Loader

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เรื่อง "เทวรูปหลวง ในพระราชพิธีตรียั

Started by อักษรชนนี, January 16, 2014, 16:52:07

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

.
         เทวรูปหลวงที่อัญเชิญมาในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายนั้น ถือเป็นเทวรูปส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปกติจะประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และเป็นธรรมเนียมว่า ในวันก่อนที่จะประกอบพิธีช้าหงส์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม พระราชทานออกมาให้เข้าร่วมในพระราชพิธี โดยในสมัยโบราณจะมีขบวนแห่เทวรูปหลวงไปส่งยังเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ (ซึ่งเทวรูปหลวงจะประดิษฐานอยู่ในเสลี่ยงโถง) แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนให้เหมาะสมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คือ ในวันที่ประกอบพิธีช้าหงส์แต่ละวันนั้น ทางเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะอัญเชิญเทวรูปหลวงมาส่งยังเทวสถานด้วยรถยนต์พระประเทียบ

         สำหรับที่มาของเทวรูปหลวงชุดนี้ (ได้แก่ เทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ และพระนารายณ์) ไม่ปรากฏหลักฐานที่บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่ามีที่มาอย่างไร มีเพียงเกร็ดตอนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวถึงเทวรูปพระคเณศที่เชิญมาในพระราชพิธีตรียัมปวายว่า

         "...เทวรูปซึ่งสำหรับส่งไปแห่นี้มีเรื่องราวที่จะต้องเล่าอยู่หน่อยหนึ่ง คือรูปมหาวิฆเนศวรนั้น เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยถือกันว่าถ้าบูชาพระมหาวิฆเนศวรแล้วทำให้จำเริญสวัสดิมงคล...ครั้นเมื่อข้าพเจ้า (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) อายุได้ ๙ ขวบ ทรงคิดชื่อกรมให้เป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เวลาแห่เทวรูปเช่นนี้จึงรับสั่งว่าไหนๆก็เอาชื่อเอาเสียงท่านมาชื่อแล้ว จะให้พระองค์นี้ไปสำหรับบูชาเหมือนอย่างที่พระองค์ท่านได้เคยทรงบูชามาแต่ก่อน จึงพระราชทานน้ำสังข์ทรงเจิมแล้วมอบพระองค์นั้นพระราชทาน เอาพระองค์อื่นไปขึ้นหงส์ตลอดรัชกาล ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ (หมายถึงรัชกาลที่ ๕) ข้าพเจ้าจึงได้นำบุษบกเล็กๆบุทองคำตั้งเทวรูปนั้นไว้แล้ว จึ่งได้ใช้บุษบกทองคำนั้นตั้งบนพานทองสองชั้นอีกทีหนึ่ง สำหรับเชิญไปขึ้นหงส์ เทวรูปมหาพิฆเนศวร ก็เปลี่ยนเอาองค์ที่ได้พระราชทานนั้นไปขึ้นหงส์ตามเดิม..."

          ส่วนเทวรูปพระพรหมนั้นเป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ

          แต่เดิมพิธีช้าหงส์นั้นมีเพียงสองวัน คือ พิธีช้าหงส์ส่งพระอิศวรในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ และ พิธีช้าหงส์ส่งพระนารายณ์ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อคณะพราหมณ์จัดสร้างเทวรูปพระพรหมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จึงเกิดมีพิธีช้าหงส์ส่งพระพรหมเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ วัน ในวันแรม ๓ ค่ำ เดือนยี่

          ในปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หรือผู้แทนพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์) ทรงพระสุหร่ายและเจิมเทวรูปหลวงเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะอัญเชิญเทวรูปหลวงทั้งหมดไปประดิษฐานยังพระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ประกอบพิธีช้าหงส์ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่จึงจะอัญเชิญเทวรูปแต่ละองค์มาเข้าร่วมในพิธี กล่าวคือ ในวันแรม ๑ ค่ำ เจ้าหน้าที่จะอัญเชิญเทวรูปพระอิศวร พระอุมา และพระคเณศมาส่ง ในวันแรม ๓ ค่ำ อัญเชิญเทวรูปพระพรหมมาส่ง และในวันแรม ๕ ค่ำ อัญเชิญเทวรูปพระนารายณ์มาส่ง

          และเมื่อถึงวันแรม ๖ ค่ำ (อันเป็นวันสุดท้ายของช่วงพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย) หลังจากคณะพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชและเจิมเทวรูปหลวงเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็จะอัญเชิญเทวรูปหลวงทั้งหมดกลับไปประดิษฐานยังพระบรมมหาราชวังตามเดิม

          สำหรับในปี ๒๕๕๗ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เสด็จออกแทนพระองค์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงเจิมเทวรูปหลวง เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗


เอกสารประกอบการเรียบเรียง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๕๒.

เทวสถาน. วารสารหอเวทวิทยาคม. ๑, ๑ (เมกราคม ๒๕๔๒)



ภาพประกอบ :

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะทรงเจิมเทวรูปหลวง จากสำนักราชเลขาธิการ


พระรูปหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ทรงเจิมเทวรูปหลวง จากข่าวในพระราชสำนัก สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗


***เรียบเรียงบทความ โดย อักษรชนนี***
.
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0