Loader

เกร็ดประวัติพระอริยะเจ้าสายกรรมฐาน

Started by phorn456, May 25, 2010, 19:43:51

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.


เกร็ดประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต



ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
   ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปลี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะการแสวงหาธรรมและปฏิปทา

   เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ

   ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก" คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ

   ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

   เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ

   ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสนาแก่้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน


   ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคระาห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนให้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลา แม้อาพาธหนักในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยว แสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ภาเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้
ธรรมโอวาท

คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ
ด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน จบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า "แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่" ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และ ละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวเป็นคติขึ้นว่า "เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย" ดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดย ยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า..

การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศล คือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง......

นี้แล คือ คำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า การไม่ทำบาป...ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำสั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไป จนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือ สั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และ คอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงโอวาทธรรม ให้ปรากฏไว้ เมื่อครั้งท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสระประทุม (ปัจจุบัน คือ วัดประทุมวนาราม) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน อาจค้นคว้าหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก มีดังนี้

นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจธฺนกฺขนฺธานิ

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสุคต บรมศาสดาศากยะมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ และพระ อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น

บัดนี้ ข้าพเจ้ากล่าวซึ่งธรรมขันธ์ โดยสังเขปตามสติปัญญา

ยังมีท่านคนหนึ่ง รักตัว คิดกลัวทุกข์ อยากได้สุข พ้นภัย เที่ยวผายผัน เขาบอกว่า สุขมีที่ไหน ก็อยากไป แต่เที่ยวหมั่นไปมา อยู่ช้านานนิสัยท่านนั้น รักตัวกลัวตายมาก อยากจะพ้นแท้ๆ เรื่องแก่ตายวันหนึ่ง ท่านรู้จริงซึ่ง สมุทัย พวกสังขาร ท่านก็ปะถ้ำ สนุก สุขไม่หาย เปรียบเหมือนดัง กายนี้เองชะโงกดูถ้ำสนุก ทุกข์คลาย แสนสบาย รู้ตัว เรื่องกลัวนั้นเบา ดำเนินไป เมินมา อยู่หน้าเขา

จะกลับไป ป่าวร้อง พวกพ้องเล่าก็กลัวเขาเหมา ว่าเป็นบ้า เป็นอันจบเรื่องคิด ไม่ติดต่อดีกว่าเที่ยวรุ่มร่าม ทำสอพลอ เดี๋ยวถูกยอ ถูกติ เป็นเรื่อง เครื่องรำคาญ

ยังมี บุรุษ คนหนึ่ง คิดกลัวตาย น้ำใจฝ่อมาหาแล้ว พูดตรงๆ น่าสงสารถามว่า ท่านพากเพียรมา ก็ช้านาน เห็นธรรมที่จริง แล้วหรือยัง ที่ใจหวังเอ๊ะ ทำไม จึงรู้ใจฉันบุรุษผู้นั้น ก็อยากอยู่อาศัย ท่านว่าดี ดีฉันอนุโมทนาจะพาดูเขาใหญ่ ถ้ำสนุก ทุกข์ไม่มี คือ กายคตา สติ ภาวนาชมเล่นให้เย็นใจ หายเดือดร้อน หนทางจรอริยวงศ์ จะไป หรือไม่ไป ฉันไม่เกณฑ์ไม่หลอกเล่น บอกความ ให้ตามจริงแล้วกล่าวปริศนาท้าให้ตอบ

ปริศนานั้นว่า ระวิ่ง คืออะไร ตอบว่า วิ่งเร็ว คือ วิญญาณ อาการใจเดินเป็นแถว ตามแนวกันสัญญาตรง น่าสงสัย ใจอยู่ใน วิ่งไปมา สัญญาเหนี่ยวภายนอก หลอกลวงจิตทำให้จิตวุ่นวาย เที่ยวส่ายหา หลอกเป็นธรรมต่างๆ อย่างมายา

ถามว่า ห้าขันธ์ ใครพ้น จนทั้วปวงแก้ว่า ใจซิพ้น อยู่คนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันติด สิ้นพิศวงหมดที่หลง อยู่เดียวดวงสัญญาทะลวงไม่ได้ หมายหลงตามไป
ถามว่า ที่ตาย ใครเขาตาย ที่ไหนกัน
แก้ว่า สังขารเขาตาย ทำลายผล

ถามว่า สิ่งใดก่อ ให้ต่อวน
แก้วว่ากลสัญญา พาให้เวียน เชื่อสัญญาจึงผิด คิดยินดี ออกจากภพนี้ ไปภพนั้น เที่ยวหันเหียน เลยลืมจิต จำปิด สนิทเนียน ถึงจะเพียรหาธรรม ก็ไม่เห็น

ถามว่า ใครกำหนด ใครหมาย เป็นธรรม
แก้ว่า ใจกำหนด ใจหมาย เรื่องหา เจ้าสัญญา นั่นเอง คือว่าดี ว่าชั่ว ผลักจิต ติดรักชัง

ถามว่า กินหนเดียว เที่ยวไม่กิน
แก้ว่า สิ้นอยากดู ไม่รู้หวัง ในเรื่องเห็นต่อไป หายรุงรัง ใจก็นั่งแท่นนิ่ง ทิ้งอาลัย

ถามว่า สระสี่เหลี่ยมเปี่ยมด้วยน้ำ
แก้ว่า ธรรมสิ้นอยาก จากสงสัย ใสสะอาดหมดราคี ไม่มีภัย สัญญาในนั้น พรากสังขารขันธ์นั้น ไม่ถอน ใจจึงเปี่ยมเต็มที่ ไม่มีพร่อง เงียบสงัด ดวงจิต ไม่คิดปอง เป็นของควรชมชื่น ทุกคืนวัน แม้ได้สมบัติทิพย์ สักสิบแสน หากแม้นรู้จริง ทิ้งสังขาร หมดความอยากเป็นยิ่ง สิ่งสำคัญ จำส่วนจำ กั้นอยู่ ไม่ก้ำเกิน ใจไม่เพลินทั้งสิ้น หายดิ้นรน
เหมือนอย่างว่า กระจกส่องหน้า ส่องแล้ว อย่าคิด ติดปัญญา เพราะว่า สัญญานั้น ดังเงา อย่าได้เมา ไปตามเรื่อง เครื่องสังขาร ใจขยัน จับใจ ที่ไม่บ่น ไหวส่วนตน รู้แน่ เพราะแปรไป ใจไม่เที่ยวของใจ ใช่ต้องว่า รู้ขันธ์ห้า ต่างชนิด เมื่อจิตไหว แต่ก่อนนั้น หลงสัญญา ว่าเป็นใจ สำคัญว่าใน ว่านอก จึงหลอกลวง คราวนี้ ใจเป็นใหญ่ ไม่หมายพึ่ง สัญญาหนึ่ง สัญญาใด มิได้หวังเกิดก็ตาม ดับก็ตาม สิ่งทั้งปวง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกันหมู่สัญญา เหมือนยืนบน ยอดเขาสูงแท้ แลเห็นดิน แลเห็นสิ้น ทุกตัวสัตว์ แต่ว่า สูงยิ่งนักแลเห็นเรื่องของตน แต่ต้นมา เป็นมรรคาทั้งนั้น เช่นบันได
ถามว่า น้ำขึ้นลง ตรงสัจจา นั้นหรือ? ตอบว่ าสังขารแปร ก็ไม่ได้ธรรมดากรรม แต่ไม่แกล้งใคร ขืนผลักไส จับต้อง ก็หมองมัวชั่วในจิต ไม่ต้องคิด ผิดธรรมดา สภาพสิ่ง เป็นจริง ดีชั่วตามแต่ เรื่องของเรื่อง เปลื้องแต่ตัว ไม่พัวพันสังขาร เป็นการเย็นรู้จักจริง ต้องทิ้งสังขาร เมื่อผันแปร เมื่อแลเห็นเบื่อแล้ว ปล่อยได้คล่อง ไม่ต้องเกณฑ์ ธรรมก็ใจ เย็นใจ ระงับดับสังขารรับอาการ
ถามว่า ห้าหน้าที่ มีครบครันแก้ว่า ขันธ์ แย่งแยก แจกห้าฐานเรื่องสังขาร ต่างกอง รับหน้าที่ มีกิจการจะรับงานอื่น ไม่ได้ เต็มในตัวแม้ลาภยศสรรเสริญ เจริญสุข นินทาทุกข์ เสื่อมยศ หมดลาภทั่วรวมลง ตามสภาพ ตามเป็นจริง ทั้ง ๘ สิ่ง ใจไม่หัน ไปพัวพันเพราะว่า รูปขันธ์ ก็ทำแก้ไข มิได้ถ้วนนาม ก็มิได้พัก เหมือนจักรยนต์ เพราะรับผลของกรรม ที่ทำมาเรื่องดี ถ้าเพลิดเพลิน เจริญใจ เรื่องชั่วขุ่น วุ่นจิต คิดไม่หยุดเหมือนไฟจุด จิตหมอง ไม่ผ่องใส นึกขึ้นเอง ทั้งรัก ทั้งโกรธ ไม่โทษใครอยากไม่แก่ ไม่ตาย ได้หรือคน เป็นของพ้นวิสัย จะได้เชยเช่น ไม่อยากให้จิต เที่ยวคิดรู้ อยากให้อยู่เป็นหนึ่ง หวังพึ่งเฉยจิตเป็นของผันแปร ไม่แน่เลย สัญญาเคย อยู่ได้บ้าง เป็นครั้งคราวถ้ารู้เท่า ธรรมดา ทั้งห้าขันธ์ ใจนั้น ก็ขาวสะอาด หมดมลทิล สิ้นเรื่องราว

ถ้ารู้ได้ อย่างนี้ จึงดียิ่ง เพราะเห็นจริง ถอนหลุด สุดวิธีไม่ฝ่าฝืนธรรมดา ตามเป็นจริง จะจน จะมี ตามเรื่อง เครื่องนอกในดีหรือชั่ว ต้องดับ เลื่อนลับไป ยึดสิ่งใดไม่ได้ ตามใจหมาย ในไม่เที่ยว ของใจ ไหววะวับ สังเกตจับ รู้ได้สบายยิ่งเล็กบังใหญ่ ไม่รู้ทัน ขันธ์บังธรรมไม่เห็น เป็นธุลีไปส่วนธรรม มีใหญ่กว่าขันธ์ นั้นไม่แล

ถามว่า-มี-ไม่มี ไม่มีนี้ คืออะไร? ที่นี้ติดหมด คิดแก้ไม่ไหว เชิญชี้ให้ชัด ทั้งอรรถแปล โปรดแก้เถิดที่ว่าเกิดมีต่างๆ ทั้งเหตุผล แล้วดับ ไม่มีชัด ใช่สัตว์คนนี่ข้อต้น มีไม่มี อย่างนี้ตรง ข้อปลายไม่มี มีนี้ เป็นธรรมที่ล้ำลึก ใครพบ จบประสงค์ ไม่มีสังสาร มีธรรม ที่มั่นคงนั่นแลองค์ธรรมเอก วิเวกจริงธรรมเป็นหนึ่ง ไม่แปรผัน เลิศพบ สงบนิ่งเป็นอารมณ์ของใน ไม่ไหวติง ระงับยิ่ง เงียบสงัด ชัดกับใจใจก็สร่าง จากเมา หายเร่าร้อน ความอยาก ถอนได้หมด ปลดสงสัยเรื่องพัวพัน ขันธ์ห้า ช้าสิ้นไป เครื่องหมุนไป ไตรจักร ก็หักลง ความอยาก ใหญ่ยิ่ง ก็ทิ้งหลุด ความรักหยุด หายสนิท สิ้นพิศวงร้อนทั้งปวง ก็หายหมด ดังใจ จง เชิญเถิด ชี้อีกสักอย่าง หนทางใจ สมุทัยของจิต ที่ปิดธรรมแก้ว่า สมุทัย ยิ่งใหญ่นักย่อลงคือ ความรักบีบใจ ทำลายขันธ์

ถ้าธรรมมีกับจิต เป็นนิจนิรันดร์ เป็นเลิศกัน สมุทัย มิได้มีจงจำไว้อย่างนี้ วิถีจิต ไม่ต้องคิดเวียนวน จนป่นปี้ธรรมไม่มี อยู่เป็นนิจ ติดยินดี ใจจากที่ สมุทัย อาลัยตัวว่าอย่างย่อ ทุกข์กับธรรม ประจำจิต จิตคิด รู้เห็นจริง จึงเย็นทั่วจะสุข ทุกข์เท่าไร มิได้กลัว สร่างจากเครื่องมัว คือสมุทัย ไปที่ดีรู้เท่านี้ก็จะคลาย หายความร้อน พอดักผ่อน สืบแสวงหา ทางดีจิตรู้ธรรม ลืมจิต ที่ติดธุลี ใจรู้ธรรม ที่เป็นสุข ขันธ์ทุกขันธ์ แน่ประจำใจธรรมคงเป็นธรรม ขันธ์คงเป็นขันธ์ เท่านั้นแล

คำว่าเย็นสบาย หายเดือดร้อนหมายจิตถอนจากผิด ที่ติดแก้ ส่วนสังขารขันธ์ ปราศจากสุข เป็นทุกข์แท้เพราะต้องแก่ ไข้ตาย ไม่วายวันจิตรู้ธรรมที่ล้ำเลิศ จิตก็ถอน จากผิด เครื่องเศร้าหมอง ของแสลงผิดเป็นโทษของใจ อย่างร้ายแรง เห็นธรรมแจ้ง ธรรมผิด หมดพิษใจจิตเห็นธรรม ดีเลิศที่พ้น พบปะธรรม ปลดเปลื้อง เครื่องกระสันมีสติกับตัว บ่พัวพัน เรื่องรักขันธ์หายสิ้น ขาดยินดีสิ้นธุลีทั้งปวง หมดห่วงใย ถึงจะคิด ก็ไม่ทันห้าม ตามนิสัย เมื่อไม่ห้าม กลับไม่ฟุ้ง ยุ่งไป พึงได้รู้ ว่าบาปมีขึ้น เพราะขืนจริงตอบว่า บาปเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ ถ้าปิดประตู เขลาได้ สบายยิ่งชั่วทั่งปวง เงียบหาย ไม่ไหวติง ขันธ์ทุกสิ่ง ย่อมทุกข์ ไม่สุขเลย แต่ก่อน ข้าพเจ้ามืดเขลา เหมือนเข้าถ้ำอยากเห็นธรรม ยึดใจ จะให้เฉยยึดความจำ ว่าเป็นใจ หมายจนเคย เลยเพลินเชยชม จำธรรม มานานความจำผิด ปิดไว้ ไม่ให้เห็น จึงหลงเล่น ขันธ์ ๕ น่าสงสาร ให้ยกตัว ออกตน พ้นประมาณ เที่ยวระราน ติคนอื่น เป็นพื้นใจไม่ได้ผล เที่ยวดู โทษคนอื่น ขื่นใจ เหมือนก่อไฟ เผาตัว ต้องมัวมอมใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอมอย่าให้อกุศล วนมาตอม ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบายเห็นคนอื่นเขาชั่ว ตัวก็ดี เป็นราคียึดขันธ์ ที่มั่นหมายยึดขันธ์ ต้องร้อนแท้ ก็แก่ตาย เลยซ้ำแท้ กิเลสเข้ากลุ้ม รุมกวนเต็มทั้งรัก ทั้งโกรธ โทษประจักษ์ ทั้งหลงนัก หนักจิต คิดโทษหวนทั้งอารมณ์ การห้า ก็มาชวน ยกกระบวนทุกอย่าง ต่างๆ กันเพราะยึดขันธ์ทั้ง ๕ ว่าของตน จึงไม่พ้น ทุกข์ร้าย ไปได้เลย

ถ้ารู้โทษของตัวแล้ว อย่าช้าเฉย ดูอาการ สังขาร ที่ไม่เที่ยงร่ำไป ให้ใจเคยคงได้เชยชมธรรมอันเอก วิเวกจิต ไม่เพียงนั้น หมายใจไหว จากจำเห็นแล้วขำ ดู ดูอยู่ ไหว อารมณ์นอก ดับระงับไปหมด ปรากฏธรรม

เห็นธรรมแล้ว ย่อมหาย วุ่นวายจิต จิตนั้นไม่ติดคู่ จริงเท่านี้หมดประตู รู้ไม่รู้ อย่างนี้ วิธีจิต รู้เท่าที่ ไม่เที่ยง จิตต้นฟื้น ริเริ่มคงจิตเดิม อย่างเที่ยงแท้ รู้ต้นจิต พ้นจาก ผิดทั้งปวง ไม่ห่วงถ้าออกไป ปลายจิต ผิดทันทีคำที่ว่า มืดนั้น เพราะจิต คิดหวงดี จิตหวงนี้ ปลายจิต คิดออกไปจิตต้นที่ เมื่อธรรมะปรากฏ หมดสงสัย เห็นธรรมอันเกิด เลิศโลกาเรื่องจิตค้น วุ่นหามา แต่ก่อน ก็เลิกถอน เปลื้องปลด หมดได้ ไปสิ้นยังมีทุกข์ ต้องหลับนอน กับกิน ไปตามเรื่องธรรมดาของจิต ต้องคิดนึก พอรู้สึก จิตคุ้น พ้นรำคาญเงียบสงัด จากมาร เครื่องรบกวนธรรมดา สังขารปรากฏ หมดด้วยกัน เสื่อมทั้งนั้น คงไม่มีเลยระวังใจ เมื่อจำ ทำละเอียด มันจะเบียด ให้จิต ไปติดเฉยใจไม่เที่ยงของใจ ซ้ำให้เคยเมื่อถึงเฮย หากรู้เอง เพลงของจิต เหมือนดั่งมายา ที่หลอกลวง ท่านว่า วิปัสสนูกิเลส จำแลงเพศ เหมือนดังจริง ที่แท้ ไม่ใช่จริงรู้ขึ้นเอง นามว่า ความเห็นไม่ใช่เข่น ฟังเข้าใจ ชั้นไต่ถาม ทั้งไตร่ตรอง แยกแยะ และ รูปนาม ก็ใช่ ความเห็นต้อง จงเล็งดูจิตตน พ้นรำคาญ ต้นจิต รู้ตัว ว่าสังขารเรื่องแปรปรวน ใช่ขบวนไป ดู หรือ รู้จริง อะไรรู้อยู่ เพราะหมายคู่ ก็ไม่ใช่จิตคงรู้จิตเอง เพราะเพลงไหว จิตรู้ไหว ไหวก็จิต คิดกันไปแยกไม่ได้ตามจริง สิ่งเดียวกันจิตเป็นของอาการ เรียกว่า สัญญา พาพัวพันไม่เที่ยงนั้น ก็ตัวเอง ไปเล็งใคร ใจรู้เสื่อมรส หมดสงสัย ขาดต้นคว้า หาเรื่อง เครื่องนอกในเรื่องจิตอยาก ก็หยุด ให้หายหิว พ้นหนักใจทั้งหลาย หายอิดโรยเหมือนฝนโปรย ใจก็เย็น ด้วยเห็นใจ ใจเย็นเพราะ ไม่ต้อง เที่ยวมองคนรู้จิต คิดปัจจุบัน พ้นหวั่นไหว ดีหรือชั่ว ทั้งปวง ไม่ห่วงใยเพราะดับไปทั้งเรื่อง เครื่องรุงรังอยู่เงียบๆ ต้นจิต ไม่คิดอ่าน ตามแต่การของจิต สิ้นคิดหวังไม่ต้องวุ่น ไม่ต้องวาย หายระวัง นอนหรือนั่ง นึกพ้น อยู่ต้นจิตท่านชี้มรรค ทั้งหลักแหลม ช่างต่อแต้ม กว้งขวาง สว่างใสยังอีกอย่าง ทางใจ ไม่หลุดสมุทัยขอจงโปรด ให้ชี้พิศดาร เป็นการดี

ตอบว่าสมุทัย คืออาลัยรัก เพลินยิ่งนัก ทำภพใหม่ ไม่หน่ายหนีว่าอย่างต่ำ กามคุณห้า เป็นราคี อย่างสูงชี้ สมุทัย อาลัยฌาน ถ้าจะจับ ตามวิธี มีในจิต ก็เรื่องคิด เพลินไป ในสังขารเคยทั้งปวง เพลินมา เสียช้านาน กลับเป็นการดีไป ให้เจริญจิตไปในส่วนที่ผิด ก็เลยแตกกิ่งก้าน ฟุ้งซ่านใหญ่เที่ยวเพลินไป ในผิด ไม่คิดเขิน สิ่งใดชอบอารมณ์ ก็ชมเพลินเพลินจนเกิน ลืมตัว ไม่กลัวภัย เพลินดูโทษคนอื่น ดื่นด้วยชั่วโทษของตัว ไม่เห็น เป็นไฉนโทษคนอื่น เขามาก สักเท่าไร ไม่ทำให้เรา ตกนรก เสียเลย โทษของเรา เศร้าหมอง ไม่ต้องมาก ลงวิบาก ไปตกนรก แสนสาหัสหมั่นดูโทษตนไว้ ให้ใจเคยเว้นเสียซึ่งโทษนั้นคงได้เชิญชมสุข พ้นทุกข์ภัย

เมื่อเห็นโทษตนชัด พึงตัดทิ้ง ทำอ้อยอิ่ง คิดมาก จากไม่ได้เรื่องอยากดี ไม่หยุด คือ สมุทัย เป็นโทษใหญ่ กลัวจะไม่ดี นี้ก็แรง ดีไม่ดี นี้เป็นผิด ของจิตนัก เหมือนไข้หนัก ถูกต้อง ของแสลง กำเริบโรค ด้วยพิษ ผิดสำแดง ธรรมไม่แจ้ง เพราะอยากดี นี้เป็นเดิม ความอยากดี มีมาก มักลากจิต ให้เที่ยวคิด วุ่นไป จนใจเหิมสรรพชั่ว มัวหมอง ก็ต้องเติม ผิดยิ่งเพิ่ม ร่ำไป ไกลจากธรรม ที่จริงชี้ สมุทัย นี้ ใจฉันคร้าม ฟังเนื้อความไปข้างฟุ้ง ทางยุ่งยิ่งเมื่อชี้มรรค ฟังใจ ไม่ไหวติง ระงับนิ่ง ใจสงบ จบกันทีอันนี้ เชื่อว่า ขันธะวิมุติสมังคีธรรมประจำอยู่กับที่ ไม่มีอาการไป ไม่มีอาการมาสภาวธรรมที่เป็นจริง สิ่งเดียวเท่านั้น และไม่มีเรื่อง จะแวะะเวียนสิ้นเนื้อความ แต่เพียงเท่านี้ผิดหรือถูก จงใช้ปัญญาตรองดู ให้รู้เถิด

พระภูริทัตโต (มั่น) วัดสระประทุมวัน เป็นผู้แต่ง
ปัจฉิมบท

   ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่น มาอยู่ที่จังหวัดสกลนครเปลี่ยนอิริยาบทไปตามสถานที่วิเวก ผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบัน เป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้างครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึง ปีสุดท้ายของชีวิต

   ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมากได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์ เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"ครั้นมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเรื่มอาพาธเป็นไข้ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น

   ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและศิษยานุศิษย์ ก็มาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธ มีแต่ทรงกับทรุด โดยลำดับ

   ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่ วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนครโดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัด เวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น.ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา

การบำเพ็ญประโยชน์ ของท่านหลวงปู่ ประมวลในหลัก ๒ ประการ ดังนี้

   ๑.ประโยชน์ชาติ ท่านหลวงปู่ ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมือง ของทุกชาติ ในทุกๆ ถิ่น ที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัดไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครองของประเทศทำให้พลเมืองของชาติ ผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดีมีสัมมาอาชีพง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ตามควรแก่สมณวิสัย
   ๒.ประโยชน์ศาสนา ท่านหลวงปู่ ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ ด้วยความเชื่อ และความเลื่อมใสจริงๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษา และปฏิบัติธรรมวินัย ด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริงๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม

   ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ ได้นำหมู่คณะ ฟื้นฟูปฏิบัติพระธรรมวินัยได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ และ พระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจ ตามหลักการสมถวิปัสสนาอันเป็นสมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนไว้ว่า เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว อดทนไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไร ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตามคงมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัด ในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด ของภาคอีสาน และแถบบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย

   นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้วท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้นๆ ด้วยผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวไว้ด้วยความภุมิใจว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา

   ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านหลวงปู่ ได้รับพระกรุณาจากพระสังฆราชเจ้า ในฐานะเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุตติกา ให้เป็นพระอุปัชฌายะ ในคณะธรรมยุตติกา ตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่และได้รับตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของ เจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์)ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อย ตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้นโดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย

   งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่า ท่านได้ทำเต็มสติกำลังยังศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมานับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่ ๕๖ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านอาจกล่าวได้ ด้วยความภูมิใจว่า ท่านเป็นพระเถระ ที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุด ในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่ง ในยุคปัจจุบัน




เกร็ดประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


(คัดจากหนังสือฐานยตฺเถรวตฺถุ)
   ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ท่านเป็นพระคณาจารย์ใหญ่ของพระกรรมฐานทั้งหมด
   ท่านอุปสมบทที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้ และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังมาอยู่วัดเลียบ และเปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
   ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอ วรรณไวทยากรณ์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ตรงกับ วันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เชิญศพมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ สิริอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน
   นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหารทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้
   อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดัง (พระครูทา โชติปาโล) เป็นอุปัชฌายะ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้นให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนาฯแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉยๆ เรื่อยๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุตฯ รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่างๆ ชอบน้ำผึ้ง
ฉันเห็ดเบื่อ
   หลวงปู่เสาร์นี่ เห็ดมันเกิดขึ้นตามวัด บอกเณรไปเก็บ เณรเก็บเห็นอันนี่ไปหมกไฟให้กิน เณรก็ไปเก็บได้ประมาณเต็มถ้วยก๋วยเตี๋ยวหนึ่ง เอามาห่อหมกเสร็จแล้วก็ไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็ฉันจดหมด ทีนี้ไอ้เราพวกเณรนี่ก็ทำห่อหมก เณร ๕-๖ องค์ตักแจกกันคนละช้อนๆ ๆ ฉันอาหารยังไม่ทันอิ่มเลย สลบเหมือดทั้ง ๖ องค์ ทีนี่ อุ๊ย! เณรเป็นอะไรๆ ถามมันดูซิว่ามันเป็นอะไร เณรก็กินเห็ดเบื่อ รู้ว่าเห็ดเบื่อทำไมถึงไปกินล่ะ ท่านอาจารย์พากิน ข้าไม่ได้กินเห็ดเบื่อ ถ้าข้ากินเห็ดเบื่อข้าก็เมาตายสิ หลวงปู่เสาร์ฉันเป็นชามนั่งยิ้มเฉย แต่เณรฉันคนละช้อนฉันข้าวยังไม่อิ่มเลยสลบเหมือดไปเลย อันนี้จิตของเรานี่มันปรุงแต่งได้ จะให้มันแพ้หรือมันชนะมันก็ทำได้
หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น แก้สัญญาวิปลาสจนสำเร็จเป็นอัศจรรย์
   ท่านอาจารย์เสาร์ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใส เห็นปาฏิหาริย์ของท่านสมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดิน และไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
   แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เรา (หลวงปู่หลุย) อยู่กับท่านเดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน ท่านมักเรียกท่านอาจารย์มั่นเป็นสรรพนามว่า "เจ้าๆ ข้อยๆ"
(คัดมาจากหนังสือประวัติหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)
นั่งสมาธิตัวลอยขึ้น... ลืมตาขึ้นดูตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง
   ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า "ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ" เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตท่านถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่าตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ แต่ไม่ได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติ และคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้วท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบ และตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนจากสมาธิจริงๆ เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่า ตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ
   จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น
(คัดมาจากหนังคือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)
หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เวลาเร่งความเพียรใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม
   ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ยังไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้
หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย
เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
   เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่างๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า "ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์" และ "เราเกิดเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ" แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชน และพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น .
หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา
ให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓
   ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรกต้องทำให้ได้ก่อน บ้างทีก็ลองเรียนถามท่าน หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้ การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำเข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้ มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นลอยๆ ว่า "เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด" ก็ถามว่า "จิตมันฟุ้งซ่านหรือไงอาจารย์" "ถ้าให้มันหยุดนิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า" กว่าจะเข้าใจความหมายของท่านก็ใช้เวลาหลายปี ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่งก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิดก็ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นตัวตั้งตัวตี .
ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว
   หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่าท่านออกบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง
เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์
   สมัยที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เป็นเณรอยู่ใกล้ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุดนั่นแหละท่านจึงจะหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน "อยากปฏิบัติสมาธิเฮ็ดจั๋งได๋ญ่าท่าน" "พุทโธสิ" "ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา" "อย่าถาม" "พุทโธแปลว่าจั๋งได๋" "ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าให้ภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้" แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริงๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่น นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้จะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ
ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ
เพราะพุทโธเป็นกริยาของใจ
   หลวงพ่อ (พุธ ฐานิโย) เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่าที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ – พาน – สระ – อุ – ท – ทหาร สะกด โอ ตัว ธ – ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบาน พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธนั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนี้ เราก็ต้องท่อง พุทโธๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขาหรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้เมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา
   ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้า ควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบานจะหายไป เพราะสมาธิถอน
   ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไปจิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียดๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้วจึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียวร่างกายตัวตนหายหมด ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป TOP.
หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้
อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง
   พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กตนฺสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรก และเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้างตามโคนต้นไม้บ้าง และท่านอาจารย์มั่นก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์สิงห์เปรียบเสมือนหนึ่งว่าเป็นเสนาธิการใหญ่ของกองทัพธรรม ได้นำหมู่คณะออกเดินธุดงค์ไปตามราวป่าตามเขา อยู่อัพโภกาส อยู่ตามโคนต้นไม้ อาศัยอยู่ตามถ้ำ พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร การธุดงค์ของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์จะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริงๆ
   บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ซึ่งบางทีอาจจะผิดแผกจากพระธุดงค์ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งไปปักกลดอยู่ตามสนามหญ้า หรือตามสถานีรถไฟ ตามบริเวณโรงเรียนหรือศาลเจ้าต่างๆ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไม่นิยมทำเช่นนั้น ไปธุดงค์ก็ต้องไปป่ากันจริงๆ ที่ใดซึ่งมีอันตรายท่านก็ยิ่งไปเพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของตัวเอง และเป็นการฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหาให้มีความกล้าหาญเผชิญต่อภัยของชีวิต ตะล่อมจิตให้ยึดมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่
   เมื่อไปในสถานที่ที่คิดว่ามีอันตราย ไปอยู่ในที่ห่างไกลพี่น้อง เพื่อนฝูงหสธรรมิกก็ไปอยู่บริเวณที่ห่างๆ กัน ในเมื่อจิตใจเกิดความหวาดกลัวภัยขึ้นมา จิตใจก็วิ่งเข้าสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะเป็นเพื่อนตาย ดังนั้น ท่านจึงมีอุบายให้ไปฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกฝนอบรมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตาม ในสถานที่วิเวกห่างไกลเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีความกล้าหาญชาญชัย ในการที่จะเสียสละเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง การฝึกฝนอบรมหรือการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดังกล่าวนั้น ท่านยึดหลักที่จะพึงให้ลูกศิษย์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันดังนี้
   ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่วเวลา ๔ ทุ่ม พอถึง ๔ ทุ่มแล้วก็จำวัดพักผ่อนตามอัธยาศัย พอถึงตี ๓ ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามแต่ที่จะถนัด แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่าในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอน และฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไม่ได้ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว TOP.
หลักสมถวิปัสสนาของหลวงปู่เสาร์
พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
   หลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตาทั้งนั้น จะว่ามีตัวมีตนในเมื่อแย่ออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิ จิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
   อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆ ให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่าในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา นอกจากนั้นก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้
   และอีกอันหนึ่งอานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณาลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไปกายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน
นำเราไปยังอุโบสถเลย เพราะเราจะไปตายที่นั่น
...เมื่อออกพรรษาทุกปี หลวงปู่เสาร์จะพาออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุอีกทุกปี เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ มีอยู่วันหนึ่งตอนบ่าย หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งได้บินโฉบไปโฉบมา โฉบเอารังผึ้งซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาใกล้ๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกัดต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันบินหนีไป
   ตั้งแต่นั้นมา หลวงปู่เสาร์ก็อาพาธมาโดยตลอด พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ไปวิเวกทางด้านปากเซ หลี่ผี จำปาศักดิ์ แต่ไปคราวนี้หลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านจึงสั่งให้หลวงปู่บัวพา และคณะศิษย์นำท่านกลับมาที่วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว โดยมาทางเรือ ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ท่านนอนบนแคร่ในเรือประทุน หลวงปู่เสาร์หลับตานิ่งมาตลอด เพราะตอนนั้นท่านกำลังอาพาธหนัก อันเกิดจากผึ้งที่ได้ต่อยท่านตอนที่อยู่จำพรรษาที่วัดดอนธาตุ เมื่อถึงนครจำปาศักดิ์แล้ว ท่านลืมตาขึ้นพูดว่า "ถึงแล้วใช่ไหม ให้นำเราไปยังอุโบสถเลย เพราะเราจะไปตายที่นั่น"
   หลวงปู่บัวพาจึงได้นำหลวงปู่เสาร์เข้าไปในอุโบสถ แล้วหลวงปู่เสาร์สั่งให้เอาผ้าสังฆาฏิมาใส่ แล้วเตรียมตัวเข้านั่งสมาธิ ท่านกราบพระ ๓ ครั้ง พอกราบครั้งที่ ๓ ท่านนิ่งงันโดยไม่ขยับเขยื้อน นานเท่านานจนผิดสังเกต หลวงปู่บัวพา และหลวงปู่เจี๊ยะ จนฺโท ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เอามือมาแตะที่จมูกท่าน ปรากฏว่าท่านหมดลมหายใจแล้ว ไม่ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมรณภาพไปเวลาใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่า ท่านมรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบ ท่านจึงพูดขึ้นกับหมู่คณะ (ซึ่งตอนนั้นมีพระเถระผู้ใหญ่ และพระเณรมานั่งดูอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์) ว่า "หลวงปู่ได้มรณภาพแล้ว"
   ข่าวการมรณภาพ ก็แพร่กระจายไปเรื่อยๆ จนทางบ้านเมือง ญาติโยม พระเณร ชาวนครจำปาศักดิ์ขอทำบุญอยู่ ๓ วัน เพื่อบูชาคุณขององค์หลวงปู่ พอวันที่ ๔ บรรดาพระเถระ ญาติโยมชาวอุบลฯ จึงได้มาอัญเชิญศพขององค์หลวงปู่ไปวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยอยู่มาก่อน ปีที่หลวงปู่เสาร์มรณภาพคือปี พ.ศ.๒๔๘๔ (วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ อายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน)
   ออกพรรษาแล้ว ปี พ.ศ.๒๔๘๖ จึงได้จัดพิธีถวายเพลิงศพของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ในงานนี้หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาเป็นประธาน แต่ผู้ดำเนินงานคือพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ในวันถวายเพลิงศพนอกจากศพของหลวงปู่เสาร์แล้ว ยังมีพระเถระผู้ใหญ่อีก ๓ รูป ที่มีการฌาปนกิจในวันเดียวกันคือ ๑. ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตโสโน) ๒. พระมหารัฐ รฏฐปาโล ๓. พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) รวมเป็น ๔ กับองค์หลวงปู่เสาร์ วันเช่นนี้นี่จึงเป็นวันที่มีการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี
      แต่นี้จะไกลห่าง เหลือเพียงร่างร้างชีวา
      สุดสิ้นแห่งสังขาร สลายลับดับตามกาล
      สิ้นชีพก็สิ้นห่วง บรรลุล่วงห้วงนิพพาน
      สุขใดไหนจักปาน เปรียบสุขนี้ไม่มีเลย...
ขอนอบน้อมกราบบูชาธรรมแห่งดวงอรหันต์ (จากหนังสือฐานิโยวาท)



ขอบคุณมากครับคุณ phorn456
ผมติดตามกระทู้ของคุณอยู่เสมอครับ

pvsnak-jo

Quote from: pvsnak on May 25, 2010, 21:35:22
ขอบคุณมากครับคุณ phorn456
ผมติดตามกระทู้ของคุณอยู่เสมอครับ

pvsnak-jo


[HIGHLIGHT=#00b050]นั่นซิครับ ติดตามอยู่เสมอ[/HIGHLIGHT]

ขอบคุณครับ สำหรับกระทู้ดีๆ กระทู้นี้

ส่วนตัวผมนับถือหลวงปู่มั่น มานานแล้วครับ

สาเหตุนั้น คือผมเคยฝันถึงท่านประมาณเจ็ดแปดปีก่อน โดยไม่รู้จักว่าท่านคือใคร

ฝันได้แต่ว่า พระที่มีชื่อหลังว่า ภูริทัตโต

ผมก็ search แล้วมาเจอท่านนี่แหละครับ

นับว่าเป็นฝันที่ทรงคุณค่าที่สุดอย่างนึงของผมเลยทีเดียว ที่ได้มีโอกาสสัมผัสก็หลวงปู่ท่านครั้งหนึ่งในชีวิต

ขอบคุณค่ะกับความคิดเห็นที่มีมามอบให้แก่กัน ดิฉันเองเกิดมาเท่าจำความได้คุณพ่อและคุณแม่ ได้พาเข้าวัดทำบุญรักษาศีล  ตั้งแต่ตัวน้อยๆ และได้มีโอกาสได้ไปกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามวัดป่าสายพระอาจารย์มั่นอยู่เนื่องนิจ จิตใจจึงมีความผูกพัน กับพระพุทธศาสนา อยากบอกว่า การที่เราได้อยู่กับธรรมชาติที่เป็นป่าเป็นเขา ช่างเป็นความสงบ เยือกเย็น จริงๆเสียดายที่เกิดเป็นหญิง ถ้าเกิดเป็นชาย คงได้บวชแน่


เกร็ดประวัติ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ



ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
   หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เดิมชื่อ ญาณ หรือ ยาน รามศิริ เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2430 วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน ณ บ้านนาโป่งบ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบันเป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย
   ท่านเกิดในตระกูลช่างตีเหล็ก เป็นบุตรคนที่ 2 (คนสุดท้อง) ของ นายใส หรือ สาย กับ นางแก้ว รามศิริ มีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน 1 คน เมื่อหลวงปู่อายุประมาณ 5 ขวบ พอจำความได้บ้างว่า ก่อนที่มารดาจะเสียชีวิต ได้เรียกไปสั่งเสียว่า "ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏก็ตาม แม่ก็ไม่ยินดี และแม่จะยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่จนตายในผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีเมียนะลูกนะ"
   หลังจากนั้นมารดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยายขุนแก้ว อนึ่ง ยายของหลวงปู่ได้ฝันว่า เห็นหลานชายไปนั่งไปนอนอยู่ในดงขมิ้นจนเนื้อตัวเหลืองอร่ามน่าชม จึงได้มาร้องขอให้บวชเช่นเดียวกัน ท่านจึงรับปาก แล้วบวชพร้อมกับหลานยายอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีศักดิ์เป็นน้า ยายได้นำหลานทั้ง 2 คน ไปถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ที่ วัดโพธิ์ชัย (มหานิกาย) ในหมู่บ้านนาโป่ง เพื่อฝึกหัดขานนาค ทำการบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป ด้วยคำพูดของแม่ในครั้งนั้น เป็นเหมือนพรสวรรค์คอยเตือนสติอยู่ตลอดเวลา มันเป็นคำสั่งที่ก้องอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน จนในที่สุดท่านก็ได้บวชตามความประสงค์ของมารดาและใช้ชีวิตอยู่ในผ้าเหลืองจนตลอดอายุขัย


ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
   หลวงปู่ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีอายุได้ 9 ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แหวน อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัยนั่นเอง พอเข้าพรรษาได้ประมาณ 2 เดือน สามเณรผู้มีศักดิ์เป็นน้าที่บวชพร้อมกันเกิดอาพาธหนักถึงแก่มรณภาพไป ทำให้ท่านสะเทือนใจมาก
   เนื่องจาก วัดโพธิ์ชัย ไม่มีการศึกษาเล่าเรียน เพราะขาดครูสอน ท่านจึงอยู่ตามสบาย คือ สวดมนต์ไหว้พระบ้าง เล่นบ้างตามประสาเด็ก ต่อมาได้ถูกส่งไปเรียนมูลกัจจายน์ ที่ วัดสร้างก่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยนั้น จังหวัดอุบลราชธานีมีสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง มีครูอาจารย์สอนกันเป็นหลักเป็นฐานหลายแห่ง เช่น สำนักเรียนบ้านไผ่ใหญ่ บ้านเค็งใหญ่ บ้านหนองหลัก บ้านสร้างก่อทั่วอีสาน 15 จังหวัด (ในสมัยนั้น) ใครต้องการศึกษาหาความรู้ ต้องมุ่งหน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ ตามสำนักดังกล่าว ผู้เรียนจบหลักสูตรได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนยาก มีผู้เรียนจบกันน้อยมาก ภายหลัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงมาปรับปรุงเปลียนแปลงหลักสูตรใหม่ดังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การเรียนมูลกัจจายน์ถูกลืมเลือน
   ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักนี้หลายปี จนอายุครบบวชพระ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายที่ วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2451 ในระยะที่เรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านเกิดความว้าวุ่นใจเพราะ ท่านอาจารย์อ้อน อาจารย์เอี่ยม ครูผู้สอนหนังสือเกิดอาพาธด้วยโรคนอนไม่หลับ ท่านจึงแนะนำให้ลาสิกขาบทเผื่อโรคอาจจะหายได้ หายแล้วหากยังอาลัยในสมณเพศ เมื่อได้โอกาสก็ให้กลับมาบวชใหม่อีก ท่านอาจารย์ทำตาม ปรากฏว่าโรคหายดี แต่ต่อมาพระผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือ คือ อาจารย์ชม อาจาาย์ชาลี และท่านอื่น ๆ ลาสิกขาไปมีครอบครัวกันหมดสำนักเรียนจึงต้องหยุดชงักลง
   ในที่สุด ท่านจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้นสึกออกไปล้วนเพราะอำนาจของกามทั้งสิ้นจึงระลึกนึกถึงคำเตือนของแม่และยาย และเกิดความคิดขึ้นมาว่าการออกปฏิบัติเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ จะทำให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ ได้ออกไปปฏิบัติอยู่กันตามป่าเขาไม่อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะจึงได้ตัดสินใจไปหาอาจารย์ที่เมืองสกลนคร
   ท่านได้ตั้งสัจจาธิษฐาน ขออุทิศชีวิตพรหมจรรย์แด่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลังจากตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ท่านมีความรู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ อยู่มา 2-3 วัน โยมอุปัฏฐาก ได้มาบอกว่า พระอาจารย์จวง วัดธาตุเทิง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปกราบ ญาคูมั่น พึ่งกลับมา ท่านจึงได้ไปนมัสการพระอาจารย์จวง เพื่อขอทราบที่อยู่ของ หลวงปู่มั่น ด้วยรู้สึกศรัทธาในกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของหลวงปู่มั่นยิ่งนักจากนั้น ท่านก็ได้ออกธุดงค์มุ่งสู่สำนักของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยผ่านม่วงสามสิบ คำเขื่อนแก้ว ยโสธร เลิงนกทา มุกดาหาร คำชะอี นาแก สกลนคร พรรณานิคม สว่างแดนดิน หนองหาน อุดรธานี บ้านผือ ซึ่งนับเป็นการเดินทางไกลและยาวนานเป็นครั้งแรกจนได้เข้าพบหลวงปู่มั่น ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ


   คำแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ "ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน" ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกยินดีมากเพราะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจหลังจากอยู่กับหลวงปู่มั่นได้ 4 วัน พี่เขยและน้าเขยก็มาตามให้กลับไปเยี่ยมโยมพ่อที่ไม่ได้พบกันมานาน 10 ปี จึงเข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่นและได้รับคำเตือนว่า "ไปแล้วให้รีบกลับมาอย่าอยู่นานประเดี๋ยวจะเสียท่าเขา ถูกเขามัดไว้แล้วจะดิ้นไม่หลุด"
   ท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้านในปี พ.ศ.2461 เป็นที่นับถือศรัทธาของประชาชนในแถบบ้านเกิดมาก หลั่งไหลกันมากราบอย่างไม่ขาดสายจนทำให้พักผ่อนไม่พอ และล้มป่วยลงต้องพักรักษาตัวอยู่หนึ่งเดือนเต็ม
   ด้วยจิตที่ระลึกถึงคำสั่งของพระอาจารย์ว่า "อย่าอยู่นานให้รีบกลับมาภาวนา" กับคำสั่งเสียของแม่ว่า "แม่ยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ แล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง" ทำให้ท่านตัดสินใจรีบเดินทางกลับไปอยู่รับการอบรมภาวนาต่อ แล้วจึงได้แยกไปหาที่วิเวกบำเพ็ญสมาธิภาวนาตาม ความเหมาะสมกับจิตของตนเมื่อถึงวันอุโบสถจึงได้ถือโอกาสเข้านมัสการถามปัญหาข้อข้องใจใน การปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นจนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับสู่ที่ปฏิบัติของตนดังเดิม โดยยึดมั่นในคำเตือนของหลวงปู่มั่นว่า "ให้ตั้งใจภาวนา อย่าได้ประมาท ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มาก "

     ในระยะแรกออกปฏิบัตินั้น ท่านไม่ได้ร่วมทำสังฆกรรมฟังการสวดปาติโมกข์ เพราะยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต พระมหานิกายที่ได้รับการอบรมจากท่านหลวงปู่มั่นครั้งนั้นมีหลายรูป เมื่ออยู่ไปนาน ๆ ได้เห็นความไม่สะดวกในการประกอบสังฆกรรมดังกล่าว จึงไปกราบขออนุญาตให้ญัตติเป็นธรรมยุต ซึ่งบางรูปก็ได้รับอนุญาต บางรูปก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยหลวงปู่มั่นให้เหตุผลว่า "ถ้าพากันมาญัตติเป็็นพระธรรมยุตเสียหมดแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครมาแนะนำในการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละ คือ ทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน"
   ประมาณ พ .ศ.2464 ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพำนักและศึกษาธรรม กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ซึ่งหลวงปู่มั่นยกย่องอยู่เสมอว่าเชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์และการปฏิบัติธรรม หลังจากที่ท่านได้รับฟังธรรมและเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พม่า และเชียงตุง จากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แล้ว ก็ได้จาริกไปพม่า อินเดีย โดยผ่านทาง แม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก ข้ามแม่น้ำเมย ขึ้นฝั่งพม่าต่อไปยังขลุกขลิกมะละแหม่ง ข้ามฟากไปถึงเมาะตะมะ ขึ้นไปพักที่ดอยศรีกุตระ กลับมามะละแหม่ง แล้วโดยสารเรือไปเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วต่อรถไฟไปเมืองพาราณสี เที่ยวนมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ แล้วจึงกลับโดยเส้นทางเดิม ถึงฝั่งไทยที่อำเภอแม่สอด เดินเที่ยวอำเภอสามเงา
   ปีต่อมา เดือนตุลาคม ท่านได้จาริกธุดงค์ไปเชียงตุง และ เชียงรุ้ง ในเขตพม่า โดยออกเดินทางไปด่านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านหมู่บ้านชาวเขา พักตามป่าเขา จาริกผ่านเชียงตุง แล้วต่อไปทางเหนือ อันเป็นถิ่นชาวเขา เช่น จีนฮ่อ ซึ่งอยู่ตามเมืองแสนทวี ฝีฝ่า หนองแส บางเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พอฝนตกชุกจวนเข้าพรรษาก็กลับเข้าเขตไทย นับได้ว่าท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่งในและนอกประเทศส่วนใหญ่จะพำนักอยู่ในเขตจังหวัดอุบลฯ อุดรฯ และตั้งใจจะไปให้ถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท แต่ทหารฝรั่ังเศสห้ามเอาไว้ จึงไปถึง วัดใต้หลวงพระบาง แล้วก็กลับพร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ทางภาคเหนือ ท่านได้มุ่งเดินทางไป ค่ำไหนนอนนั่น จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยออกไป อำเภอด่านซ้าย ผ่านอำเภอน้ำปาด อำเภอนครไทย อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตัดไปอำเภอนาน้อย แพร่ หมู่บ้านชาวเย้า อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย ลำปาง แล้วต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบเขาดอยสุเทพ
   ท่านได้รับความเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระอุปาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยดีตลอดมา ประมาณปี พ.ศ.2470 ท่านเจ้าคุณเห็นว่า หลวงปู่แหวน เป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีวิริยะอุตสาหะปรารภความเพียรสม่ำเสมอไม่ท้อถอย มีข้อวัตรปฏิบัติดี มีอัธยาศัยไมตรีไม่ขึ้นลง คุ้นเคยกันมานาน เห็นสมควรจะได้ญัตติเสีย หลวงปู่แหวนจึงตัดสินใจเป็นพระธรรมยุต ที่พัทธสีมา วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระนพีสิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิกร่วมธุดงค์กัน ก็ได้ญัตติเป็นธรรายุตเหมือนกัน
   ในระหว่างที่จาริกแสวงหาวิเวกอยู่ทางภาคเหนือนั้น ท่านได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย และได้แยกย้ายกันจำพรรษาตามป่าเขา ท่านเคยได้แยกเดินทางทุ่งบวกข้าว จนถึงป่าเมี่ยงขุนปั๋ง พอออกพรรษา หลวงปู่มั่น พระอาจารย์พร สุมโน ได้มาสมทบที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ขณะนั้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิร ิมาร่วมสมทบอีก
   เมื่อทุกท่านได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่นแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป หลวงปู่แหวนพร้อมหลวงปู่ขาว พระอาจารย์พร ไปที่ดอนมะโน หรือ ดอยน้ำมัว ส่วนหลวงปู่มั่นอยู่ที่กุฏิชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้างถวายที่ป่าเมี่ยบขุนปั๋งนั่นเอง ภายหลังหลวงปู่มั่น เดินทางกลับอีสานแล้ว หลวงปู่แหวนยังคงจาริกแสวงวิเวกบำเพ็ญธรรมอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย หลวงปู่เล่าว่า อากาศทางภาคเหนือถูกแก่ธาตุขันธ์ดี ฉันอาหารได้มาก ไม่มีอาการอึดอัด ง่วงซึม เวลาภาวนาจิตก็รวมลงสู่ฐานสมาธิได้เร็ว นับว่าเป็นสัปปายะ
     ประมาณปี พ.ศ. 2474 ขณะที่หลวงปู่แหวนปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวว่า ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ประสบอุบัติเหตุขณะขึ้นธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรมถึงขาหักจึงเดินทางจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ และแวะกราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบที่อุตรดิตถ์ แล้วเดินทางโดยรถไฟถึงโกรกพระ นครสวรรค์ ลงเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงวัดคุ้งสำเภา พักค้างคืนหนึ่ง แล้วลงเรือล่องมาถึงกรุงเทพฯ เฝ้าพยาบาลท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นานหนึ่งเดือน จึงกราบลาไปจำพรรษาที่เชียงใหม่
   ปี พ.ศ.2498 ท่านจำพรรษาที่ วัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอาพาธแผลที่ขาอักเสบทรมานมาก ท่านจำพรรษาอยู่รูปเดียว ชาวบ้านไม่เอาใจใส่ ได้ท่านพระอาจารย์หนู สุจิตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พาหมอมาจี้ มาทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องฉีดยาชา ใช้มีดผ่าตัดเพียงเล่มเดียว ท่านมีความอดทนให้กระทำจนสำเร็จและหายได้ในที่สุด
   อีกหลายปีต่อมา พระอาจารย์หนูเห็นว่า หลวงปู่แก่มากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงได้ชักชวนญาติโยมไปนิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาที่ วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ในฐานะพระผู้เฒ่าทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไม่ต้องเกี่ยงข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด และท่านก็ได้ตั้งสัจจะว่า จะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้ นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้ว ท่านก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยอยู่บนดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่า อยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ท่านเคยจาริกไปครั้งคราว จึงนับได้ว่า วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นสถานที่ซึ่ง หลวงปู่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จวบจนมรณภาพ
   หลวงปู่แหวน มีโรคประจำตัวคือ เป็นแผลเรื้อรังที่ก้นกบยาวประมาณ 1 ซม. มีอาการคัน ถ้าอักเสบก็จะเจ็บปวดมาก และอีกโรคหนึ่งคือ เป็นต้อกระจกนัยน์ตาด้านซ้าย เป็นต้อหินนัยน์ตาด้านขวา หมอได้เข้าไปรักษาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งรักษาแล้วสุขภาพก็ยังแข็งแรงตามวัย แต่ต่อมาปี 2519 ร่างกายเริ่มซูบผอม อ่อนเพลีย ฉันอาหารได้น้อย ขาทั้ง 2 เป็นตะคริวบ่อย ต่อมา 2520 สุขภาพทรุด ค่อนข้างซูบเหนื่อยอ่อน เวียนศีรษะถึงกับเซล้มลง และประสบอุบัติเหตุขณะครองผ้าจีวรในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดงานผูกพัทธสีมา ส่งผลให้เจ็บบั้นเอวและกระดูดสันหลัง ลุกไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่ รักษาอยู่เดือนหนึ่ง ก็หายเป็นปกติ แต่เนื่องจากหลวงปู่อายุมากแล้ว จึงมีอาการอาพาธมาโดยตลอด คณะแพทย์ก็คอยให้การรักษาด้วยดีเช่นกัน จนกระทั่งใน วันอังคารที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ. 2528 เวลา 21.53 น. การหายใจครั้งสุดท้ายก็มาถึง หลวงปู่ท่านได้ละร่างอันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 98 ปี
ธรรมโอวาท
   หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้แสดงธรรมโอวาทหลายเรื่อง เช่นเรื่อง ของเก่าปกปิดความจริง ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณาต้องน้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็วางเอง คูบาญาปู่มั่น ท่านว่า "เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า" ของเก่านี่แหละมันบังของจริงอยู่นี่ มันจึงไม่รู้ ถ้ารู้ว่าเป็นของเก่า มันก็ไม่ต้องไปคุย มีแต่ของเก่าทั้งนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่า เวลามาปฏิบัติภาวนา ก็พิจารณาอันนี้แหละ ให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ให้มันรู้แจ้งออกมาจากภายใน มันจึงไปนิพพานได้ นิพพานมันหมักอยู่ในของสกปรกนี่ มันจึงไม่เห็น พลิกของสกปรกออกดูให้เห็นแจ้ง นักปราชญ์ท่านไม่ละความเพียร เอาอยู่อย่างนั้นแหละ เอาจนรู้จริงรู้แจ้ง ทีนี้มันไม่มาเล่นกับก้อนสกปรกนี้อีก พิจารณาไป พิจารณาเอาให้นิพพานใสอยู่ในภายในนี่ ให้มันอ้อ นี่เอง ถ้ามันไม่อ้อหนา เอาให้มันถึงอ้อ จึงใช้ได้
   
http://www.upchill.com/image.php?id=ba15aeaee73a50d09e7d2d6eeb075180ครั้นถึงอ้อแล้วสติก็ดี ถ้ามันยังไม่ถึงแล้ว เต็มที่สังขารตัวนี้ พิจารณาให้มันรู้แจ้งเห็นจริงในของสกปรกเหล่านี้แหละ ครั้นรู้แจ้งเข้า รู้แจ้งเข้า มันก็เป็นผู้รู้พระนิพพานเท่านั้น จำหลักให้แม่น ๆ มันไม่ไปที่ไหนหละ พระนิพพาน ครั้นเห็นนิพพานได้แล้ว มันจึงเบื่อโลก เวลาทำก็เอาอยู่นี่แหละ ใครจะว่าไปที่ไหนก็ตามเขา ละอันนี่แหละทำความเบื่อหน่ายกับอันนี้แหละ ทั้งก้อนนี่แหละ นักปฏิบัติต้องพิจารณาอยู่นี่แหละ ชี้เข้าไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หากพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็ถอนได้ กามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่าปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้าจี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน



เกร็ดประวัติพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)



ชาติภูมิ
พระโพธิญาณเถร นามเดิม ชา ช่วงโชติ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ต. ธาตุ อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี บิดาชื่อ นายมา มารดาชื่อ นางพิม ช่วงโชติมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน
ปฐมศึกษา
สมัยนั้นการศึกษายังไม่เจริญทั่วถึงหลวงพ่อจึงได้เข้าศึกษา ที่ ร.ร. บ้านก่อ ต. ธาตุ อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี เรียนจบ ชั้น ป. ๑ จึงได้ออกจากโรงเรียน เนื่องจากหลวงพ่อมีความสนใจ ทางศาสนา ตั้งใจจะบวชเป็นสามเณร จึงได้ขออนุญาตจากบิดามารดา เมื่อท่านเห็นดีด้วยท่านจึงนำไปฝากไว้ที่วัด
ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์
ในขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุ ๑๓ ปี เมื่อโยมบิดาได้นำไปฝากกับท่านเจ้าอาวาส และได้รับการฝึกหัดอบรมให้รู้ระเบียบการ บรรพชาดีแล้ว จึงอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาษี(พวง) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ท่องทำวัตรสวดมนต์ เรียนหนังสือพื้นเมือง(ตัวธรรม) และได้ศึกษานักธรรมชั้นตรี อยู่ปฏิบัติครูบาอาจารย์เป็นเวลา ๓ พรรษา เนื่องจากมีความจำเป็นบางอย่างจึงได้ลาสิกขาออกไปทำงานช่วยบิดามารดาตามความสามารถของตน ตั้งอยู่ในโอวาทของบิดามารดามีความเคารพบูชาในพระคุณของท่าน พยายามประพฤติตนเป็นลูกที่ดีของท่านเสมอมา
ครั้นอยู่ต่อมาอีกหลายปี ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหนความสนใจในการอุปสมบทเพื่อศึกษาธรรม ดูเหมือนคอยเตือนให้มีความสำนึกอยู่เสมอ คิดอยากจะบวชเป็นพระ ได้ปรึกษากับบิดามารดา เมื่อตกลงกันดีแล้ว บิดาจึงนำไปฝากที่วัดบ้านก่อใน(ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์เพราะร้างมานาน แล้ว)และได้อุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดก่อในต.ธาตุอ.วารินชำราบจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. โดยมี
ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านพระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาปริยัติธรรม และสอบนักธรรมชั้นตรีได้
ออกศึกษาต่างถิ่น
เมื่อสอบนักธรรมตรีได้แล้วเนื่องจากครูบาอาจารย์หายาก ที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยชำนาญในการสอน จึงตั้งใจจะไปแสวงหาความรู้ต่างถิ่น เพราะยังจำภาษิตโบราณสอนไว้ว่า
ออกจากบ้าน ฮู้ห่มทางเที่ยว เรียนวิชา ห่อนสิมีความฮู้
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้ย้ายจากวัดก่อนอกไปศึกษาปริยัติธรรมที่วัดสวนสวรรค์ อ. พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี และอยู่ ที่นี่ ๑ พรรษา และได้พิจารณาเห็นว่า เรามาอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาก็ดี พอสมควรแต่ยังไม่เป็นที่พอใจนัก ได้ทราบข่าวว่า ทางสำนัก ต่างอำเภอมีการสอนดีอยู่หลายแห่งซึ่งมีมากทั้งคุณภาพและ ปริมาณ จึงชวนเพื่อนลาท่านเจ้าอาวาสแจ้งความประสงค์ให้ท่าน ทราบ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เดินทางจาก อ. พิบูลมังสาหาร มุ่งสู่สำนักเรียนวัดหนองหลัก ต. เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี ได้พักอาศัยอยู่กับท่านพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ ได้ถามจากเพื่อนบรรพชิตก็ทราบว่า ท่านสอนดีมีครูสอนหลายรูปมีพระภิกษุ สามเณรมากรูปด้วยกันสระยะที่ไปอยู่เป็นฤดูแล้ง อาหารการฉัน รู้สึกจะอด เพื่อนที่ไปด้วยกันไม่ชอบจึงพูดรบเร้า อยากจะพาไปอยู่สำนักอื่น หลวงพ่อพูดว่า ทั้งๆที่เราก็ชอบอัธยาศัยของครูอาจารย์ที่วัดหนองหลักแต่ไม่อยากจะขัดใจเพื่อน จึงตกลงกันว่า ถ้าไปอยู่แล้วเกิดไม่พอใจหรือไม่ถูกใจแล้วจะกลับมาอยู่ที่หนองหลัก อีก จึงได้เดินทางไปอยู่กับท่านมหาแจ้ง วัดเค็งใหญ่ ต. เค็งใหญ่ อ. อำนาจเจริญ จ. อุบลราชธานี ได้อยู่จำพรรษาศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ แต่ตามความรู้สึกเท่าที่สังเกตเห็นว่าท่านมิได้ทำการสอนเต็มที่ ดูเหมือนจะถอยหลังไปด้วยซ้ำ ตั้งใจไว้ว่าเมื่อสอบนักธรรมเสร็จ ได้เวลาสมควรก็จะลาท่านมหาแจ้งกลับไปอยู่ที่วัดหนองหลักเมื่อสอบแล้ว และผลการสอบตอนปลายปีปรากฏว่าสอบนักธรรมชั้นโทได้
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงย้ายจากวัดเค็งใหญ่ มาอยู่กับหลวงพ่อ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์วัดหนองหลัก ต. เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี ตั้งใจศึกษาทั้งนักธรรมชั้นเอกและเรียนบาลีไวยากรณ์ซ้ำอีกทั้งพอใจในการสอนการเรียนในสำนักนี้มาก
งดสอบเพื่อผู้บังเกิดเกล้า
ทั้งๆที่ปีนี้ (๒๔๘๖) เป็นปีที่หลวงพ่อเองเกิดความภูมิใจ สนใจในการศึกษา มุ่งหน้าบากบั่นขยันเรียนอย่างเต็มที่ และได้ตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อผลการสอบตอนปลายปีออกมาจะพาให้ได้รับความดีใจ
หลังจากออกพรรษา ปวารณาและกาลกฐินผ่านไป...ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก หลวงพ่อก็เกิดความ ลังเลใจ พะว้าพะวง ห่วงการศึกษาก็ห่วง ห่วงโยมบิดาก็ห่วง แต่ความห่วงผู้บังเกิดเกล้ามีน้ำหนักมากกว่าเพราะมาคิดได้ว่า โยมบิดาเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น เรามีชีวิตและเป็นอยู่ มาได้ก็เพราะท่าน สมควรที่เราจะแสดงความกตัญญูให้ปรากฏ เสียการศึกษายังมีเวลาเรียกกลับมาได้ แต่สิ้นบุญพ่อเราจะขอได้จากที่ไหน...ความกตัญญูมีพลังมารั้งจิตใจให้คิดกลับไปเยี่ยม โยมพ่อเพื่อพยาบาลรักษาท่าน...ทั้งๆที่วันสอบนักธรรมก็ใกล้ เข้ามาทุกที แต่ยอมเสียสละถ้าหากโยมพ่อยังไม่หายป่วย และ นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
ด้วยความสำนึกดังกล่าว จึงได้เดินทางกลับบ้าน เมื่อถึงแล้วก็ได้เข้าเยี่ยมดูอาการป่วย ทั้งๆที่ได้ช่วยกันพยาบาลรักษาจนสุดความสามารถ อาการของโยมพ่อก็มีแต่ทรงกับทรุด คิดๆดูก็เหมือนตอไม้ที่ตายแล้ว แม้ใครจะให้น้ำให้ปุ๋ยถูกต้องตามหลัก วิชาการเกษตรสักเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้มันแตกหน่อเจริญ งอกงามขึ้นมาได้
คำสั่งของพ่อ
ตามปกตินั้นนับตั้งแต่หลวงพ่อได้อุปสมบทมา เมื่อมีโอกาส เข้าไปเยี่ยมโยมบิดามารดา หลังจากได้พูดคุยเรื่องอื่นมาพอสมควรแล้ว โยมพ่อมักจะวกเข้าหาเรื่องความเป็นอยู่ในเพศสมณะ ท่านมักจะปรารภด้วยความเป็นห่วงแกมขอร้องว่า อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระไปอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยาก ลำบาก หาความสบายไม่ได้ ท่านได้ยินแล้วก็นิ่งมิได้ตอบ แต่ครั้งนี้ ซึ่งโยมพ่อกำลังป่วย ท่านก็ได้พูดเช่นนั้นอีกพร้อมกับมองหน้าคล้ายจะรอฟังคำตอบอยู่ ท่านจึงบอกโยมพ่อไปว่า ไม่สึกไม่เสิกหรอกจะสึกไปทำไมกัน รู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ทำให้โยมพ่อพอใจ หลวงพ่อมาอยู่เฝ้าดูแลอาการป่วยของโยมพ่อนับเป็นเวลา ๑๓ วัน โยมพ่อจึงได้ถึงแก่กรรม
ในระยะที่ได้เฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่ออยู่นั้น เมื่อโยมพ่อได้ทราบว่าอีก ๔-๕ วันจะถึงวันสอบนักธรรม ท่านจึงบอกว่าถึงเวลาสอบแล้วจะไปสอบก็ไปเสีย จะเสียการเรียน...แต่หลวงพ่อได้พิจารณาดูอาการป่วยของท่านแล้วตั้งใจว่าจะไม่ไป จะอยู่ให้ โยมพ่ออุ่นใจก่อนที่ท่านจะจากไป...อีกอย่างหนึ่งจะทำให้คนเขาตำหนิได้ว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว ผู้บังเกิดเกล้ากำลังป่วยหนักยังทอดทิ้งไปได้ เลยจะกลายเป็นลูกอกตัญญูเท่านั้น
หลวงพ่อเล่าว่า ในระหว่างเฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่อ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม ทำให้ได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน พิจารณาดูอาการที่เกิดดับของสังขารทั้งมวล และเกิดความสังเวชใจว่าอันชีวิตย่อมสิ้นลงแค่นี้หรือ? จะยากดีมีจนก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย อันเป็นจุดหมายปลายทาง อันความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น เป็นสมบัติสากลที่ทุกคนจะต้องได้รับ จะยอมรับหรือไม่ก็ไม่เห็นใครหนีพ้นสักราย...
ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เมื่อจัดการกับการฌาปนกิจโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อก็เดินทางกลับสำนักวัดหนองหลัก เพื่อ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนต่อไป แต่บางวันบางโอกาส ทำให้ท่านนึกถึงภาพของโยมพ่อที่นอนป่วย ร่างซูบผอมอ่อนเพลีย นึกถึงคำสั่งของโยมพ่อ และนึกถึงภาพที่ท่านมรณะไปต่อหน้า ยิ่งทำให้เกิดความลดใจสังเวชใจ ความรู้สึกเหล่านี้มันปรากฏเป็นระยะๆ
ในระหว่างพรรษานี้ ขณะที่กำลังแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม ได้ทราบพุทธประวัติสาวกประวัติจากหนังสือเล่มนั้นแล้วมาพิจารณาดู การที่เราเรียนอยู่นี้ครูก็พาแปลแต่สิ่งที่เรารู้ เราเห็นมาแล้ว เช่น เรื่องต้นไม้ ภูเขา ผู้หญิง ผู้ชาย และสัตว์ต่างๆ สัตว์มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง สัตว์ มีเท้าบ้าง ซึ่งล้วนแต่เรา ได้พบเห็นมาแล้วเป็นส่วนมาก จิตใจก็รู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย จึงคิดว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธองค์คงจะไม่มีพุทธประสงค์ให้บวชมาเพื่อเรียนอย่างเดียว และเราก็ได้เรียนมาบ้างแล้ว จึงอยากจะศึกษาทางปฏิบัติดูบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด แต่ยังมองไม่เห็นครูบาอาจารย์ผู้พอจะเป็นที่พึ่งได้ จึงตัดสินใจจะกลับบ้าน
พ.ศ.๒๔๘๘ ในระหว่างฤดูแล้ง จึงได้ปรึกษากับ พระถวัลย์(สา) ญาณจารี เข้ากราบลาหลวงพ่อพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ เดินทางกลับมาพักอยู่วัดก่อนอกตามเดิม และในพรรษานั้นก็ได้เป็นครูช่วยสอนนักธรรมให้ท่านอาจารย์ที่วัด จึงได้เห็นภิกษุสามเณรที่เรียนโดยไม่ค่อยเคารพในการเรียน ไม่เอาใจใส่ เรียนพอเป็นพิธี บางรูปนอนน้ำลายไหล จึงทำให้เกิดความสังเวชใจมากขึ้นตั้งใจว่าออกพรรษาแล้วเราจะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ ด้านวิปัสนาให้ได้ เมื่อส่งนักเรียนเข้าสอบและหลวงพ่อก็เข้าสอบนักธรรมเอกด้วย (ผลการสอบปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้)
ออกปฏิบัติธรรม
หลังจากสอบนักธรรมเสร็จแล้วสระยะนั้นได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น วัดปิหล่อ อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ เป็นผู้สอนทางวิปัสนาธุระ จึงได้มุ่งหน้าได้สู่วัดของท่านทันที และได้ฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติทดลองดูได้ ๑๐ วันมีความรู้สึกว่ายังไม่ใช่ทางตรงแท้ ยังไม่เป็นที่พอใจในวิธีนั้น จึงกราบลาท่านกลับมาพักอยู่วัดนอกอีก
พ.ศ.๒๔๘๙ (พรรษาที่๘) ในระหว่างต้นปี ได้ชวน พระถวัลย์ออกเดินธุดงค์มุ่งไปสู่จังหวัดสระบุรีเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ได้พักอยู่ตามป่าตามเขาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงเขตหมู่บ้านยางคู่ ต.ยางคู่จ.สระบุรีได้พักอยู่ที่นั่นนานพอสมควรพิจารณาเห็นว่าสถานที่ยังไม่เหมาะสมเท่าใดนัก ทั้งครูบาอาจารย์ก็ยังไม่ดี จึงเดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดลพบุรีมุ่งสู่เขาวงกฏ อันเป็นสำนักของหลวงพ่อเภา แต่ก็น่าเสียดายที่หลวงพ่อเภาท่านมรณภาพเสียแล้ว เหลือแต่อาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเภาอยู่ดูแล สั่งสอนแทนท่านเท่านั้น แต่ก็ยังดีที่ได้อาศัยศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาท่านวางไว้ และได้อ่านคติพจน์ที่หลวงพ่อเขียนไว้ตามปากถ้ำและตามที่อยู่อาศัยเพื่อเตือนใจ ทั้งได้มีโอกาส ศึกษาพระวินัยจนเป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้มีการสังวรระวัง ไม่กล้าฝ่าฝืนแม้แต่สิกขาบทเล็กๆน้อยๆ การศึกษาวินัยนั้นศึกษาจากหนังสือบ้าง และได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ผู้ชำนาญทั้งปริยัติและปฏิบัติบ้าง ซึ่งท่านมาจากประเทศกัมพูชา ท่านว่าเข้ามาสอบทานพระไตรปิฎกไทย ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่แปลไว้ในหนังสือนวโกวาทนั้น บางตอนยังผิดพลาด ท่านอาจารย์รูปนั้นเก่งทางวินัยมาก จำหนังสือบุพสิกขาได้แม่นยำเหมือนกับเราจำปฏิสังขาโยฯ ท่านบอกว่าเมื่อเสร็จภารกิจในประเทศไทยแล้วท่านจะเดินทางไปประเทศพม่า เพื่อศึกษาต่อไป ท่านเป็นพระธุดงค์ชอบอยู่ตามป่า น่าสรรเสริญน้ำใจท่านอยู่อย่างหนึ่งคือ
วันหนึ่งหลวงพ่อ ได้ศึกษาวินัยกับท่านอาจารย์รูปนั้นหลายข้อมีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งท่านบอกคลาดเคลื่อนไป ตามปกติหลวงพ่อ เมื่อได้ศึกษาวินัยและทำกิจวัตรแล้ว ครั้นถึงกลางคืนท่านจะขึ้นไปพักเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่บนหลังเขา วันนั้นประมาณ ๔ ทุ่มกว่าๆ ขณะที่กำลังเดินจงกรมอยู่ได้ยินเสียงกิ่งไม้ใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ ใกล้เข้ามาทุกทีท่านเข้าใจว่าคงจะเป็นงูหรือสัตว์ อย่างอื่นออกหากิน แต่พอเสียงนั้นดังใกล้ๆเข้ามา ท่านจึงมองเห็นอาจารย์เขมรรูปนั้น หลวงพ่อจึงถามว่า ท่านอาจารย์มีธุระอะไรจึงได้มาดึกๆดื่นๆ ท่านจึงตอบว่า ผมบอกวินัยท่านผิดข้อหนึ่ง หลวงพ่อ จึงเรียนว่า ไม่ควรลำบากถึงเพียงนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้จึงบอกผมใหม่ก็ได้ ท่านตอบว่า ไม่ได้ๆ เมื่อผมบอกผิด ถ้าผมตายในคืนนี้ท่านจำไปสอนคนอื่นผิดๆอีกก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ เมื่อท่านบอกเรียบร้อยแล้วก็กลับลงไป ดูเถิดน้ำใจของท่านอาจารย์รูปนั้นช่างประเสริฐและมองเห็นประโยชน์จริงๆ แม้จะมีความผิดพลาดเล็กน้อยในการบอกสอนก็มิได้ประมาท ไม่รอให้ข้ามวันข้ามคืน รีบแก้ไขทันทีทันใด จึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เราทั้งหลาย และน่าสรรเสริญน้ำใจของท่านโดยแท้
พูดถึงการปฏิบัติที่เขาวงกฏในขณะนั้นรู้สึกว่ายังไม่แยบคาย เท่าใดนัก หลวงพ่อจึงคิดจะหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญยิ่งกว่านี้เพื่อปฏิบัติและค้นคว้าต่อไป ท่านจึงนึกถึงตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดก่อนอกเคยได้เห็นพระกรรมฐานมีลูกปัดแขวนคอสำหรับ ใช้ภาวนากันลืมท่านอยากจะได้มาภาวนาทดลองดูบ้างนึกหาอะไรไม่ได้จึงมองไปเห็นลูกตะแบก(ลูกเปือยภูเขา) กลมๆ อยู่ บนต้นครั้นจะไปเด็ดเอามาเองก็กลัวจะเป็นอาบัติวันหนึ่งมีพวกลิงพากันมาหักกิ่งไม้และรูดลูกตะแบกเหล่านั้นมาคิดว่า เขาร้อยเป็นพวงคล้องคอ แต่เราไม่มีอะไรจะร้อยจึงถือเอาว่าเวลา ภาวนาจบบทหนึ่งจึงค่อยๆ ปล่อยลูกตะแบกลงกระป๋องทีละลูกจนครบร้อยแปดลูก ทำอยู่อย่างนั้นสามคืนจึงเกิดความรู้สึกว่า ทำอย่างนี้ไม่ใช่ทางเพราะไม่ต่างอะไรกับเจ๊กนับลูกหมากขาย ในตลาด จึงได้หยุดนับลูกตะแบกเสีย
เหตุการณ์แปลกๆ ในพรรษาที่ ๘ นี้ ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ วันหนึ่งขณะที่ขึ้นไปอยู่บนหลังเขา หลังจากเดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้ว ก็จะพักผ่อนตามปกติ ก่อนจำวัตรจะต้องสวดมนต์ไหว้พระ แต่วันนั้นเชื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงไม่ได้สวดอะไร ขณะที่กำลังเคลิ้มจะหลับ ปรากฏว่าเหมือน มีอะไรมารัดลำคอแน่นเข้าๆแทบหายใจไม่ออก ได้แต่นึกภาวนาพุทโธๆเรื่อยไป เป็นอยู่นานพอสมควรอาการรัดคอนั้นจึงค่อยๆ คลายออก พอลืมตาได้แต่ตัวยังกระดิกไม่ได้ จึงภาวนาต่อไป จนพอกระดิกตัวได้แต่ยังลุกไม่ได้ เอามือลูบตามลำตัวนึกว่ามิใช่ตัวของเรา ภาวนาจนลุกนั่งได้แล้ว พอนั่งได้จึงเกิดความรู้สึกว่า เรื่องการถือมงคลตื่นข่าวแบบสีลัพพตปรามา ไม่ใช่ ทางที่ถูกที่ควรการปฏิบัติธรรมต้องเริ่มต้นจากมีศีล บริสุทธิ์เป็นเหตุให้พิจารณาลงสู่ว่า...สัตว์ ทั้งหลายมีกรรม เป็นของๆ ตนแน่ชัดลงไปโดยมิต้องสงสัยนับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อชามีความระวังสำรวมด้วยดี มิให้มีความบกพร่องเกิดขึ้น แม้กระทั่งสิ่งของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ตามวินัย และปัจจัย(เงินทอง) ท่านก็ละหมด และปฏิญาณว่าจะไม่ยอมรับตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ในระหว่างพรรษานั้นได้รับข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้มีคุณธรรมสูง ทั้งชำนาญด้านวิปัสนาธุระมีประชาชนเคารพเลื่อมใมาก ท่านมีสำนักอยู่ที่วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคมจ.กลนครโดยมีโยมอินทร์มรรคทายก เขาวงกฏเล่าให้ฟังและแนะนำให้ไปหา เพราะโยมอินทร์เคยปฏิบัติรับใช้ท่านอาจารย์มั่นมาแล้ว
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพรรษาที่ ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงมาพิจารณาดูว่า เราเอาลูกเขามาตกระกำลำบาก ข้ามภู ข้ามเขามา พ่อแม่เขาจะว่าเราได้ (หมายถึง พระมหาถวัลย์ ญาณจารี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระสามัญ) และเห็นเขาสนใจท่องหนังสือ ควรจะส่งเขาเข้าเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จึงได้ตกลงแยกทางกัน ให้พระถวัลย์เข้าไปเรียนปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ส่วนหลวงพ่อชาจะเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่น และมีพระมาด้วยกัน ๔ รูป เป็นพระชาวภาคกลาง ๒ รูป พากันเดินทางย้อนกลับมาที่จังหวัดอุบลฯ พักอยู่ที่วัดก่อนอกชั่วคราว จึงพากันเดินธุดงค์กรำแดดไปเรื่อยๆ จุดหมายปลายทางคือ สำนักท่านพระอาจารย์มั่น ออกเดินทางไปได้พอถึงคืนที่ ๑๐ จึงถึงพระธาตุพนม นมัสการพระธาตุพนมและพักอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน แล้วออกเดินทางไปอำเภอนาแกไปแวะนมัสการท่านอาจารย์สอนที่ ภูค้อ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติ แต่เมื่อสังเกตพิจารณาดูแล้วยังไม่เป็นที่พอใจนักได้พักอยู่ที่ภูค้อสองคืนจึงเดินทางต่อไปแยกกันเดินทาง เป็น ๒ พวกตรงนั้น หลวงพ่อชามีความตั้งใจว่า ก่อนจะไปถึง ท่านพระอาจารย์มั่นควรจะแวะสนทนาธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติจาก พระอาจารย์ต่างๆไปก่อนเพื่อจะได้เปรียบเทียบเทียบเคียงกันดู
ดังนั้นเมื่อได้ทราบว่ามีพระอาจารย์ด้านวิปัสนาอยู่ทางทิศใดจึงไปนมัสการอยู่เสมอ การกลับจากภูค้อนี้คณะที่ไปด้วยกันได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีสามเณร ๑ รูป กับอุบาสก ๒ คน เห็นว่าตนเองคงจะไปไม่ไหวจึงลากลับบ้านก่อน ยังมีเหลือแต่หลวงพ่อกับพระอีก ๒ รูป เดินทางต่อไปโดยไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจเดิมแม้จะลำบากสักปานใดก็ต้องอดทนหลายวันต่อมา จึงเดินทางถึงสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สำนัก หนองผือนาในอ.พรรณานิคมจ.กลนคร วันแรกพอ ย่างเข้าสู่สำนักสมองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน เห็นกิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิต ก็เป็นที่น่าเลื่อมใสและเกิดความพอใจมากกว่า ที่ใดๆที่เคยผ่านมา พอถึงตอนเย็นจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพร้อมศิษย์ของท่านและฟังธรรมร่วมกัน ท่านพระอาจารย์ได้ ซักถามเรื่องราวต่างๆ เช่น เกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยปฏิบัติมาแล้ว หลวงพ่อชาได้กราบเรียนว่ามาจากสำนักอาจารย์เภา วัดเขาวงกฏ จ. ลพบุรี พร้อมกับเอาจดหมายที่โยมอินทร์ฝากมาถวาย ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดว่า ดี...ท่านอาจารย์เภาก็เป็นพระแท้องค์หนึ่งในประเทศไทย ต่อจากนั้น ท่านก็เทศน์ให้ฟังโดยปรารภ ถึงเรื่องนิกายว่า ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยมาก่อนนั้นแล้ว ต่อไปท่านก็เทศน์ เรื่องสีลนิเทส สมาธินิเทส ปัญญานิเทส ให้ฟังจนเป็นที่พอใจและหายสงสัย และท่านได้อธิบายเรื่อง พละ ๕อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ซึ่งขณะนั้น ศิษย์ทุกคนฟังด้วยความสนใจมีอาการอันสงบเสงี่ยม ทั้งๆที่หลวงพ่อและเพื่อนเดินทางมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน พอได้มาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว รู้สึกว่าความเมื่อยล้าได้หายไป จิตใจลงสู่สมาธิธรรมด้วยความสงบมีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอานะ นั่งฟังอยู่จนกระทั่งเที่ยงจึงเลิกประชุม
ในคืนที่ ๒ ได้เข้านมัสการฟังเทศน์อีก ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงปกิณกะธรรมต่างๆ จนจิตเราหายความสงสัยมีความรู้สึกซึ่งเป็นการยากที่จะบอกคนอื่นให้เข้าใจได้
ในวันที่ ๓ เนื่องจากความจำเป็นบางอย่าง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางลงมาทางอำเภอนาแก และได้แยกทาง กับพระบุญมี(พระมหาบุญมี) คงเหลือแต่พระเลื่อมพอได้เป็นเพื่อนเดินทาง ไม่ว่าหลวงพ่อจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่ใดๆก็ตาม ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามตักเตือนอยู่ตลอดเวลา พอเดินทางมาถึงวัดโปร่งครองซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี เห็นพระท่านไปอยู่ป่าช้าเกิดความสนใจมาก เพราะมาคิดว่าเมื่อเป็นนักปฏิบัติจะต้องแสวงหาความสงบ เช่น ป่าช้า ซึ่งเราไม่เคยอยู่มาก่อนเลย ถ้าไม่อยู่คงไม่รู้ว่ามีความ เหมาะสมเพียงใดเมื่อคนอื่นเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้จึงตัดสินใจ จะไปอยู่ป่าช้า และชวนเอาพ่อขาวแก้วไปเป็นเพื่อนด้วย
ปรากฏการณ์แปลกครั้งที่ ๒ ชีวิตครั้งแรกที่เข้าอยู่ป่าช้าดูเหมือนเป็นเหตุบังเอิญในวันนั้นมีเด็กตายในหมู่บ้านเขา จึงเอาฝังไว้โยมเลยเอาไม้ไผ่ที่หามเด็กมานั้นสับเป็นฟากยกร้าน เล็กๆ พอนั่งได้ใกล้ๆกับหลุมฝังศพ หลวงพ่อชาเล่าว่า ทั้งๆที่ตัวเองก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่ไล่ให้พ่อขาวแก้วไปปักกลดห่างกันประมาณ ๑ เส้น เพราะถ้าอยู่ใกล้กันมันจะถือเอาเป็นที่พึ่ง คืนแรก ขณะที่เดินจงกรมเกิดความกลัว เกิดความคิดว่า หยุดเถอะพอแล้ว เข้าไปในกลดเถอะ ทั้งๆที่ยังไม่ดึกเท่าใด แต่ก็เกิดความคิด ขึ้นใหม่ว่า ไม่หยุด เดินต่อไป เรามาแสวงหาของจริง ไม่ได้ มาเล่น ...ความคิดชวนหยุดเข้ากลดเพราะกลัว กับความคิด หักห้ามว่าไม่หยุด เดินต่อไป ยังไม่ดึกมันเกิดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ ต้องฝืนความรู้สึก อดทน อดกลั้นข่มใจไว้อย่างนั้น...และในคืนแรกนี้ขณะเดินจงกรมอยู่จิตเริ่มสงบพอเดินไปถึงหลุมฝังศพปรากฏว่า เรามองลงไปในหลุมเห็นองค์กำเนิดของเด็กผู้ชายชัดเจน ทั้งๆที่เราไม่ทราบว่าเขาเอาเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงมาฝังไว้ พอถึงตอนเช้าจึงได้ถามโยมว่าเอาเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงไปฝัง เขาตอบว่าเด็กผู้ชาย คืนแรกผ่านไป ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากนัก ความกลัวก็มีไม่มาก
วันที่ ๒ ก็มีคนตายอีก คราวนี้เป็นผู้ใหญ่ เขาพามาเผาห่างจากที่ปักกลดประมาณ ๑๐ วาส คืนนี้แหละเป็นคืนสำคัญ หลังจากเดินจงกรมได้เวลาพอสมควร จึงเข้านั่งสมาธิภายในกลด ได้ยินเสียงดังกุกกักทางกองฟอน เรานึกว่าหมามาแย่งกินซากศพสักครู่หนึ่งเสียงดังแรงขึ้นและ ใกล้เข้ามาท่านคิดว่าหรือจะเป็นควายของชาวบ้านเชือกผูกขาดมาหากินใบไม้ในป่า จิตใจเริ่มกลัวเพราะเสียงนั้นใกล้เข้ามาทุกที...หลวงพ่อได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าไม่ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น แม้ตัวจะตายก็ไม่ยอมลืมตาขึ้นมาดู และจะไม่ยอมออกจากกลด ถ้าจะมีอะไรมาทำลายก็ขอให้ตายภายในกลดนี้ พอเสียงนั้นใกล้เข้ามาๆก็ปรากฏเป็นเสียงคนเดิน เดินเข้ามาข้างๆกลดแล้วเดินอ้อมไปทางพ่อขาวแก้ว กะประมาณพอไปถึงได้ยินเสียงดังอึกอักๆ แล้วเสียงคนเดินนั้นก็เดินตรงแน่วมาที่หลวงพ่อชาอีก ใกล้เข้ามาๆมาหยุดอยู่ข้างหน้าประมาณ ๑ เมตร
ตอนนี้แหละความกลัวทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกดูเหมือน จะมารวมกันอยู่ที่นั่นหมด ลืมนึกถึงบทสวดมนต์ที่จะป้องกัน ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง กลัวมากถึงขนาดนั่งอยู่ข้างๆบาตรก็นึกเอาบาตรเป็นเพื่อน แต่ความกลัวไม่ลดลงเลย ปรากฏว่าเขายัง ยืนอยู่ข้างหน้าเรา ดีหน่อยที่เขาไม่เปิดกลดเข้ามา ในชีวิตตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวมากและนานเท่าครั้งนี้ เมื่อความกลัว มันมีมากแล้วมันก็มีที่สุดของความกลัว เลยเกิดปัญหาถามตัวเอง ว่า กลัวอะไร? คำตอบก็มีขึ้นว่า กลัวตาย ความตายมัน อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวเราเอง เมื่อรู้ว่าอยู่ที่ตัวเรา จะหนีพ้นมัน ไปได้ไหม? ไม่พ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด คนเดียวหรือหลายคน ในที่มืดหรือที่แจ้ง ก็ตายได้ทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น เมื่อรู้อย่างนี้ความกลัวไม่รู้ว่าหายไปไหน เลยหยุดกลัว ดูเหมือนคล้ายกับเราออกจากที่มืดที่สุดมาพบแสงสว่างนั้นแหละ เมื่อความกลัวหายไปผู้ที่เข้ามายืนอยู่หน้ากลดก็หายไปด้วย เมื่อความกลัวกับสิ่งที่กลัวหายไปได้สักครู่หนึ่งเกิดลมและฝนตกลงมาอย่างหนัก ผ้าจีวรเปียกหมด แม้จะนั่งอยู่ภายในกลดก็เหมือนนั่งอยู่กลางแจ้ง เลยเกิดความสงสารตัวเองว่า ตัวเรานี้เหมือนลูกไม่มีพ่อแม่ไม่มีที่อยู่อาศัยเวลาฝนตก หนักเพื่อนมนุษย์เขานอนอยู่ในบ้านอย่างสบาย แต่เราซิมานั่งตากฝนอยู่อย่างนี้ ผ้าผ่อนเปียกหมด คนอื่นๆเขาคงไม่รู้หรอกว่า เรากำลังตกอยู่ในภาพเช่นนี้ ความว้าเหว่เกิดขึ้นนานพอสมควร เมื่อนึกได้ก็ห้ามไว้ด้วยปัญญา พิจารณาอาการอย่างนั้นก็สงบลง พอดีได้เวลารุ่งอรุณ จึงลุกจากที่นั่งสมาธิ ในระยะที่เกิดความกลัวนั้นรู้สึกปวดปัสสาวะ แต่พอกลัวถึงขีดสุดอาการปวดปัสสาวะก็หายไป และเมื่อลุกจากที่จึงรู้สึกปวดปัสสาวะ และเวลาไปปัสสาวะมีเลือดออกมาเป็นแท่งๆก่อนแล้วจึงมีน้ำ ปัสสาวะออกมาทำให้รู้สึกตกใจนิดหนึ่งคิดว่าข้างในคงแตกหรือขาด จึงมีเลือดออกอย่างนี้แต่ก็นึกได้ว่าจะทำอย่างไรได้ในเมื่อเรามิได้ทำ มันเป็นของมันเองถ้าถึงคราวตายก็ให้มันตายไปเสียนึกสอนตัวเอง ได้อย่างนี้ก็สบายใจ ความกลัวตายหายไปตั้งแต่นั้นมา พอได้เวลาบิณฑบาตพ่อขาวแก้วก็มาถามว่าหลวงพ่อ...หลวงพ่อ...เมื่อคืนนี้มีอะไรเห็นอะไรไปหาบ้าง ?มันเดินมาจากทางอาจารย์อยู่นั่นแหละมันแสดงอาการที่น่ากลัวใส่ผม ผมต้องชักมีดออกมาขู่มันมันจึงเดินกลับไป หลวงพ่อชาจึงตอบว่า จะมีอะไรเล่า...หยุดพูดดีกว่า พ่อขาวแก้วก็เลยหยุดถาม หลวงพ่อคิดว่าถ้าขืนพูดไป ถ้าพ่อขาวแก้ว เกิดกลัวขึ้นมาเดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้เท่านั้น
เมื่ออยู่ป่าช้าใกล้วัดท่านอาจารย์คำดีได้ ๗ วัน ก็มีอาการเป็นไข้ เลยพักรักษาตัวอยู่กับอาจารย์คำดีประมาณ ๑๐ วัน จึง ย้ายลงมาทางบ้านต้อง พักอยู่ที่ป่าละเมาะบ้านต้องได้เวลานาน พอสมควร จึงได้เดินทางกลับไปหาท่านอาจารย์กินรีพักอยู่ ที่นั่นหลายวัน จึงได้กราบลาท่านอาจารย์กินรี ที่วัดป่าหนองฮี อ. ปลาปาก จ. นครพนม แล้วจึงเดินทางต่อไป...

อัฏฐบริขารหมดอายุ
ในพรรษาที่ ๙ นี้ ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์กินรีมาขอพึ่งบารมีปฏิบัติธรรมกับท่าน และได้รับความสงเคราะห์จากท่านอาจารย์เป็นอย่างดี ท่านอาจารย์เห็นไตรจีวรเก่าขาด จะใช้ ต่อไปไม่ได้ ท่านจึงได้กรุณาตัดผ้าฝ้ายพื้นเมืองให้จนครบไตรจีวร หลวงพ่อชาคิดว่า ผ้านี้จะมีเนื้อหยาบหรือละเอียดไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ใช้ได้ทนทานก็เป็นพอ ในพรรษานี้หลวงพ่อได้มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติอย่างมากไม่มีความย่อท้อแต่ประการใด
คืนวันหนึ่ง หลังจากหลวงพ่อทำความเพียรแล้วคิดจะ พักผ่อนบนกุฏิเล็กๆ พอเอนกายลง ศีรษะถึงหมอนด้วยการกำหนด ติ พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตขึ้นว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้มาอยู่ใกล้ๆ นำลูกแก้วลูกหนึ่งมายื่นให้แล้วพูดว่า ชา...เราจะให้ลูกแก้วลูกนี้แก่ท่านมันมีรัศมีสว่างไสวมาก หลวงพ่อยื่นมือขวาไปรับลูกแก้วลูกนั้น รวบกับมือท่านพระอาจารย์มั่นแล้วลุกขึ้นนั่ง พอรู้สึกตัวก็เห็นตัวเองยังกำมือและอยู่ในท่านั่งตามปกติมีอาการคิดค้นธรรมะเพื่อความรู้เกี่ยวกับ
การปฏิบัติมีติปลื้มใจตลอดพรรษา
รบกับกิเลส
ในพรรษาที่อยู่กับอาจารย์กินรีนั้น ขณะที่มีความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ในวาระหนึ่งได้เกิดการต่อสู้กับราคะธรรมอย่างแรง ไม่ว่าจะเดินจงกรมนั่งสมาธิหรืออยู่ในอิริยาบถใด ก็ตาม ปรากฏว่ามีโยนีของผู้หญิงชนิดต่างๆ ลอยปรากฏเต็มไปหมด เกิดราคะขึ้นจนทำความเพียรเกือบไม่ได้ ต้องทนต่อสู้กับความ รู้สึกและนิมิตเหล่านั้นอย่างลำบากยากเย็นจริงๆมีความรุนแรงพอๆกับความกลัวที่เกิดขึ้นในคราวที่
ไปอยู่ป่าช้านั่นแหละ เดิน จงกรมไม่ได้เพราะองค์กำเนิดถูกผ้าเข้าก็จะเกิดการไหวตัว ต้องให้ทำที่เดินจงกรมในป่าทึบและเดินได้เฉพาะในที่มืดๆ เวลาเดินต้องถลกบงขึ้นพันเอวไว้จึงจะเดินจงกรมต่อไปได้ การต่อสู้กับกิเลสเป็นไปอย่างทรหดอดทน ได้ทำความเพียรต่อสู้กันอยู่นานเป็นเวลา ๑๐ วัน ความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นจึงจะสงบลงและหายไป
เมื่อถึงหน้าแล้ง (ปี๒๔๙๐) หลวงพ่อจึงกราบลาท่านอาจารย์กินรี เพื่อแสวงหาวิเวกต่อไป ก่อนจากท่านอาจารย์กินรีได้ให้โอวาทว่า ท่านชา... อะไรๆก็พอสมควรแล้ว แต่ให้ท่านระวังการเทศน์นะ ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปเรื่อยๆ แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป จนเดินธุดงค์ไปถึงบ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม ไปพักอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ เส้น ในระยะนี้จิตสงบและเบาใจ อาการมุ่งจะเทศน์ก็เริ่มปรากฏขึ้นมา
เหตุการณ์แปลกครั้งที่ ๓ เมื่อได้ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดร้างแห่งนั้น วันหนึ่งเขามีงานในหมู่บ้านมีมหรสพ เปิดเครื่องขยายเสียงดังอื้ออึงมาก ขณะนั้นหลวงพ่อกำลังเดินจงกรมอยู่ เป็นเวลาประมาณ ๔ทุ่มเดินได้นานพอสมควรจึงนั่งสมาธิบนกุฏิ ชั่วคราว ขณะที่นั่งอยู่นั้นจิตใจเข้าสู่ความสงบ จนมีความรู้สึกว่า เสียงเป็นเสียง จิตเป็นจิต ไม่ปะปนกัน ไม่มีความกังวลอะไรทั้งสิ้น อาการเหล่านี้ปรากฏเป็นเวลานาน ถ้าจะอยู่ตลอดคืนก็ได้จนจิตเกิดความรู้สึกว่า

สาธุ..ขอบคุณค่ะ  เป็นพระอาจารย์ที่นับถือเป็นการส่วนตัว และเคยได้มีโอกาสไปปฎิบัติธรรมที่วัดสาขาของท่านแถวจ.ปทุมธานี ดีมากๆๆเลยค่ะ