
โพธิญาณพฤกษา
พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้
ต้นสะเดา (ต้นนิมพะ)
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎกเล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สุเมธพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 14 พระนามว่า พระสุเมธพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ทรงเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากเครื่องผูกเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณควงไม้สะเดา หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม
ในบ้านเรานั้นสะเดามี 3 พันธุ์ คือ
1. สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.- ส.ค.
2. สะเดาไทย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค.
3. สะเดาช้าง หรือต้นเทียมไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยวปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.

ในที่นี้จะพูดถึง ต้นสะเดาอินเดีย ที่เป็นโพธิญาณพฤกษาของพระสุเมธพุทธเจ้า สะเดาอินเดีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Azadirachta indica A. Juss." อยู่ในวงศ์ "Meliaceae" ในภาษาบาลีเรียกว่า "ต้นนิมพะ" หรือ "ต้นมหานิมพะ"ชาวฮินดูเรียกว่า "นิมะ"มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ กะเดา(ภาคใต้), สะเลียม (ภาคเหนือ), คินินหรือขี้นิน (ภาคอีสาน), ควินิน,ควินนิน, จะตัง, ไม้เดา, เดา เป็นต้น
ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ 11พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์ คือไม้สะเดาอันเป็นมุขพิมานของเพรุยักษ์ ใกล้นครเวรัญชา
สะเดาเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-16 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา ลำต้นเปลา ตรง เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบประกอบแบบขนนก มีสีเขียวเข้มและหนาเป็นมันวาว ขอบใบหยัก เป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียวดอกสีขาวออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ผลกลมรี ผิวบางมีเมล็ดภายในเมล็ดเดียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม
สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นมีมากมาย ใบอ่อนและดอกนำมารับประทานเพื่อบำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร แก้ลม แก้พยาธิ แก้เลือดกำเดาไหลแก้ริดสีดวงในคอ แก้ลม บิดมูกเลือด, ผล ใช้บำรุงหัวใจที่เต้นไม่เป็นปกติ,รากใช้แก้โรคผิวหนัง ยางใช้ดับพิษร้อน, เปลือกใช้แก้ไข้มาเลเรียและน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

ทางคติอินเดียถือว่า ผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหายไปเพราะสะเดาเวลาคายน้ำออกจะมีสารระเหยบางชนิดที่เข้าใจว่ามีคุณสมบัติทางยาใช้รักษาโรค ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่าภรรยาชาวอินเดียที่ไม่ยอมให้สามีออกไปต่างบ้าน พยายามสั่งสามีว่าเมื่อจะไปให้ได้ก็ไม่ว่า แต่ในระหว่างเดินทางไปจะพักนอนที่ไหนขอให้นอนใต้ต้นมะขาม เมื่อนึกจะกลับบ้านก็ขอให้นอนใต้ต้นสะเดาสามีก็เชื่อฟังภรรยา เมื่อออกจากบ้านก็นอนใต้ต้นมะขามเรื่อยไปต้นมะขามกล่าวกันว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้เมื่อนอนใต้โคนอยู่เรื่อยๆ ก็เกิดอาการไม่สบายไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้จึงคิดเดินทางกลับบ้าน
เมื่อนึกถึงคำภรรยาสั่งไว้ว่าขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดาจึงนอนใต้ต้นสะเดาเรื่อยมาฤทธิ์ทางยาของไม้สะเดาก็รักษาอาการไข้ของชายคนนั้นให้หายไปทีละน้อยๆและหายเด็ดขาดเมื่อกลับมาถึงบ้านพอดีนับว่า หญิงอินเดียมีกุโศลบายดีมากการที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาใต้ต้นสะเดาจะเกี่ยวข้องกับคติดังกล่าวหรือไม่คงไม่มีใครทราบ
แต่คตินี้ก็น่าจะให้ข้อคิดบางอย่างเพราะแพทย์แผนปัจจุบันพยายามสกัดสารพวกอัลคอลอยด์บางอย่างไปใช้ผสมยา เช่นทำยาธาตุ ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ฉะนั้นเวลากลางคืนสะเดาจะคายน้ำรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาย่อมจะมีสารระเหยพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อสูดเข้าไปเรื่อยๆก็อาจเป็นการบริโภคได้ทางหนึ่ง
มะขามมักจะอยู่ตามโคกและตามโคกมักจะมีสัตว์พวกงูพิษซุ่มอยู่คนนอนก็จะต้องคอยระมัดระวัง จะไม่เป็นอันหลับอันนอนก็ย่อมจะเพลียไม่มีแรงเดินทางต่อ และพาลจะเจ็บป่วยไปด้วยแต่สะเดาชอบขึ้นตามที่ราบโล่ง บรรดาสัตว์ร้าย เช่น งูไม่ชอบอาศัยคนนอนก็นอนสบายทำให้มีกำลังแข็งแรงคนเราถ้านอนได้เต็มที่ก็สามารถสร้างภูมิต่อสู้กับโรคภัยได้เช่นกันก็เป็นได้
สะเดาอินเดีย ค่อนข้างจะหายาก แหล่งปลูกใหญ่คือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการตอนกิ่งปักชำ
ปัจจุบัน สะเดาเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอุทัยธานี
