Loader

ประวัติแห่งพระสารีบุตร

Started by phorn456, September 07, 2011, 22:30:08

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

                  ๔.  ประวัติแห่งพระสารีบุตร
      พระสารีบุตรนั้น  เป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านผู้หนึ่ง  ชื่อวังคันตะ
และนางสารี  เกิดในตำบลบ้านชื่อนาลกะ  หรือ  นาลันทะ  ไม่ห่างแต่
กรุงราชคฤห์  ท่านชื่อ  อุปติสสะมาก่อน  อีกอย่างหนึ่ง  เขาเรียกชื่อ
ตามความที่เป็นบุตรของนางสารีว่า  สารีบุตร   เมื่อท่านมาอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว  เขาเรียกท่านว่า  พระสารีบุตร  ชื่อเดียว.  การ
เรียกชื่อตามมารดานี้  เป็นธรรมเนียมใช้อยู่ในครั้งนั้นบ้างกระมัง ?
นอกจากพระสารีบุตรยังมีอีก  คือพระปุณณมันตานีบุตร  ที่หมายความ
ว่า  บุตรของนางมันตานี  ใช้สร้อยพระนามแห่งพระเจ้าอชาตศัตรูว่า
เวเทหีบุตร  หมายความว่า  พระโอรสแห่งพระนางเวเทหี   แต่ที่เรียก
ตามโคตรก็มี  เช่น  โมคคัลลานะ  กัสสปะ  กัจจานะ  เป็นอาทิ   แต่เขา
มักเรียกสั้นว่า  สารีบุตร  ที่แลความไปอีกอย่างหนึ่งว่า  บุตรคนเล่น
หมากรุก.   สารีอาจเป็นชื่อโคตรของท่าน  มารดาของท่านชื่อสารี
ตามสกุลก็ได้  แต่ไม่พบอรรถาธิบายเลย  ยังถือเอาเป็นประมาณมิได้.
      พระคันถรจนาจารย์พรรณนาว่า  อุปติสสมาณพนั้น  เป็นบุตร
แห่งสกุลผู้บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร  ได้เป็นผู้เรียนรู้ศิลป-
ศาสตร์  ได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพ  โมคคัลลานโคตร  ผู้
รุ่นราวคราวเดียวกัน  เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกันมาแต่ยังเยาว์.
สองสหายนั้น  ได้เคยไปเที่ยวดูการเล่นในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเนือง ๆ

เมื่อดูอยู่นั้น  ย่อมร่าเริงในที่ควรร่าเริง  สลดใจในที่ควรสลดใจ  ให้
รางวัลในที่ควรให้.   วันหนึ่ง  สองสหายนั้น  ชวนกันไปดูการเล่น
เหมือนอย่างแต่ก่อน  แต่ไม่ร่าเริงเหมือนในวันก่อน ๆ.   โกลิตะถาม
อุปติสสะว่า  ดูท่านไม่สนุกเหมือนในวันอื่น  วันนี้ดูเศร้าใจ  ท่านเป็น
อย่างไรหรือ ?  โกลิตะ  อะไรที่ควรดูในการเล่นนี้มีหรือ ?  คนเหล่านี้
ทั้งหมดยังไม่ทันถึง ๑๐๐ ปี  ก็จักไม่มีเหลือ  จักล่วงไปหมด  ดูการเล่น
ไม่มีประโยชน์อะไร  ควรขวนขวายหาธรรมเครื่องพ้นดีกว่า  ข้านั่งคิด
อยู่อย่างนี้  ส่วนเจ้าเล่า  เป็นอย่างไร ?  อุปติสสะ  ข้าก็คิดเหมือน
อย่างนั้น.  สองสหายนั้น  มีความเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว  พาบริวาร
ไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก  เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด
แล้ว  อาจารย์ให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนหมู่ศิษย์ต่อไป  สองสหายนั้น  ยังไม่
พอใจในลัทธิของครูนั้น  จึงนัดหมายกันว่า  ใครได้โมกขธรรม  จงบอก
แก่กัน.
      ครั้นพระศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว  ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน
ประกาศพระพุทธศาสนา  เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์  ประทับอยู่ ณ
เวฬุวัน.   วันหนึ่ง  พระอัสสชิ  ผู้นับเข้าในพระปัญจวัคคีย์  อันพระ
ศาสดาทรงส่งให้จาริกไปประกาศพุทธศาสนากลับมาเฝ้า  เข้าไปบิณฑ-
บาตในกรุงราชคฤห์  อุปติสสปริพาชก  เดินมาแต่สำนักของปริพาชก
ได้เห็นท่านมีอาการน่าเลื่อมใส  จะก้าวไปถอยกลับแลเหลียว  คู้แขน
เหยียดแขนเรียบร้อยทุกอิริยาบถ  ทอดจักษุแต่พอประมาณ  มีอาการแปลก
จากบรรพชิตในครั้งนั้น  อยากจะทราบว่าใครเป็นศาสดาของท่าน

แต่ยังไม่อาจถาม  ด้วยเห็นว่าเป็นกาลไม่ควร  ท่านยังเที่ยวไปบิณฑบาต
อยู่  จึงติดตามไปข้างหลัง ๆ   ครั้นเห็นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว  จึง
เข้าไปใกล้  พูดปราศรัยแล้ว  ถามว่า   ผู้มีอายุ  อินทรีย์ของท่าน
หมดจดผ่องใส  ท่านบวชจำเพาะใคร ?  ใครเป็นพระศาสดาผู้สอนของท่าน ?
ท่านชอบใจธรรมของใคร ?   ผู้มีอายุ  เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะ
ผู้เป็นโอรสศากยราชออกจากศากยสกุล   ท่านนั้นแล  เป็นศาสดา
ของเรา  เราชอบใจธรรมของท่านนั้นแล.   พระศาสดาของท่านสั่งสอน
อย่างไร ?   ผู้มีอายุ  รูปเป็นผู้ใหม่  บวชยังไม่นาน  เพิ่งมายังพระธรรม
วินัยนี้  ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง  รูปจักกล่าวความ
แก่ท่านแต่โดยย่อพอรู้ความ.  ผู้มีอายุ  ช่างเถิด  ท่านจะกล่าวน้อยก็ตาม
มากก็ตาม  กล่าวแต่ความเถิด  รูปต้องการด้วยความ  ท่านจะกล่าวคำ
ให้มากเพื่อประโยชน์อะไร.  พระอัสสชิก็แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชก
พอเป็นเลาความว่า  " พระศาสดาทรงแสดงความเกิดแห่งธรรมทั้งหลาย
เพราะเป็นไปแห่งเหตุ  และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  เพราะดับแห่ง
เหตุ  พระศาสดาตรัสอย่างนี้.๑"
      อุปติสสปริพาชกได้ฟัง  ก็ทราบว่า  ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า
ธรรมทั้งปวง  เกิดเพราะเหตุ  และจะสงบระงับไป  เพราะเหตุดับก่อน
พระศาสดาทรงสั่งสอน  ให้ปฏิบัติเพื่อสงบระงับเหตุแห่งธรรม  เป็น
เครื่องก่อให้เกิดทุกข์  ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  มีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมด  ต้องมีความดับเป็นธรรมดา  แล้ว

ถามพระเถระว่า  พระศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ?  ผู้มีอายุ  เสด็จ
อยู่ที่เวฬุวัน.   ถ้าอย่างนั้น  พระผู้เป็นเจ้าไปก่อนเถิด  รูปจักกลับไป
บอกสหาย  จักพากันไปเฝ้าพระศาสดา.   ครั้นพระเถระไปแล้ว  ก็กลับ
มาสำนักของปริพาชก  บอกข่าวที่ได้ไปพบพระอัสสชิให้โกลิตปริพาชก
ทราบแล้ว  แสดงธรรมนั้นให้ฟัง.   โกลิตปริพาชกก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
เหมือนอุปติสสะแล้ว  ชวนกันไปเฝ้าพระศาสดา  จึงไปลาสัญชัยผู้
อาจารย์เดิม  สัญชัยห้ามไว้  อ้อนวอนอยู่เป็นหลายครั้ง  ก็ไม่ฟัง
พาบริวารไปเวฬุวัน  เฝ้าพระศาสดา  ทูลขออุปสมบท  พระองค์ทรง
อนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยกันทั้งสิ้น.   ในภิกษุเหล่านั้นภิกษุผู้เป็นบริวาร
ได้สำเร็จพระอรหัตก่อนในไม่ช้า  ฝ่ายพระโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗
วัน  จึงได้สำเร็จพระอรหัต  มีเรื่องดังจะเล่าในประวัติของท่าน.   ฝ่าย
พระสารีบุตร  ต่ออุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน  จึงได้สำเร็จพระอรหัต.
      มีเรื่องเล่าถึงความสำเร็จพระอรหัตแห่งพระสารีบุตรว่า  วันนั้น
พระศาสดาเสด็จอยู่ในถ้ำสุกรขาตา  เขาคิชฌกูฏ  แขวงกรุงราชคฤห์
ปริพาชกผู้หนึ่ง  ชื่อทีฆนขะ  อัคคิเวสสนโคตร  เข้าไปเฝ้าพระศาสดา
กล่าวปราศรัยแล้ว  ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง  ทูลแสดงทิฏฐิของตนว่า
พระโคตมะ  ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า  สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด.   พระศาสดาตรัสตอบว่า๑  อัคคิเวสสนะ  ถ้า
อย่างนั้น  ความเห็นอย่างนั้น  ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน  ท่านก็ต้องไม่ชอบ
ความเห็นอย่างนั้น  ตรัสตอบอย่างนี้แล้ว  ทรงแสดงสมณพราหมณ์

มีทิฏฐิ ๓ จำพวกว่า อัคคิเวสสนะ  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มีทิฏฐิว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา  เราชอบใจหมด   พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า  สิ่งทั้งปวง
ไม่ควรแก่เรา  เราไม่ชอบใจหมด   พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า  บางสิ่งควรแก่
เรา  เราชอบใจ  บางสิ่งไม่ควรแก่เรา  เราไม่ชอบใจ  ทิฏฐิของ
สมณพราหมณ์พวกต้น  ใกล้ข้างหน้าความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งนั้น ๆ
ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่ ๒  ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งนั้น ๆ
ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่ ๓   ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของ
บางสิ่ง   ใกล้ข้างความเกลียดชังในของบางสิ่ง  ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า  ถ้าเรา
จักถือมั่นทิฏฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด  กล่าวว่า  สิ่งนี้แลจริง  สิ่งอื่นเปล่า
หาจริงไม่  ก็จะต้องถือผิดจากคน ๒ พวกที่มีทิฏฐิไม่เหมือนกับตน  ครั้น
ความถือผิดกันมีขึ้น  ความวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น   ครั้นความวิวาทมีขึ้น
ความพิฆาตหมายมั่นก็มีขึ้น   ครั้นความพิฆาตมีขึ้น  ความเบียดเบียนก็มี
ขึ้น  ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว  ย่อมละทิฏฐินั้นเสียด้วย  ไม่ทำทิฏฐิอื่นให้เกิด
ขึ้นด้วย  ความละทิฏฐิ ๓ อย่างนี้  ย่อมมีด้วยอุบายอย่างนั้น.  ครั้นแสดง
โทษแห่งความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ๓ อย่างนั้นแล้ว  ทรงแสดงอุบายเครื่อง
ไม่ถือมั่นต่อไปว่า  อัคคิเวสสนะ  กาย  คือ  รูป  ประชุมมหาภูตทั้ง ๔
(ดิน น้ำ ลม ไฟ)  มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด  เจริญขึ้นเพราะข้าวสุก
และขนมสดนี้  ต้องอบรมกันกลิ่นเหม็นและขัดสีมลทินเป็นนิตย์  มี
ความแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา  ควรพิจารณาเห็นโดยความ
เป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  อดทนได้ยาก  เป็นโรค  เป็นดังหัวฝี  เป็นดัง
ลูกศร  โดยความยากลำบากชำรุดทรุดโทรม  เป็นของว่างเปล่าไม่ใช่ตน
นักธรรมโท - อนุพุทธประวัติ - หน้าที่ 29
เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้  ย่อมละความพอใจรักใคร่กระวนกระวายในกาม
เสียได้  อนึ่ง  เวทนาเป็น ๓ อย่าง คือ  สุข  ทุกข์  อุเบกขา  คือ  ไม่ใช่
ทุกข์ไม่ใช่สุข   ในสมัยใดเสวยสุข  ในสมัยนั้น  ไม่ได้เสวยทุกข์  และ
อุเบกขา   ในสมัยใด  เสวยทุกข์  ในสมัยนั้น  ไม่ได้เสวยสุข  และ
อุเบกขา.   สุข ทุกข์ อุเบกขา ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่เที่ยง ปัจจัยประชุม
แต่งขึ้น  อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วมีความสิ้นไป  เสื่อมไป  คลายไป
ดับไปเป็นธรรมดา  อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว  เมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย
ทั้งในสุข ทุกข์ อุเบกขา  เมื่อเบื่อหน่าย  ก็ปราศจากกำหนัด  เพราะ
ปราศจากกำหนัด  จิตก็พ้นจากความถือมั่น   เมื่อจิตพ้นแล้ว  ก็เกิด
ญาณรู้ว่าพ้นแล้ว  อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่
จบแล้ว  กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว  กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มี   ภิกษุผู้พ้นแล้วอย่างนี้  ไม่วิวาทโต้เถียงกับผู้ใด  ด้วยทิฏฐิของ
ตน  โวหารใด  เขาพูดกันอยู่ในโลก  ก็พูดตามโวหารนั้น  แต่ไม่ถือ
มั่นด้วยทิฏฐิ.   สมัยนั้น  พระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด  เบื้องพระ-
ปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา  ได้ฟังธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก
จึงดำริว่า   พระศาสดาตรัสสอนให้ละการถือมั่นธรรมเหล่านั้น  ด้วย
ปัญญาอันรู้ยิ่ง  เมื่อท่านพิจารณาอย่างนั้น  จิตก็พ้นจากอาสวะ  ไม่ถือ
มั่นด้วยอุปทาน.  ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น  เป็นแต่ได้ดวงตาเห็นธรรม
สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา  ทูลสรรเสริญพระธรรม-
เทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสก.
      พระอรรถกถาจารย์  แก้การที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัตช้า
ไปกว่าเพื่อนว่า  เพราะมีปัญญามาก  ต้องใช้บริกรรมใหญ่  เปรียบด้วย
การเสด็จไปข้างไหน ๆ  แห่งพระราชา  ต้องตระเตรียมราชพาหนะและ
ราชบริวาร  จำเป็นจึงช้ากว่าการไปของคนสามัญ.
      พระสารีบุตรนั้น  แม้เป็นสาวกในปูนไม่แรกทีเดียว  แต่เป็นผู้มี
ปัญญาเฉลียวฉลาด  ได้เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา  ในการสอน
พระศาสนา  พระองค์ทรงยกย่องว่า  เป็นเอตทัคคะในทางปัญญา  เป็น
ผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักร  และพระจตุราริยสัจ  ให้กว้างขวาง
พิสดารแม้นกับพระองค์ได้   ถ้ามีภิกษุมาทูลลาจะเที่ยวจาริกไปในทางไกล
มักตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน  เพื่อท่านจะได้สั่งสอนเธอทั้งหลาย.
เช่นครั้งหนึ่ง  พระศาสดาเสด็จอยู่เมืองเทวทหะ   ภิกษุเป็นอันมากเข้าไป
เฝ้าพระศาสดา  ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท  พระองค์ตรัสถามว่า  ท่าน
ทั้งหลายบอกสารีบุตรแล้วหรือ ?  ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า  ยังไม่ได้บอก
จึงตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร  แล้วทรงยกย่องว่า  พระสารีบุตรเป็น
ผู้มีปัญญา  อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต.   ภิกษุเหล่านั้นก็ไปลาตามรับสั่ง.
ท่านถามว่า  ผู้มีอายุ  คนมีปัญญาผู้ถามปัญหากะภิกษุ  ผู้ไปต่างประเทศ
มีอยู่   เมื่อเขาลองถามว่า  ครูของท่านสั่งสอนอย่างไร ?  ท่านทั้งหลาย
ได้เคยฟังเคยเรียนแล้วหรือ  จะพยากรณ์อย่างไร  จึงจะเป็นอันไม่กล่าว
ให้ผิดคำสอนของพระศาสดา  อันไม่เป็นการใส่ความ  และพยากรณ์
ตามสมควรแก่ทางธรรม  ไม่ให้เขาติเตียนได้.   ภิกษุเหล่านั้นขอให้ท่าน
สั่งสอน.   ท่านกล่าวว่า  ถ้าเขาถามอย่างนั้นท่านพึงพยากรณ์ว่า  ครูของ
เราสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่เสีย   ถ้าเขาถามอีกว่า  ละความ
นักธรรมโท - อนุพุทธประวัติ - หน้าที่ 31
กำหนัดรักใคร่ในสิ่งอะไร ?  พึงพยากรณ์ตอบว่า  ในรูป  เวทนา  สัญญา
สังขาร  วิญญาณ  ถ้าเขาถามอีกว่า  ครูของท่านเห็นโทษอะไร  และ
เห็นอานิสงส์อะไรจึงสั่งสอนอย่างนั้น ?  พึงพยากรณ์ตอบว่า  เมื่อบุคคล
ยังมีความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว   ครั้นสิ่งเหล่านั้นแปรปรวน
เป็นอย่างอื่นไป  ก็เกิดทุกข์มีโศกและร่ำไรเป็นต้น  เมื่อละความกำหนัด
รักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว   ถ้าสิ่งเหล่านั้นวิบัติแปรปรวนไป  ทุกข์
เหล่านั้นก็ไม่เกิด   ครูของเราเห็นโทษและอานิสงส์อย่างนี้   อนึ่ง  ถ้า
บุคคลเข้าถึงอกุศลธรรม  จะได้อยู่เป็นสุข  ไม่ต้องคับแค้น  ไม่ต้อง
เดือดร้อน  และบุคคลผู้เข้าถึงกุศลธรรมจะต้องอยู่เป็นทุกข์  คับแค้น
เดือดร้อน  พระศาสดาคงไม่ทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม  เจริญกุศล-
ธรรม  เพราะเหตุบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมต้องอยู่เป็นทุกข์  คับแค้น
เดือดร้อน  บุคคลเข้าถึงกุศลธรรมอยู่เป็นสุข  ไม่คับแค้น  ไม่เดือดร้อน
พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม  เจริญกุศลธรรม  ภิกษุ
เหล่านั้นรับภาษิตของท่านแล้วลาไป.
      ตรัสยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะก็มี  ดังตรัส
แก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ภิกษุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและ
โมคคัลลานะเถิด  เธอเป็นผู้มีปัญญา  อนุเคราะห์สพรหมจารีเพื่อน
บรรพชิตทั้งหลาย  สารีบุตร  เปรียบเหมือนมารดาผู้ให้เกิด  โมคคัลลานะ
เปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น  สารีบุตร  ย่อมแนะนำ
ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้อง
บนที่สูงกว่านั้น.
      เพราะทรงยกย่องไว้อย่างนี้กระมัง  จึงมีคำกล่าวยกย่องพระสารี-
บุตรและโมคคัลลานะคู่นี้ว่า  เป็นพระอัครสาวก  แปลว่า  พระสาวกเลิศ.
ถ้าหมายเอาคุณสมบัติในพระองค์ของท่าน  ก็ฟังได้  เช่นเดียวกับใน
พวกบุตรในสกุล  บุตรผู้ใดหลักแหลมและสามารถ  บุตรผู้นั้นย่อมเชิดชู
สกุล.   แต่พระอรรถกถาจารย์พรรณนาถึงความเป็นพระอัครสาวกนี้ว่า
พระศาสดา  ทรงตั้งอย่างตั้งสมณศักดิ์  พระสารีบุตรเป็นฝ่ายขวา  พระ-
โมคคัลลานะเป็นฝ่ายซ้าย  ในเวลาเข้าประชุมสงฆ์  นั่งทางพระปรัสขวา
ซ้าย.   น่าเห็นว่าเอาอย่างมาจากพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งข้าราชการ  เพราะ
ในสมัยที่รจนาอรรถกถานั้น  ยังมีพระราชาทรงราชย์อยู่ในลังกาทวีป.
ถ้าการตั้งแต่งมีมูลอยู่บ้างไซร้  น่าสันนิษฐานว่าทรงมอบภารธุระให้เป็น
คณาจารย์ใหญ่  แยกคณะออกไปสอนพระศาสนา  พระสารีบุตรเป็นหัว
คณะในฝ่ายทักษิณ  พระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้าคณะในฝ่ายอุดร.   เช่นนี้
สมคำว่า  พระอัครสาวก ๒ พระองค์นั้น  เป็นผู้มีบริษัทบริวาร  และ
สมคำว่า  เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาคือทักษิณ  และพระอัครสาวกฝ่าย
ซ้ายคืออุดร  นอกจากนี้  ยังไม่พบร่องรอยที่กล่าวถึงเรื่องนี้เลย.
      มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า  พระธรรมเสนาบดี
นี้เป็นคำเลียนมาจากคำเรียกแม่ทัพ   ดังจะกลับความให้ตรงกันข้าม
กองทัพอันทำยุทธ์ยกไปถึงไหน  ย่อมแผ่อนัตถะถึงนั่น.   กองพระสงฆ์
ผู้ประกาศพระศาสนา  ได้ชื่อว่า  ธรรมเสนา  กองทัพฝ่ายธรรมหรือ
ประกาศธรรม  จาริกไปถึงไหน  ย่อมแผ่หิตสุขถึงนั่น.  พระศาสดาเป็น
จอมธรรมเสนา  เรียกว่าพระธรรมราชา.   พระสารีบุตรเป็นกำลังใหญ่
ของพระศาสดา  ในภารธุระนี้  ได้สมญาว่า  พระธรรมเสนาบดี  นายทัพ
ฝ่ายธรรม.
      พระสารีบุตร  มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาอย่างไร
พึงเห็นในเรื่องสาธกต่อไปนี้.   มีภิกษุรูปหนึ่ง  ชื่อยมกะ  มีความเห็น
เป็นทิฏฐิว่า  พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ.   ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า
เห็นอย่างนั้นผิด  เธอไม่เชื่อ  ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความ
เห็นนั้นได้  จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยว่า.   ท่านถามเธอว่า  ยมกะ
ท่านสำคัญความนั้นอย่างไร ?  ท่านสำคัญ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร
วิญญาณ ๕ ขันธ์นี้ว่าพระขีณาสพ  หรือ ?
      ย.    ไม่ใช่อย่างนั้น.
      สา.   ท่านเห็นว่าพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นหรือ ?
      ย.    ไม่ใช่อย่างนั้น.
      สา.   ท่านเห็นว่าพระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ นั้นหรือ ?
      ย.    ไม่ใช่อย่างนั้น.
      สา.   ท่านเห็นพระขีณาสพว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือ ?
      ย.    ไม่ใช่อย่างนั้น.
      สา.   ท่านเห็นพระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ ?
      ย.    ไม่ใช่อย่างนั้น.
      สา.   ยมกะ  ท่านหาพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นไม่ได้โดยจริง
อย่างนี้  ควรหรือจะพูดยืนยันอย่างนั้นว่า  พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ
ดังนี้.
      ย.    แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่รู้  จึงได้มีความเห็นผิดเช่นนั้น   บัดนี้
ข้าพเจ้าได้ฟังท่านว่า  จึงละความเห็นผิดนั้นได้  และได้บรรลุธรรม
พิเศษด้วย.
      สา.   ยมกะ  ถ้าเขาถามท่านว่า  พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร ?
ท่านจะแก้อย่างไร ?
      ย.    ถ้าเขาถามข้าพเจ้าอย่างนี้  ข้าพเจ้าจะแก้ว่า  รูป  เวทนา
สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ที่ไม่เที่ยงดับไปแล้ว.
      สา.   ดีละ ๆ ยมกะ  เราจะอุปมาให้ท่านฟัง  เพื่อจะให้ความข้อ
นั้นชัดขึ้น  เหมือนหนึ่งคฤหบดีเป็นคนมั่งมี  รักษาตัวแข็งแรง  ผู้ใด
ผู้หนึ่งคิดจะฆ่าคฤหบดีนั้น  จึงนึกว่า  เขาเป็นคนมั่งมี  และรักษาตัว
แข็งแรง  จะฆ่าโดยพลการเห็นจะไม่ได้ง่าย  จำจะต้องลอบฆ่าโดยอุบาย
ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว  จึงเข้าไปเป็นคนรับใช้ของคฤหบดีนั้น  หมั่นคอย
รับใช้  จนคุ้นเคยกันแล้ว   ครั้นเห็นคฤหบดีนั้นเผลอ  ก็ฆ่าเสียด้วย
ศัสตราที่คม.   ยมกะ  ท่านจะเห็นอย่างไร  คฤหบดีนั้น  เวลาผู้ฆ่านั้น
เขามาขออยู่รับใช้สอยก็ดี  เวลาให้ใช้สอยอยู่ก็ดี  เวลาฆ่าตัวก็ดี  ไม่รู้
ว่าผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา  อย่างนี้  มิใช่หรือ ?
      ย.    อย่างนี้แล  ท่านผู้มีอายุ.
      สา.   ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังแล้วก็ฉันนั้น  เขาเห็นรูป  เวทนา  สัญญา
สังขาร  วิญญาณ  ว่าเป็นตนบ้าง  เห็นตนว่ามีรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร
วิญญาณบ้าง  เห็นรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ในตนบ้าง
เห็นตนในรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณบ้าง  ไม่รู้จักขันธ์ ๕
นักธรรมโท - อนุพุทธประวัติ - หน้าที่ 35
นั้น  อันไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตน  ปัจจัยตกแต่งดุจเป็นผู้ฆ่า  ตาม
เป็นจริงอย่างไร  ย่อมถือมั่นขันธ์ ๕ นั้นว่าตัวของเรา  ขันธ์ ๕ ที่เขา
ถือมั่นนั้น  ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์สิ้นกาลนาน
ส่วนอริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว  ไม่พิจารณาเห็นเช่นนั้นรู้ชัดตามเป็นจริงแล้ว
อย่างไร  ท่านไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าตัวของเรา  ขันธ์ ๕ที่ท่านไม่ถือ
มั่นนั้น  ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขสิ้นกาลนาน.   ธรรมบรรยาย
อื่นอีกของพระสารีบุตร  พระธรรมสังคาหกาจารย์  สังคีติไว้ในพระสุต-
ตันตปิฎก  ที่เป็นสูตรยาว ๆ ก็มี  เช่นสังคีติสูตร๑  แล  ทสุตตรสูตร๒
แสดงธรรมเป็นหมวด ๆ  ตั้งแต่ ๑ ขึ้นไปถึง ๑๐   ในทีฆนิกายที่เป็น
สูตรปานกลางก็มี  เช่น  สัมมาทิฏฐิสูตร๓  แสดงอาการแห่งสัมมาทิฏฐิ
ละอย่าง ๆ และอนังคณสูตร๔  แสดงกิเลสอันยวนใจ  ที่เรียกว่า  อังคณะ
และความต่างแห่งบุคคลผู้มีอังคณะ  และ  หาอังคณะมิได้ในมัชฌิมนิกาย
ธรรมบรรยายประเภทนี้  ยังมีอีกหลายสูตร.  ยังมีปกรณ์ที่ว่าเป็นภาษิต
ของพระสารีบุตรอยู่อีก คือ ปฏิสัมภิทามรรค  กล่าวถึงญาณต่างประเภท
ยกพระพุทธภาษิตเสีย  ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวก
อื่น.
      พระสารีบุตรนั้น  ปรากฏโดยความเป็นผู้กตัญญู.   ท่านได้ฟัง
ธรรมอันพระอัสสชิแสดง  ได้ธรรมจักษุแล้ว  มาอุปสมบทในพระพุทธ-
ศาสนา  ดังกล่าวแล้วในหนหลัง  ตั้งแต่นั้นมา  ท่านนับถือพระอัสสชิ
เป็นอาจารย์.  มีเรื่องเล่าว่า  พระอัสสชิอยู่ทิศใด  เมื่อท่านจะนอน

นมัสการไปทางทิศนั้นก่อน  และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น.   ภิกษุ
ผู้ไม่รู้เรื่องย่อมสำคัญว่า  ท่านนอบน้อมทิศตามลัทธิของพวกมิจฉา-
ทิฏฐิ.   ความทราบถึงพระศาสดา  ตรัสแก้ว่า  ท่านมิได้นอบน้อม
ทิศ,  ท่านนมัสการการพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์  แล้วประทานพระพุทธา-
นุศาสนีว่า  พุทธมามกะ  รู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธะแสดงแล้ว
จากท่านผู้ใด  ควรนมัสการท่านผู้นั้นโดยเคารพ  เหมือนพราหมณ์บูชา
ยัญอันเนื่องด้วยเพลิง.   อีกเรื่องหนึ่งว่า  มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง  ชื่อราธะ
ปรารถนาจะอุปสมบท   แต่เพราะเป็นผู้ชราเกินไป  ภิกษุทั้งหลายไม่รับ
อุปสมบทให้.  ราธะเสียใจ  เพราะไม่ได้สมปรารถนา  มีร่างกายซูบซีด
ผิวพรรณไม่สดใส.  พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นผิดไปกว่าปกติ  ตรัส
ถามทราบความแล้ว  ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า  มีใครระลึกถึงอุปการะ
ของราธะได้บ้าง ?   พระสารีบุตรกราบทูลว่า  ท่านระลึกได้อยู่  ครั้งหนึ่ง
ท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์   ราธะได้ถวายภิกษาแก่ท่านทัพพี
หนึ่ง.   พระศาสดาทรงสรรเสริญว่า  ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก  อุปการะ
เพียงเท่านี้ก็ยังจำได้  จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์.
      พระสารีบุตรนั้น  ปรินิพพานก่อนพระศาสดา  สันนิษฐานว่า
ในมัชฌิมโพธิกาล  คือปูนกลางแห่งตรัสรู้  เพราะในปัจฉิมโพธิกาล  คือ
ปูนหลังแห่งตรัสรู้  บาลีมิได้กล่าวถึงเลย.   แต่ในสาวกนิพพานปริวัตร
แห่งปฐมสมโพธิ ๓๐ ปริเฉท  กล่าวว่า  พระสารีบุตรอยู่มาถึงปัจฉิม-
โพธิกาล  พรรษาที่ ๔๕ ล่วงไปแล้ว   แต่ในมหาปรินิพพานสูตรมิได้
กล่าวถึงเลย.   ในปกรณ์ต้น  เล่าถึงเรื่องปรินิพพานแห่งพระสารีบุตรว่า
นักธรรมโท - อนุพุทธประวัติ - หน้าที่ 37
ท่านพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว  ปรารถนาจะไปโปรดมารดา
เป็นครั้งที่สุด แล้วปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด อธิบายว่า นางสารีมารดา
ท่าน  เป็นผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  โทมนัสเพราะท่าน
และน้อง ๆ  พากันออกบวชเสีย   ท่านพยายามชักจูงมาในพระพุทธ-
ศาสนาหลายครั้งแล้ว  ยังมิสำเร็จ  จึงดำริจะไปโปรดเป็นครั้งสุดท้าย
ท่านทูลลาพระศาสดาไปกับพระจุนทะผู้น้องกับบริวาร  ไปถึงบ้านเดิม
แล้ว  เกิดโรคปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น  ในเวลากำลังอาพาธอยู่นั้น
ได้เทศนาโปรดมารดาสำเร็จ  นางได้บรรลุพระโสดาปัตติผล  พอเวลา
ปัจจุสมัย  สุดวันเพ็ญแห่งกัตติกมาส  พระเถรเจ้าปรินิพพาน.  รุ่งขึ้นพระ
จุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้าเสร็จ  เก็บอัฐิธาตุนำไปถวาย
พระศาสดา  ในเวลาประทับอยู่ ณ พระเชตวัน  กรุงสาวัตถี  โปรดให้
ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระเถรเจ้าไว้ ณ ที่นั้น.
      การที่จะกล่าวถึงพระสารีบุตรไปปรินิพพานที่บ้านเดิมนั้น  แผกจาก
อาการของพระสาวกในครั้งนั้น.  ถ้าเป็นเดินทางไป  เข้าพักอาศัยที่บ้าน
เกิดโรคปัจจุบันขึ้นแล้วปรินิพพาน  มีทางอยู่.   มีเรื่องเล่าถึงภิกษุเดิน
ทางเข้าอาศัยบ้านก็มี.   โดยที่สุด  พระศาสดาเอง  เสด็จพักในโรงช่าง
หม้อก็มี.  ถ้าท่านรู้ตัวและตั้งใจจะปรินิพพานที่นั่น  เพื่อโปรดมารดา
ดังกล่าวในปกรณ์  อย่างนี้เป็นเช่นภิกษุอาพาธ  ปรารถนาจะไปรักษาตัว
ที่บ้าน   ครั้นไปแล้ว  ถึงมรณะที่นั่น.  ยุกติเป็นอย่างไร  นักตำนาน
จงสันนิษฐานเอาเองเถิด.