Loader

พาอ่านหนังสือตอนที่1-ในที่ประชุมสงฆ์-พระอานนท์พุทธอนุชา

Started by phorn456, April 19, 2010, 00:39:37

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.



๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร

สมณะทั้งสองเดินดุ่มผ่านทุ่งกว้างเข้าสู่เขตป่าโปร่ง มีทางพอเดินได้สะดวก สมณะซึ่งเดินนำหน้ามีอินทรีย์ผ่องใส มีสายตาทอดลงต่ำ ผิวขาวละเอียดอ่อนลักษณะแสดงว่ามาจากวรรณะสูง อากัปกิริยาและท่าที่เยื้องย่างน่าทัศนา นำมาซึ่งความเลื่อมใสปีติปราโมชแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกาย แม้จะทำขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีรูปทรงอะไร แต่ก็มองดูสะอาดเรียบร้อยดี
ส่วนสมณะผู้เดินอยู่เบื้องหลัง แม้จะมีส่วนสูงไม่เท่าองค์หน้า แต่ก็มีรูปร่างอยู่ในขนาดเดียวกัน ท่านเดินได้ระยะพองามไม่ห่างกันและไม่ชิดจนเกินไป
ทั้งสองเดินมาถึงทางสองแพร่ง เมื่อสมณะผู้เดินหน้ามีอาการว่าจะเลี้ยวไปทางขวา สมณะผู้เดินหลังก็กล่าวขึ้นว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ"
"อย่าเลย - นาคสมาละ! ตถาคตต้องการไปทางขวา เรามีเรื่องสำคัญที่จะต้องไปโปรดสัตว์ทางนี้"
"ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ" พระนาคสมาละยืนยัน
"อย่าเลย - นาคสมาละ! มากับตถาคตทางขวานี่เถิด" พระผู้มีพระภาคขอร้อง
พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งแต่พระนาค สมาละก็หายอมไม่ ในที่สุดท่านก็วางบาตรของพระผู้มีพระภาคไว้ในทางสองแพร่ง แล้วเดินหลีกไปทางซ้ายตามความปรารถนาของท่าน พระจอมมุนีศากยบุตรต้องนำบาตรของพระองค์ไปเองและเสด็จไปโดดเดี่ยว
อีกครั้งหนึ่ง พระเมฆิยะเป็นพระอุปฐากพระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จไปยังชันตุคาม เขตปาจีนวังสะมีพระเมฆิยะตามเสด็จ เวลาเช้าพระเมฆิยะไปบิณฑบาตในชันตุคาม กลับจากบิณฑบาตแล้วท่านเดินผ่านสวนมะม่วงอันน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง ปรารถนาจะไปบำเพ็ญสมณธรรมที่นั่น จึงกราบทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งว่า
"อย่าเพิ่งไปเลย - เมฆิยะ เวลานี้เราอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาแทนเสียก่อนแล้วเธอจึงค่อยไป"
ความจริงพระพุทธองค์ทรงเห็นอุปนิสัยของพระ เมฆิยะว่ายังไม่สมควรที่จะไป จึงไม่ทรงอนุญาต หาใช่เพราะทรงคำนึงถึงความลำบากไม่ และไม่ใช่พระองค์จะไม่ทรงเห็นความจำเป็นในการบำเพ็ญสมณธรรม เกี่ยวกับเรื่องสมณธรรมนั้น พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้ภิกษุกระทำอยู่เสมอ
พระเมฆิยะไม่ยอมฟังคำท้วงติงของพระ พุทธองค์ละทิ้งพระองค์ไว้แล้วไปสู่สวนมะม่วงอันร่มรื่น บำเพ็ญสมณธรรมทำจิตให้สงบ แต่ก็หาสงบไม่ ถูกวิตกทั้งสามรบกวนจนไม่อาจให้จิตสงบได้เลย วิตกทั้งสามนั้นคือกามวิตก - ความตรึกเรื่องกาม พยาบาทวิตก - ความตรึกในทางปองร้าย และวิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางเบียดเบียน ในที่สุดจึงกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า
"เมฆิยะเอย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก ผู้มีปัญญาจึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน และเป็นจิตตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง
เมฆิยะเอย! จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นลงไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาจึงพยายามยกจิตขึ้นจากอาศัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย"
ภายใน ๒๐ ปีแรก จำเดิมแต่การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค คือระหว่างพระชนมายุ ๓๕ ถึง ๕๔ พรรษา พระพุทธองค์ ไม่มีพระสาวกผู้อยู่อุปฐากประจำ บางคราวก็เป็นพระอุปวาณะ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระราธะ บางคราวพระนาคสมาละ และบางคราวพระเมฆิยะที่กล่าวแล้ว บางคราวก็เป็นสามเณรจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร
พระผู้มีพระภาคได้รับความลำบากด้วยการที่ ภิกษุผู้อุปฐากไม่รู้พระทัยของพระองค์ ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงต้องมีพระอุปฐากประจำด้วย ดูๆ จะมิเป็นการยังถือยศศักดิ์ถือฐานะอยู่หรือ? เรื่องนี้ถ้าพิจารณาด้วยดี จะเห็นความจำเป็นที่พระองค์จะต้องมีพระอุปฐากประจำ หรือผู้รับใช้ใกล้ชิด เพราะพระองค์ต้องทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ต้องมีการประชุมสงฆ์เป็นคราวๆ และต้องต้อนรับคฤหัสถ์บรรพชิตมากหลาย ที่มาเฝ้าเพื่อถวายปัจจัยบ้าง เพื่อทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ้าง ในบรรดาผู้มาเฝ้าเหล่านั้น ที่เป็นมาตุคามก็มีมาก จะเห็นว่าพระองค์ไม่ควรประทับอยู่แต่ลำพัง แต่ก็มีนานๆ ครั้งที่พระศาสดาทรงปลีกพระองค์ไปประทับแต่ลำพัง ในระยะนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ไม่ทรงต้อนรับผู้ใด ทรงหลีกเร้นอยู่เพื่อแสวงหาความสุขในปัจจุบัน ที่เรียกว่า "ทิฏฐธรรมสุขวิหาร"
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงคราวหนึ่ง เมื่อพระองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล พระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น มาประชุมกันพร้อม พระผู้มีพระภาคทรงปรารภในท่ามกลางสงฆ์ว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปฐากพระองค์ บางรูปก็ทอดทิ้งพระองค์ไปเสียเฉยๆ บางรูปวางบาตร และจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไป จึงขอให้สงฆ์เลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นรับตำแหน่งอุปฐากพระองค์เป็นประจำ
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว มีความสังเวชสลดจิตอย่างยิ่ง พระสารีบุตรกราบบังคมทูลขึ้นก่อนว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดวงตาของโลก! ข้าพระพุทธเจ้าขออาสา รับเป็นอุปฐากปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ขอพระผู้มีพระภาคอาศัยความอนุเคราะห์รับข้าพระองค์เป็นอุปฐากเถิด"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบขอบใจพระสารีบุตร แล้วตรัสว่า "สารีบุตร! อย่าเลย - เธออย่าทำหน้าที่อุปฐากเราเลย เธออยู่ ณ ที่ใดที่นั้นก็มีประโยชน์มาก โอวาทคำสั่งสอนของเธอเป็นเหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้า เธอสามารถหมุนธรรมจักรให้เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงชนเช่นกับด้วยเรา ผู้ได้เข้าใกล้เธอเหมือนได้เข้าใกล้เรา ผู้ที่สนทนากับเธอเหมือนได้สนทนากับเรา"
ต่อจากนั้นพระมหาเถระรูปอื่นๆ ต่างก็แสดงความจำนงจะเป็นอุปฐากปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นประจำ แต่พระองค์ทรงห้ามเสียทั้งสิ้น เหลือแต่พระอานนท์เท่านั้นที่ยังคงนั่งเฉยอยู่ พระสารีบุตรจึงกล่าวเตือนพระอานนท์ขึ้นว่า
"อานนท์! เธอไม่เสนอเพื่อรับเป็นอุปฐากพระผู้มีพระภาคหรือ ทำไมจึงนั่งเฉยอยู่"
"ข้าแต่ท่านธรรมเสนาบดี" พระอานนท์ตอบ "อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะประเสริฐอะไร อีกประการหนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าอยู่ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็คงจะตรัสให้ข้าพเจ้าเป็นอุปฐากของพระองค์เอง ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้ว"
ที่ประชุมเงียบไปครู่หนึ่ง ไม่มีผู้ใดไหวกายหรือวาจาเลย เงียบสงบเหมือนไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นเลย ภิกษุทุกรูปนั่งสงบ ไม่มีแม้แต่เพียงไอหรือจามหรืออาการกระดุกกระดิก พระผู้มีพระภาคตรัสขึ้นท่ามกลางความเงียบขึ้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์มีความประสงค์ที่จะอุปฐากเราอยู่แล้ว เป็นเพียงขอให้สงฆ์รับทราบเท่านั้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อานนท์จักอุปฐากเรา"
เป็นความรอบคอบสุขุมของพระผู้มีพระภาคที่ ตรัสเช่นนั้น ความจริงหากพระองค์จะไม่ตรัสในที่ประชุมสงฆ์ แต่ตรัสเฉพาะพระอานนท์เอง พระอานนท์ก็พอใจที่จะอุปฐากอยู่ใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา แต่เพื่อจะยกย่องพระอานนท์ และให้สงฆ์รับทราบในอัธยาศัยของพระอานนท์ พระองค์จึงปรารภเรื่องนี้ท่ามกลางสงฆ์ ความเป็นจริงพระอานนท์ได้สั่งสมบารมีมาเป็นเวลาหลายร้อยชาติ เพื่อตำแหน่งอันมีเกียรตินี้
พระอานนท์เป็นผู้รอบคอบ มองเห็นกาลไกล เมื่อพระผู้มีพระภาคและสงฆ์มอบตำแหน่งนี้ไว้แล้ว จึงทูลของเงื่อนไขบางประการดังนี้
"ข้าแต่พระผู้เป็นนาถาของโลก! เมื่อข้าพระองค์รับเป็นพุทธอุปฐากแล้ว ข้าพระองค์ทูลขอพระกรุณาบางประการ คือ
๑. ขอพระองค์อย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้นำมาถวายแก่ข้าพระองค์เลย
๒. ขอพระองค์อย่าได้ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๓. ขอพระองค์อย่าได้ให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ
๔. ขออย่าได้พาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ซึ่งพระองค์รับไว้
"ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไรจึงขอเงื่อนไข ๔ ประการนี้"
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลขอพร ๔ ประการนี้ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ ว่าข้อพระองค์รับตำแหน่งพุทธอุปฐาก เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ"
พระอานนท์ยังได้ทูลขึ้นอีกในบัดนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด! ข้ออื่นยังมีอีกคือ
๕. ขอพระองค์โปรดกรุณา เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้เพื่อพระองค์ไม่อยู่
๖. ขอให้ข้าพระองค์ได้พาพุทธบริษัทเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่เขามาเพื่อจะเฝ้า
๗. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยเรื่องใด เมื่อใดขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกโอกาส"
"อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพร ๓ ประการนี้!"
"ข้าพระองค์ทูลขอ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ข้าพระองค์บำรุงพระองค์อยู่ทำไมกัน เรื่องเพียงเท่านี้พระองค์ก็ไม่ทรงสงเคราะห์ ข้าแต่พระจอมมุนี ข้ออื่นยังมีอีก คือ
๘. ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"
"อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพรข้อนี้?"
"ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัวติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่"
พระพุทธองค์ ประทานพรทั้ง ๘ ประการ แก่พระอานนท์พุทธอนุชาตามปรารถนาและพระอานนท์ก็รับตำแหน่งพุทธอุปฐากตั้งแต่ บัดนั้นมา พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา เป็นปีที่ ๒๐ จำเดิมแต่ตรัสรู้ ส่วนพระอานนท์มีอายุได้ ๕๕ ปีเช่นกัน แต่มีพรรษาได้ ๑๙ จำเดิมแต่อุปสมบท


จบตอนที่1ค่ะ

สาธุคะคุณพี่ฝนเจ้าของกระทู้ 
น้องเสือเคยฟังเเบบเป็นเสียงนะคะ 
อ่านธรรมมะคงนอนฝันดีเเล้วขอบคุณยามดึกคะ
เสียหายไม่ว่า  แต่เสียหน้าไม่ได้