สงกรานต์นี้ว่างจากภารกิจทั้งหลายค่ะ กอปรกับอายุได้ล่วงเลยวัยที่จะออกไปเล่นสาดน้ำข้างนอกแล้ว แต่เมื่ออยู่เฉยๆก็เบื่อ เลยนึกได้ว่ามีอะไรอยากแบ่งปันกับท่านทั้งหลายในบอร์ดเพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ขึ้นอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน
อนุสนธิที่ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเสียมารยาทปะทะคารมกับอดีตสมาชิกบอร์ดท่านหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อพระกฤษณะ และตั้งใจไว้ตั้งแต่นั้นว่าจะหาโอกาสชวนทุกท่านคุยเรื่องนี้ต่อ แต่จนแล้วจนรอดก็หามีโอกาสและเวลาไม่ จึงว่างเว้นไปเสียนาน ดังนี้ ในโอกาสขึ้นปีใหม่ของไทย (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวแก่พระกฤษณะเลย แต่ว่าดิฉันว่างพอดี)จึงขอเชิญเพื่อนสมาชิกบอร์ดทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นนี้กันค่ะ
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F0b50bcb8f578fecc980126cdcf134cf4.jpeg&hash=7c9f6e2878e28d0f339f87953577491e3bbf1943) (http://www.upchill.com/image.php?id=0b50bcb8f578fecc980126cdcf134cf4)
บทความนี้ปรับปรุงมาจากตอนที่ทำรายงานส่งอาจารย์สมัยเรียนประวัติศาสตร์เอเชียใต้เมื่อ ปี2 หรือ ปี3 ค่ะ พอดีไปค้นเจอเอามาแก้ๆเสียหน่อย ตรงไหนผิดพลาดขอเชิญทุกท่านต่อเติมค่ะ
มหากาพย์มหาภารตยุทธกับการรับรู้ของสังคมไทย
มหากาพย์มหาภารตยุทธ ถือเป็นวรรณกรรมโบราณที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและแนวคิดของคนในภารตประเทศเป็นอย่างยิ่งนับเนื่องจากอดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังที่ยะวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า "แม้ว่ารามายณะจะเป็นมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ และเป็นที่รักของประชาชนโดยทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว ต้องนับว่ามหากาพย์มหาภารตะต่างหากที่เป็นวรรณกรรมสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของโลก มหากาพย์มหาภารตะมีความยาวมหึมา เป็นสารานุกรมหรือที่รวมของเรื่องเรื่องราวปรัมปรา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนความรู้อันเกี่ยวกับสถาบันทางสังคมและการเมืองของอินเดียในสมัยโบราณ
มหากาพย์ที่มีความยาวถึง 100,000 โศลก หรือประมาณเจ็ดเท่าของมหากาพย์อีเลียตและโอดิสซี ที่ชาวตะวันตกถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นต้นธารแห่งอารยธรรมของพวกเขานี้ แต่งขึ้นโดยฤาษีกฤษณะ ไทวปานยะหรือนามที่เราทั้งหลายรู้จักกันดีว่า เวท วยาส นักวิชาการหลายสาขาลงความเห็นว่า มหากาพย์เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อราว 1,400 – 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (ประมาณ 3,000 กว่าปีมาแล้ว) และคงจะได้รับการต่อเติมเสริมแต่งเรื่องมาจนกระทั่งประมาณ พ.ศ.743 จึงมีเรื่องราวอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ และแบ่งออกเป็นสองฉบับใหญ่ คือ ฉบับที่แพร่หลายทางอินเดียในตอนเหนือ และฉบับที่แพร่หลายในอินเดียทางตอนใต้
จะอย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆของอินเดียที่ส่งอิทธิพลให้กับดินแดนต่างๆทั่วโลก มหาภารตยุทธก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วเช่นกัน และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างยิ่ง คำถามที่น่าสนใจก็คือในเมื่อมหากาพย์เรื่องนี้มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรและเป็นที่ยอมรับนับถือเท่าๆกับหรือมากกว่ามหากาพย์รามายณะ แต่ทำไมมหาภารตะจึงหายไปหลงเหลือแต่รามายณะ....ในเวลานี้
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F19928fc3ad96c576ccb8e0d9f113e7cc.jpg&hash=1df8e77f190ee1db0502186158b97b5970d323ab) (http://www.upchill.com/image.php?id=19928fc3ad96c576ccb8e0d9f113e7cc)
มหาภารตยุทธก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
นับตั้งแต่อดีตกาล ผู้คนในเอเชียตะวันออกรู้จักและคุ้นเคยกับมหากาพย์มหาภารตยุทธเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ในเหล่านักบวชและชนชั้นปกครองซึ่งมีศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูเป็นเครื่องพยุงสถานะ หลักฐานที่เห็นได้ชัดก็คือภาพสลักในเทวสถานหลายแห่งเล่าเรื่องราวมหาภารตยุทธ ที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดก็คือระเบียงคดของปราสาทนครวัด
ในพื้นที่ที่จะกลายมาเป็นประเทศไทย เรายังได้พบเทวสถานสำคัญซึ่งมีการสลักเสลาภาพเล่าเรื่องมหาภารตยุทธ เช่น ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง, เป็นต้น
นอกจากภาพสลักแล้ว เรายังพบโบราณวัตถจำพวกเทวรูปหลายชิ้น ที่เกี่ยวพันหรืออาจเกี่ยวพันกับมหาภารตยุทธ อาทิ เทวรูปหินทราย เป็นบุคคลสวมหมวกทรงกระบอก ยกแขนข้างหนึ่งขึ้น ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าคือรูปพระกฤษณะกำลังยกภูเขาโควรรธนะ เป็นต้น
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2Fa7ec627d27cd435bbb794209a0b481a2.jpg&hash=b9d13455eacb39e9b807e49c2d3ac01bb101fcdd) (http://www.upchill.com/image.php?id=a7ec627d27cd435bbb794209a0b481a2)
พระกฤษณะปราบช้างกุวัลยปิถะที่ปราสาทพิมาย
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F832cbf4d829b95a558f3f338fbbab4eb.jpg&hash=7a742cca714c6fa79c54bf51b77f4e1792a1060b) (http://www.upchill.com/image.php?id=832cbf4d829b95a558f3f338fbbab4eb)
พระกฤษณะปราบกาลิยะนาค
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F7393ca68b646ac324863a2283734c8bd.jpg&hash=7e8b54ddf2bb6af5caa104dae710e75036ca084d) (http://www.upchill.com/image.php?id=7393ca68b646ac324863a2283734c8bd)
สันนิษฐานว่าพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ที่เมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์
มหาภารตยุทธในสมัยสุโขทัย – อยุธยา
ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันว่ามหาภารตยุทธหรือแม้กระทั่งรารมายณะเองยังเป็นที่รู้จักในสมัยสุโขทัยหรือไม่ เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ในเวลานี้ยังไม่มีชิ้นใดระบุได้ว่าอิทธิพลของมหากาพย์ทั้งสองแพร่หลายมาถึง ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าพระนาม 'รามคำแหง' ของกษัตริย์สุโขทัยนั้นหมายถึงพระรามจันทราวตาร ในมหากาพย์รามายณะ แต่นักวิชาการด้านศาสนวิทยา, คติชนวิทยาและภาษาศาสตร์หลายท่าน อาทิ ศ.ประเสริฐ ณ นคร ลงความเห็นว่า พระนาม 'ราม' นั้น หาได้หมายถึงพระรามในคติฮินดูไม่ แต่หมายถึง 'พระราม' อันเป็นนามของอนาคตพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งที่คัมภีร์อนาคตวงศ์ ระบุว่าจะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคตโลก คัมภีร์นี้คงแพร่หลายอย่างยิ่งแล้วในเวลานั้นเพราะในกาลต่อมาเป็นหนึ่งใน 'หนังสืออ้างอิง' ที่ พระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 ทรงใช้ในการแต่งไตรภูมิพระร่วงเมื่อปี 1888
นอกจากเทวรูปหมู่หนึ่งที่กษัตริย์ผู้ทรงธรรมพระองค์นั้นทรงสร้างขึ้นและประดิษฐานไว้ ณ เทวาลัยมหาเกษตรพิมานในเมืองสุโขทัยแล้ว ดูเหมือนว่าเรื่องราวของพระเป็นเจ้าในสมัยสุโขทัยจะมีเหลือมาถึงเราน้อยเต็มที
แต่กุญแจดอกสำคัญของอิทธิพลมหาภารตยุทธในอาณาจักรสุโขทัย กลับเด่นชัดขึ้นเมื่อปลายสมัย เมื่อปรากฏพระนามของขัตยราชพระองค์หนึ่งในราชวงศ์พระร่วงว่า 'พระเจ้ายุทธิษเฐียรหรือยุทธิษฐิระ'
เจ้าชายพระองค์นี้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาบรมปาล ปัจฉิมกษัตริย์แห่งอาณาจัรสุโขทัยซึ่งขณะนั้นมีราชธานีอยู่ที่เมืองสองแคว และเป็นพระสหายของ 'พระราเมศวร'ขัติยชาติที่ทรงมีเชื่อสายทั้งพระราชวงศ์พระร่วงทางฝ่ายพระมารดาและราชวงศ์ผู้ครองอยุธยาจากฝ่ายพระราชบิดา
เจ้าชายทั้งสองตกลงกันว่าถ้าพระราเมศวรได้รับการสถาปนาให้ปกครองแผ่นดินอยุธยาซึ่งเวลานั้นมีอำนาจเหนือสุโขทัยแล้ว จะต้องสถาปนาเจ้าชายยุทธิษเฐียรเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยด้วย แต่การณ์หาได้เป็นไปดังนั้นไม่
เพราะเมื่อพระราเมศวรทรงครองกรุงศรีอยุธยาในพระนาม 'สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ' แล้ว ต้องปรับปรุงรูปแบบการปกครองเสียใหม่ ลดอำนาจเจ้าท้องถิ่นลง เจ้าชายยุทธิษเฐียรจึงเป็นได้แค่ 'เจ้าเมืองสองแคว' มิใช่กษัตริย์ นั่นทำให้พระองค์เปลี่ยนพระทัยไปเข้าข้างศัตรูของอยุธยา คืออาณาจักรล้านนา และได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราชให้ขึ้นไปครองเมืองพะเยา
ยังปรากฏพระพุทธรูปสำริดเนื้อสุกใสองค์หนึ่ง ซึ่งจารึกที่ฐานกล่าวว่า
ศักราช 1389 เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ วันอาทิตย์ อุตรภัทรนักษัตร โสริยาม พระราชาผู้เป็นใหญ่ ทรงพระนามว่า "พระเจ้ายุทธิษฐิรราม" เป็นพระราชาผู้ครองเมืองอภินว ทรงประสูติในวงศ์ของนักรบผู้กล้าหาญเป็นเยี่ยม ทรงประกอบด้วยธรรม แตกฉานพระไตรปิฎก ได้สร้างพระพุทธรูปทององค์นี้ มีนำหนักประมาณ14 พัน เพื่อดำรง (พระศาสนา) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้
<o:p> </o:p>
อันพระนามยุทธิษเฐียรหรือยุทธิษฐิระนี้ ย่อมทราบกันดีว่าคือพระนามของหนึ่งในภราดาปาณฑพ โอรสของนางกุนตีที่เกิดจากพระธรรมเทพ
นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อที่น่าสนใจอีกชื่อหนึ่ง ในศิลาจารึกหลักที่สอง ซึ่งพบที่อุโมงค์วัดศรีชุมในเมืองสุโขทัย เป็นจารึกที่บอกเล่าเรื่องราวของพระเถระสำคัญรูหนึ่งของสุโขทัยคือ 'สมเด็จพระมหาเถรศรีสัทธาราชจุฬามุนี ศรีรัตนลงกาทีป มหาสามีเป็นเจ้า' ซึ่งทรงมีพระชาติกำเนิดเป้ฯเชื้อพระวงศ์เก่าแก่ของสุโขทัย ก่อนจะเสด็จออกผนวชและจาริกไปยังเมืองต่างจนถึงเมืองลังกาและทรงได้รับการยอมรับนับถือเป็นอย่างยิ่งในเมืองนั้น
ตอนหนึ่งของจารึกกล่าวว่าเสด็จไปถึงยัง 'นครพระกฤษณ์' ซึ่งมีพระเจดีย์โบราณใหญ่โต และทรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคือเมืองนครปฐม
ชื่อนครพระกฤษณ์นั้น น่าสนใจมาก ด้วยเป็นที่ทราบกันว่านครปฐมนั้นคือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ที่มีนามคล้าย 'ทวารกา' นครของพระกฤษณะ และอาจเป็นต้นเหตุทำให้พระมหาเถรฯทรงเรียกเมืองนี้ว่า 'นครพระกฤษณ์
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fa8.sphotos.ak.fbcdn.net%2Fhphotos-ak-ash1%2F180807_165101560208745_161083997277168_357745_6475583_n.jpg&hash=754c54713c1d10b6eec24d5681949d16dafe0208)
พระพุทธรุปสำริด ที่ฐานมีจารึกพระนาม'พระเจ้ายุทธิษฐิระ'
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F352c33ff845bb4f56d5f16fa59801848.gif&hash=3c80c6e0f1f9198d4a144d3ef85eb5fa749c69a6) (http://www.upchill.com/image.php?id=352c33ff845bb4f56d5f16fa59801848)
ศิลาจารึกหลักที่ 2
หลักฐานทีสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งยืนยันว่าคนอยุธยาคุ้นเคยกับมหาภารตยุทธกันอย่างดีก็คือ วรรณคดีเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์ ซึ่งฝีปราชญ์แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาและเป็ฯต้นเค้าของวรรณดีเรื่อง อุณรุท ซึ่งแต่งขั้นในสมัยหลัง
เนื้อเรื่องของวรรรกรรมเหล่สนี้กล่าวถึงพระเจ้าอนิรุทธ์ หรืออุณรุท ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระกฤษณะ (ซึ่งในวรรณคดีไทยทั้งสองเรื่องเรียกว่า พระจักรกฤษณ์)
จึงอนุมานได้ว่าแม้มหาภารตยุทธจะไม่ได้ทรงอิทธิพลล้นหลามแก่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยา แต่ก็หาได้ห่างหายไปจากการรับรู้ของผู้คนไม่
เชื่อว่ากระทู้นี้คงร้างเช่นเดียวกับกระทู้อื่นๆที่ดิฉันเคยตั้งมา แต่อย่างไรก็ตามดิฉันจะพยายามตั้งกระทู้ทำนองนี้ขึ้นให้มาก เพื่อยืนยันว่าสมาชิกบอร์ดนี้ยังคงสนใจใฝ่หาและแบ่งปันความรู้กันอยู่ แม้จะมีดิฉันเพียงคนเดียวก็ตาม
และหวังว่ากระทู้นี้คงจะทำให้หลายๆท่านที่เข้ามาดูได้ทราบว่า HM หาได้เต็มไปด้วยคนที่เข้ามาเพื่อกิจร้ายต่างๆไม่ ที่สำคัญที่สุดคือจะได้กระตุ้นเตือนให้บรรยากาศแห่งความรักและการเรียนรู้ซึ่งห่างหายไปนานแล้วกลับมาอีกครั้ง
คราวหน้าจะมาต่อเรื่องดังนี้ค่ะ
มหาภารตยุทธในความรับรู้ของผู้คนยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์
วิเคราะห์เหตุ 'ทำไมพระกฤษณะในสมัยรัตนโกสินทร์จึงไม่ได้รับการยอมรับเทียบเท่าพระราม'
ขอบพระคุณ คุณอินทุศีตาลา ที่นำสาระประโยชน์ทางวิชาการดีๆมาแบ่งปันให้กับเราชาว HM นะครับ
เป็นอีกมิติทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของประเทศไทยที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และศึกษาจริงๆครับ
ปล. รอติดตามอ่านตอนต่อไปอยู่นะครับ เป็นกำลังใจให้ครับผม
กำ.. อย่าเพิ่งท้อใจไปนะค่ะ
กระทู้ทรงคุณค่าเช่นนี้อิชั้นจะคอยติดตามและก็คิดว่าเพื่อนๆท่านอื่นก็จะเอาใจใส่และคอยติดตามเหมือนอิชั้นเช่นกันคะ
เราทำดีสักอย่างอิชั้นเชื่อว่าพรของพระเป็นเจ้า (ศรีกฤษณะ) ต้องสถิตอยู่กับตัวคุณอินทุศีตาลาอย่างแน่นอนคะ
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2Fbfd7ee6cd06f81689411763a95e11208.jpg&hash=24a673c2f87dd53239e658b2584a3c4941b14a12) (http://www.upchill.com/image.php?id=bfd7ee6cd06f81689411763a95e11208)
... จงมอบจิตใจให้เรา ภักดีต่อเราอุทิศบูชาและนอบน้อมต่อเรา เมื่อทำได้ดั่งนี้จึงจะเข้าถึงเรา
เราให้สัญญา เพราะท่านได้แสดงความภักดีต่อเราอย่างสุดตัว
โดยการอุทิศหน้าที่ทุกอย่างเพื่อเราผู้ทรงมหิทธานุภาพและยิ่งใหญ่กว่าเทพทั้งหมด
จงมีเราเป็นที่พึ่ง เราจะปลดเปลื้องความชั่วร้ายทั้งหลายให้ อย่าได้กังวลใจเลย
อนึ่ง.. ผู้ที่ภักดีต่อเราโดยไม่ภักดีต่อสิ่งอื่นใดอีก
อุทิศการงานเพื่อเรา บูชาเรา สำรวมจิตกำหนดที่เรา
คนเหล่านี้แหละอรชุน ที่เราจะช่วยให้หลุดพ้นจากมหาสมุทรแห่งความเกิดและความตาย
... ภควัทคีตา :: 18: 65-66 ; 12 :7
ขอพรแห่งพระหริคริชณะั ให้สำเร็จในทุกความปรารถนา
ฮเร คริชณะ ฮเร คริชณะ คริชณะ คริชณะ ฮเร ฮเร
ฮเร รามะ ฮเร รามะ รามะ รามะ ฮเร ฮเร
ขอบพระคุณคุณพี่ศรีมหามารตี, คุณอักษรชนนีและคุณ tomino ค่ะ ที่กรุณาแวะเวียนมาให้กำลังใจ ดิฉันหวังว่ากำลังเล้กๆของดิฉันจะมีส่วนแสดงให้โลกได้รู้ว่าบอร์ดนี้ยังเต็มไปด้วยไมตรี และยังเปี่ยมไปด้วยความรู้ เช่นเคย
ขออนุญาตต่อนะคะ
มหาภารตยุทธในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
ระยะเวลา 15 ปีในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หมดไปกับการกอบกู้บ้านเมืองทั้งในแง่ของการเมืองการปกครองและศิลปวัฒนธรรมกระแสหลัก ดังนั้นเรื่องราวของมหากาพย์มหาภารตยุทธจึงไม่มีหลงเหลือให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก
ล่วงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเด่นชัด บ้านเมืองเป็นปรกติสุขจนกระทั่งเริ่มมีการค้าขายและติดต่อสื่อสารกับนานาอารยประเทศอีกครั้ง นอกจากการรื้อฟื้นตำรับตำราและขนบธรรมเนียมโบราณอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างก็ได้ใช้ความเข้าใจเดิมที่ตนมีอยู่สร้างสรรค์ผลงานมากมายขึ้นมาประดับพระนคร หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภารตยุทธ
ในปี พ.ศ.2373 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีพราหมณ์เทศท่านหนึ่งเดินทางเข้ามายังพระนคร มีนามว่าพราหมณ์อัจจุตะนันนำมาแต่ชมพูทวีป และได้ให้การถึงความเป็นไปในเมืองพาราณสีบ้านเกิด แม้เนื้อความจะเป็นที่ถกเกถียงถึงข้อเท็จจริงทั้งในส่วนของผู้ให้การและคำแปล แต่เรื่องนี้ก็เป็นพยานว่ากรุงเทพมหานครมีการติดต่อสื่อสารกับพราหมณ์เทศมาตั้งแต่เริ่มแรก และพราหมณ์เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามลัทธิของตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F5513c58ba13130a880ff2b8515f78119.jpg&hash=5a798a3191d358e15059be5d388a4f8509d0e0d4) (http://www.upchill.com/image.php?id=5513c58ba13130a880ff2b8515f78119)
เทวสถานสำหรับพระนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างขึ้น
หลักฐานทีทำให้เราเชื่อได้ว่าลัทธิความเชื่อแบบพราหมณ์อินเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวคิดของคนกรุงเทพฯ ก็คือสมุดภาพ 'ตำราเทวรูปและเทวดานพเคราะห์' ซึ่งมีถึง 5 เล่มสมุดไทย ที่สันนิษฐานว่าผู้ที่โปรดให้สร้างขึ้นก็คือเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในราวๆรัชกาลที่ 4 โยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ภาพต้นแบบในการเขียนภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส, วัดสุทัศน์เทพวราราม และอีกหลายๆ แห่ง
ตำราภาพเหล่านี้ปรากฏภาพเทพเจ้าพระองค์ต่างๆในปางต่างๆกันไป ตั้งแต่พระมหาเทพทั้งสามและอวตารในรูปแบบต่างๆ เรื่อยไปจนถึงพระศักติและเทพชั้นรอง อาทิ พระอุมาเทวี, พระลักษมีเทวี, พระขันธกุมาร, พระพิฆเณศวร เป็นต้น และบางภาพแม้ชื่อที่จารไว้ข้างภาพจะเพี้ยนไปบ้าง แต่เราก็ยังสามารถเทียบเคียงภาพเทพเจ้าต่างๆนั้นกับภาพเทพเจ้าตามคติอินเดีย อาทิ ภาพพระปรเมศวรปราบมุลาคะนีในสมุดไทยดำเลขที่ 32กับพระศิวะนาฎราช, ภาพพระอิศวรสร้างพระหิมพานในร่มไม้สกรมในสมุดไทยดำเลขที่ 70 กับพระทักษิณามูรติ และที่สำคัญคือพระนารายณ์ทรงขลุ่ยปราบอสูรเวรำภากับภาพพระพลเทพถือไทยในพระสมุทรูปพระไสยสาตร เลขที่ 33 กับพระกฤษณะและพระพลราม ซึ่งทำให้เราทราบว่าอย่างน้อยผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4 ก็คุ้นเคยกับรูปพระกฤษณะในฐานะอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ รวมไปถึงยังรู้จักพระพลราม ในชื่อ พระพลเทพ อีกด้วย
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F2f548802ffa2fa431d7759572d01d6ab.jpg&hash=a2eca8cd88876b011832402228af557e6677d485) (http://www.upchill.com/image.php?id=2f548802ffa2fa431d7759572d01d6ab)
ปล.ดิฉันจะพยายามทำลายความขี้เกียจของตัวเอง เอารูปภาพที่อ้างถึงเหล่านี้มาห้ชมกันในเร็ววันค่ะ
หลักฐานสำคัญอีกชั้นหนึ่งที่ยืนยันว่าชาวกรุงเทพรู้จักมหากาพย์มหาภารตยุทธอย่างดีก็คือ คำฉํนท์นิพนธ์เรื่อง 'กฤษณาสอนน้องคำฉํนท์' ซึ่งสันนิษฐานว่าพระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินทร์แต่งขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเค้าโครงเนื้อหามาจากชีวิตของนางเทราปตี หรือนางกฤษณาในที่นี้
อย่างไรก็ตามผู้ที่ทรงเข้าพระทัยแตกฉานในหมากาพย์มหาภารตยุทธ น่าจะเริ่มต้นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงพระราชนิพนธ์บทละครหลายเรื่องที่มีเค้าเป็นเรื่องแทรกอยู่ในมหาภารตยุทธ อาทิ ศกุนตลา, สาวิตรี เป็นต้น ทำให้ชื่อของมหาภารตยุทธเริ่มเป็นที่คุ้นเคยอย่างกว้างขวางอีกครั้งในหมู่นักปราชญ์ของไทยและแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2Fadfb0acd18f890b19be0869d356d4b4e.jpg&hash=772c1ba717e24c6d37f7a6871ecd113a73de2074) (http://www.upchill.com/image.php?id=adfb0acd18f890b19be0869d356d4b4e)
ศกุนตลาฝีมือครูเหม เวชกร
วิเคราะห์สาเหตุที่อิทธิพลต่อผู้คนของมหาภารตยุทธในดินแดนอุษาคเนย์เบาบางกว่ารามายณะ
ต้องยอมรับว่าแม้ศาสนาพราหมณ์จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม เฉพาะอย่างยิ่งในเขตประเทศไทย, กัมพูชา, พม่า, ลาวและอินโดนีเซียนับตั้งแต่อดีต ทว่าน้อยกว่าอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาหลักที่ผู้คนยอมรับนับถือจนใช้พุทธธรรมเป็นกรอบให้แก่ทัศนคติของตน
หากพิจารณาเฉพาะในหมู่ของชนชั้นปกครองแล้ว จะเห็นว่าระบอบเทวราชามักมีแนวคิดเรื่องพุทธราชาควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยเน้นให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในศีลธรรมจรรยา เป็นผู้แทนของความดีที่ไม่มีรอยด่างพร้อย เรื่องราวในมหากาพย์รามายณะสะท้อนภาพการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วชัดเจน โดยมีพระรามและทศกัณฐ์เป็นเครื่องหมาย การจะแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ให้เป็นพระเจ้าผู้ประเสริฐอย่างพระราม ซึ่งไม่ทรงมีข้อด่างพร้อยเลยจึงง่ายกว่าเมื่อเทียบกับพระกฤษณะซึ่งหลายครั้งทรงมีวีรกรรมที่ค่อนข้างจะคึกคะนอง โดยเฉพาะช่วงต้นแห่งพระชนม์ชีพ นอกจากนี้ตอนจบของมหากาพย์รามายณะ ยังงดงามยิ่งกว่าตอนจบของมหภารตที่พูดถึงการล่มสลายของพระราชวงศ์ยาทพและการสิ้นสูญนครทวารกาอันเป็นจุดเริ่มต้นของกลียุค
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F6a78446f5ccce6d8122e80c210c38406.jpg&hash=af18c80b728ebbfc0cb9dae876779caee93376b1) (http://www.upchill.com/image.php?id=6a78446f5ccce6d8122e80c210c38406)
พระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร
เราจึงเห็นการแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้ประเสริฐ โดยใช้พระรามเป็นสื่อ ยกตัวอย่างการถวายพระนาม "รามาธิบดี" แด่พระมหากษัตริย์ ทั้งในสยามและในกัมพูชา ทั้งนี้เพื่อยกย่องว่าทรงเป็นกษัตริย์และพระเจ้าผู้ประเสริฐ ดังนั้นเรื่องราวของรามายณะจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าในรูปแบบต่างๆ อาทิ จิตรกรรม, ประติมากรรม, วรรณกรรม, ศิลปะการแสดง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์
แต่เรื่องราวในมหากาพย์มหาภารตยุทธแม้กระทั่งเรื่องราวของพระกฤษณะกลายเป็นเรื่องย่อยที่ชี้ให้เห็นถึงฤทธานุภาพอันอเนกอนันต์ของพระเจ้าเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในฐานะ 'ของหลวง' อีกต่อไป
พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน'ลิลิตนารายณ์สิบปาง' ยิ่งย้ำชัดถึงทัศนคติของคนไทยและอาจหมายถึงคนทั่วทั้งอุษาคเนย์ที่มีต่อพระกฤษณะว่า ทรงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สะท้อนความเป็นมนุษย์มากกว่าพระราม ซึ่งกลายเป็นเทพเจ้าในอุดมคติไปแล้ว
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2F9fc79aca836d807d7f6e2d5c06ea4567.jpg&hash=a712fb4a4b60c72c8e2806cc925370cb67c49d14) (http://www.upchill.com/image.php?id=9fc79aca836d807d7f6e2d5c06ea4567)
ฉากการรบในรามายณะ ภาพสลักที่ระเบียงนครวัด
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2Fd831140425e02dfc58c6d658c9a907d7.jpg&hash=34aa3747b73bc9dd68c8257ed915532173e8751f) (http://www.upchill.com/image.php?id=d831140425e02dfc58c6d658c9a907d7)
พระกฤษณะทรงนำเสื้อผ้าของนางโคปีไปซ่อนขณะพวกนางเล่นน้ำอยู่
ดังนี้เราจึงได้รู้เห็นเรื่องราวในรามายณะมากกว่ามหาภารตยุทธ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่ามหากาพย์อันยิ่งใหญ่นี้ไม่มีอิทธิพลต่อผู้คนแถบนี้
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.upchill.com%2Fdirect%2Fd3cb3bc7d406cd894ee0b8fca15297a9.jpg&hash=c762491f2b74c92a7da9be0ffc13375287e1d0c6) (http://www.upchill.com/image.php?id=d3cb3bc7d406cd894ee0b8fca15297a9)
ที่แสดงมาทั้งหมดนี้เป็ฯความคิดของเด็กมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 เมื่อหลายปีมาแล้วนะคะ ย่อมมีส่วนผิดพลาดอยู่มาก และที่มั่นใจได้เลยก็คืออ่านไม่ค่อยีปเรื่องเท่าไร
ความมุ่งหมายสำคัญที่สุดของดิฉันไม่ได้อยู่ที่การให้ความรู้นะคะ เพราะถ้าหมายใจอย่างนั้น คงต้องผิดหวังเพราะทุกท่านก็น่าจะรู้ๆกันอยู่แล้ว แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของดิฉันคือการกระตุ้นให้ทุกท่านหันมาร่วมใจกันสร้างความสัมพันธ์อันดีและส่งเสริมบรรยกากาศแห่งการเรียนรู้ให้กลับมาสู่ 'บ้าน' ที่รักของเรามากกว่า
นอกจากนี้หากมีคุณประโยชน์ใดเกิดขึ้นจากบทความเหล่านี้ ดิฉันขอน้อมถวายเป็นเทวพลีแด่พระกฤษณะ เนื่องในโอกาสที่ดิฉันกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนสถานะครั้งสำคัญในชีวิต ขอได้โปรดอำนวยสุขให้กับดิฉันและผู้เป็นที่รักด้วย
และขอมอบบทความนี้เป็นมิตรพลีแด่ท่านทั้งหลายที่ได้สละเวลาอ่านแต่ต้นมาจนบัดนี้
อินทุศีตาลา
'ในเรื่องของอรรถ กาม ธรรมและโมกษะแล้ว สิ่งใดที่มีในมหาภารตสิ่งนั้นย่อมมีในโลก แต่หากสิ่งใดไม่มีในที่นี้แล้ว ย่อมไม่มีในโลกเช่นกัน'
ขอบคุณค้าบที่ได้นำสาระดีๆมาให้อ่านกัีนคับพี่โด่ง
ขอขอบพระคุณคุณอินทุศีตาลาอีกครั้งนะครับ สำหรับบทความดีๆที่นำมาให้ได้ร่วมกันเรียนรู้
ปล. ผมได้ทำการแก้โค๊ตที่ติดมากับตัวหนังสือให้เรียบร้อยแล้วนะครับ และได้เพิ่มเติมภาพหลวงพ่อนากที่เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนให้ด้วยครับ
ขอบพระคุณคุณอักษรชนนีมากค่ะ
โอ้ว์ ดีครับที่มีงานวิชาการในลักษณะนี้มาลงไว้ ถ้าคุณอินทุศีตาลาทำรายงานขนาดนี้ได้ตอนปีสอง เก็ตเอโลด 555
ขอบคุณครับ สำหรับบทความ และ บทวิเคราะห์ดีๆ แบบนี้ครับ
น่าติดตามครับ ถือว่าเป็นสิ่งที่ให้แง่คิด เหมาะแก่การนำไปค้นคว้าหาข้อมูลในเชิงลึกต่อไปอย่างแท้จริงครับ
รอติดตามเรื่อยๆ นะครับ
ปล. สมัยธนบุรี ส่วนมากรับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาครับ ที่เด่นหน่อย สำหรับมหาภารตะ ในสมัยธนบุรี คงหนีไม่พ้น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ครับ
ทำให้ผมชักอยากศึกษาเพิ่มขึ้น
เมื่อเช้า นั่งคิดอะไรเพลิน ๆ ก็นึกถึง มนตรา บทนึงขึ้นมา ที่จะมีอยู่ในหนังสือ "มนต์พิธี" ของเราชาวพุทธ