Loader

ที่มาและอาณิสงส์ของการปล่อยสัตว์

Started by panjamin, March 04, 2013, 13:23:49

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

เนื่องจากไปอ่านเจอในเว็บหนึ่งเกี่ยวกับที่มาและอาณิสงของการปล่อยสัตว์เห็นว่าน่าสนใจเลยเอามาให้อ่านกันครับ การต่ออายุโดยการปล่อยสัตว์ หรือไถ่ชีวิตสัตว์ เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุให้ยืนยาวออกไป และมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ดังคัมภีร์กล่าวไว้ว่า

ในสมัยพุทธกาลมีสามเณรน้อยองค์หนึ่งชื่อติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักพระสารีบุตรเถระ อัครสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นระยะเวลาหนึ่งปี

อยู่มาวันหนึ่งพระสารีบุตร สังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้น ก็จะถึงแก่มรณภาพ ท่านพระสารีบุตรจึงเรียกสามเณรมาบอกถึงความจริงให้ทราบว่า "ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะ เธอจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๗ วัน ดังนั้นให้เธอกลับไปบ้าน ร่ำลาโยมพ่อแม่ และญาติเสีย"

สามเณรมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ร่ำไรน่าสงสาร นมัสการลาพระอาจารย์ แล้วเดินทางกลับบ้านด้วยดวงหน้าอันหม่นหมอง ระหว่างทางที่สามเณรผ่านไปนั้น ได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำซึ่งกำลังแห้งเขิน เมื่อสามเณรไปถึง ปลากำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำไม่เพียงพอ

สามเณรน้อยติสสะได้เห็นดังนั้น ก็ได้รำพึงในใจว่า เออ ! อันตัวเรานี้ก็จะมรณภาพภายใน ๗ วัน เช่นเดียวกับปลาทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าไม่มีน้ำ ฉะนั้นก่อนที่เราจะมรณภาพ เราขอได้โปรดสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ให้รอดพ้นจากความตายดีกว่า เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว ก็ได้เอาปลาน้อยใหญ่ทั้งหลายใส่ในบาตรของตน แล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ให้พ้นจากความตาย ระหว่างทางพบอีเก้งลูกกวาง ถูกแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยอีเก้งอีก

เมื่อสามเณรน้อยติสสะเดินทางมาถึงบ้านแล้ว ก็ได้เล่าเรื่องที่ตนจะถึงแก่มรณภาพอีก ๗ วันให้พ่อแม่และญาติพี่น้องฟัง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ทราบเรื่องราวแล้ว ต่างคนต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจ ต่างก็สงสารสามเณรน้อยผู้นั้นเป็นยิ่งนัก แล้วเขาทุกคนก็รอคอยวันที่สามเณรน้อยติสสะจะมรณภาพด้วยดวงใจที่แสนเศร้า

เลยกำหนดหนึ่งวันสองวันตามลำดับ จนล่วงกำหนดไป ๗ วัน สามเณรก็ยังไม่ตาย กลับมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้น ญาติจึงบอกให้สามเณรกลับไปหาพระสารีบุตรเถระ เมื่อสามเณรเดินทางไปถึง พระสารีบุตรมีความประหลาดใจ ถึงกับจะเผาตำราทิ้ง สามเณรติสสะจึงกราบเรียนให้ทราบเกี่ยวกับการนำปลาไปปล่อยในน้ำ และปล่อยอีเก้งจากแร้วของนายพราน

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่าการกระทำของสามเณรน้อยติสสะนี้ เป็นกุศลกรรมที่ยังให้เห็นเป็นพลังให้พ้นจากหายนะ คือความเสื่อมความตาย และยังมีชีวิตยิ่งยืนนานอีกต่อไป นี่จึงเปนที่มาของการทำบุญปล่อยสัตว์ และอาณิสงส์ของการทำบุญปล่อยสัตว์นั้นคือสามารถที่จะต่อชีวิตของเราให้ยืนยาวขึ้นได้
ผู้ที่ต้องการสร้างกุศลโดยการปล่อยสัตว์ ควรจะพิจารณาด้วยว่าสัตว์นั้น ๆ จะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่ ในสถานที่ที่ตั้งใจจะนำไปปล่อยนั้นด้วยอีกทั้งต้องมีจิตที่เมตตาอยากจะปล่อยสัตว์ ไม่ใช่แค่ว่าปล่อยให้พอเป็นพิธี ซึ่งถ้าหากปล่อยพอเป็นพิธีโดยที่จิตไม่ได้คิดเมตตาไม่ได้ยินดีไม่ได้ปิติในการปล่อยสัตว์แล้ว ผลบุญหรืออาณิสงส์ก็จะไม่เกิดขึ้น <!--End Main-->