Loader

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เรื่อง "พระยายืนชิงช้า ในพระราชพิธีต

Started by อักษรชนนี, January 07, 2014, 19:15:46

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.


.
"ขอพระผู้เปนเจ้าเข้าสิงสู่เจ้าคุณ"
.
         คำพูดของพราหมณ์ที่กล่าวกับพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย จากหนังสือ COURT ข่าวราชการ เจ้านาย ๑๑ พระองค์ทรงช่วยกันแต่ง ทำให้นึกถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต ที่หากนับย้อนไปก่อนปี ๒๔๗๗ ในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ของแต่ละปี จะเป็นวันที่ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในวันแรกของพระราชพิธีตรียัมปวาย (ใน ๑ ปี มีพิธีโล้ชิงช้า ๒ วัน คือ วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ และวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่) โดยบุคคลหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญมากในพิธีโล้ชิงช้านี้ ก็คือ "พระยายืนชิงช้า" เพราะถูกสมมติให้เป็นพระอิศวรที่เสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ตามความเชื่อของพราหมณ์ โดยตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าจนถึงรัชกาลที่ ๓ เป็นหน้าที่ของข้าราชการตำแหน่ง "พระยาพลเทพ" จนมาถึงในรัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยนให้ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นผู้ที่ได้รับยศประโคมกลองชนะ มีบโทนแห่ ควรจะให้ได้แห่ให้เต็มเกียรติยศเสียคนละครั้งหนึ่งๆ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเปลี่ยนกันเป็นพระยายืนชิงช้าปีละคน สำหรับพระยาบางท่านที่มีคุณพิเศษต่างๆ ก็พระราชทานเสลี่ยงบ้าง กลศบ้าง ลอมพอกโหมดเกี้ยวลงยาบ้าง เป็นการเพิ่มเติม

         สำหรับการแต่งกายของพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายนี้ กำหนดให้พระยายืนชิงช้านุ่งผ้าเยียรบับ เรียกวิธีการนุ่งนั้นว่า "บ่าวขุน" คือ มีชายห้อยอยู่ข้างหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุย และลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ โดยเมื่อขบวนแห่พระยายืนชิงช้ามาถึงบริเวณเสาชิงช้าแล้ว ก็จะเข้าไปในโรงชมรม ที่มีลักษณะเป็นปะรำไม้ไผ่ดาดผ้าขาวเป็นเพดาน มีม่านสามด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวสำหรับนั่งราวหนึ่ง และสำหรับพิงอีกราวหนึ่ง

        หลังจากพระยายืนชิงช้าเข้าไปในโรงชมรม และนั่งที่ราวไม้ไผ่กลางชมรมแล้ว ก็จะยกเท้าข้างหนึ่งพาดที่บริเวณเข่าอีกข้างหนึ่ง (เหมือนท่าไขว่ห้าง) ให้เท้าข้างหนึ่งยันพื้นไว้ (มีผู้ให้ข้อสังเกตว่าเป็นท่าเดียวกับในตำนานที่พระอิศวรทรงยืนขณะโล้ชิงช้าทดสอบความแข็งแรงของโลกมนุษย์) โดยมีข้อกำหนดว่าพระยายืนชิงช้าจะต้องนั่งท่านี้ไปจนกว่านาลิวันจะโล้ชิงช้าเสร็จ (ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าหากพระยายืนชิงช้าทำเท้าตกลงพื้นทั้งสองข้าง ก็จะถูกปรับของที่ได้รับพระราชจากกษัตริย์ให้ตกเป็นของบรรดาพราหมณ์ผู้ประกอบพิธี)

       พิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย จัดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๔๗๗ โดยมี "พระยาชลมารคพิจารณ์ (ม.ล. พงศ์ สนิทวงศ์)" เป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย เนื่องจากภาวะประเทศในสมัยนั้น ต้องประสบกับปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเมือง ซึ่งการแห่พระยายืนชิงช้า และพิธีโล้ชิงช้าแต่ละปีนั้น ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จึงไม่เหมาะสมกับภาวะประเทศในยุคข้าวยากหมากแพงอีกต่อไป ดังนั้น ในช่วงหลังปี ๒๔๗๗ ทางราชการจึงได้มอบเงินจำนวน ๔๐๐ บาทให้แก่คณะพราหมณ์ เพื่อนำไปจัดพิธีบูชาพระเป็นเจ้าเนื่องในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เป็นการภายในที่เทวสถาน โดยไม่มีพิธีโล้ชิงช้าอีกต่อไป


เอกสารประกอบการเรียบเรียง :

คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: คลังวิทยา, ๒๕๑๐.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๕๒.

เทวสถาน. วารสารหอเวทวิทยาคม. ๑, ๑ (เมกราคม ๒๕๔๒)

หนังสือ COURT ข่าวราชการ เจ้านาย ๑๑ พระองค์ทรงช่วยกันแต่ง เล่ม ๑. พระนคร: โรงพิมพ์ไท, ๒๔๖๖.

อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น. พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑ เรื่อง พระราชประเพณี ตอน ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๔.

ภาพประกอบ :

ภาพจิตรกรรม "พระยายืนชิงช้า" บันทึกภาพจากพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ภาพ "พระยายืนชิงช้านั่งบนราวไม้กลางโรงชมรม" สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร


***เรียบเรียงบทความ และจัดทำภาพประกอบ โดย อักษรชนนี***
.
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0