Loader

มิลาเรปะ

Started by Putthanan, October 17, 2010, 03:13:09

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

                                 

    ท่าน มิลาเรปะ ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1052 และดับขันธ์นิพพานในปี ค.ศ. 1135 ชีวิตในวัยหนุ่มหลังจากมรณะกรรมของบิดา เต็มไปด้วยความขมขื่น ท่านและมารดาถูกคดโกงมรดกมหาศาลที่บิดามอบให้จนหมดสิ้น ท่านเผชิญกับความยากไร้และต่ำต้อย ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานแก่ท่านอย่างสาหัส ในที่สุดท่านได้คบคิดกับมารดาหาทางแก้แค้น โดยท่านมิลาเรปะ ได้ยอมอุทิศตนเข้าศึกษาวิชาไสยศาสตร์อย่างจริงจัง พลังอำนาจจากเวทย์มนต์คาถาที่ท่านได้ร่ำเรียนมา ทำให้ท่านสามารถบันดาลให้เกิดพายุลูกเห็บ ตกลงมาถล่มบ้านของป้าและลุง ซึ่งได้พลอยทำอันตรายชีวิตและทรัพย์สินของเพื่อนบ้านข้างเคียงไปด้วยโดยที่ท่านไม่ได้เจตนา ท่านสังเวชสลดใจกับบาปกรรมที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้มาก จึงได้ตัดสินใจ อุทิศชีวิตที่เหลือของท่านให้กับพระศาสนา เพื่อมุ่งหวังจะลบล้างบาปกรรมที่ท่านได้ก่อเอาไว้ ความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของท่านเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ท่านถูกส่งตัวมาศึกษากับท่านอาจารย์ มาระปะ ซึ่งเพิ่งกลับมาจากประเทศอินเดีย ท่านอาจารย์ มาระปะ ได้รับคำพยากรณ์จากเทพธิดาว่าจะได้พบกับสานุศิษย์องค์สำคัญ ซึ่งจะเป็นผู้แผ่ขยายธรรมานุภาพของพระศาสดาไปทั่วสารทิศ ท่านอาจารย์ มาระปะ ได้ทรมานท่าน มิลาเรปะ ด้วยอุบายวิธีต่างๆมากมาย เพื่อผ่อนคลายอิทธิพลของอกุศลวิบากกรรม อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของท่าน มิลาเรปะ อยู่หลายปี .
สิบเอ็ดเดือนเต็มสำหรับการได้เริ่มต้นลงมือปฏิบัติธรรมที่เข้าสู่เนื้อหาสาระอันแท้จริง การบำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์โดยต่อเนื่องในถ้ำแต่ผู้เดียว ทำให้เกิดธรรมจักษุต่อมรรคาที่จะบรรลุสู่พระโพธิญาณ ในระหว่างนี้ ท่านได้กลับมาเยี่ยมบ้าน มรณกรรมของมารดา และสภาพแร้นแค้นของบรรดาพี่น้องของท่าน ก่อให้เกิดความสลดสังเวชใจอย่างล้ำลึก แรงบันดาลใจที่จะสละโลกทั้งปวง ดำเนินไปอย่างรุนแรงเด็ดเดี่ยว ท่านได้อธิษฐานจิต ที่จะปฏิบัติบำเพ็ญอย่างต่อเนื่องในหุบเขาที่เงียบสงัด จนกว่าจะบรรลุถึงความวิมุติหลุดพ้นอย่างแท้จริง .
สิบสองปีเต็มกับการกระทำตามคำอธิษฐาน ท่านได้บรรลุถึงบรมธรรมขั้นสูงสุด การออกเผยแพร่ธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวางมาก จนท่านมิลาเรปะ ได้ถูกจารึกว่าเป็นพระภิกษุองค์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชนชาวทิเบต .
ลีลาในการแสดงธรรมของท่านมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนผู้ใด ธรรมบรรยายที่หลั่งไหลออกจากการบรรลุอมตธรรมของท่าน มิลาเรปะ มีลักษณะแห่งการอุปมาเปรียบเปรยกับธรรมชาติรอบๆตัวด้วยอรรถอันวิจิตรพิสดาร ก่อให้เกิดแนวทางอันวิเศษที่จะปฏิบัติบำเพ็ญตาม ท่านมิลาเรปะ แตกต่างจากพระภิกษุรูปอื่นซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาในยุคนั้น ท่านไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานก่อสร้างถาวรวัตถุ ท่านไม่รวมกลุ่มกับใคร เพื่อเน้นลัทธินิกายใดๆ ท่านชอบใช้ชีวิตที่โดดเดี่ยวอยู่ในป่าเขาโดยไม่ติดยึดสถานที่ ท่านออกจาริกธุดงค์ไปพบกับผู้คนโดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะเป็นสถานที่เช่นไร เพื่อแสดงธรรมตามแบบฉบับของท่าน ไม่มีการท่องบ่นสวดมนต์อันเป็นรูปแบบที่กระทำกันทั่วไป ท่านชักนำผู้คนให้เริ่มปฏิบัติธรรมในทันทีทันใด โดยไม่รั้งรอต่อการศึกษาจากตำรับตำรามากมายเหมือนที่นิยมทำกันในหมู่ภิกษุผู้คงแก่เรียน ประสบการณ์เรียนรู้สภาวะธรรมจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจเป็นสิ่งที่ท่านแนะนำต่อพุทธศาสนิกชนให้พากเพียรปฏิบัติ ท่าน มิลาเรปะ ไม่ได้ร่วมในการยอมรับว่าพุทธศาสนานิกาย เถรวาท มหายาน หรือวัชรยาน อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งถูกต้องมากกว่ากัน แต่ท่านจะเน้นหนักถึงความเป็นมายาของปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเดินลัดตรงไปสู่ความสิ้นอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในบรรดาสรรพสิ่งโดยสิ้นเชิง .
ท่าน มิลาเรปะ นับได้ว่าเป็นคุรุผู้สามารถทำให้สานุศิษย์เป็นจำนวนมากบรรลุ มรรคผลนิพพาน ท่านฮุยเหน็ง ( ท่าน เหวยหล่าง ) ผู้ก่อตั้งวิถีทางบรรลุฉับพลันอันได้แก่ลัทธิเซนในประเทศจีน ก็เป็นพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ที่พอจะเทียบเทียมกับท่านมิลาเรปะได้ ในแง่ที่ว่าท่านทั้งสองไม่อ้อมค้อมเสียเวลาอยู่กับเปลือกนอกของพระศาสนา แต่สำหรับความสามารถในด้านก่อแรงบันดาลใจ ให้ผู้คนหันมาประพฤติธรรมโดยใช้ถ้อยคำอุปมาอันชาญฉลาดนั้น ต้องถือได้ว่าท่าน มิลาเรปะ มีเอกลักษณ์ที่สมบูรณ์มากกว่า .
เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับการทำความเข้าใจกับข้อความในหนังสือเล่มนี้ หลักคำสอนอันเป็นส่วนสำคัญสำหรับพุทธศาสนาในทิเบตยุคนั้น อันมิใช่เป็นเพียงปรัชญาอย่างตรรกศาสตร์ หากเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความตระหนักชัดขึ้นในภายในจริงๆ สามารถรวบรวมโดยย่นย่อที่สุดได้เป็นข้อๆดังต่อไปนี้ .
•  การดำรงอยู่ของรูปลักษณะสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นเพียงการบังเกิดขึ้นในความกำหนดหมายเอาเองของปุถุชนจิต ทิฐิความเห็นโดยการกำหนดหมายแยกแยะคุณค่าของสรรพสิ่งให้แตกต่างกันออกไป โดยทึกทักเข้าใจเอาเองภายในจิตใจของแต่ละบุคคลนี้เอง คือต้นกำเนิดอันแท้จริงของบรรดาสรรพสิ่ง .
•  ธรรมชาติของความเห็นภายในดวงจิตของแต่ละบุคคลดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีนัยยะมากมาย เกิดแต่เหตุปัจจัยอันเร้นลับเพราะสับสนอยู่ด้วยอวิชชา ความหลากหลายแห่งรูปแบบของความเข้าใจที่ผิดพลาดอันมีนัยยะเป็นอนันตภาพนี้ ย่อมพ้นวิสัยของการคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล ถึงการเริ่มต้นของมัน .
•  บุคคลผู้เข้าถึงความตระหนักชัดต่อธรรมชาติภายในจิตของตนเองอย่างแท้จริงคือพุทธะ ส่วนผู้ที่ยังไม่อาจบรรลุถึงความตระหนักชัดดังกล่าวได้ ก็ คือปุถุชนผู้หมกจมอยู่ในความมืดบอด .
•  ปุถุชนกับพุทธะนั้น โดยแท้ที่จริงก็เป็นเอกสภาวะเดียว พุทธะก็คือปุถุชนที่บรรลุถึงการตรัสรู้ ส่วนปุถุชนก็คือพุทธะที่ยังไม่เข้าถึงการตรัสรู้ .
•  อนันตภาวะแห่งจิตที่เข้าถึงความเป็นพุทธะ ย่อมอยู่เหนือขอบเขตคำอธิบายด้วยเหตุผลโดยการเพียงสื่อความหมายด้วยภาษาที่มนุษย์สมมุติบัญญัติขึ้นมา คำจำกัดความที่น่าจะสื่อความหมายได้มากที่สุดอาจแสดงได้ว่า พุทธจิต คือความสว่างไสวอันไม่มีประมาณแห่งความว่างเปล่าที่สมบูรณ์พร้อมอยู่ด้วยสติ .
•  สติของปุถุชนนั้นถือได้ว่ามีขอบเขตที่จำกัดมาก ส่วนสติของผู้ปฏิบัติบำเพ็ญย่อมเริ่มสว่างไสวสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้บรรลุสู่โพธิญาณย่อมมีความสว่างไสวแห่งความว่างเปล่าอันสมบูรณ์ด้วยสติ และท้ายที่สุดอันหมายถึงพุทธภาวะ ก็คือความสว่างไสวอันไม่มีประมาณแห่งสุญญตภาวะที่สมบูรณ์พร้อมด้วยสติ .
•  คำสอนในพระพุทธศาสนา ก็เป็นเพียงการชี้ทิศทางดำเนินสู่ธรรมชาติของความสว่างไสวอันไม่มีประมาณแห่งความว่างเปล่าที่สมบูรณ์อยู่ด้วยสตินั่นเอง .
•  ความเมตตากรุณาอันไม่มีประมาณ บุญกุศลทั้งปวง และความหยั่งรู้ถึงความจริงแท้ของธรรมชาติย่อมจะบังเกิดขึ้นเอง เมื่อพุทธภาวะได้เปิดเผยออกมา .
•  เพื่อบรรลุถึงพุทธภาวะ อาจแบ่งลักษณะสำคัญของทางดำเนินออกเป็นสองส่วน อันได้แก่การหลุดพ้นทางสมาธิจิต และการหลุดพ้นด้วยปัญญา การเน้นหนักในการปฏิบัติบำเพ็ญของแต่ละบุคคล อาจให้ความสำคัญของทางดำเนินทั้งสองนี้ อย่างละไม่เท่ากัน ภาษาทางศาสนาเรียกว่า เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ การปฏิบัติที่เน้นหนักทางด้านเจโตวิมุติถือเป็นการปฏิบัติที่อาศัยรูปธรรม ส่วนการปฏิบัติที่เน้นหนักทางปัญญาวิมุตินั้นไม่อาศัยรูปธรรม และถือกันว่าเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดสู่การบรรลุพระโพธิญาณ อย่างไรก็ตามการแบ่งแยกทางดำเนินในการปฏิบัติบำเพ็ญออกเป็นสองส่วนตามที่กล่าวมานี้ ย่อมปรากฏเด่นชัดในผู้ปฏิบัติที่ยังไม่เข้าถึงบรมธรรมสูงสุดเท่านั้น สำหรับผลสุดท้าย บุคคลย่อมตระหนักชัดว่าไม่อาจแยกทางดำเนินออกเป็นสองส่วนได้ ผู้เข้าถึงพุทธภาวะย่อมมีทั้งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ อันหมายถึงอุภโตภาควิมุติ ซึ่งเป็นเอกสภาวะเดียว .



ท่านมิลาเรปะ

<iframe src=http://www.mypicza.com/iframe.php frameBorder=0 width=390 scrolling=no height=100 allowTransparency></iframe>



ลองดูอีกทีครับ