Loader
Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Topics - หริทาส

#1
มีหลายท่านถามมาเรื่องการบูชาพระคเณศด้วยใบกระเพราหรือ ใบไม้ทั้ง 21 ชนิด ว่าตกลงห้ามบูชาพระคเณศด้วยใบกระเพราหรือบุชาได้กันแน่


ทั้งนี้ผมขอตอบตามความรู้ที่มีว่า

การบูชาพระคเณศด้วยใบไม้ทั้ง 21 ใบ(เรียกว่า "เอกวึศตีปตฺรปูชา" (เอกะวิมศะติปัตระปูชา))
เป็นความนิยมของบางท้องถิ่นในอินเดีย โดยเฉพาะแคว้นมหาราษฏร์ ที่มีการบูชาพระคเณศอย่างแพร่หลาย และทางอินเดียใต้บางแห่ง ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป  แต่พอดีว่าหนังสือหรือข้อมูลเกี่ยวกับการบุชาพระคเณศด้วยใบไม้ทั้ง 21 ใบ เป้นข้อมูลแรกๆอันหนึ่งที่เราได้รับ เกี่ยวกับการบูชาตามแบบอินเดียเราจึงได้กระทำตามๆกันว่า ซึ่ง
ตามที่ยอมรับกันโดยทั่วไปนั้น
การบูชาพระคเณศมักจะบุชาด้วยใบไม้สามอย่าง คือ
1.ทูรวา หรือหญ้าแพรก ซึ่งถือเป้นใบไม้ที่พระคเณศโปรดที่สุด
2.ใบศมี
3.ใบมะตูม

ส่วนใบกระเพราห้ามถวายบูชา

ผมขอยกโศลกสันสกฤตในปุราณะมาเป็นหลักฐานดังนี้

นากฺษไตรรฺจเยทฺวิษณุมฺ น ตุลสฺยา คณาธิปมฺ
น ทูรฺยา ยเชทฺ ทุรคำ วิลฺวปตฺเรศฺจ ภาสฺกรมฺ
ทิวากรํ ทุนฺตหีไนรฺวิลฺลปตฺระ สมรฺจเยตฺ

"พึงจดจำไว้ว่า ไม่บูชาพระวิษณุด้วยอักษัต(ข้าวสาร/ข้าวสารย้อมด้วยผงจันทน์ที่ใช้ในพิธี) ไม่ถวายตุลสีแด่พระคณาธิปติ(พระคเณศ)
ไม่ถวายทูรวา(หญ้าแพรก)แด่พระแม่ทุรคา ไม่ถวายใบพิลวะ (มะตูม )แด่พระภาสกร (พระอาทิตย์/สุริยเทพ)"

ข้อห้ามนี้ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปครับ พราหมณ์บัณฑิตทั้งหลายแห่งวัดเทพมณเฑียร ถือปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด


ข้อห้ามอื่นๆที่พึงทราบและปฏิบัตินะครับ ขอยกโศลกสันสกฤตมาดังนี้

คฤเห ลิงฺคทฺวยํ นารฺจฺยํ คเณศตฺริตยํ ตถา

ศงฺขทฺวยํ ตถา สูรฺโย นารฺจฺยํ ศกฺติตฺรยํ ตถา
ทฺเว จกฺเร ทฺวารกายาสฺตุ ศาลครามศิลาทฺวยมฺ
เตษำ ตุ ปูชเนไนว อุทเวคํ ปฺราปฺนุยาทฺ คฤหี

ในบ้านไม่พึงบูชา พระศิวลึงค์สององค์ และ พระคเณศสามองค์
สังข์ 2 ขอน  พระอาทิตย์ 2 องค์ พระแม่ศักติ 3 องค์
จักร 2 องค์ หินทวารกาศิลา 2องค์  และพระศาลิครามศิลา 2 องค์
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ผู้ไม่ปฏิบัติตามนี้ ย่อมได้รับความเดือดร้อนรำคาญ

(กฏนี้คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนต้องปฏิบัติตามเว้นแต่นักบวช คือ สันยาสีไม่ต้องถือปฏิบัติตามนี้)


อีกกฏที่สำคัญมากครับ คือกฏเรื่องการตั้งเทวรูป

คฤเห จลารฺจา วิชฺเญยา ปฺราสาเท สฺถิรสํชฺญิตา
อิตฺเยเต กถิตา มารฺคา มุนิภิะ กรฺมวิทิภิะ

ในบ้านพึงประดิษฐานและบูชาเทวรูปที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (จลมูรติ) ในปราสาท(วัดหรือมณเฑียรสถาน)พึงประดิษฐานเทวรูปให้มั่นคง(สถิร/เคลื่อนย้ายไม่ได้) หนทางนี้ได้แสดงไว้โดยบรรดามุนีทั้งหลายผู้ทรงความรู้ในกรรม(วิธีปฏิบัติ)

นอกจากนี้เทวรูปในบ้านไม่ควรใหญ่เกินไป บางตำราว่า เกินหนึ่งศอกของเจ้าของ อันนี้ขอไปค้น่อนนะครับ แต่ถือกันว่าเทวรูปในบ้านถ้าใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญได้เช่นเดียวกัน
#2
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ

ในศุภวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผมขออำนาจแห่งเทพยเจ้าทุกพระองค์ ดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข มีอายุยืน และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ทุกประการครับ

ภารกิจงานราชการผมเยอะ สอนก็เยอะ จึงไม่ค่อยได้มีเวลาพูดคุยได้แต่ดูอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ (อิอิ) ก็ขอมาเป็นส่วนหนึ่งในความสุขปีใหม่ รีบมาอวยพรก่อน กลัวว่าช่วงปีใหม่เน็ตจะล่มนะครับ

ขออัญเชิญมนตร์ในพระเวทเป็นพรแด่ทุกท่านนะครับ

โอมฺ ศฺรีวรจสฺยมายุษฺย มาโรคฺย มาวิธาตฺ ปวมานมฺ มหียเต
ธนํ ธานฺยํ ปศุมฺ พหุปุตฺรลาภํ ศต สมฺวตฺสรํ ธีรฺฆมายุะ

โอมฺ! พระศรีโปรดประทานพรแด่ทุกท่าน
ทั้งโรคันภยันตรายทุกข์นิราศร้างหาย
ธนธัญญทรัพย์ปศุบุตรมีมากมาย
อายุยืนยาวสบายนับร้อยร้อยปี

อ่อ ลืมไปครับ

ถ้าใครไม่รู้จะไปไหนในวันสิ้นปี ผมขออนุญาตเรียนเชิญ ไปร่วมงาน มันตระภาวนาเพื่อรับปีใหม่ที่วัดเทพมณเฑียรนะครับ
โดยทางวัดจะจัดสวดภาวนามนตร์สั้นๆของเทพทุกพระองค์ในวัด(มีเอกสารแจก) จนถึงเวลาสิ้นปีเลยครับ และจะมีอารตีเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้ทุกท่านได้รับพรและศิริมงคลในปีใหม่ และผมจะไปช่วยงานที่นั่นด้วย มีการแนะนำเรื่องการภาวนา ส่วนมนตร์ที่แจกนั้นสามารถนำไปภาวนาถึงองค์เทพต่างๆได้ที่บ้านนะครับ
วันที่ 31 ธ.ค. ตั้งแต่ประมาณ 4 ทุ่มเป็นต้นไปครับ

อ่อ ขอให้กำลังใจกับเวปมาสเตอร์ทุกท่าน ที่มีความเข้มแข็ง เผชิญสิ่งต่างๆตลอดปีที่ผ่านมา ขอให้มีกำลังใจเข้มแข็งในทุกๆปีไปเลยนะครับ
#3
สักการบูชา ASHTA VINAYAK พิเศษ สักการบูชา 1 ใน 12 โยติลึงค์ ภีมะสังกรณ์อัษฏวินายัก 8 แห่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ-ร่วมขบวนพิธีวิสาร์ยัน คเณศจตุรถี ณ มุมไบ6 วัน 5 คืน  โดยสายการบินคิงฟิชเชอร์แอร์ไลน์
ออกเดินทางวันที่  19-24 กันยายน 2553




จัดโดย คุณสาหร่าย ไกด์ใจดี

มีประสบการณ์มานานหลายปี
สอบถามที่ 02 185 6304 หรือ ส่งเมล์มาที่ sarai@trltour.com
บริษัท เที่ยวรอบโลก จำกัด(ใบอนุญาตฯเลขที่ 11/4929 โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 3938354-5, 02 185 6305, 089 4884747 

พอดีพี่สาหร่ายฝากประชาสัมพันธ์ครับ
#4
ขอเรียนเชิญท่านที่สนใจ
ร่วมการเสวนาในหัวข้อ

"วัชรยาน กับวิถีสู่ความหลุดพ้น"
โดย รศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมทิเบต และประธานมูลนิธิพันดารา

ณ ห้องประชุมเทพยสุวรรณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553
เวลา 13.00น. เป็นต้นไป

จัดโดยภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์


เนื้อหา เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยาน การปฏิบัติธรรมแบบวัชรยาน
การอภิเษก ความสำคัญของพระอาจารย์ ความหมายของความหลุดพ้นในวัชรยาน ฯลฯ
#5
โอมฺ

ขออนุญาติท่านเวปมาสเตอร์และท่านสมาชิกบอร์ดทุกท่านครับ ผมเองในฐานะศาสนิกชนซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากหัวใจอันเจ็บปวดจึงเขียนสิ่งเหล่านี้มายังท่านทั้งหลาย

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นนี้   ทั้งการประหัตประหารกันโดยใช้อาวุธและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ
และมีผู้เสียชีวิตจากทุกฝ่ายเป็นจำนวนมากแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
แน่นอน พวกเราในบอร์ดนี้ย่อมมิได้ต้องการแสดงออกทางการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ
เพราะบอร์ดฮินดูแห่งนี้เป็นบอร์ดทางศาสนาที่เน้นความรู้และความศรัทธาในศาสนาเป็นสำคัญ
แต่เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ สังคมไทยที่กำลังประสบภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง
และด้วยความเป็นศาสนิกชน ซึ่งในศาสนาฮินดูของเรามีคำสอนเรื่อง "อหิงสธรรม" หรือหลักแห่งความไม่เบียดเบียนทั้งกายวาจาใจ
การพบว่าเพื่อนมนุษย์อันเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า หรือ"หริปุตร"ด้วยกันเช่นเดียวกับเรา ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตามได้รับความทุกข์ทั้งกายใจ หรือต้องตายลง ด้วยความรุนแรง

ผมเชื่อว่า การพบความจริงเช่นนี้ย่อมจะยังความทุกข์ใจให้แก่พวกเราซึ่งเป็นศาสนิกชนและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแน่นอน

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้พวกเราทั้งหลายซึ่งเป็นศาสนิกชน ทั้งที่เป็นฮินดู หรือเป็นผู้ศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบและพระนามใดๆก็ตาม
ได้ร่วมกันภาวนาเพื่อสันติภาพ และขอให้มีความสงบสันติบังเกิดขึ้นโดยเร็ว
โดยขอให้พวกเราได้ภาวนาแผ่เมตตาธรรมถึงทุกฝ่าย เพราะ"แสงอาทิตย์ย่อมส่องไปในทุกที่ไม่ว่าในพระราชวัง หรือเรือนของจัณฑาล"
พระเมตตาของพระเป็นเจ้าก็ย่อมไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง และปกแผ่ไปยังทุกสิ่ง

ให้พวกเราได้รักษาหัวใจแห่งความเป็นศาสนิกชน ซึ่งไม่ลืมเมตตาธรรมอันเป็นคุณธรรมที่พระเป็นเจ้าทั้งหลายได้ทรงยึดถือและสั่งสอน
และขจัดความเกลียดชังออกไปจากจิตใจให้มากที่สุด

ขอเชิญทุกท่านได้ลงนามในกระทู้นี้และได้ภาวนาร่วมกัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในแห่งหนใดก็ตาม



โอมฺ สรฺเว ภวนฺตุ สุขินะ
โอม ขอให้สรรพสิ่งทั้งปวงจงมีสุข

สรฺเว สนฺตุ นิรามยาะ
ขอให้สรรพสิ่งทั้งปวงปราศจากภัย

สรฺเวภทฺราณิ ปศฺยํตุ
ขอให้สรรพสิ่งทั้งปวงได้พบแต่สิ่งดีงาม

มา กศฺจิทฺ ทุะขภาคฺ ภเวตฺ
อย่าได้มีภาคส่วนแห่งความทุกข์เลย

โอมฺ ศานฺติ ศานฺติ ศานฺติ


ด้วยเสียงเรียกร้องจากภายใน
หริทาส
ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร
#6
ลืมมาบอกเพื่อนๆไปเลยครับ

พอดีก่อนหน้านี้ผมงานยุ่ง

แล้วไม่ค่อยได้ไปที่วัดเลยครับ

เทศกาลนวราตรี ในประเพณีของอินเดียเหนือนั้น ปีหนึ่งจะมีสองครั้งครับ

ครั้งแรกจะทำในฤดูวสันต์ เรียกว่า วสันตียนวราตรี ตกในราวเดือนมีค.-เมษายนของทุกปี

ส่วนอีกนวราตรีเรียกว่า ศราทธีย นวราตรี หรือนวราตรีในฤดู ศราทธ ครับซึ่งจะตกในราวๆ กันยา-ตุลาคม(ใกล้เคียงหรือตรงกับวัดสีลม)

ในส่วนของประเพณีฝ่ายเหนือนั้น

นวราตรีผมจะเอากำหนดการคร่าวๆทำที่ผมจำได้นะครับ ซึ่งกำหนดการที่ถูกต้องต้องไปสอบถามจากทางวัดเองครับ

16 มีค. 53 วันที่ 1
เวลา?(แล้วแต่ทางวัดกำหนดตามฤกษ์)
กลศสถาปนา คเณศามพิกาปูชา(บูชาพระคเณศและพระแม่เคารี)
โษฑศมาตฤกาปูชา ทีปสถาปนา

17 มีค.53 (2) - 22  มีค 53(7)
เวลาเช้าประมาณ  7.00 น. สวดทุรคาสัปตศตี ทุรคาสตุตี และหนุมานจาลีสาร่วมกัน จากนั้นอารตี



23 มีค. 53 อัษฏมี

เวลาเช้าประมาณ  7.00 น. สวดทุรคาสัปตศตี ทุรคาสตุตี และหนุมานจาลีสาร่วมกัน จากนั้นอารตี





24 มีค 53 (มหานวมีปูชา)
5.30น. ทุรคาปูชา บูชาพระแม่ทุรคา(ดาดฟ้า)
6.00น. ทุรคาสัปตาศตี โหม บูชาไฟ ถวายพระแม่นวทุรคาทั้ง 9 ปาง และพระแม่ศักติต่างๆ(ดาดฟ้า)
9.00น.กันยาปูชา(พิธ๊บูชาแก่เด็กผู้หญิง โดยจะคัดเลือกเด็กๆ 9 คนและทำการบูชา ในงานนนี้ผู้ปกครองสามารถนำลูกหลานที่ไปรับพร และอย่าลืมนำขนม เงิน และของขวัญไปถวายพระแม่ในรูปกันยานะครับ)
10.00น. ทุรคาอารตี(ทุกคนอารตีร่วมกัน)
รับประสาทและพร

12.00น. พิธีบูชาพระรามเนื่องในโอกาส รามนวมีหรือวันประสูติของพระราม




ทั้งนี้กำหนดการต่างๆ ควรเช็คกับทางวัดให้แน่นอนอีกครั้งนะครับ

(ผมได้แก้ไขแล้วนะครับ เนื่องจากทราบมาว่าปีนี้ทางวัดได้งดวันมหาอัษฏมี โดยให้มีมหาบูชาวันเดียว คือวันที่ 24 ครับ)
#7
โอมฺ ศฺรีคุรุภฺโย นมะ||
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ครูทั้งหลาย||



ว่าด้วยเรื่องกลัศ

มีหลายคนสงสัยหรือเพิ่งเริ่มสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของ กลัศ(กลศ)หรือบางคนไพล่ไปเรียกว่า "บายศรีแขก"
หม้อน้ำอะไรไม่รู้มีใบมะม่วง มีมะพร้าวๆ เห็นไปพิธีฮินดูที่ไหนก็มีคนตั้งเอาไว้ แถมสมัยนี้หัวใสมีคนทำขายทั่วไปตามร้านขายดอกไม้เครื่องบูชา ก็ยังมึนๆทั้งคนขายคนซื้อว่า ตกลงกลัศนี่คืออะไรกันแน่


วันนี้หลังจากตรวจข้อสอบแล้วพอมีเวลาว่าง ผมก็อยากมาแชร์ความรู้กับทุกๆคน เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า กลัศ เท่าที่สติปัญญาอันน้อยของผมจะมีนะครับ ซึ่งอาจแตกต่างกับสิ่งที่ทุกคนรู้ หรือคงช่วยเสริมเติมเต็มในมิติที่อาจขาดหายไปนะครับ


เท่าที่ค้นคว้ามา

กลัศ(สันสกฤต กลศ)ออกเสียงคล้าย กลัช แปลตามตัวแปลว่า "หม้อน้ำ" ซึ่งมีอีกหลายคำที่แปลว่าหม้อน้ำ
เช่ม  กุมภ์(กุมฺภ ซึ่ง หลายคนเสียงว่า กุมบ๊อม ซึ่งผมว่ามาจาก กุมภํ ตัว ภออกเสียงคล้าย บ เสียงก้อง ทำให้แรกๆก็งงว่าคืออะไรครับ)
ขตะ เป็นต้น

หม้อกลัศถูกนำมาใช้ในพิธีของศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ยุคพระเวทแล้ว โดยในสมัยแรก หมายถึง หม้อปูรณกลัศ หรือปูรณฆตะ หมายถึง "หม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์" ซึ่งในยุคพระเวท เรียกว่า โสมกลัศ หรือ จันทรกลัศ
ในยุคพระเวทเชื่อว่า หม้อกลัศ คือหม้อที่บรรจุ น้ำ อมฤต(อมฤต)เป็น แหล่งธารของชีวิต และเป็นตัวแทนแห่งความสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญาหาร เนื่องจาก น้ำเป็นสัญลักษณ์ของความบริบูรณ์ และหม้อน้ำก็ดุจดังครรโภทรของพระแม่ธรณีซึ่งยังให้เกิดพืชผลตามมา

(อ่านรายละเอียดได้ต่อจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Kalasha )


สัญลักษณ์หม้อปูรณฆตะ ที่ใช้ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ดังนั้นในทางหนึ่งหม้อกลัศจึงเป้นสัญลักษณ์มงคลถึงความอุดมสมบูรณ์
และอีกทางหนึ่ง กลัศ คือการจำลองจักรวาลหรือระบบนิเวศวิทยาที่ประกอบด้วย แผ่นดิน แผ่นน้ำ ต้นไม้พืชพันธ์และชีวิตนานา ซึ่งเป็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งที่ใกล้ชิด


ในสมัยต่อมา กลัศได้ค่อยๆปรับเปลี่ยนความหมาย จากสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มาสู่การเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าบางพระองค์ในพระเวท

ซึ่งได้เคยสอบถามจากครู คือท่านอาจารย์บัณฑิตลลิตว่า การสถาปนากลัศในพิธีทำเพื่ออะไร

ท่านว่า โดยปกติแล้ว เวลาจะทำพิธีบูชาที่เป็นทางการและครบถ้วนสมบูรณ์

ก่อนการบูชาเทวดาประธาน(ปฺรธานเทวตา)ที่เรากำหนดไว้แล้ว
ต้องบุชาเทวดา ห้าหมวดก่อน

เรียกว่า ปญฺจางฺคปูชา
โดย สถาปนา ปีฐ หรือแท่นนั่งของเทวดา โดยใช้เม็ดข้าวย้อมสีและทำเป็นรูปร่างทางเลขาคณิตต่างๆ สมมุติว่าเป็นที่ประทับตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ และทำการสถาปนาอัญเชิญเทวดาต่างๆมาสถิตในปีฐนั้น
ปัญจางคเทวตา
ได้แก่
1.พระคเณศ
2.พระแม่เคารี (ใช้หมากพันสายสิญจน์ แทนทั้งสองพระองค์ทั้งพระคเณศและพระเคารี การบูชานี้เรียกว่า คเณศามฺพิกาปูชา)
3.โษฑศมาตฤกา หรือพระแม่ทั้ง 16 พระองค์(รวมทั้งพระเทวเสนา)เช่น สวาหา สวาธา ฯลฯ ใช้ข้าวสารสีแดง-เหลืองทำเป็นตารางและใช้หมากวางไปในจุดต่างๆ
4.ฆฤตสัปตมาตฤกา พระแม่ทั้ง 7 พระองค์ ใช้ฆีเช็ดแผ่นไม้หรือหิน แล้วปูผ้าจากนั้น ใช้กุงกุมจุด เป็นจุดสมมุติว่าเป็นพระแม่องค์หนึ่งๆ ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ โดยมีอักษร "ศฺรีะ" อยู่เบื้องบน พระแม่สัปตมาตฤกา เช่นพระลักษมี พระสรัสวตี กาลี ฯลฯ
5.วรุณเทวตา หรือการบูชาเทวดาวรุณ โดยการ สถาปนากลัศขึ้น


แท่นปัญจางคเทวตาปีฐ(ก่อนการอัญเชิญเทวดามาสถิต) โปรดสังเกตว่า ตารางสีเหลี่ยมสีเหลืองแดงคือปีฐของพระแม่โษฑศมาตฤกา สามเหลี่ยมสีแดงคือที่ประทับพระแม่เคารี สวัสติกะสีเหลืองคือที่ประทับพระคเณศ(หมากจะถูกนำมาวางเมื่ออาวาหัน หรืออัญเชิญแล้ว)และข้าวรูปดอกบัว คือที่ตั้งของกลัศ หรือที่ประทับของเทวดาวรุณ(เข้าใจว่าภาพนี้กลับหัวนะครับ เนื่องจากสามเหลี่ยมของพระแม่เคารีต้องเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ เนื่องจากผู้ถ่ายภาพไม่สามารถถ่ายจากด้านในมณฑลพิธีได้จึงถ่ายจากรั้วด้านนอกทำให้ภาพกลับหัว) (ขอบคุณภาพจากสยามคเณศครับ)


ดังนั้นการสถาปนากลัศก่อนการบูชาเทวดา
คือการ สถาปนาและบูชาพระวรุณ
ซึ่งในคัมภีร์พระเวท พระวรุณ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ มหาสมุทรและท้องฟ้า และคอยลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด


พระวรุณ



เมื่อทำบูชาปัญจางคเทวตาบูชาแล้ว จึงทำการบูชาเทพเจ้าที่กำหนดต่อไป


ต่อมากลัศได้ทำหน้าที่อีกประการหนึ่ง คือ เป็น "ตัวแทน"ของเทวดา ต่างๆโดยตรง

เช่นพระคเณศ พระศิวะ พระแม่ต่างๆ โดยพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะสวดมนตร์ตามคำภีร์พระเวท และระบุให้กลัศเป็นเทวดาแต่ละองค์
และเมื่อทำการบูชา ก็จะบูชาที่กลัศนั้น เสมือนว่า ได้บูชาเทพเจ้าพระองค์นั้น โดยไม่ต้องใช้ มูรติ หรือเทวรูปก็ได้





ปราชญ์ได้ตีความและอธิบาย ส่วนต่างๆของกลัศให้กลายเป็นส่วนต่างๆหรืออวัยวะของเทพเจ้า เช่น มะพร้าวเป็นส่วนพระเศียร ใบมะม่วงเป็นส่วนของพระพาหา หรือแขน เป็นต้น และได้มีการอธิบายไปถึงเรื่องของจักรต่างๆ รวมทั้งจักรวาลวิทยาที่ปรากฏในกลัศ




รูปเคารพของพระคเณศปรากฏแบบ กลัศ



กลัศสามใบในมณฑลพิธีมหาศิวราตรี บน มณฑลของศักติและโยคินีต่างๆ ใบสีแดงหมายถึงพระแม่มหาลักษมี ใบสีขาวหมายถึงพระแม่มหาสรัสวตี และใบสีดำหมายถึงพระแม่มหากาลี(ภาพจากเวปสยามคเณศครับ)


ดังนั้น โดยสรุป กลัศที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู จึงอาจแบ่งออกได้ตามวิวัฒนาการและความหมาย ดังนี้
1.เป็นสัญลักษณ์ของหม้อปูรณฆตะ หรือ หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความหมายที่เก่าแก่ที่สุด และสะท้อนระบบชีววิทยาตามแนวคิดพระเวท
2.เป็นตัวแทนของเทวดา วรุณ ซึ่งเป็นเทวดาในฤคเวท
3.เป็นตัวแทนของเทวดาต่างๆ ตามแต่จะสถาปนา เช่น สัตยนารายณ์ พระเทวี และพระศิวะ
4.ในการตีความของบางท่าน กลัศยังหมายถึงจักรวาลวิทยา หรือจะว่าไปเป็น "มณฑล" แบบหนึ่ง และยังเชื่อมโยงไปเรื่องจักรต่างๆ (อันนี้ผมความรู้น้อยต้องขออภัยที่ไม่ได้ให้รายละเอียด)


กลัศ จึงไม่ใช่ "บายศรี" โดยประการสำคัญ คือ กลัศ ไม่ใช่ "เครื่องบูชา" แต่ตัวกลัศเอง เป็น "วัตถุแห่งการบูชา"
แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงอยู่บ้างในเชิงความคิดเช่น การถือว่าบายศรีเป็นเขาพระสุเมรุ(บายศรีปากชาม)หรือการจำลองระบบจักรวาลวิทยาแบบหนึ่ง แต่บายศรีเป็นคติ "ผี"ในสังคมโบราณ ที่มีเรื่องของ "ขวัญ" และถูกทำให้เกี่ยวข้องกับฮินดูในภายหลัง



กลัศทำยังไง ประกอบพิธียังไง

พราหมณ์กำลังประกอบพิธีสถาปนากลัศ (ภาพในงานมหาศิวราตรี ขอบคุณเวปไซต์สยามคเณศ เจ้าของภาพครับ)



การสถาปนากลัศ มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนัก (เช่นของที่ใส่ วัสดุ การห่อหุ้ม สี ฯลฯ)โดยมีโครงสร้างหลักเหมือนกัน คือประกอบด้วยหม้อ บรรจุน้ำ ใบมะม่วงและมะพร้าว


ผมขอยกตัวอย่างการสถาปนากลัศ เท่าที่ทราบจากครูท่าน มาไว้เป็นความรู้นะครับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พราหมณ์โดยมากในฝ่ายเหนือ กระทำกัน

ใช้หม้อน้ำ หากเป็นวัสดุที่กำหนดว่ามีค่าและศักดิ์สิทธิ์ เช่น เงิน ทอง ทองเหลือง ทองแดง ปัญจโลหะ ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องห่อหุ้ม(แต่ต้องพันด้วยสายสิญจน์แดงที่คอกลัศ) หากเป็นหม้อดินเผาต้องหุ้มด้วยผ้าแดง(ท่านว่า เสมือนการห่อหุ้มพระมูรติด้วยเสื้อผ้า) และมี ฝาด้วยเรียกว่า ปูรวปาตฺร ซึ่งจะรองรับมะพร้างวอีกที หม้อนี้ต้องไม่เคยใช้มาก่อน และควรมีขนาดพอเหมาะ คือราวๆ ปากกว้าง 6-9 นิ้ว ไม่มีหู วางมะพร้าวแล้วสวยงาม มะพร้าวไม่หล่นลงไป หรือมะพร้าวใหญ่กว่ากลัศมาก
ในประเพณีทางภาคเหนือ บนปากกลัศ หากใช้มะพร้าว ต้องหุ้มผ้าแดงที่มะพร้าว เสมือนการห่อหุ้มพระมูรติเช่นกัน มะพร้าวต้องรานเปลือกออกให้หมดจะได้ไม่ใหญ่เกินไป นอกจากมะพร้าวแล้ว ในบางกรณี ที่ปากกลัศอาจเป็น เทวรูปของเทวดาประธาน หรือ ประทีป(ในกรณีการบูชาพระสุริยนารายณ์ ในเทศกาลสังกรานติ)



กลัศที่มีเทวรูปพระศิวะอยู่บนปาก ประดิษฐานอยู่กลางมณฑลที่เรียกว่า ทฺวาทศชฺโยติลิงฺคสรฺวโตภทฺรปีฐ(หรือมณฑลแห่งพระชโยติศิวลึงค์ทั้ง 12) เป็นกลัศของเทวดาประธาน ในงานศิวราตรี


เมื่อจะสถาปนากลัศ พราหมณ์จะสวดมนตร์ในคัมภีร์พระเวท เติมน้ำ
อัญเชิญเทวดาวรุณ และเติมสิ่งต่างๆ คือ  ใบมะม่วง (ยอดที่มีใบ 5หรือ9 ใบโดยไม่ฉีกขาด และรูปร่างสวยงาม) ใส่สัปตมฤติกา(ดินจากที่ต่างๆ 7 ที่เช่นที่เลี้ยงโค(โครส)) สัปตเอาษธิ(สมุนไพร 7 อย่างเช่น ขมิ้น หญ้าฝรั่น ฯลฯ)หมากและพลู คัณธะ หรือเครื่องหอม คือ จันทน์น้ำหอมขมิ้นฯลฯ ดอกไม้ หญ้าแพรก เหรียญเงิน และคล้องมาลัยที่ปากกลัศเมื่อบรรจุสิ่งต่างๆแล้วจะปิดด้วยปูรฺวปาตฺรที่หงายขึ้นวางข้าวสารย้อมสีและทำสัญลักษณ์มงคลเช่นสวัสติกะ จากนั้นวางมะพร้าว(ศรีผลหรือนาฬิยัล)บนปูรวปาตฺร  จุลเจิม คล้องดอกไม้ มาลัย บนยอดวางดอกบัว ทำการบูชาและสถาปนาเทวดาให้สถิตยังส่วนต่างๆโดยการถวายอักษัตในส่วนต่างๆ แล้ว ประดิษฐานในมณฑล หรือถ้าไม่ได้สถาปนาปีฐ ต้องวางบนข้าวสารย้อมสีเสมือนเป้นแท่นนั่ง โดยไม่วางกลัศไว้บนโต๊ะหรือที่บูชาเฉยๆ โดยทุกๆขั้นตอนพราหมณ์จะสวดมนตร์ในพระเวทตลอด

นอกจากทำกลัศเพื่อบูชาแล้ว ยังมีการสถาปนากลัศเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นอีก เช่น ในพิธีอภิเษกของบางนิกาย ก้ใช้น้ำจากกลัศในการอภิเษกหรือรดสรงเทวรูปด้วย โดยถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการอภิเษกนักบวชเพื่อเลื่อนฐานะ เช่น เพื่อเป็น สวามี (คล้ายการฮดสรง หรือสถาปนา ครูบา หรือ อาชญา พระสงฆ์ในภาคเหนือและภาคอีสานสมัยก่อน)ใช้รดสรงผู้มีอายุมาก(คล้ายการรดสรงขึ้นพลับพลาของคนแกด่ในภาคใต้)ซึ่งเป็นประเพณีในอินเดียใต้

และในพิธ๊ที่เกี่ยวกับการสถาปนาเทวสถานก็จะมีการสถาปนากลัศ1008 ใบ หรือ108ใบใช้รดสรงเทวรูปประธาน
และการทำศิขรบูชา หรือสถาปนากลัศไว้บนยอดเทวสถาน(ไม่จำเป็นต้องเป็นกลัศจริงๆก็ได้ อาจทำด้วยโลหะ หรือปูนปั้นเป้นรูปกลัศหรือหม้อน้ำ ซึ่งมาจากการสร้างบ้านและเทวสถานของวพราหมณ์ในสมัยโบราณที่ต้องเอาหม้อน้ำไว้บนหลังคาเพื่อกันอัคคีภัยและเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง) ทำการรดสรงยอดนั้นเรียกว่า กุมภาภิเษก(ที่บางคนเรียก กุมบอม?)

พิธีสถาปนาหม้อน้ำ 1008ใบ



พิธีกุมภาภิเษกยอดของเทวสถานและทำศิขรปูชา



จะเห็นได้ว่าการสถาปนากลัศในพิธีกรรมมีความยุ่งยากมาก และเมื่อเสร็จพิธี จะถือว่าน้ำในกลัศ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวิสรชัน หรือเชิญเทวดากลับแล้ว จะเปิดและประพรมเป็นสิริมงคล

ได้เรียนถามท่านครูว่า ถ้าเสร็จพิธีแล้วเราจะทำยังไงกับของต่างๆ ท่านว่า สมัยโบราณ ทุกสิ่งในพิธีต้องยกให้พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี(รวมทั้งแผ่นดิน หรือที่ดินที่ทำยัญญกรรมด้วย) แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว พวกข้าวต่างๆพราหมณ์จะเอาไปรับประทานของใช้เอาไปใช้ แต่สมัยปัจจุบันไม่สะดวก ประสาทต่างๆก็จะเอาไปจำเริญน้ำ หรือลอยน้ำ


จะเห็นได้ว่าการสถาปนากลัศเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก ถ้าหากประสงค์จะสถาปนากลัศให้ถูกต้อง ก็ควรให้พราหมณ์ผู้ชำนาญในพิธีเป็นผู้สถาปนา และชาวฮินดูเองก็ไม่ได้ทำกลัศสถาปนากันบ่อย มักทำเฉพาะในพิธีและโอกาสสำคัญ เช่น คฤหประเวศ(ขึ้นบ้านใหม่) คเณศจตุรถี สัตยนารายณ์ปูชา นวราตรี เป็นต้น


เว้นแต่ต้องการมีกลัศเพื่อใช้ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์มงคล เพื่อความอุดมสมบูรณ์
ในปัจจุบัน มีการทำกลัศในลักษณะสัญลักษณ์มงคลมาก เช่น ทำด้วยวัสดุชนิดเดียวกันประดับประดาสวยงาม และนำมาวางไว้ในที่มงคลของบ้าน โดยมิได้ถือว่าเป็นวัตถุแห่งการบูชาเช่นเดียวกับเทวรูป และไม่ต้องซีเรียสในเรื่องของพิธีกรรมมากนัก



บทความ โดย หริทาส

ท่านใดจะนำไปเผยแพร่ต่อ โปรดแจ้งด้วยครับ
#8
ตามรายละเอียดที่ได้แจ้งไว้ในบอร์ดโน้นครับ

เรื่องงานมหาศิวราตรีที่จะจัด ณ ลานคนเมือง กทม


ส่วนนี้คือรายละเอียดเรื่องเจ้าภาพและการบริจาค ครับ

ช่องทางการร่วมสนับสนุนโครงการพิธี “มหาศิวะราตรี”

งาน                                          จำนวนที่ต้องการ                     บริจาคหน่วยละ

ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน                  8                             1 ล้านบาท
ถวายการบวงสรวงโดยพราหมณ์ไทย            3                              250,000บาท
ถวายกลัศโดยพราหมณ์ฮินดู                    30                            30,000 บาท
ร่วมพิธีบูชาศิวะลึงค์                           200                            3,500บาท
ถวายการแสดงบวงสรวง                        6                              50,000บาท
อาหารถวายพราหมณ์ฮินดู                      9                              10,000 บาท
การบริหารจัดการสถานที่จัดงาน               3                               30,000บาท
บริจาคตามกำลังศรัทธา                     ไม่จำกัด                          ไม่จำกัด


หมายเหตุ      1. ผู้ที่ร่วมบริจาคในรายการที่ 1,2 จะได้เข้าเฝ้ารับประทานของที่ระลึกจากพระองค์เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
                2. ในการจัดงานนี้มิได้เป็นไปด้วยการหาผลกำไรแต่อย่างไร รายได้จากการจัดงานทุกบาทหลักจากหักค่าใช้จ่าย  จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายในโครงการพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา
#9
พอดีมีคนมาถามถึงมหาศิวราตรีในปีนี้ครับว่าที่ไหนยังไง  และวิธีถือพรตปฏิบัติตน


โดยปกติ ในมหาศิวราตรีจะมีการวรัต หรือการถือ พรต (ทั้งนี้การถือพรต ให้เป็นไปตามสภาพของร่างกายที่จะรับไหว และเงื่อนไขอื่นๆด้วย เช่นโรคประจำตัว อายุ กิจกรรม
เพราะเป้าหมายของการถือพรต เป็นการชำระจิตใจ เน้นเรื่องใจเป็นสำคัญครับ)

โดยปกติ ถ้าไม่เป็นเด็ก ผู้ชรา หรือมีโรคประจำตัว ในมหาศิวราตรีจะถือพรต
โดยการอดอาหารตั้งแต่อรุณของวันนั้น จนถึงอรุณของอีกวัน
คนที่ไม่สามารถ เพราะร่างกายไม่อำนวย อาจดื่มนมได้บ้าง แต่ผู้ที่เคร่งครัดและพร้อม ก็จะไม่รับประทานอาหารใดๆ เว้นแต่น้ำเปล่า
วันนั้นตื่นแต่เช้า อาบน้ำชำระกาย สวมรุทรากษะ เจิมผงภัสมะ ที่หน้าผาก และสวด มนตร์โอมฺ นมะศิวายะ ตลอดทั้งวันทั้งคืน

ในเวลาหัวค่ำพากันไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศิวะ ทำการบูชาตลอดราตรี


ผมเคยเรียนถามท่านบัณฑิตลลิตว่า ถ้าผมไม่ว่างมาวัดจะทำบูชาที่บ้านได้มั๊ย

ท่านบอกว่า ควรหาทางมา "ทรรศัน" หรือมานมัสการพระศิวลึงค์ให้ได้ซักนิดหน่อย แล้วค่อยกลับไปบ้านครับ

โดยปกติผมจะไปบูชาที่วัดเทพมณเฑียรโดยเอาศิวลึงค์ของตัวเองไปด้วย โดยพราหมณ์ท่านจะทำการสวด รุทรปรัสนา(หรือ รุทราษฺฏาธยายี) จากคัมภีร์ยชุรเวทครับ
ซึ่งเป็นมนตร์ขนาดยาวที่ศักดิ์สิทธิ์มาก
เด๋วไว้ผมจะมาบอกว่า คนที่สนใจจะไปทำบูชา ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง


แต่ปีนี้มีผู้ที่รู้จักแจ้งมาว่าจะมีการจัดบูชามหาศิวราตรีอย่างยิ่งใหญ่ที่ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม โดยจัดถึงสามวันสามคืนครับ
ตั้งแต่ 11 -13 โดยพระองค์โสมท่านจะเสด็จมาเป้นองค์ประนเปิดงานด้วยครับ

รายระเอียดตามนี้เรยครับ
#10
พี่สาหร่ายไกด์ใจดีฝากข่าวมาประชาสัมพันธ์ครับ

กุมภเมลา – Kumbh mela
ศรัทธา กับ ความภักดี ที่มีต่อพระเป็นเจ้า
เนื่องด้วยในเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2553 ที่จะถึงนี้ ในประเทศอินเดีย จะมีการจัดเทศกาลอันพิเศษยิ่งของศาสนาฮินดู คือเทศกาลกุมภ์เมลา(Kumbh Mela ) ซึ่งจะมีขึ่นในทุกๆ 12 ปี ณ เมืองหริทวาร เทศกาลกุมภ์เมลา เป็นการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของศาสนาฮินดู ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยท่านอาทิศังกราจารย์ ในราว ศ.ต.ที่ 8 เพื่อให้นักบวชฮินดูทุกลัทธินิกายและศาสนิกชนได้มาชุมนุมกัน โดยมีการแสดงธรรม การแห่แหนของบรรดานักบวช การอภิปรายหัวข้อทางศาสนา การประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่นการอาบน้ำ การบูชา ฯลฯโดยมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 70 ล้านคน
เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของศาสนาฮินดู


30 ล้านคน          คือ       ประมาณการคนที่จะลงอาบน้ำในวันอาบน้ำใหญ่
70 ล้านคน          คือ       จำนวนคนที่ร่วมพิธีทั้งหมด
22,500 ไร่         คือ       พื้นที่ริมฝั่งน้ำถูกใช้งาน
15,000 ดวง         คือ       จำนวนไฟถนนที่ใช้งาน
5,000 อาศรม      คือ       จำนวนอาศรมที่ตั้งเรียงรายไปตามพื้นที่
15,000 ราย          คือ       จำนวนคนหายทุกๆ วันตลอดงานเทศกาล“จาก หนังสือเรื่อง “อินเดียที่ฉันตามหา” โดย ธนิษฐา แดนศิลป์ หน้า124”
เที่ยวบินกับการเดินทาง
13 JAN 10- BKK-DEL –IC 853-0855-1210
17 JAN 10-DEL-BKK  -IC 854- 1400-1920


รายการเดินทาง
วันพุธที่            13 มกราคม 2553             กรุงเทพฯ – นิว เดลลี - อารตี บูชาไฟ เมืองฮาริดวาร
วันพฤหัสฯ ที่       14 มกราคม 2553             มกร สังกรานติ– เที่ยวชมเมืองฮาริดวาร และเหล่าอาศรมต่างๆ
วันศุกร์ที่          15 มกราคม 2553             สุริยุปราคา กับการอาบน้ำที่ท่าน้ำฮาร์กิเปาริ * เที่ยวชมเมืองฤาษีเกษ
วันเสาร์ที่          16 มกราคม 2553             ฮาริดวาร – เดลลี ช้อปปิ้ง ก่อนกลับ...
วันอาทิตย์ที่       17 มกราคม 2553             ชมเมืองเดลลี – กรุงเทพฯ   ถึงกรุงเทพฯ 1920 น



อัตราค่าเดินทางท่านละ 36,900.- บาท พักเต้นท์พิเศษ ริมแม่น้ำคงคา – ห้องน้ำในตัว



สนใจติดต่อ พี่สาหร่าย ไกด์ ใจดี (คุณนเรนทร์ ดูเบย์)
บริษัท เที่ยวรอบโลก จำกัด                                     
78/44
หมู่ 6 ถนนสุขุมวิท 103 หนองบอน ประเวศ กรุงเทพฯ 10250 

โทร. 0-2393-8354-5, 08-9488 4747, 08-9443 4747, 08 9443 4747

แฟกซ์. 0-2748-1465                            

Email: trltour@yahoo.com            Msn chat: saraivw@hotmail.com            


ถ้ามีผู้สนใจซัก  6-7 ท่าน อาจมีการเชิญวิทยากรพิเศษ คือ อ.หริทาสร่วมเดินทางไปด้วยครับ
ถ้าไม่มีคนสนใจ พี่สาหร่ายแจ้งว่า ไกด์ไปเองคนเดียว เพราะอยากไปอยู่แล้ว 555


[/B]
#11
ขอเชิญท่านที่มีศรัทธาในองค์พระคเณศและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานพิธีคเณศจตุรถีตามกำหนดการดังนี้ครับ


กำหนดการ
โครงการการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
“ สืบสานประเพณีคเณศจตุรถี ”
พิธีคเณศจตุรถี เฉลิมฉลองวันประสูติพระพิฆเนศวร์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552
ณ มณฑลพิธี บริเวณ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2552  ถึง  วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม  2552

ดำเนินการปั้นเทวรูปพระพิฆเนศวร์สำหรับใช้ในพิธี โดย อาจารย์ชัชวาลย์ วรรณโพธิ์ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำ และจัดเตรียมประดับตกแต่งสถานที่ปะรำพิธี(มณฑป)


วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2552  วันคเณศจตุรถี(วันประสูติพระพิฆเนศวร์)

เวลา 13.00 น.   เริ่มพิธีสถาปนา และบูชาพระคเณศตามประเพณีฮินดู

            -สวัตติวาจน สังกัลปะ กลัศสถาปนา ทีปสถาปนา ศังขปูชา
             -อัญเชิญเทวรูปประดิษฐานที่มณฑป  สถาปนาเทวรูป    ปราณประติษฐา
             -บูชาเทวรูป ด้วยอุปจาระทั้ง 16 ขั้นตอน เช่นการสรงด้วยน้ำ อภิเษกเทวรูป

             ถวายอาหาร(ไนเวทยัม) ถวายธูปและประทีป เป็นต้น
เวลา 15.00น.    คเณศจตุรถี กถา  พิธีถวายบูชาอารตี  เสร็จแล้ว ผู้เข้าร่วมพิธีรับพร รับการ

             เจิมและรับประสาท(ของที่ถวายแล้ว)เพื่อเป็นสิริมงคล
เวลา 17.00น.     พิธีสันธยอารตี(เวียนประทีปบูชา)  ร่วมสวดมนตร์ เสร็จแล้วรับพรและ

             ประสาท
*ประกอบพิธีโดยบัณฑิตพรหมานันทะ พราหมณ์อินเดีย

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2552  และ วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2552
เวลา 17.00 น.   พิธีบูชาพระคเณศด้วยปัญจอุปจาระ ทำพิธีสันธยอารตีและร่วมสวดมนตร์  เสร็จ
            แล้วรับพรและประสาท(ของบูชา)เพื่อเป็นสิริมงคล

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2552(วัน วิสรชันหรือส่งเสด็จ)

เวลา 15.30 น.   พิธีบูชาพระคเณศด้วย อุปจาระทั้ง 16 ขั้นตอน ทำพิธีมงคลอารตี

เวลา 17.30 น.   แห่เทวรูปไปโดยรอบมหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์เริ่ม

            ต้นที่ภาควิชาปรัชญา  และไปสิ้นสุดที่บริเวณสะพานสระแก้ว
เวลา 18.00น.    พิธีอารตี จากนั้นแจกประสาท ประกอบพิธีวิสรชัน(นำเทวรูปลอยลงในสระแก้ว)

            เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีคเณศจตุรถี

ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ที่24 ส.ค. 2552  เชิญร่วมสวดมนตร์ และพิธีมงคลอารตี  ในเวลา 17.00 น.

ขอเชิญท่านที่สนใจและมีศรัทธาต่อองค์พระพิฆเนศวร์เข้าร่วมพิธีได้ตามวันและเวลาดังกล่าว
สอบถามโทร 034-255096-7 ต่อ 23303 ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


การเดินทาง
1.รถตู้ทับแก้ว -กรุงเทพ
ขึ้นรถที่ปอกุ้งเผา เลยเซ็นทรัลปิ่นเกล้ามานิดหน่อย(หลังศาลพระศิวะ)ราคา 40 บาทต่อเที่ยวรถออกเมื่อเต็ม (ออกไว) รถจะจอดหน้ามหาวิทยาลัย เดินตรงเข้ามาจะถึงคณะอักษรศาสตร์
2.รถบัส กรุงเทพ-ดำเนิน
ขึ้นที่สายใต้ใหม่(สุด)ราคาไม่เกิน30 บาท บอกว่าลงทับแก้ว รถจะจอดหน้ามหาวิทยาลัย
3.รถนครปฐม-กรุงเทพ
ขึ้นที่สายใต้ใหม่ รถจะจอดที่องค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมอไซค์รับจ้างมาอีกประมาณ 20 บาท



ผมโพสไว้ในกระทู้สาระความรู้เรื่องพระคเณศแล้วมาโพสไว้ที่นี้ด้วยครับ

ขออนุญาตนะครับท่านเวปมาสเตอร์
#12
ผมหายไปนานด้วยภาระงานการสอนหนังสือ
แต่ช่วงนี้เห็นว่าใกล้เทศกาลคเณศจตุรถีแล้ว จึงนำเอาบทความเล็กๆที่ผมเขียนไว้มาให้ผู้สนใจได้อ่านกัน

ก็ตามเดิมครับ ขอสงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปเผยแพร่ครับ

คเณศจตุรถี(Ganesha Caturthi )
เรียบเรียง โดย ศรีหริทาส

       

             พระพิฆเนศวร์ทรงเป็นที่เคารพสักการะทั้งในประเทศอินเดียและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศอินเดีย แคว้นที่เคารพพระพิฆเนศวร์เป็นพิเศษ คือแคว้นมหาราษฏร์ ซึ่งครอบคลุมเมืองมุมไบ และเมืองใกล้เคียงอื่นๆ  ดังจะเห็นได้จากจำนวนเทวสถานขององค์พระพิฆเนศวร์จำนวนมากมายในดินแดนแถบนั้น และเทศกาลที่ถือว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด คือ “ คเณศจตุรถี ”
พิธีคเณศจตุรถี หรือ วินายกจตุรถี( Vinayaka caturthi ) หรือ คเณโศตสวะ( Ganeshotsava ) คือพิธีสักการะพระคเณศ โดยถือว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระองค์ จตุรถี แปลว่า ลำดับที่ 4 ซึ่งหมายถึงวันขึ้น 4 ค่ำ(ศุกลปักษะ จตุรถี)ในเดือนภัทรบท( Bhadrapad )ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงราวๆกลางเดือนสิงหาคม และกันยายนของทุกปี ในพิธีนี้จะมีการปั้นเทวรูปพระคเณศขึ้นจากวัสดุธรรมชาติเช่นดินเหนียว หรือวัสดุอื่นๆ  ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กไม่กี่นิ้วไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าตึกสองหรือสามชั้น จากนั้นจะสร้าง “ มณฑป( Mandapa ) ” ขึ้น เพื่อประดิษฐานเทวรูปดังกล่าว รูปแบบของมณฑปขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและงบประมาณของเจ้าภาพเป็นสำคัญ ในเทศกาลคเณศจตุรถีบางแห่งมีการประกวดมณฑปและองค์เทวรูปทั้งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และความสวยงาม แม้แต่องค์เทวรูปที่สร้างขึ้นในเทศกาลก็ไม่ได้ถูกกำหนดรูปแบบที่ตายตัวไว้ เราจึงเห็นการสร้างเทวรูปพระคเณศในรูปแบบแปลกๆ เช่น พระคเณศในรูปแบบฮีโร่ในภาพยนตร์ซึ่งจะเห็นๆได้ เฉพาะในเทศกาลนี้เท่านั้น   เมื่อการเตรียมการต่างๆพร้อมแล้ว จะมีการอัญเชิญเทวรูปพระคเณศขึ้นประดิษฐานในมณฑป และเชิญพราหมณ์มาทำพิธี “ ปราณประติษฐา ” หรือการทำให้เทวรูปนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จากนั้นจะทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนาที่เรียกว่า โษทโศปจาร(อุปจาระทั้ง 16) เช่นการสรงด้วยนม ด้วยน้ำผึ้ง การบูชาด้วย ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ ตามด้วยสวดมนตร์ที่เรียกว่า “ คเณศาถรวศีรษะ ” หรือ คเณศ อุปนิษัท ในคัมภีร์พระเวท และทำการบูชาด้วยประทีป หรือการอารตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย นอกจากนี้ชาวฮินดูที่มีศรัทธาจะถือพรตอดอาหารหรือทานแต่มังสวิรัติ ในช่วงเทศกาลจตุรถีอีกด้วย
           การประดิษฐานพระคเณศจะเริ่มประดิษฐานไว้ตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำ(ศุกล จตุรถี)ไปจนถึงวัน
อนันตะ จตุรทศี หรือวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ในทุกๆวันจะมีการชุมนุมกันสวดมนตร์ และทำพิธีอารตีในเวลาค่ำ เมื่อถึงวันที่ 11 ที่เรียกว่า พิธีวิสรชัน หรือการส่งเทพเจ้ากลับเทวโลก ในวันนั้น จะมีพิธีการบูชาด้วยอุปจาระทั้ง 16 ขั้นตอน อีกรอบหนึ่ง และจะจัดขบวนแห่ เทวรูปไปตามท้องถนน พร้อมด้วยการบรรเลงดนตรีและการเต้นรำอย่างสนุกสนาน โดยจะมีการร้องตะโกนถวายพระพรแด่พระคเณศ เช่น  “ คณปติ บ๊าปป้า โมรยา !” (พระบิดาคเณศจงเจริญ) มงคล มูรติ โมรยา ! (พระผู้มีรูปมงคลจงเจริญ)ในภาษามาราฐี เป็นต้น และมีการสาดผงสินทูรหรือ ผงอพีระ สีแดง เพื่อเป็นสิริมงคล ไปยังผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน การแห่เทวรูปจะแห่ไปที่ทะเล หรือที่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้  เมื่อถึงชายฝั่งจะมีการทำพิธีอารตีอีกรอบหนึ่ง และ นำเทวรูปนั้นไปลอยลงในทะเลหรือแม่น้ำ เท่ากับ ได้ส่งพระคเณศกลับยัง   เทวโลก นอกจากนี้ชาวอินเดียยังเชื่อว่าการที่เทวรูปนั้นสลายสู่สภาวะเดิม เป็นการแสดงสภาวะของธรรมชาติ และถือว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เพราะแม่น้ำและดินจะได้รับพรจากองค์เทวรูปที่ได้ผ่านพิธีกรรมไปแล้วด้วย
         ในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เดิมเทศกาลคเณศจตุรถีมิได้เป็นเทศกาลที่แพร่หลายระดับรัฐ แต่ในปี ค.ศ. 1893 ท่านพาล คงคาธร ดิลก นักเคลื่อนไหวทางสังคมและนักปฏิรูปสังคมอินเดีย ได้ปรับปรุงพิธีนี้และยกระดับให้เป็นพิธีของรัฐด้วยเห็นว่า พระคเณศนั้นทรงเป็น “ เทพเจ้าของทุกๆคน ” ซึ่งไม่ว่าคนในวรรณะไหนก็สามารถบูชาและเข้าถึงพระองค์ได้ การจัดเทศกาลนี้ก็ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นไปในตัว โดยเฉพาะชนชั้นพราหมณ์และพวกไม่ใช่พราหมณ์ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ออกกฎไม่ให้มีการชุมนุมกันตามท้องถนน โดยอาศัยการแห่พระคเณศออกมาในวันสุดท้ายของเทศกาล

          พิธีคเณศจตุรถีจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีความร่วมมือร่วมใจที่ต้องอาศัยกำลังของบุคคลในชุมชน ทั้งในส่วนของการจัดเตรียมองค์เทวรูป การสร้างประรำพิธี การจัดพิธีการบูชาและการแห่แหนในวันสุดท้าย  นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอินเดียไปสู่ชาวโลก ชาวอินเดียจึงมีความภาคภูมิใจในเทศกาลนี้มากและนับว่าเป็นเทศกาลที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมากที่สุด
             ในประเทศไทย แต่เดิมการจัดพิธีคเณศจตุรถี มักเป็นการจัดกันกลุ่มเล็กๆในหมู่ชาวอินเดีย และไม่ใช่เทศกาลที่แพร่หลายเป็นที่รู้จัก เพราะชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักมาจากรัฐอุตรประเทศ ซึ่งพิธีคเณศจตุรถีไม่ได้เป็นเทศกาลสำคัญของรัฐดังเช่นชาวมาราฐีในแคว้นมหาราษฏร์ มีเพียงองค์กรเดียวของคนไทย คือ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศวร์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดเทศกาลคเณศจตุรถีมาเป็นเวลาหลายปีจนเทศกาลนี้ค่อยๆเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้นในจังหวัดอื่นๆนอกจากกรุงเทพและเชียงใหม่แล้ว ก็ยังไม่มีการจัดพิธีคเณศจตุรถี หากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นองค์พระคเณศ จัดเทศกาลนี้ขึ้น ก็อาจถือว่าเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดนครปฐม และเป็นโอกาสที่สำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณี และความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับองค์พระคเณศให้แพร่หลายไปด้วย
#13
โอมฺ นมะ ศิวาย


สวัสดีครับทุกท่าน ผมมีข่าวจะนำมาแจ้งบอกครับ
ในวันที่ 23 ก.พ. 52 นี้ ตรงกับวันมหาศิวราตรี ครับ

ใน 1 ปีจะมีมหาศิวราตรีเพียงวันเดียว คือวัน แรม 14 ค่ำของเดือน ผาลคุน ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 23 ก.พ. ของประเทศไทย

ถือเป็นวันมหาพรตวันหนึ่ง

ในวันนี้ ศาสนิกชนควรไป ทรรศัน(ไปเยี่ยมชม นมัสการ)พระศิวลึงค์ยังเทวสถานต่างๆ
และในวันนี้เป็นวันพรตครับ
ผู้ที่เคร่งครัด ตั้งใจจะถือพรต จะไม่รับประทานอาหารเลยนับแต่อาทิตย์ขึ้นในวันที่ 23 ไปจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น ในวันที่ 24 หรือหลังจากได้รับประสาท หรือของที่ได้รับจากการถวายบูชาแล้ว
แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็ควรดื่มนมเล็กน้อย หรือ ผลไม้เล็กน้อย

ท่านควรภาวนาปญฺจากฺษรมนตร์ หรือ ศฑกฺษรมนตร์ (โอมฺ นมะ ศิวาย)ตลอดทั้งวันและราตรี

และตามเทวสถานจะมีการถวายบูชา ตลอดทั้งราตรี


นอกจากท่านที่จะถือพรตตามศรัทธาแล้ว

วัดเทพมณเฑียรสมาคมฮินดูสมาช เสาชิงช้า จะจัดการบูชาในวันศิวราตรี

เริ่ม 19.00 น. สันธยอารตี(อารตีประจำวัน)
จากนั้นเริ่มการบูชาพระศิวลึงค์ และทำรุทราภิเษก สวดรุทราษฏาธยายีในคัมภีร์ยชุรเวท ไปสิ้นสุดที่เวลาประมาณ 23.00น.
จากนั้นอารตีมหาศิวราตรี และ ขับร้องภชัน สิ้นสุดที่เวลาประมาณ 24.00น.(ปีนี้ทำบูชารอบเดียว)

ท่านที่สนใจสามารถไปร่วมการบูชาได้

หากท่านประสงค์จะนำศิวลึงค์ไปบูชาในพิธีโปรดนำสิ่งของบูชาไปเอง และควรไปก่อนเวลา 18.00น.

ของที่ต้องนำไป
1.พระศิวลึงค์
2.ถาดที่สามารถรองรับน้ำสรงได้ ถาดใส่อุปกรณ์ต่างๆ ที่สรงน้ำที่เป็นรูปปากโค หรือ หม้อสรงน้ำเจาะรู สำหรับทำอภืเษก
3.หม้อหรือแก้วใส่น้ำพร้อมช้อน
4.ดอกไม้มี ดาวเรือง กุหลาบ มะลิหรือจำปี บัวแดง พวงมาลัย 2 พวง
5.นม จำนวนให้พอสรง ประมาณ 2 ลิตร
6.โยเกิร์ตธรรมชาติ 1 ถ้วย
7.น้ำผึ้ง 1 ขวด หรือหลอด
8.ฆี เนยอินเดีย 1 กระป๋อง หรือเนยสดละลาย
9.น้ำอ้อย 1 ขวด
10.น้ำหอม ที่ยังไม่ใช้ 1 ขวด
11.ผงสินทูร สีส้ม ผงกุงกุม สีแดง ผงอบีระ ผงวิภูติหรือภาสมะ (พาหุรัดมีขายทุกสิ่ง)
12.ข้าวสารย้อมผงสินทูรหรือกุงกุม  1ถ้วยย
13.สายยัชโญปวีต(ถ้าไม่มีทางวัดมีแจก)
14.สายสิญจน์แขก(รักษี) สีแดง 1 ม้วน
15.ขนมอินเดีย ผลไม้ต่างๆ และมะพร้าว 1 ลูก
17.ธูปหอม
18.การบูรอารตี(ทางวัดมีให้)
19.หมากพลู กานพลูและกระวานแขก
20.ผ้าทรงของพระศิวลึงค์(ถ้ามี)
21.เงินบูชา ตามกำลังศรัทธา
22.ใบมะตูม(ขาดไม่ได้ -บางครั้งทางวัดนำมาแจก)

แต่ถ้าท่านไม่นำศิวลึงค์ไปบูชาเอง ก็สามารถไปร่วมการบูชาของทางวัดได้ โดยอาจนำไปเพียงนมและดอกไม้ ก็ได้

ขอพระศิวอวยพระพรทุกท่าน
#14
ชัยศรีราม

สวัสดีครับทุกท่าน
พอดีท่านเวปมาสเตอร์มาชักชวนให้มาที่บอร์ดครับ
เลยเพิ่งจะมา

สวัสดีนะครับทุกท่าน
ผมเองคงไม่ได้เล่นบ่อยๆ ยังไงก็ยินดีที่ได้พบทุกท่านอีกครั้งนะครับ