Loader

ยอมรับว่า อ่านหนังสือของสมาคมฮินดูที่เรียบเรียงเป็นภาษาไทย อ่านไม่เข้าใจ

Started by พิษประจิม, February 16, 2010, 13:14:00

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

ผมอ่านมาหลายเล่ม และมีปัญหากับเรื่องคำศัพท์บางคำ และพบหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือที่เรียบเรียงจากภาษาอังกฤษ และแปลเป็นภาษาไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ศัพท์ทางศาสนา หรือคำที่รับมาจากภาษาสันสกฤต บางคำเปนที่รู้กัน เช่น กฤษณะ พลราม ภควาน พุทธะ คุรุ ภีษมะ กุรุเกษตร พรหมจารี ประหลาท ยุธิษฐิระ-มหาราช นารถมุนี ฯลฯ หนังสือก็ไปดัดแปลงว่า คริชณะ บะละรามะ บฺะกะวาน บุดดฺะ กุรุ บฺีชมะ  คุรุคเชทระ บระฮมะชารี พระฮลาท ยุดิชทฺีระ มะฮาราจ ฯลฯ

หรือบางคำเป็นพื้นๆ เช่น วิทยา อวิชชา(อวิทยา) พรหม-โชฺยติ ฯลฯ เขาก็แก้เป็น วิดยา อวิดยา บระฮมะจโยติ ฯลฯ

ผมว่ายังไง พิมพ์หนังสือให้คนไทยอ่าน บางคำคนไทยใช้มานาน เช่น พุทธะ วิษณุ ธรรมะ พรหมโลก ก็ใช้ตรงๆเลยว่า พุทธะ วิษณุ ธรรมะ พรหมโลก ไม่ต้องพยายามให้คนอ่านออกเสียงแบบสันสกฤต ยังไงในประเทศไทยคนที่รู้สันสกฤตและออกเสียงสันสกฤตแบบอินเดียมีน้อยมากๆ คนที่พิมพ์หรือแปลเป็นภาษาไทยต้องเข้าใจจุดนี้

แม้แต่ภาษาไทย บางคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ จำเป็นมากๆที่ต้องเขียนให้ถูก(ยืมภาษาเขามานิครับ) เพราะเป็นคำภาษาต่างประเทศ คำไทยเองใช้ผิดไม่ค่อยมีปัญหา เพราะยังสื่อความหมายเข้าใจ แต่ภาษาต่างประเทศ บางคำก็ยกเว้นได้ในกรณีคำนั้นมันใช้มานาน เช่น จุกก๊อก(คอร์ก)

บางคำคนไทยรู้จักมานาน เช่น พราหมณ์ กษัตริย์ กฤษณะ พุทธะ วิษณุ ฯลฯ ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องไปดัดแปลงคำ หรือพยายามให้คนอ่านว่า บราฮมะณะ คะชะตริยะ คริชณะ บุดดฺะ วิชณุ

ตรงนี้แหละ คืออุปสรรคที่ทำให้ผมอ่านหนังสือพวกนี้ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะชื่อหรือศัพท์เฉพาะต่างๆ

...

ไม่นานเห็นหนังสือเล่มนึง เล่มหนาๆ หน้าปกส้มๆชมพูๆ เขียนว่า"รามเกียรติ์ ฉบับวาลมิกี"
พระเจ้าช่วย ฤษีวาลมิกีแต่งรามเกียรติ์ด้วยหรือนี่

ที่ทราบ วาลมิกี แต่งรามายณะ ใช้ภาษาสันสกฤตแต่ง เนื้อเรื่องคนละอย่างกับรามเกียรติ์

ฉบับสันสกฤต เรียก รามายณะ
ฉบับไทย เรียก รามเกียรติ์
ฉบับทมิฬ เรียก กัมพะ อิรามายณัม หรือ อิรามาวตารัม
ฉบับเบงกอล เรียก กฤตติวาส รามายณะ
ฉบับฮินดี เรียก รามจริตมานัส

และแต่ละฉบับ เนื้อเรื่องไม่เหมือนกันครับ


ผมว่านะ ถ้าเป็นชื่อพระ ชื่อเทพ ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ ในวรรณกรรมก็ควรแปลเป็น สันสกฤต - ไทย จะดีกว่า

เช่น วิชณุ ก็ควรเป็น วิษณุ, คุรุ ก็ควรเป็น ครู, บระฮมะชารี ก็ควรเป็น พรหมจารี เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นบทสวด ก็ควรทำเป็นสำเนียงดั้งเดิมของเข้าของภาษาเขา (สันสกฤต - สำเนียงฮินดิ)

เช่น วิษณุ ก็ควรเป็น วิชณุ, กฤษณะ ก็ควรเป็น คริชณะ, พรหมา ก็ควรเป็น บระฮมา เป็นต้น

เห็นว่าไงครับ จะได้ไม่งงกัน
[HIGHLIGHT=#ffff00]
[HIGHLIGHT=#ffff00]อันจิตมนุษย์นั้นชอบวิ่งออกไปแสวงหาพระเจ้าจากวัตถุภายนอก[/HIGHLIGHT]
[HIGHLIGHT=#ffff00]จนลืมย้อนมองดูพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง อันสถิตอยู่ในใจเรา[/HIGHLIGHT]
[/COLOR][/HIGHLIGHT][/FONT]

ผมก็เห็นมาตั้งนานแล้วครับปัญหานี้

โดยเฉพาะในกลุ่ม กฤษณะจิตสำนึกนานาชาติ หรือฮะเรกฤษณะ

หนังสือต่างๆที่เค้าแปล เขียนแนวนั้นทุกเกือบทุกเล่ม

ของฮินดูสมาชก็มีน้อยกว่า  ผมเคยเข้าไปเรียนท่านอาจารย์บัณฑิตเรื่องปัญหานี้

ท่านก็เข้าใจ แต่ท่านบอกว่า บางที หนังสือเหล่านี้ คนไทยเชื้อสายอินเดียหลายท่านเป้นผู้แปล ซึ่งอาจไม่เข้าใจหลักสันสกฤต และการปริวรรต เข้าภาษาไทย
ก็เลยเอาตามเสียงที่ตัวเองออก เช่น เทวะ ที่เค้าออกเสียง เดเว่อะ เค้าก็เขียนเดเว่อะ ไปตามนั้น


อันนี้คนไทยที่รู้สันสกฤต คงต้องช่วยกันอ่ะครับ

เรื่องนี้ผมเองก็พูดมานานแล้ว

ผมเองก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกันครับ
คือ เราเป็นคนไทย ที่ไม่ได้คุ้นสำเนียงแขก
ถึงจะพอรู้บางคำ แต่หลายคำก็ไม่คุ้นเอาเสียเลย

ถ้าจะให้หนังสือเหล่านี้ เผยแพร่ และเป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลาย
ในส่วนของการออกเสียงนี้ ผมเห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงเป็นอย่างยิ่งครับ
หากทำได้ จะมีคนไทยอีกไม่น้อย ที่เข้าใจปรัชญาฮินดูมากขึ้นครับ

ไม่อย่างนั้น ก็คงต้องมีตารางแล้วล่ะครับ
ว่า คำนั้นๆ ในภาษาไทยปกติ คือคำไหน
แต่มันก็ยากลำบากอีก...คนอ่านคงต้องพลิกตารางตลอด
สู้ปรับทั้งหมด ให้เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย จะดีกว่า

หากอยากเผยแพร่คำสอน หรือหลักปรัชญาศาสนา
ก็ต้องดูบริบท และวัฒนธรรมของพื้นที่ ที่กำลังทำการอยู่ด้วยครับ
เดี๋ยวนี้ แม้แต่เพลงสวดในวาระต่างๆ ที่ใช้สวดในโบสถ์คริสต์
ก็เปลี่ยนมาใช้ทำนองเพลงไทย และภาษาไทย กันแล้วครับ
ไบเบิลฉบับภาษาไทยก็ปรับปรุงเรื่อยๆ อ่านง่ายครับ

แล้วทำไม ฮินดู จะทำไม่ได้ ถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ

คือเรื่องสันสกฤต นี่ผมมีความคิดเห็นอย่างนี้ครับว่า

เวลาปริวรรต ควรจะเป็นไปตามที่อาจารย์ท่านกำหนดไว้แล้ว ตามกฏของการปริวรรต

เช่น การใช้พยัญชนะ สัญลักษณ์ พินทุ วิราม ฯลฯ
เพื่อรักษาตัวคำไม่ให้ผิดเพี้ยน

ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาต่อไปคือการออกเสียง เพราะตามหลักการออกเสียง
มันจะไม่ตรงรูป

เช่น เทว เป็น เดเว๊อะ

ท่านว่า เรื่องการออกเสียงนี้ ก็เรียนรู้ไปจากชาวอินเดียโดยตรง  โดยคงรูปวิธีการเขียนตามเดิมไว้


หรือจะออกเสียงแบบไทยในกรณีที่ไม่ใช่มนตร์สำคัญหรือพวกไวทิกมนตร์


Quote from: กาลปุตรา on February 16, 2010, 13:36:48
ผมว่านะ ถ้าเป็นชื่อพระ ชื่อเทพ ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ ในวรรณกรรมก็ควรแปลเป็น สันสกฤต - ไทย จะดีกว่า

เช่น วิชณุ ก็ควรเป็น วิษณุ, คุรุ ก็ควรเป็น ครู, บระฮมะชารี ก็ควรเป็น พรหมจารี เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นบทสวด ก็ควรทำเป็นสำเนียงดั้งเดิมของเข้าของภาษาเขา (สันสกฤต - สำเนียงฮินดิ)

เช่น วิษณุ ก็ควรเป็น วิชณุ, กฤษณะ ก็ควรเป็น คริชณะ, พรหมา ก็ควรเป็น บระฮมา เป็นต้น

เห็นว่าไงครับ จะได้ไม่งงกัน

ขอกลับคิดว่า มนต์ภาษาสันสกฤต ถอดจากอักษรเทวนาครีเป็นอักษรไทยดีกว่าครับ
ยังไงการออกเสียงแบบบาลี สันสกฤต เสียงไม่ต่างกันมาก พยัญชนะบางตัวก็ต้องชี้แจงการออกเสียง เช่น เกฺษตฺร ต้องชี้แจงการออกเสียงว่า กะ-เชตระ

ถ้าคนที่สวดบาลีบ่อยๆ สวดภาษาสันกฤตไม่น่ามีปัญหา เพราะมีกฎเกณฑ์คล้ายกันคือ ไม่มีวรรณยุกต์ มีแต่เสียงสูง-ต่ำ เสียงโฆษะ-อโฆษะ

หรือถอดเป็นอักษรไทย และถอดเสียงเป็นฮินดี คนจะเข้าใจมากขึ้นนะครับ

...

ส่วนการแก้ปัญหา ผมก็เอาดินสอ ปากกา ขีดๆวงๆตรงคำนั้น

บางคำผมคิดเป็นชั่วโมงกว่าจะเข้าใจนะครับ