้วนเตี้ย ค่อนข้างเทอะทะ หากแต่แฝงไว้ด้วยความหนักแน่นและมีอำนาจ
.
. [/COLOR]
นอกจากเทวรูปพระคเณศประทำนั่งซึ่งทำจากหินสีดำแล้ว ยังมีเทวรูปพระคเณศอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานรวมอยู่กับเทวรูปขององค์ประเป็นเจ้าอื่นๆบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง บริเวณฝั่งขวาด้านในอาคารเทวาลัยประธาน โดยประดิษฐานอยู่เป็นองค์แรกของแท่นดังกล่าว มีลักษณะเป็นเทวรูปสำริด ประทับยืน มีสี่พระกร พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วง) พระกรขวาบนถืออังกุศะ (ขอสับ) พระกรซ้ายล่างถือขนม พระกรขวาล่างถืองา ปลายงวงตวัดหยิบขนมที่อยู่ในพระกรซ้าย งาที่ด้านขวาหัก (คล้ายกับเทวรูปที่ทำจากหินแกรนิตสีดำที่กล่าวไปในข้างต้น) มีซุ้มกาลอยู่เบื้องหลังของเทวรูป





(เทวรูปพระคเณศสำริด ประทับยืน ประดิษฐานอยู่บนแท่นยาวทางฝั่งขวารวมกับเทวรูปของพระเป็นเจ้าองค์อื่นๆภายในเทวาลัยประธานวัดพระศรีมหาอุมาเทวี)

ในส่วนของลักษณะทางศิลปกรรมของเทวรูปองค์นี้ เป็นรูปแบบของอินเดียใต้ โดยจะมีการอัญเชิญออกมาประกอบพิธีสำคัญของวัดหลายพิธี เช่น พิธีคเณศจตุรถี (พิธีบูชาเนื่องในวันคล้ายวันประสูติขององค์พระคเณศ) พิธีบูชาองค์บรมครู(เป็นพิธีบูชาองค์พระคเณศก่อนที่จะเริ่มต้นเทศกาลนวราตรี) และงานแห่ประจำปี ในวันวิชัยทัศมิ โดยจะมีการอัญเชิญเทวรูปองค์นี้ออกแห่เพื่อให้สานุศิษย์ทั้งหลายได้มีโอกาสสักการะด้วย



(การตกแต่งและประดับประดาพระคเณศด้วยพวงมาลัยดอกไม้สดอย่างงดงาม
[/SIZE]ในวันแห่ประจำปีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี พ.ศ.๒๕๕๑)
[/B][/SIZE]


(พระคเณศที่อัญเชิญออกมาประกอบพิธีบูชาเนื่องในงานคเณศจตุรถี พ.ศ.๒๕๕๑)




วัดพระศรีมหาอุมาเทวีจะเปิดให้เข้าไปสักการะได้ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. เฉพาะวันศุกร์เปิดถึง ๒๑.๐๐ น. ยกเว้นในช่วงที่มีงานเทศกาลนวราตรี ทั้ง ๙ วัน จะเปิดให้เข้าได้ถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. และนอกจากท่านจะได้สักการะเทวรูปพระคเณศแล้ว ยังจะได้ชื่นชมภาพจิตรกรรมปางต่างๆของพระคเณศ บนเพดานของเทวาลัยประธาน (ฝั่งเดียวกับที่ประดิษฐานพระคเณศ) ซึ่งทางวัดเพิ่งให้ช่างชาวอินเดียวาดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

สาธุ สาธุ สาธุ ขอบคุณ คุณอักษรชนนี ที่นำความรู้ มาให้ชม และกราบไหว้ ครับ สาธุ

[HIGHLIGHT=#fac08f][HIGHLIGHT=#fbd5b5]ศาลพระคเณศ (หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์)[/HIGHLIGHT][/HIGHLIGHT]
.
.
.

.
.
.

ในบรรดาศาลของพระเป็นเจ้าในสี่แยกราชประสงค์ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า สี่แยกเทพจ้านั้น  ศาลพระคเณศ บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ฝั่งมุมห้างอิเซตัน) ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีผู้นิยมมาสักการะและขอพระพระคเณศองค์นี้เป็นจำนวนมาก
.
.
.




(ศาลพระคเณศที่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีผู้นิยมมาสักการะมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ)




ศาลพระคเณศแห่งนี้มีลักษณะเป็นเทวาลัยทรงจตุรมุข เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน ภายในเขียนลายทองรูปพรรณพฤกษา ดอกพุดตาน และสัญลักษณ์ "โอม" บนพื้นสีแดง ตรงกลางประดับดาวเพดานหนึ่งดวง





(ลวดลายภายในเทวาลัยทรงจตุรมุขเมื่อมองจากมุมข้าง)



องค์พระคเณศที่ประดิษฐานอยู่ภายใน เป็นเทวรูปปูนปั้น ปิดทองอย่างงดงามและวิจิตรบรรจง ลักษณะทางประติมากรรมของพระคเณศองค์นี้ ทรงมีสี่พระกร ถือเทพศาสตราได้แก่ พระกรขวาบนถือวัชระ พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วงบาศ) พระกรขวาล่างถืองา และพระกรซ้ายล่างถือครอบน้ำมนต์ ประทับบนบัลลังก์ก้อนเมฆ โดยนั่งหันฝ่าพระบาททั้งสองเข้าหากัน เครื่องทรงและพัสตราภรณ์มีลักษณะแบบศิลปะไทย



(สุดยอดประติมากรรมปูนปั้นที่งดงามองค์หนึ่งของไทย)




สำหรับท่านที่ต้องการเดินทางไปสักการะที่ศาลแห่งนี้สามารถเดินทางไปได้ทุกวัน และสามารถไปได้เกือบตลอด ๒๔ ชม. เนื่องจากศาลแห่งนี้อยู่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้า มิได้เป็นพื้นที่ปิดเหมือนกับสถานที่อื่นๆ ยิ่งช่วงเย็นถึงค่ำจะมาผู้ศรัทธาเดินทางมามากเป็นพิเศษ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

วัดวิษณุ







พระคเณศที่วัดวิษณุมีประดิษฐานอยู่สองแห่ง แห่งแรกอยู่บนโถงใหญ่ของเทวาลัยประธาน โดยอยู่ในหอด้านซ้ายมือ โดยเป็นเทวรูปหินอ่อนสีขาวน้ำนม ลักษณะทางประติมากรรมประทับนั่งบนดอกบัว ห้อยพระบาทขวา มีสี่พระกร พระกรขวาด้านบนถือปรสุ (ขวาน) พระกรซ้ายด้านบนถือดอกบัวและปาศุ(บ่วงบาศ) พระกรขวาด้านล่างอยู่ในลักษณะประทานพร ส่วนพระกรซ้ายด้านล่างถือขนม โดยที่งวงของเทวรูปพระคเณศองค์นี้ตวัดเอาขนมยกขึ้นมาทางด้านซ้ายด้วย




(เทวรูปพระคเณศในเทวาลัยประธานวัดวิษณุ)



โดยเทวรูปพระคเณศองค์นี้มีความพิเศษแตกต่างจากพระคเณศในเทวาลัยอื่นๆ เพราะพระคเณศที่วัดวิษณุมีเทวรูปของชายาคือ นางสิทธิ และ พุทธิ ขนาบทั้งสองข้างด้วย นับว่าหาชมได้ที่นี่แห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร




(พระคเณศและชายาทั้งสอง)


ส่วนอีกแห่งหนึ่งอยู่ในเทวาลัยพระศิวลึงค์ด้านขวาของเทวาลัยประธาน  โดยพระคเณศองค์นี้ประทับนั่งบนพระเพลา (ตัก) ระหว่างพระศิวะกับพระแม่อุมา เป็นเทวรูปพระคเณศในปางเด็ก มีสี่พระกร ถือสิ่งของคล้ายกับพระคเณศองค์ใหญ่ในเทวาลัยประธาน นับว่าเป็นเทวรูปพระคเณศที่ดูน่ารักที่สุดองค์หนึ่ง




(น่ารักและน่าเคารพสมกับทรงเป็นที่รักของสานุศิษย์ทุกคน)





(สามพระเป็นเจ้าประทับร่วมกันดั่งครอบครัวแห่งจักรวาล)




วัดวิษณุ เปิดให้เข้าไปสักการะพระเป็นเจ้าภายในศาสนสถานได้ทุกวัน สำหรับการเดินทางมาก็สามารถมาได้ค่อนข้างสะดวก โดยวัดวิษณุตั้งอยู่ซอยเดียวกับวัดปรก เขตยานนาวา หากมาโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ลงที่สถานีสุรศักดิ์ ส่วนรถประจำทางสายที่ผ่านได้แก่ 17, 22, 62, 67, 77, 116, 149 จากนั้นถ้าสะดวกที่สุดให้ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากปากทางสมาคมหอการค้าไทย-จีน
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ศาลพระคเณศ (เจ้าพ่อหลักเมือง) พระประแดง



.
.
.
ศาลพระคเณศ หรือเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองพระประแดง  ต.ตลาด  อ.พระประแดง  จ.สมุทรปราการ มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๘ โดยสร้างเป็นศาลประจำเมือง  และได้ประกอบพิธีฝังอาถรรพ์เสาหลักเมือง  เมื่อวันศุกร์  เดือน  ๗ แรม  ๑๐ ค่ำ  ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๕๘  นับว่าเป็นพระคเณศองค์เดียวที่มีฐานะเป็นหลักเมืองของบ้านเมืองด้วย
.
.
.
(บุษบกที่ประดิษฐานพระคเณศหรือเจ้าพ่อหลักเมืองของชาวพระประแดง)
.
.
.
ลักษณะของศาลในปัจุบัน (เนื่องจากศาลแห่งนี้มีการปรับปรุงและบูรณะหลายครั้ง) มีการผสมผสานศิลปะหลายวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน และมอญ ที่สะท้อนให้เห็นจากลวดลายและสิ่งของที่ประดับตกแต่งศาล แต่ถ้าท่านที่เคยไปจะเห็นว่า ศาลแห่งนี้จะมีลักษณะที่ค่อนไปทางศาลเจ้าของจีน เพราะปัจจุบันผู้ดูแลศาลแห่งนี้เป็นชาวจีนนั่นเอง
.
.
.
(เทวรูปพระคเณศประจำศาลหลักเมืองพระประแดง)
.
.
.
พระคเณศประจำศาลหลักเมืองพระประแดงองค์นี้ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกแบบไทย มีลักษณะเป็นพระคเณศศิลา มีสี่พระกร พระกรขวาบนถือตรีศูล  พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วงบาศ) พระกรขวาล่างถืองา และพระกรซ้ายล่างถือถ้วยขนม  ประทับนั่งบนฐานบัวหงาย  โดยพระคเณศองค์นี้งดงามด้วยความเรียบง่าย เนื่องจากที่องค์เทวรูปแทบจะไม่มีลวดลายเครื่องประดับใดๆ แม้กระทั่งเครื่องศิราภรณ์ ซึ่งแตกต่างจากพระคเณศองค์อื่นๆที่กล่าวไปในข้างต้น
.
.
.
(ความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความงามและน่าเกรงขาม)
.
.
.
ศาลหลักเมืองพระประแดง ได้รับยกย่องให้เป็นศาลพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมพระคเณศองค์ดังกล่าวจึงมีฐานะและเรียกว่าเป็นเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งๆทีเวลาที่เราไปศาลจึงไม่เห็นเสาหลักเมืองเหมือนกับศาลหลักเมืองแห่งอื่นๆ เรื่องนี้ในความเป็นจริงแล้วองค์พระคเณศที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเสาหลักเมือง โดยตัวเสาจริงๆนั้นอยู่ลึกลงไปทางด้านล่างของศาล มีลักษณะเป็นเสาก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่มจตุรัส และทาด้วยสีแดง กล่าวง่ายๆก็คือ พระคเณศองค์นี้ก็คือส่วนยอดของเสาหลักเมืองพระประแดงนั่นเอง ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้ลงไปถึงด้านล่างซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของพระประแดงจริงๆ
.
.
.
(เสาหลักเมืองพระประแดงที่อยู่ลึกลงไปด้านล่างของศาลแห่งนี้)
.
.
.
พระคเณศแห่งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของทั้งชาวพระประแดงและผู้คนที่เคารพศรัทธาในองค์พระคเณศ แม้ปัจจุบันตัวศาลจะตั้งอยู่ลึกเข้าไปในตลาดพระประแดง แต่ก็มีผู้ศรัทธาเดินทางไปสักการะอย่างไม่ขาดสาย แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ศาลแห่งนี้ก็ยังคงเป็นทั้งหลักบ้านใจเมือง และเป็นหลักทางจิตวิญญาณของชาวพระประแดงอย่างไม่มีเสื่อมคลาย
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

เทวาลัยพระคเณศ พระราชวังสนามจันทร์








เทวาลัยพระคเณศตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางของพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระผู้ทรงโปรดศิลปวิทยาการ และการประพันธ์เป็นพิเศษ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ไว้ ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวัง สำหรับใช้ประกอบพิธีบวงสรวง และเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐมก็จะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศ และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
.
.
.
.
(สังเกตดีๆจะเห็นว่าด้านหลังเทวลัยจะเป็นขององค์พระปฐมเจดีย์ ด้วยเทวาลัยสร้างอยู่ตรงกับระดับกึ่งกลางของพระเจดีย์พอดี)
.
.
.
ลักษณะของศาลพระคเณศแห่งนี้มีความงดงามและวิจิตรบรรจง มีลักษณะคล้ายกับหอคอยสองชั้น ชั้นล่างมีประตูด้านหน้าและหลังขนาดประมาณคนลอดเข้าไปได้ ถัดขึ้นไปด้านบนเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระคเณศ โดยตกแต่งด้วยลวดลายสีทองตัดกับสีขาวของตัวศาล ทำให้ศาลพระคเณศแห่งนี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก
.
.
.
.
(ความงดงามตามเชิงช่างสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๖)
.
.
.
เทวรูปพระคเณศที่ประดิษฐานภายในศาล มีลักษณะเป็นพระคเณศหล่อจากโลหะสำริด มีสองพระกร พระกรขวาถือปาศะ (บ่วงบาศ) พระกรซ้ายถือกปาละ (ถ้วยหัวกะโหลก) ประทับนั่งโดยหันฝ่าพระบาททั้งสองเข้าหากัน โดยเครื่องพัสตราภรณ์เป็นแบบไทย และมีส่วนประกอบของหัวกระโหลกประดับอยู่ที่องค์เทวรูปด้วย ทั้งที่พระกุณฑล (ตุ้มหู) และบนมงกุฏ ตามรูปแบบทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากชวา (อินโดนีเซีย)
.
.
.
.
(พระคเณศประจำพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม)

.
.
.
พระคเณศที่พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ กล่าวกันว่าเป็นเทวรูปพระคเณศที่หล่อจากสำริดขนาดใหญ่องค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยมีหลักฐานบันทึกถึงฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเทวาลัยแห่งนี้ว่าตรงกับ "วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ตรงกับเดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๔ นาฬิกา กับ ๕๒ นาที ๕๗ วินาที หลังเที่ยง ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จทรงเจิมเทวรูปพระพิฆเนศวร แล้วเชิญ ขึ้นประดิษฐาน ณ หอแก้วเป็นปฐมฤกษ์ ไปจนถึงเวลา ๕ นาฬิกากับ ๔๐ นาที ๕๗ วินาที หลังเที่ยง เป็นที่สุดแห่งพระฤกษ์"
.
.
.
.
.
.

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเวลาย้อนไปได้กว่า ๙๐ ปี ที่เทวาลัยพระคเณศตั้งอยู่เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระราชวังและเป็นสิริมงคล สูงสุดแก่ผู้ศรัทธาทซึ่งเดินทางมาสักการะองค์ท่าน ณ พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบการเรียบเรียง :

- หนังสือ พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย โดย อ.จิรัสสา คชาชีวะ

- หนังสือ คเณศปกรณ์ โดย อ.กิตติ วัฒนะมหาตม์

- หนังสือ ประวัติศาสนาพราหมณ์และพระมหาเทพ ๗ พระองค์ โดย มูลนิธิพระพิฆเนศ

- หนังสือ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า โดย สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

- หนังสือ จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ โดย กรมศิลปากร

- หนังสือ ประวัติพระคเณศ ฉบับของเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์

- สารนิพนธ์เรื่อง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประติมานวิทยาที่เทวสถานพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) โดย วรรณพรรธน์ เรืองทรัพย์

- หนังสือ พระราชกรณียกิจในการทรงอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดย กรมการศาสนา


- บทความ วัดวิษณุ หนึ่งเดียวในไทยที่มีเทพครบทุกองค์ โดย ไตรเทพ ไกรงู/นสพ.คมชัดลึก
- บทความ พลิกปูมวัดวิษณุ ศูนย์กลางชุมชนชาวอุตรประเทศในกรุงเทพมหานคร
โดย ประเวช ตันตราภิรมย์/วารสารเมืองโบราณ
.
- สกู๊ปพิเศษ "พิธีอารตี" บูชาประจำวัน วัดเทพมณเฑียร-เสกพระพิฆเนศ
โดย หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน
- หนังสือ ๑๐๐ มุมมองใหม่กรุงเทพฯ โดย กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

- หนังสือ ของดีกรุงเทพฯ โดย กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
- สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สำหรับภาพประกอบภายในสถานพระคเณศ)
- สารคดีมหัศจรรย์สุวรรณภูมิ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (สำหรับภาพพระคเณศหินดำ วัดแขก สีลม)
- คุณธนากร  จินดาศรี (สำหรับภาพพระคเณศ ศาลหลักเมืองพระประแดง)

ขอขอบพระคุณท่านผู้เขียนหนังสือรวมทั้งเจ้าของภาพประกอบ(ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น)ทุกท่าน ซึ่งผู้เรียบเรียงได้นำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงรวมทั้งนำภาพมาใช้ประกอบ
ทางผู้เรียบเรียงจึงขอกราบขอบพระคุณ
ด้วยความเคารพอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ครับ
[/SIZE]
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

เสริมนิดนึงครับ พระพิฆเนศที่ศาลหลักเมืองพระประแดง ถ้าใครมีโอกาสอยากให้ไปนมัสการพระองค์ซักครั้งนะครับ

เพราะที่นั่น พระองค์ได้รับศรัทธาอันล้นหลามจากประชาชนชาวพระประแดงจริงๆ

ผมเคยมีโอกาสไปนมัสการครั้งนึงครับ

ขอบคุณสำหรับกระทู้แนะนำครับ

เรียบร้อยแล้วนะครับ  หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความตอนนี้ไม่มากก็น้อย   


* * * * *


ขอพรจากองค์พระคเณศเนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี โปรดประทานพรให้ทุกท่านมีความสุข
ถึงพร้อมด้วยสติ ปัญญา และปราศจากอุปสรรคข้อขัดข้องทั้งปวงเทอญ
โอม....ศรีคเณศายะ นะมะฮา




WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0