Loader

บทสวดสรรเสริญพระศิวะ ((วิมุกโตทัย ))--00001

Started by กาลิทัส, January 28, 2009, 08:33:42

Previous topic - Next topic

0 Members and 3 Guests are viewing this topic.

บทสวดสรรเสริญพระศิวะ ((วิมุกโตทัย ))

บทสวดสรรเสริญพระศิวะ สันสกฤต-ไทย
ศรีหริทาส อนุวาทก
ศรีหริทาสแปลและให้อรรถาธิบาย
คำนิยมโดย
พระราชครูวามเทพมุนี
หัวหน้าคณะพราหมณ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า
ตามที่ผู้แปลได้นำ “วิมุกโตทัย” มาให้ได้อ่านดูแล้ว ได้เห็นถึงความมานะและอดทน ในการแปลและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคัมภีร์ในศาสนา เพื่อจะได้มีคำสวดมนต์ถึงองค์เทพต่างๆ โดยเฉพาะองค์พระศิวะเป็นเจ้า
การสวดมนต์ ก็เป็นบทถึงความดีของมนุษย์ ที่กระทำความดีเพื่อให้จิตใจเบิกบาน สามารถที่จะนำวิญญาณให้ไปร่วมกับความดีสูงสุด ในการสวดมนต์ ก็เป็นการฝึกกายจิต ให้มีระเบียบของชีวิตที่จะกระทำความดีให้ยิ่งขึ้นไป การสวดมนต์ ถ้าทำด้วยความไม่รู้ก็จะเรียกว่า หลงทาง ทำไปด้วยเสียเวลา ไม่สามารถนำจิตใจให้สูงจนถึงความดีสูงสุด เรียกว่างมงาย จากคัมภีร์ที่นำมาเป็นหลักในการแปล ก็เป็นความปรารถนาดีของผู้แปล แต่ความดีจะได้สมบูรณ์ ก็จะต้องศึกษาถึงองค์เทพ ที่ท่านมีจริยวัตรอย่างใด จึงทำให้เราสามารถรู้ถึงธรรมะในอวตารต่างๆ
ขอให้ผู้แปลจงมีแต่ความสุขศานติ ขอให้ผู้อ่านจงมีสติ ขอให้ผู้สวดจงไม่งมงาย ขอให้ความดีจงมีแด่ท่านที่ได้ศึกษา
โอม ศานติ
พระราชครูวามเทพมุนี
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
แรมสิบค่ำ เดือนสาม
คำนำโดย
อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
“ ครู ” ของผู้แปลและเรียบเรียง
วิมุกโตทัย บทสวดมนตร์ภาษาสันสกฤตทั้งอักษรเทวนาครีและอักษรไทย ที่ศรีหริทาสได้มีพลังแห่งศรัทธารวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น พร้อมคำแปลภาษาไทยไพเราะงดงาม เป็นผลงานที่มีคุณค่ายิ่งต่อวิถีแห่งภักติโยคะ อันมีเป้าหมายปลายทางที่โมกษะ ชั่วขณะแห่งการได้สัมผัสรู้บทสวดในวิมุกโตทัยนี้ ความปีติแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กายของข้าพเจ้าอย่างมิรู้ว่าจะบรรยายให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างไร ความปีติเบิกบานอันสุดจะพรรณนาได้นี้ เกิดแก่ข้าพเจ้าด้วยสาเหตุสำคัญสองประการ คือ ประการแรก บทสวดทุกบทในวิมุกโตทัย ทำให้ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับความไพเราะงดงามแห่งถ้อยคำและทำให้หยั่งถึงความหมายอันลุ่มลึกแห่งบทสวด ความไพเราะงดงามและความลุ่มลึกนี้ เป็นเหตุให้เกิดความปีติขึ้นในใจข้าพเจ้า ประการต่อมา วิมุกโตทัยนี้เป็นผลงานแห่งศรัทธาของศรีหริทาส ผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า ในชีวิตของครูคนหนึ่ง จะมีอะไรอีกเล่าที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า ได้เห็นศิษย์คนหนึ่งเจริญเติบโตในหนทางที่ครูพร่ำสอน ศรีหริทาสได้ทำให้น้ำตาแห่งปีติของครูหลั่งออกมา เพราะได้ประจักษ์ถึงความรู้ที่งอกงามขึ้นในใจศิษย์ จนสามารถน้อมตนลงรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ ดังชื่อว่าหริทาส และวิมุกโตทัยนี้คือผลงานของจิตใจที่ศรัทธาและภักดีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้านั้น
ขอศานติจงบังเกิดแก่สรรพสิ่ง
อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
แรมเก้าค่ำ เดือนสาม
คำนิยมโดย
ปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส
พราหมณาจารย์แห่งเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช กรุงเทพฯ
ข้าพเจ้าปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส แห่งเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช กรุงเทพฯ ได้ตรวจทานหนังสือ “วิมุกโตทัย ” บทสวดมนตร์สันสกฤต -ไทย ซึ่งศรีหริทาสผู้เป็นศิษย์ได้แปลและอธิบายความตามหลัก อไทฺตเวทานตะ เพื่อร่วมฉลองในเทศกาลมหาศิวราตรี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ข้าพเจ้าเห็นว่าเนื้อหามีความถูกต้องเหมาะสมดี ควรที่ศาสนิกชนทั่วไปจะได้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่มีความศรัทธาเป็นพิเศษในองค์พระศิวะ จะได้เกิดความเข้าใจและเพิ่มพูนศรัทธายิ่งขึ้น ขอพระเป็นเจ้าอำนวยพรแด่ทุกท่าน
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
แรมสามค่ำ เดือนผาลฺคุน
คุณความดีอันเกิดจากการแปลและเรียบเรียงขอมอบแด่
ท่านปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส ผู้เป็นกรุณาสาคร ท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
ครูผู้เป็นแรงบันดาลใจในชีวิต และพ่อ แม่ ผู้เป็นพระศิวะแลพระปารวตีของลูกเสมอ
|| ศฺรีะ ||
โอมฺ นมะ ศิวาย |
โอม ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระศิวะ
อารัมภกถา
( โปรดอ่าน )
สำหรับศาสนิกชนฮินดูที่แท้ ย่อมเคารพพระเป็นเจ้าทุกพระองค์โดยทั่วกัน เพราะเข้าใจว่าในสัจจะภาวะพระเป็นเจ้าทุกองค์ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน คำสอนทางศาสนาโดยเฉพาะในสายอไทฺวตเวทานตะอันมีท่านศรีอาทิศังกราจารย์ เป็นผู้สถาปนาให้มั่นคงนั้น เน้นย้ำว่าพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นองค์สัจธรรมสูงสุดนั้น ปราศจากคุณสมบัติใดๆ จะกล่าวขานหรือบรรยายด้วยถ้อยคำของมนุษย์ก็มิได้เพราะสภาวะดังกล่าวพ้นไปจากโลกสมมุติโดยสิ้นเชิง สภาวะนี้เรียกว่า “นิรคุณพรหมัน” คำว่า “พรหมัน” “อาตมัน” หรือ “ปรมาตมัน” เป็นคำที่พบได้บ่อยครั้งในปรัชญาอินเดีย ซึ่งหมายถึงสภาวะอันเป็นความจริงแท้ เป็นความจริงสูงสุด เป็นสารัตถะของสรรพสิ่งในจักรวาล คำๆนี้เป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของนักปราชญ์ทางศาสนาซึ่งต่างก็ตีความไปตามแนวทางของตน
ในสายอไทฺวตเวทานตะ นิรคุณพรหมันเป็นเอกภาวะเพียงอย่างเดียว หรือกล่าวได้ว่าเป็นความจริงหนึ่งเดียว แต่ด้วยเหตุผลอันสุดจะคาดเดาหรืออาจกล่าวตามอย่างโบราณาจารย์ว่าเป็นความบันเทิงของพระเป็นเจ้า นิรคุณพรหมันได้สำแดงตนออกมาให้เห็นเป็นพระเป็นเจ้าผู้มีคุณสมบัติต่างๆที่เรียกว่า “สคุณพรหมัน” หรือ “อีศวร” และยังทรงสำแดงออกมาเป็นจักรวาลแห่งวัตถุสสาร ด้วยพลังอำนาจ(ศักติ)ที่นอนเนื่องอยู่ในพระองค์อันเรียกว่า “มายา” เพราะความหลงในมายา สรรพชีวิตมิได้เข้าใจความจริงว่า หากเทียบกับสภาวะสูงสุดแล้วโลกและชีวิตภายนอกล้วนเป็นเพียงภาพเงา เป็นหมอกควัน และมิได้ตระหนักว่าตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงแท้ อันเป็นเอกภาวะ เป็นนิรันดรนั้น
โบราณจารย์เห็นว่ามนุษย์มีขีดขั้นแห่งสติปัญญาต่างกัน ดังนั้นท่านจึงเห็นควรที่จะให้มนุษย์ค่อยๆก้าวเดิน เริ่มจากความเข้าใจในเบื้องต้นไปสู่ความเข้าใจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นท่านจึงทำคำสอนให้อยู่ในรูปบุคลาธิษฐาน สคุณพรหมันนั้นถูกทำให้เป็นพระศิวะ ส่วนพลังมายาศักติได้กลายรูปมาเป็นพระแม่เจ้าอุมาฯ ดังที่เราจะเห็นว่าองค์พระแม่อุมาฯย่อมมีพระนามว่า “มหามายา” แลเราย่อมเรียกชายาของพระผู้เป็นเจ้าว่า “ศักติ” อันหมายความว่าทรงเป็นสภาวะพลัง “แม่” หรือพลังแห่งการรังสรรค์โลก
เนื่องจากมนุษย์มีความสนใจอันหลากหลาย โบราณาจารย์จึงได้เสนอทางเลือกเพื่อความหลุดพ้นไว้หลายแนวทางตามแต่อุปนิสัยของแต่ละคน แนวทางหนึ่งคือหนทางแห่งภักดี (ภักติมารค) ได้แก่การมีศรัทธาอุทิศถวายความรักความภักดีแด่พระเจ้า ตามประเพณีแล้วชาวฮินดูมี “เทวะที่ตนเคารพรักเป็นพิเศษ” หรือ “อิษฺฏเทวตา” เพื่อตนจะได้มีปฏิสัมพันธ์ทางศาสนากับเทวะองค์นั้น
พระศิวะจัดว่าเป็นพระเป็นเจ้าที่มีผู้เคารพรักมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ตามเทวตำนานกล่าวว่า พระองค์มีพระกรุณาสูงส่ง มีพระวรกายสีขาวชโลมด้วยเถ้าถ่าน(ภาสมะ) ทรงมุ่นมวยพระเกศาไว้บนพระเศียร ทรงทัดพระจันทร์เป็นปิ่น(จันทรเศขร) บนยอดพระเกศามีพระคงคาไหลวนอยู่(คงคาธร) มีสามพระเนตร(ตรีเนตร) พระเนตรตรงกลางพระนลาฏ(หน้าผาก)ถ้าลืมออกดูก็จะกลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์ผลาญโลก ทรงมีสังวาลเป็นนาค พระศอมีสีนิล(นีลกัณฐ์)เพราะยาพิษที่ทรงเสียสละดื่ม ทรงนุ่งห่มหนังเสือหรือหนังช้าง มีสองพระกร บ้างก็ว่าสี่พระกร ทรงตรีศูลเป็นอาวุธสำคัญ มีพระอุมาฯเป็นชายา พระคเณศแลพระสกันทะ(ไทยเรียก-ขันธกุมาร อินเดียใต้เรียก-พระสุพรหมัณย์)เป็นโอรส มีพระนิเวศที่เขาไกรลาศ รูปที่นิยมทำคือรูปทรงเข้าสมาธิ เพราะทรงเป็นบรมโยคี บ้างก็นิยมทำเป็นรูปมีห้าพระพักตร์อันเป็นสัญลักษณ์แสดงมูลธาตุทั้งห้าของโลกคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอวกาศ
พระศิวะจัดเป็นหนึ่งในพระตรีมูรติ อันได้แก่พระเป็นเจ้าที่สำแดงออกมาเป็นสามคุณลักษณะ คือการรังสรรค์(พรหมา) การรักษาหรือดำรงอยู่(วิษณุ) แลการแตกดับทำลาย(ศิวะ) แต่ชนนิกรที่นับถือไศวะนิกายย่อมถือว่าพระศิวะเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด พระเป็นเจ้าแลเทวะทั้งหมดย่อมรวมอยู่ในพระศิวะ
คนไทยโดยทั่วไปรู้จักพระศิวะดี แต่ก็ในแง่ “เทพเจ้า” เท่านั้น เพราะมัวสาละวนอยู่แต่กับ
เทวตำนาน อิทธิปาฏิหารย์แลพิธีกรรมการบูชาบวงสรวงต่างๆ ที่จริงแล้วพระศิวะอาจเป็นที่รู้จักได้ในแง่อื่นๆ เช่นในแง่ปรัชญา เป็นต้นว่า “ศิวะ” คือองค์คุณแห่งสภาวธรรมชาติเดิมแท้ หรือความจริงสูงสุด ซึ่งปราศจากการนิยามใดๆ “ศิวะ” เป็นแต่คำเรียกด้วยความคุ้นชินของ “พระเป็นเจ้า” หรือ “สัจธรรม” เท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ญาณกันเลย
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่าความศรัทธาแลความภักดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่ปัญญาญาณที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยความศรัทธาส่วนตนจึงดำริที่จะแปลบทสวดมนตร์จากภาษาสันสกฤตมาสู่ภาคไทยอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ พร้อมให้การอธิบายตามแนวทางที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสม เพื่อที่ผู้อ่านจะได้รับทั้งรสแห่งศรัทธาแลเพิ่มพูนปัญญาไปพร้อมๆกัน หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับอาจารย์ คือท่านปัณฑิตลลิต โมหัน วยาสแห่งเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เห็นควรให้มีชื่อ “วิมุกโตทัย” (วิมุกฺต-ความหลุดพ้น + อุทย โผล่ขึ้น เช่นอาทิตย์อุทัย) แปลว่า “ความหลุดพ้นที่อุทัยขึ้น” เพราะหากเราเพ่งพินิศความหมายต่างๆอันปรากฏอยู่ในบทสวดมนตร์เหล่านี้ด้วยใจสงบ ความหลุดพ้นย่อมจะอุทัยขึ้นไม่ช้าก็เร็ว หวังใจว่าหนังสือนี้จะเป็นการเปิดประตูไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นทั้งแก่ท่านผู้อ่านแลตัวข้าพเจ้า ส่วน “ศฺรีศิวสฺโตตฺราณิ” แปลว่า บทสวดสดุดีทั้งหลายแด่พระศิวะ
แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนดูเหมือนจะสนใจเทพเจ้าแลศาสนาพราหมณ์ฮินดูมากขึ้น อาจเป็นเพราะกระแสนิยมจากสื่อภาพยนตร์แลคนบันเทิง เทวสถานแลที่สักการะก็ดูเหมือนคนไปบูชามากมาย หนังสือหนังหาก็มีล้นตลาด แต่หากลองไปสำรวจตามแผงหนังสือจะพบว่า หนังสือเกี่ยวกับเทพเจ้าที่วางขายล้วนเป็นแต่เรื่องเทวตำนานเน้นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ บ้างก็ให้ข้อมูลผิดๆถูกๆ บ้างก็ให้การบูชาบทสวดมนตร์ที่แปลไปมั่วๆตั้งกฏเกณฑ์เอาเอง ซ้ำร้ายหนังสือที่ว่าขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำก็มีข้อเสียที่ไปหลงเทววิทยาประยุกต์แบบฝรั่งมิจฉาทิฐิ ซึ่งจับโน้นชนนี้ผสมปนเปไปเรื่อยเปื่อย
การที่คนทั่วไปที่สนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะชีวิตในสังคมปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะชีวิตในเมืองกรุง คนกรุงต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่หลายครั้งก็ทำไปอย่างเมามัว เห็นพระเป็นเจ้าเป็นตู้เอทีเอ็ม ที่จะกดเงินตอนไหนก็ได้ เห็นพระเป็นเจ้าเป็นบริษัทจัดหาคู่ เห็นพระเป็นเจ้าเป็นกองสลากขอเลขเด็ดๆตรงๆ เห็นพระเป็นเจ้าเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่อยากจะเข้าฯลฯ
ยังไม่นับพวกที่อยากจะไปเกี่ยวดองเป็นญาติกับพระเป็นเจ้า เรียกปู่บ้างย่าบ้าง เรียกพ่อเรียกแม่กันไปเรื่อยเปื่อย แม้ว่าพระเป็นเจ้าจะทรงพระกรุณามาก พระองค์อาจรักเราเช่นบุตร เช่นเพื่อน แต่เราควรอ่อนน้อมว่าตนเป็นเพียง “ข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อย” ไม่ควรอหังการอวดตนไปนับญาติกับพระเป็นเจ้า
ในเรื่องการขอพร ข้าพเจ้ามิได้เห็นว่าเราจะขอพรจากพระเป็นเจ้าไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ศาสนาพราหมณ์ ฮินดูทุกสำนักนิกายเชื่อเรื่อง “ กรรม” แม้จะมีรายละเอียดต่างจากพระพุทธศาสนาไปบ้าง ตรงที่ศาสนาฮินดูเห็นว่า พระเป็นเจ้าเป็นผู้อำนวยให้กรรมดำเนินไปโดยสะดวกตามวิถีของมัน ดั่งฝนที่ตกลงมาช่วยให้พืชเติบโต แต่การที่พืชจะโตมาเป็นต้นอะไรย่อมอยู่ที่ตัวพืชนั้นเอง มิใช่ฝน เราทำสิ่งใดเราก็จะได้รับสิ่งนั้น แม้พระเจ้าจะทรงพระกรุณามากแต่ก็ทรงเป็นเพียงผู้เกื้อหนุนมิใช่ผู้บงการ
ดังนั้นขอให้เราจงบูชาพระเป็นเจ้าเพียงเพราะเรามีความปรารถนาที่จะบูชา มิใช่ความปรารถนาในลาภผล ความสุขสงบแห่งการบูชาเป็นผลอันยิ่งใหญ่ที่เราได้รับในทันที ส่วนสิ่งอื่นๆก็ขอให้เป็นสิ่งที่อยู่ในดุลยพินิศของพระองค์ สาวกที่แท้จริงย่อมไม่เรียกร้องสิ่งใดจากพระเจ้าด้วยการบูชาของตัว ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างมาก เราก็ควรขอแค่กำลังใจ ขอความอบอุ่นใจแลความสงบ เพื่อที่เราจักได้มีกำลังในการต่อสู้ของชีวิต

เรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำต้องประกาศไว้ในที่นี้ คือ ศาสนาพราหมณ์ฮินดูไม่มีการทรงเจ้าเข้าผี พิธีการทรงเจ้าเข้าผีนั้นไม่มีอยู่ในคัมภีร์ใดๆทั้งของศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นเรื่องที่พราหมณ์ผู้รู้พระเวททั้งปวงไม่ยอมรับ ท่านพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ ตัวแทนของศาสนาพราหมณ์ฮินดูในประเทศไทยเคยกล่าวว่า การอ้างองค์เทพว่าตนมีภาวะอย่างนั้นอย่างนี้เทียบเท่าองค์เทพ ไม่อยู่ในแนวทางของความหลุดพ้น เป็นสิ่งไม่พึงกระทำ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่ง แลรู้สึกรับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้ ข้าพเจ้ามิได้รังเกียจการทรงเจ้าเข้าผีแบบชาวบ้าน ซึ่งมีหน้าที่บางประการในชุมชนชนบทไทย เช่น การรักษาโรคตามภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือการรักษาความสัมพันธ์ในชุมชน แต่รับไม่ได้กับการเอา “พระเป็นเจ้า”ในศาสนาไปเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ คนเหล่านี้ถ้าไม่หลอกลวงก็เป็นพวกมีสัญญาวิปลาสมีความผิดปกติในจิตใจตนเอง หรือไม่ก็เจ็บป่วย ทั้งนี้ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่าการดลใจโดยพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นย่อมเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ไม่สามารถบอกเล่าให้ผู้อื่นฟัง ดังเช่นที่บรรดาพระมุนีและโยคีต่างๆเคยประสบ
ขอให้ท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือนี้จดจำข้อนี้ให้ดี หากท่านเพิ่งจะเป็นผู้เริ่มสนใจก็ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและพึงรู้ว่า เราสามารถเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้โดยไม่ต้องพึ่งคนทรงเจ้าหรือผู้วิเศษใดๆทั้งสิ้น
ในส่วนของการแปล บทสวดมนตร์ส่วนใหญ่มาจากหนังสือ Hymns And Prayers To Gods And Goddesses ของ Advaita Ashrama ซึ่งข้าพเจ้าแปลจากภาษาสันสกฤตเทียบกับภาษาอังกฤษ และยังได้บทสวดมนตร์อีกจำนวนหนึ่งจากเวปไซต์ http ://www.sanskrit.gde.to/ ซึ่งเป็นเวปไซต์เผยแพร่บทประพันธ์แลบทความต่างๆอันเกี่ยวเนื่องภาษาสันสกฤตที่ใหญ่ที่สุดในโลกไซเบอร์ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีเป็นวิทยาทาน นับว่าควรต้องแสดงความขอบพระคุณแลประกาศเกียรติคุณไว้ ในส่วนการแปลเพลงอารตี ตริคุณสวามี กิ อารตี ซึ่งเป็นภาษาฮินดี ข้าพเจ้าถอดศัพท์ตามวิธีการในพจนานุกรมภาษาฮินดี ของ ผศ.ดร.บำรุง คำเอก เพราะแม้ว่าจะใช้อักษรเทวนาครีเหมือนกันแต่ก็ถือว่าเป็นคนละภาษากับสันสกฤต ส่วนการออกเสียงนั้นใกล้เคียงกันสามารถศึกษาเทียบเคียงได้
บางท่านอาจบ่นว่าการถอดภาษาสันสกฤตสู่ภาคไทยของข้าพเจ้าอ่านได้ยาก มีจุดพินทุนิคหิตดูรุงรัง แต่ข้าพเจ้ารักษาการถอดภาษาสันสกฤตสู่ภาคไทยอย่างเคร่งครัด ซึ่งย่อมถูกต้องแลมีประโยชน์กว่าการถอดเอาตามอำเภอใจ เพราะการถอดตามหลักย่อมช่วยให้รู้รูปคำศัพท์เดิม หากได้ศึกษามาบ้างก็จะเห็นว่าช่วยให้เข้าใจความหมายได้ดี แลจะไม่เกิดอักขรวิธีวิบัติผิดเพี้ยน บางคนถอด “เวท” เป็น “เวดาร์” แม้จะออกเสียงใกล้เคียงภาษาเดิมแต่คนไทยรู้จัก “พระเวท” ดีจึงไม่จำเป็นต้องถอดเช่นนั้น ขนมลัฑฑูที่พระคเณศโปรด ก็ไปถอดเป็น ลาดูป นับว่าผิดไปไกล
ข้าพเจ้าได้แทรกวิธีการออกเสียงสันสกฤตอย่างสังเขป เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่าน ขอให้ตั้งใจศึกษา หากสงสัยประการใดก็สามารถสอบถามเอากับเจ้าของภาษาได้เพราะข้าพเจ้าได้ใส่อักษรเทวนาครีไว้ด้วย แลบทสวดมนตร์ต่างๆในหนังสือนี้ก็มักมีชาวอินเดียนำไปสวดประกอบดนตรีอัดลงเทปซีดีไว้มากมาย คงค้นหาตามร้านค้าของชาวอินเดียได้ไม่ยาก
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอกราบระลึกถึงท่านอาทิศังกราจารย์ผู้ประเสริฐ ขอกราบขอบพระคุณท่านปัณฑิต อาจารย์ ศรีลลิต โมหัน วยาส ผู้เป็น “ ครู” ของข้าพเจ้า ตลอดเวลาที่ได้เป็นศิษย์ท่าน แม้ท่านจะมีภารกิจมากมาย แต่ความกรุณาของท่านที่มีต่อข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ท่านปัณฑิต ศรีพรหมานันทะ ผู้เป็นทั้งอาจารย์และมิตร ท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ครูผู้เป็นแรงบันดาลใจทั้งมวลในชีวิต หากข้าพเจ้าพอจะมีความดีใดๆอยู่บ้างก็เพราะได้มีบุญพบกับท่านผู้นี้นี่เอง ท่านผศ.ทัศนีย์ สินสกุลผู้ให้ความรู้ทางภาษาสันสกฤตแก่ข้าพเจ้าแลช่วยตวรจทานความถูกต้อง ข้าพเจ้าตระหนักเสมอว่าตนเองเป็นเพียง “นักเรียนภาษาสันสกฤต” ที่ยังอ่อนด้อยอยู่มาก แต่เพราะมีศรัทธาแก่กล้าจึงลุกขึ้นมาทำสิ่งที่นับว่าเกินตัวเช่นนี้ ความผิดพลาดใดๆข้าพเจ้าขอน้อมรับไว้แต่ผู้เดียว
ขอขอบคุณคุณลักษมี ผู้ที่คอยให้คำปรึกษาและให้ทุนสนับสนุนจำนวนมากหาก คุณศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยาที่กรุณาช่วยจัดรูปเล่ม คุณปวีณา วะน้ำค้างคุณพรรณรวี อิ่นคำที่ติดต่อประสานงาน เพื่อนๆพี่ๆทุกคนที่ไม่ได้เอ่ยนาม ทั้งช่วยเป็นกำลังใจแลทุนสนับสนุนเท่าที่จะช่วยได้ บางท่านอยู่ถึงต่างประเทศก็ยังอุตสาห์โทรศัพท์ให้กำลังใจแลส่งทุนมาช่วย น้ำใจของเพื่อนเป็นสิ่งงดงามเหลือเกิน ที่จะลืมไม่ได้เลยคือคุณพ่อคุณแม่ผู้ให้กำลังใจแลส่งเสริมลูกในทางที่ลูกต้องการจะเป็นเสมอ
ขอขอบพระคุณท่านผู้ร่วมบริจาคสมทบทุนการพิมพ์ทุกท่าน ข้าพเจ้ามีความซาบซึ้งใจมาก ขอทุกท่านจงประสบแต่ความสุข ได้รับพระพรแห่งพระเป็นเจ้า คือความศานติโดยทั่วหน้ากัน หนังสือนี้เป็นการกุศลจึงไม่มีการจำหน่าย หากท่านใดประสงค์จะพิมพ์แจกเพื่อเป็นวิทยาทานโดยไม่มีการดัดแปลงแก้ไขใดๆ ข้าพเจ้าก็ยินดี แต่โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย
โอมฺ นมะ ศิวาย
ศรีหริทาส


ไม่ว่าศาสนาใดๆในโลกก็ตาม “ครู” ย่อมเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในทางจิตวิญญาณ “ครู” มาจากคำว่า คุรุ แปลตามตัวอักษรแปลว่าหนัก ซึ่งหมายถึงครูเป็นผู้ที่หนักแน่น ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การเคารพ หากปราศจากครูเสียแล้ว ความเจริญแห่งจิตทั้งในทางโลกแลทางธรรมก็จะมีไม่ได้
ในวัฒนธรรมฮินดู ศิษย์ย่อมเคารพครูเสมอด้วยบิดามารดาหรือ เสมอด้วยพระผู้เป็นเจ้า เพราะถือกันว่า ครูคือรูปแบบหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าที่อวตารลงมา เพื่อกระทำให้ศิษย์ให้ถึงความหลุดพ้น ครูเป็นสายธารแห่งปัญญาที่ไหลเนื่องมานับแต่พระผู้เป็นเจ้าในอดีตกาลไกลโพ้นจนถึงเราในปัจจุบัน เป็นสายสร้อยเชื่อมโยงเรากับพระผู้เป็นเจ้า
คำว่า “ครู” จึงมิได้เป็นเพียงคำเรียกผู้ทำหน้าที่สอนสั่งเท่านั้น แต่เป็นถ้อยคำนามธรรม เป็นสภาวะองค์รวมที่เชื่อมทั้งมนุษย์ บุราณฤาษี เทวะแลพระเป็นเจ้าเข้าไว้ด้วยกัน แลด้วย “ครู” ทางจิตวิญญาณของเราที่เป็นมนุษย์นี่เอง เราก็อาจสามารถเชื่อมโยงท่านย้อนทวนไปเรื่อย จนถึงต้นธารคือสภาวะรวมแห่งความบริสุทธิ์ กรุณา แลปัญญาญาณหรือพระผู้เป็นเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนทำสิ่งใดเราจึงมีธรรมเนียมในการบูชาครูก่อน เพราะถ้าปราศจากครู ความดีงาม หนทางที่ถูกต้องแลความหลุดพ้นจะมีได้อย่างไร
ข้าพเจ้าเลือกบทสวดมนตร์บูชาครูจากหลายที่มารวมกัน บทแรกเป็นบทบูชาพระทักษิณามูรติ
พระทักษิณามูรติ คือพระศิวะอวตารมาในรูปของครูผู้สอนสัจธรรมสูงสุดแด่ฤาษีพรหมบุตรทั้งสี่ในอดีต แลโดยอาศัยการนิ่งเงียบจึงยังให้ฤาษีเหล่านั้นรู้สัจธรรม เป็นเทวะที่นับถือมากในอินเดียภาคใต้
ถือกันว่าเป็นพระเจ้าที่อวตารเพื่อเป็น “ปฐมคุรุ ” ของมวลมนุษย์ ส่วนบทสุดท้ายนั้นเลือกเอาคำบูชาท่านอาทิ
ศังกราจารย์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ในฝ่ายอไทฺวตเวทานตะ แลเป็นผู้รจนาบทสวดมนตร์ส่วนใหญ่ในหนังสือนี้

|| คุรุวนฺทนมฺ ||
ไหว้ครู
โอมฺ นมะ ปรฺณวารฺถาย ศุทธชฺญาไนกมูรตเย |
นิรฺมาลย ปฺรศานตาย ทกฺษิณามูรตเย นมะ ||
โอม ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้อาจเข้าถึงได้โดยปราณวะ(1) เป็นรูปแห่งปัญญาญาณบริสุทธิ์
ผู้นิรมล ผู้สงบรำงับยิ่ง
ขอความนอบน้อมจงมีแด่องค์พระทักษิณามูรติ พระองค์นั้นด้วยเถิด
คุรุรฺพฺรหฺมา คุรุรฺวิษฺณุ คุรุรฺเทโว มเหศวระ |
คุรุเรว ปรพฺรหฺมา ตสฺไม ศฺรีคุรเว นมะ ||
ครูคือพระพรหมาผู้สร้าง คือพระวิษณุผู้รักษา ครูคือพระมเหศวรศิวะเทพผู้ทำลาย
จริงๆแล้ว ครูคือพรหมันอันสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ครูนั้นเถิด
พฺรหฺมานนฺทํ ปรมสุขทํ เกวลํ ชฺญาณมูรตึ
ทฺวํทฺวาตีตํ คคนสทฤศํ ตตฺวมสฺยาทิลกฺษยมฺ |
เอกํ นิตยํ วิมลมจลํ สรฺวีสากฺษิภูตํ
ภาวาตีตํ ตฺริคุณรหิตํ สทฺคุรุมฺ นมามิ ||
ครูคือ(การสำแดงของ)อานันทสุขแห่งพรหมัน คือผู้ประทานบรมสุข เป็นหนึ่งเดียวปราศจากสิ่งเกาะเกี่ยว เป็นรูปแห่งปัญญาญาณ ผู้อยู่เหนือทวันทวธรรม(2) เป็นดั่งห้วงนภากาศ เป็นผู้ที่ถูกชี้แสดงโดย(ประโยคในอุปนิษัท(3) )ว่า “ท่านคือสิ่งนั้น” (4) ผู้เป็นเอก ผู้มั่นคง เป็นปฐพีที่บริสุทธิ์ เป็นพยานในการรู้คิดหรือสติปัญญา(5) ของสรรพสิ่ง ผู้อยู่เหนือสภาวะทั้งหลาย ผู้พ้นจากคุณะทั้งสาม(6) ข้าฯขอนอบน้อมต่อครูผู้เที่ยงแท้
ศฺรีศํกราจารฺยวรฺโย พฺรหฺมานนฺทปฺรทายกะ |
อชฺญานติมิราทิตฺยสฺสุชฺญานามฺพุทธิจนฺทฺรมาะ ||
โอมฺ ศฺรีศํกราจารฺยาวรฺยาย นมะ ||
ท่านศรีศังกราจารย์(7) ผู้ประเสริฐ ผู้ประทานอานันทสุขแห่งพรหมัน ผู้ขจัดอวิชชาดุจดวงอาทิตย์ส่องแสงขับไล่ความมืดมิด ผู้ประทานปัญญาญาณ(แก่ศิษย์)ดุจดวงจันทร์เพ็ญส่องสะท้อนมหาสมุทร
โอม ขอความน้อมน้อมจงมีแด่ท่านศรีอารยศังกราจารย์เถิด
1. คือเสียง “โอม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกลับ เป็นตัวสัจธรรม อาจสำแดงความจริงสูงสุดให้ปรากฏแก่ผู้เพ่งพินิศได้
2. ภาวะคู่ เช่น สุข-ทุกข์ สว่าง-มืด ฯลฯซึ่งเป็นสิ่งที่มีตามโลกสมมุติเท่านั้น สัจธรรมไปพ้นจากภาวะคู่
3. อุปนิษัท เป็นส่วนท้ายของคัมภีร์พระเวทบางครั้งเรียกว่าเวทานตะ(ส่วนท้าย)เป็นคัมภีร์แสดงความคิดทางปรัชญาที่ลึกซึ้ง อุปนิษัท แปลตามตัวอักษรว่า “นั่งลงใกล้”(เพราะถือกันว่าจะถ่ายทอดเฉพาะศิษย์ที่สมควรได้รับเท่านั้น)
4. เป็นประโยคในคัมภีร์ ฉานโทยะอุปนิษัท( ฉานฺโทคโยปนิษทฺ)ว่า “ ตตฺ ตฺวมฺ อสิ” ซึ่งเรียกว่า “มหาวากยะ” หมายถึงประโยคที่แสดงความจริงสูงสุด “ท่านคือสิ่งนั้น” หมายความว่า โดยสัจธรรมตัวเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับความจริงสูงสุด
5. พุทธิ
6. ตามปรัชญาสางขยะ คุณะทั้งสามนี้เป็นคุณสมบัติของ “ประกฤติ” คือธรรมชาติฝ่ายวัตถุของสรรพสิ่งทั้งมวลในจักรวาล ได้แก่1.สัตวะ – ความสว่าง ความจริง การดำรงอยู่ฯลฯ 2.รชัส –การเคลื่อนไหว ความเร่าร้อน การเกิดขึ้น ฯลฯ 3.ตมัส-ความมืด ความมัวเมา การแตกดับฯลฯ
7. ท่านศังกราจารย์เป็นนักปรัชญาอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ คาดว่ามีชีวิตอยู่ในราว ค.ศ.788 -820 ท่านเป็นผู้สถาปนาสำนักคิดอไทฺวตเวทานตะให้มั่นคงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคำสอนโดยสรุปว่า พรหมันคือสิ่งที่จริงแท้เพียงอย่างเดียว โลกเป็นมายา ชีวะไม่ได้แยกต่างจากพรหมัน(พฺรหฺม สตฺยํ ชคนฺมิถฺยา ชีโว
พฺรหฺไมว นาประ – พฺรหฺมชฺญานวลี)
ตามธรรมเนียมฮินดูนั้น เมื่อจะกระทำบูชาเทพใดๆ หรือริเริ่มกิจการใดๆ ก็ต้องแสดงความเคารพบูชาพระคเณศเสียก่อนเพราะถือว่าทรงเป็นองค์อุปสรรค (พระนาม วิฆเนศวร คือ วิฆน-อุปสรรค รวมกับ อีศวร-พระเป็นเจ้า = พระเป็นเจ้าแห่งอุปสรรค “วิฆเนศวร”แผลงเป็นไทย คือ “พิฆเนศวร”) เมื่อได้กระทำการบูชาแล้วย่อมปราศจากอุปสรรคทั้งปวง
เป็นความนิยมแต่โบราณว่า บทสวดมนตร์สรรเสริญเทวะองค์ใด ก็ย่อมถือว่าองค์นั้นเป็นพระเจ้าสูงสุด หรือหากชนนิกรนับถือพระเป็นเจ้าองค์ใดเป็นใหญ่ก็ย่อมถือว่าเทวะของตัวสูงสุด เทวะของตัวเป็นภาวะสัจธรรม บทสวดมนตร์พระคเณศที่เลือกมานี้จึงมีเนื้อหาไปในทำนองนั้น แต่โดยแท้แล้วไม่ว่าพระเจ้าองค์ใดก็ล้วนเป็น สคุณพรหมัน คือพระเป็นเจ้าที่ “สำแดงตน” ออกมาเป็นเทวะบุคคลที่มีคุณสมบัติต่างๆจากสภาวะสูงสุด หรือ นิรคุณพรหมันอันไร้คุณสมบัติ แลไม่อาจพรรณนาบรรยายใดๆได้ เพราะพ้นไปจากความนึกคิดของมนุษย์ เทวะทั้งหลายโดยเนื้อแท้จึงเป็นเอกภาวะ เป็นหนึ่งเดียวกัน
เราอาจเข้าถึงถึงสัจธรรมได้โดยการเพ่งพินิศรูปลักษณ์แห่งองค์พระคเณศ พระองค์มีเศียรเป็นช้างแต่มีพระวรกายเป็นมนุษย์ นั่นแสดงว่าสัจธรรมเป็นสิ่งพ้นไปจากการรับรู้อย่างสามัญ ทรงมีงาช้างเดียว นั่นหมายความว่าสัจธรรมเป็นสิ่งพ้นไปจากทวิภาวะโดยสิ้นเชิง
|| คเณศสตฺวะ ||
บทสรรเสริญพระคเณศ
อชํ นิรฺวิกัลฺปํ นิราการเมกํ
นิรานนฺทมานนฺทมทฺไวตปูรณมฺ |
ปรํ นิรฺคุณํ นิรฺวิเศษํ นิรีหํ
ปรพฺรหฺมรูปํ คเณศํ ภเชม || ๑ ||
พระคเณศ ผู้ไม่มีการเกิด ปราศจากการนึกคิด ปราศจากรูปลักษณ์ พระผู้เป็นเอก
ผู้เหนือกว่าอานันทสุขบรมอานันทสุข( เป็นความบริบูรณ์แห่ง
อทวิภาวะ(9) ผู้สูงสุด ผู้ปราศจากคุณสมบัติ ปราศจากความแตกต่าง ปราศจากความปรารถนา
เราทั้งหลายขอไหว้พระคเณศ(10) ผู้เป็นปรพรหมัน(11)
คุณาตีตมานํ จิทานนฺทรูปํ
จิทาภาสกํสรฺวคํ ชฺญานคมฺยมฺ |
มุนิธฺเยยมากาศรูปํ ปเรศํ
ปรพฺรหฺมรูปํ คเณศํ ภเชม || ๒ ||
พระผู้อยู่เหนือคุณสมบัติทั้งปวง ทรงเป็นการสำแดงออกแห่งจิตบริสุทธิ์อานันทสุข เป็นแสงโอภาสแห่งจิตบริสุทธิ์ ผู้แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง ผู้สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญาญาณ ผู้ที่พระมุนีเพ่งจิตถึง มีรูปเป็นอวกาศ เป็นพระเจ้าสูงสุด
เราทั้งหลายขอไหว้พระคเณศ ผู้เป็นปรพรหมัน
ชคตฺการณํ การณชฺญานรูปํ
สุราทึสุขาทึ คุเณศํ คเณศํ |
ชคทฺวยาปินํ วิศฺววนฺทฺยํ สุเรศํ
ปรพฺรหฺมรูปํ คเณศํ ภเชม || ๓ ||
พระผู้เป็นมูลการณะแห่งโลก (12) เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาญาณ
เป็นเบื้องต้นของเทวะทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดแห่งสุข พระเป็นเจ้าแห่งคุณความดี พระเป็นเจ้าแห่งคณะ ทรงแผ่ซ่านไปในโลก เป็นที่เคารพสักการะทั่วสากล พระเป็นเจ้าแห่งเทวะ
เราทั้งหลายขอไหว้พระคเณศ ผู้เป็นปรพรหมัน
8. อานันทะ คือ สุขอันยิ่งซึ่งเป็นธรรมชาติของพรหมัน อาจประมาณได้ว่าเป็นความสุขแห่งการหลุดพ้น
9. อยู่เหนือภาวะคู่โดยสมบูรณ์
10. แปลตามตัวอักษรว่า ผู้เป็นนายแห่งคณะหรือพระเป็นเจ้าแห่งคณะ (คณ-คณะ + อีศ- นาย = คเณศ - นายแห่งคณะ )
11. ความจริงแท้อันสูงสุด หรือหมายถึงอาตมันใหญ่ ก็คือพระเจ้านั่นเอง
12. เป็นต้นกำเนิดของโลก
เวลาเช้าเป็นเวลาที่พระอาทิตย์อุทัยขึ้นปลุกสรรพสัตว์ให้เคลื่อนไหวแลดำเนินไปตามทางชีวิตตน แทบทุกศาสนาถือว่าเป็นเวลาอันมงคล ควรแก่การระลึกถึงคุณความดี ระลึกถึงพระเป็นเจ้า เพราะดวงอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นนี่เองเป็นเครื่องระลึกถึงแสงสว่าง ซึ่งพระเจ้าได้ส่องมาขับไล่ความมืดแห่งอวิชชาออกไปเป็นเวลาแห่งความสดชื่นแจ่มใส ความงามแห่งธรรมชาติแลความเบิกบาน
ดังนั้นบทสวดมนตร์ในยามเช้านี้จึงเป็นการต้อนรับวันใหม่แห่งชีวิต ด้วยพระกรุณาธิคุณแห่งพระเจ้าผู้ทรงขจัดความมืดมัวซึมเซา คืออวิชชาที่ยังสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในสังสารวัฏนี้

ศิวปฺราตะสฺมรณสฺโตตรมฺ
บทสวดระลึกถึงพระศิวะในยามรุ่งอรุณ
ปฺราตะ สฺมรามิ ภวภีติหรํ สุเรศํ
คงฺคาธรํ วฤษภวาหนมมฺพิเกศมฺ |
ขฏฺฏางฺคศูลวรทา ภยหสฺตมีศํ
สํสารโรคหรเมาษธมทฺวิตียมฺ ||
ในยามรุ่งอรุณ ข้าฯระลึกถึงพระศิวะ ผู้ขจัดความกลัวแห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระผู้เป็นเจ้าแห่งเทวะ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระคงคา-13 มีพระโคเป็นพาหนะ เป็นพระเจ้าของพระแม่เจ้า14 พระเป็นเจ้าผู้ทรงถือคฑายอดกะโหลกมนุษย์-15 แลตรีศูล อีกสองพระกรทรงประทานพรแลคุ้มภัย
พระองค์คือเอกเภสัชอันขจัดเสียซึ่งโรค คือสังสารวัฏ
ปฺราตรฺนมามิ คิริศํ คิริชารฺธเทหํ
สรฺคสฺถิติปฺรลยการณมาทิเทวมฺ |
วิศฺเวศวรํ วิชิตวิศฺวมโนภิรามํ
สํสารโรคหรเมาษธมทฺวิตียมฺ ||
ในยามรุ่งอรุณ ข้าฯขอนอบน้อม พระคิรีศะ-16 ผู้มีพระคิริชา-17 เป็นครึ่งหนึ่งของพระวรกาย-18 เป็นองค์อาทิเทวะ-19 เป็นมูลการณะแห่งการรังสรรค์ การสถิตอยู่แลการประลัยของจักรวาล พระเป็นเจ้าแห่งสากลโลก พระผู้พิชิตจักรวาล พระผู้มีพระทัยรื่นรมณ์
พระองค์คือเอกเภสัชอันขจัดเสียซึ่งโรค คือสังสารวัฏ
ปฺราตรฺภชามิ ศิวเมกมนนฺตมาทฺยํ
เวทานฺตเวทฺยมนฆํ ปุรุษํ มหานฺตมฺ |
นามาทิเภทรหิตํ ษฑฺภาวศูนฺยํ
สํสารโรคหรเมาษธมทฺวิตียมฺ ||
ในยามรุ่งอรุณ ข้าฯขอไหว้ พระศิวะ-20 พระผู้เป็นเอก ผู้ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นองค์บรมสัตย์ที่กล่าวสอนในเวทานตะ เป็นองค์ปุรุษะ-21 เป็นผู้พ้นจาก(โลกบัญญัติ)เช่นการแบ่งประเภทแห่งนาม เป็นต้น ทรงว่างจากภาวะทั้งหก-22
พระองค์คือเอกเภสัชอันขจัดเสียซึ่งโรค คือสังสารวัฏ
13. ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระคงคาจะลงมาบนโลก พระศิวะผู้ทรงกรุณาได้ทรงเอาพระเศียรรับพระคงคาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โลกแตกทำลายจากความรุนแรงของน้ำ ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงมีอีกพระนามว่า คงคาธร(ทรงไว้ซึ่งคงคา) จากนั้นคงคาจึงตกลงบนโลกและไหลผ่านเมืองวาราณสี จึงถือกันว่าน้ำคงคามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
14. อัมพิกา- พระแม่ อีกพระนามของพระอุมาเทวี
15. ขัฏฏางคะ
16. พระเป็นเจ้าแห่งภูเขา อีกพระนามของพระศิวะ
17. อีกพระนามของพระอุมาเทวีหรือพระปรรวตี
18. ปรากฏในรูปของ “อรฺธนารีมเหศวร” หรือ “อุมามเหศวร” เป็นรูปพระศิวะและพระอุมาอยู่ในองค์เดียวกัน แสดงถึงการรวมกันแห่งภาวะคู่ของจักรวาล
19. เทวะองค์แรก
20. แปลตามตัวอักษรว่าที่เป็นมงคล
21. ปุรุษะ หมายถึง พระเป็นเจ้า ปรากฏในปุรุษสูกต ของคัมภีร์ฤคเวท ในปรัชญาสางขยะหมายถึงพลังสัมปชัญญะที่ผลักดันให้ประกฤติ(ธรรมชาติฝ่ายวัตถุหรือสสาร)มีวิวัฒนาการ
22. การเกิด การดำรงอยู่ การเติบโต การเจริญถึงขีดสุด การเสื่อมถอย แลการตาย ซึ่งเป็นสภาวะของสิ่งไม่จีรังทั้งหลายในจักรวาล

พระเวทเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าฤาษีในอดีตได้รับมาจากพระเจ้าโดยตรง เนื้อหาในพระเวทมีทั้งส่วนที่เป็นเทวตำนานตลอดจนคำสวดมนตร์พิธีกรรม แลส่วนที่เป็นปรัชญาคำสอนที่ลึกซึ้ง ชาวฮินดูถือว่าพระเวทเป็นความรู้ สำคัญแลมีความถูกต้องเพราะเกิดจากพระเจ้า แต่ก็อาจสามารถตีความได้หลากหลายแง่มุม มิได้ตายตัวเคร่งครัดจนเกินไป
พระศิวะเริ่มมีปรากฏในพระเวทในพระนามว่ารุทร ซึ่งเป็นเทพผู้มีความน่าเกรงขาม แลได้กลายมาเป็นพระศิวะซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ท่านศังกราจารย์ได้ “ตีความพระเวท” เพื่อให้เราได้เข้าใจ “สาระ” หรือ “แก่นแท้” หรือความหมายที่แท้แห่งพระเวท โดยอาศัยพระคุณลักษณะหรือสภาวะต่างๆในพระศิวะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สาระแห่งพระเวททั้งปวง คือพระคุณลักษณะแลสภาวะต่างๆแห่งองค์พระศิวะนั่นเอง
|| เวทสารศิวสฺโตตรมฺ ||
บทสรรเสริญพระศิวะอันเป็นสาระแห่งพระเวท
ปศูนา ํ ปตึ ปาปนาศํ ปเรศํ
คเชนฺทฺรสฺย กฤตฺตึ วสานํ วเรณฺยมฺ |
ชฏาชูฏมธฺเย สฺผุรทฺคางฺคยวารึ
มหาเทวเมกํ สฺมรามิ สฺมราริมฺ || ๑ ||
พระผู้เป็นปศุบดี ผู้ทำลายบาป เป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด
ผู้นุ่งห่มหนังช้าง ผู้เลิศยิ่ง ผู้ทรงมีมุ่ยมวยพระเกศาเป็นก้อนอยู่ตรงกลางโดยมีพระคงคาพริ้วไปมางดงามในนั้น ข้าฯขอระลึกถึงพระมหาเทวะผู้เป็นเอก ผู้เป็นอริแห่งกามเทพ
มเหศํ สุเรศํ สุราราตินาศํ
วิภุ วิศวนาถํ วิภูตยงฺคภูษมฺ |
วิรูปากฺษมินฺทวรฺกวหฺนิตฺริเนตรํ
สทานนฺทมีเฑ ปฺรภุ ปญฺจวกฺตรมฺ || ๒ ||
พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าแห่งทวยเทพ ผู้ยังให้ศัตรูของเทวะทั้งหลายวินาศไป ผู้ทรงอำนาจ ผู้เป็นที่พึ่งแห่งสากลโลก ผู้ไล้ทาพระองค์ด้วยเถ้าถ่าน ผู้แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง พระผู้มีตรีเนตร คือพระจันทร์ พระอาทิตย์แลไฟ
คิรีศํ คเณศํ คเล นีลวรฺณํ
คเวนฺทฺราธิรูฒํ คุณาตีตรูปมฺ |
ภวํ ภาสฺวรํ ภสฺมนา ภูษิตางฺคํ
ภวานีกลตฺรํ ภเช ปญฺจวกฺตฺรมฺ || ๓ ||
พระเป็นเจ้าแห่งขุนเขา ผู้เป็นนายแห่งคณะ-23 ผู้มีสีนิลในพระศอ ทรงโคเป็นพาหนะ ทรงมีธรรมชาติอยู่เหนือคุณสมบัติทั้งปวง ทรงเป็นความเป็นไปของสรรพสิ่ง เป็นผู้สว่างโชติช่วง ทรงประดับพระองค์ด้วยเถ้าถ่าน มีพระภวานี-24 เป็นชายา ขอน้อมไหว้ พระผู้มีห้าพักตร์
ศิวากานฺต ศมฺโภ ศศางฺการฺธเมาเล
มเหศาน ศูลินฺ ชฏาชูฏธรินฺ |
ตฺวเมโก ชคทฺวฺยาปโก วิศฺวรูปะ
ปฺรสีท ปฺรสีท ปฺรโภ ปูรฺณรูป || ๔ ||
ข้าแต่พระผู้ทรงมีสุข ผู้เป็นยอดรักของพระศิวา-25 พระผู้มีดวงศศี เป็นปิ่นโมลี
ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงศูล ทรงเทิดพระเกศาเป็นก้อนมุ่นมวย พระองค์เป็นเอก เป็นผู้แผ่ซ่านไปในโลก มีรูปเป็นสากลจักรวาล ขอนอบน้อมอย่างสูงสุด ต่อพระผู้ทรงอำนาจ ผู้เป็นความบริบูรณ์
ปราตฺมานเมกํ ชคทฺพีชมาทยํ
นิรีหํ นิราการโมงการเวทยมฺ |
ยโต ชายเต ปาลฺยเต เยน วิศฺวํ
ตมีศํ ภเช ลียเต ยตฺร วิศฺวมฺ || ๕ ||
พระองค์คือปรมาตมัน-27 เป็นหนึ่งเดียว เป็นมูลพีชะกำเนิดแห่งโลก ปราศจากความปรารถนา ปราศจากรูปลักษณ์ ผู้เป็นอักษรโอม เป็นความรู้
เนื่องจากเหตุใดสกลจักรวาลเกิดขึ้น ด้วยอะไรสกลจักรวาลดำรงอยู่ ในสถานที่ใดสกลจักรวาลมลายไป ขอน้อมไหว้ พระผู้เป็นเจ้าแห่งการทำลายพระองค์นั้น
น ภูมิรฺน จาโป น วหฺนิรฺน วายุรฺน
จากาศมาสฺเต น ตนฺทฺรา น นิทฺทรา |
น คฺรีษฺโภ น ศีตํ น เทโศ น เวโศ
น ยสฺยาสฺติ มูรฺติสฺตฺริมูรฺตึ ตมีเฑ || ๖ ||
พระองค์มิใช่ธาตุดินแลน้ำ มิใช่ธาตุไฟ มิใช่ทั้งธาตุลมแลอากาศธาตุ มิใช่สภาวะตื่น มิใช่การหลับใหล มิใช่ความร้อน มิใช่ความเย็น มิใช่สถานที่ มิใช่ที่อาศัย มิใช่รูปใดๆทั้งหมด ขอสรรเสริญ พระผู้มีสามรูป-28 พระองค์นั้น
อชํ ศาศฺวตํ การณํ การณานา
ศิวํ เกวลํ ภาสกํ ภาสกานามฺ |
ตุรียํ ตมะปารมาทฺยนฺตหีนํ
ปรฺปทฺเย ปรํ ปาวนํ ไทฺวตหีนมฺ || ๗ ||
พระผู้ไม่มีกำเนิด ผู้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นมูลการณะแห่งสิ่งทั้งหลาย
พระศิวะ ผู้เป็นหนึ่งเดียวปราศจากสิ่งเกาะเกี่ยว ผู้เป็นภาวะตุรียะ-29 ผู้อยู่เหนือความมืด-30 ผู้ปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบ ข้าฯขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ ผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ผู้พ้นจากทวิภาวะ
นมสฺเต นมสฺเต วิโภ วิศฺวมูรเต
นมสฺเต นมสฺเต จิทานนฺทมูรฺเต |
นมสฺเต นมสฺเต ตโปโยคคมฺย
นมสฺเต นมสฺเต ศฺรุติชฺญานคมฺย ||
ข้าแต่พระผู้ซ่านไปทั่ว พระผู้มีวิศวรูป-31 ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
ข้าแต่พระผู้มีรูปเป็นจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
พระผู้อาจเข้าถึงได้โดยตบะแลโยคะ ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
พระผู้อาจเข้าถึงได้โดยความรู้ทั้งปวงในศรุติ-32 ข้าฯขอนอบน้อมอย่างยิ่ง
ปฺรโภ ศูลปาเณ วิโภ วิศฺวนาถ
มหาเทว ศมฺโภ มเหศํ ตฺริเนตฺร |
ศิวากานฺต ศานฺต สฺมราเร ปุราเร
ตฺวทนฺโย วเรรฺโย น มานฺโย น คณฺยะ ||
ข้าแต่พระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงตรีศูลในพระหัตถ์ พระผู้แผ่ซ่านไปทั่ว ผู้เป็นที่พึ่งแห่งสากลโลก
ข้าแต่พระมหาเทวะ พระผู้ทรงมีสุข พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ พระตรีเนตร
ยอดรักแห่งพระศิวา ผู้สงบรำงับ ผู้เป็นอริแห่งกามเทพและปุระ-33
ไม่มีเกียรติยศและการบูชาใดมีค่ายิ่งไปกว่ากระทำในพระองค์
ศมฺโภ มเหศ กรุณามย ศูลปาเณ
เคารีปเต ปศุปเต ปศูปานศนาศินฺ |
กาศีปเต กรุณยา ชคเทตเทก-
สฺตฺวํ หํสิ ปาสิ วิทธาสิ มเหศฺวโร’สิ || ๑๐ ||
ข้าแต่พระศัมภุ พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระทัยกรุณา ผู้ทรงตรีศูล
บดีแห่งพระเคารี-34 พระผู้บดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ทำลายบ่วงร้อยรัดแห่งสัตว์ทั้งหลาย พระเป็นเจ้าแห่งนครกาศี-35 พระมเหศวรพระองค์นั้น เพราะพระกรุณาทรงรังสรรค์ รักษาแลทำลายโลกอันนี้
ตฺวตฺโต ชคทฺภวติ เทว ภว สฺมราเร
ตฺวยฺเยว ติษฺฐติ ชคนฺมฤฑ วิศฺวนาถ |
ตฺวยฺเยว คจฺฉติ ลยํ ชคเทตทีศ
ลิงฺคาตฺมเก หร จราจรวิศฺวรูปินฺ || ๑๑ ||
ข้าแต่เทวะ พระผู้เป็นอริแห่งกามเทพ โลกนี้มีขึ้นจากพระองค์
ข้าแต่พระวิศวนาถ พระมฤฑ-36 โลกนี้ตั้งอยู่ในพระองค์นั้นเทียว
ข้าแต่พระผู้มีรูปเป็นลึงค์-37 โลกนี้มลายไปในพระองค์
สิ่งทั้งปวงทั้งเคลื่อนไหวแลหยุดนิ่ง คือรูปอันหลายหลากของพระองค์นั่นเอง
23คือ คณะบริวารแห่งพระศิวะ ได้แก่ภูตผี ฤาษี เทวะแลอื่นๆ
24อีกพระนามของพระอุมาเทวี
25อีกพระนามของพระอุมาเทวี
26พระจันทร์
27อาตมันสูงสุด
28 พระผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลาย
29ภาวะสูงสุดของจิต คือภาวะที่เหนือการตื่น การฝันแลการหลับสนิท
30ตมัสคุณ
31มีรูปเป็นสากล หรือมีรูปอันหลากหลายไม่สิ้นสุด
32ศรุติแปลว่า “ได้ยิน” หมายถึง คัมภีร์พระเวททั้งหลาย เพราะถือกันว่า ฤาษีโบราณได้ยินพระเวทมาจากพระเจ้าโดยตรง
33นามของอสูร
34อีกพระนามของพระอุมาเทวี
35 เมืองวาราณสีหรือพาราณสี
36นามพระศิวะ
37 ศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนองค์พระศิวะ เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพราหมณ์กระทำบูชาก็จะกระทำที่ศิวลึงค์
ศิวะลึงค์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ทำเป็นรูป “ลึงค์” หรืออวัยวะเพศชาย บางครั้งทำเป็นรูปเศียรพระศิวะเรียกว่ามุขลึงค์ ถ้ามีห้าเศียรเรียกว่าปัญจมุขลึงค์ แต่โดยทั่วไปมักทำเป็นทรงกระบอกยอดกลมเกลี้ยงไม่มีลวดลายใดๆ ศิวะลึงค์นั้นรองรับด้วยโยนิโทรณะ หรือฐานโยนี
การบูชาศิวลึงค์อาจเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีมาก่อนการเข้าไปของชาวอารยัน นัยว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์(เช่นเดียวกับการนับถือปลัดขิกในท้องถิ่นของไทย) ต่อมารับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู ศิวลึงค์มิใช่สัญลักษณ์ที่อุจจาดน่าเกลียดแต่ประการใด ท่านสวามีศิวานันทะนักบวชฮินดูที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า จริงๆแล้วศิวลึงค์คือพระศิวะในรูปของแสงสว่างและความไร้รูปลักษณ์ พระเป็นเจ้าจะทรงอยู่ในรูปใดก็ได้ทั้งนั้น ในสัจภาวะไม่มีความต่างระหว่างความน่าเกลียดและความสวยงาม
พฺรหฺมมุราริสุรารฺจิตลิงฺคมฺ นิรฺมลภาสิตโศภิตลิงฺคมฺ |
ชนฺมชทุะขวินาศกลิงคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
พระศิวะลึงค์อันเป็นที่สักการะโดยพระพรหมา พระมุรารี(พระนารายณ์) แลเทวะทั้งหลาย
ลึงค์อันมีวาจาวิสุทธิ์แลงามโศภิต ลึงค์อันยังให้ทุกข์แห่งการเกิดวินาศไป
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
เทวมุนิปฺรวราจิตลิงฺคมฺ กามทหมฺ กรุณากร ลิงคมฺ |
ราวณทฺรปวินาศนลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันเป็นที่สักการะอย่างสูงสุดแห่งเทวมุนี ลึงค์ผู้ฆ่าเสียซึ่งกาม ลึงค์ผู้กระทำกรุณา
ลึงค์อันทำลายซึ่งความทะนงตนของราวัณ(ทศกัณฐ์)
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
สรฺวสุคนฺธิสุเลปิตลิงฺคมฺ พุทฺธิวิรฺธนการณลิงฺคมฺ |
สิทฺธิสุราสุรวนฺทิตลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันลูบไล้จุลเจิมดีแล้วด้วยเครื่องหอมทั้งหลาย ลึงค์อันเป็นมูลการณะแห่งการวิวัฒน์ของพุทธิ
(พัฒนาการของการคิดรู้หรือสติปัญญา)
ลึงค์อันสักการะโดยนักสิทธิ์ เทวะแลอสูรทั้งหลาย
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
กนกมหามณิภูษิตลิงฺคมฺ ผนิปติเวษฺฏิตโศภิตลิงคมฺ |
ทาษฺสุยชฺญ วินาศน ลิงคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันประดับด้วยทองคำแลมหามณี ลึงค์อันมีนาคบดีพันรัดอยู่รอบแลดูงามโศภิต
ลึงค์อันทำให้ยัชญกรรมของพระทักษะ วินาศไป-*
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
กุงฺกุมจนฺทนเลปิตลิงฺคมฺ ปงฺกชหารสุโศภิตลิงฺคมฺ |
สญฺจิตปาปวินาศนลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันถูกไล้ทาด้วยชาดแดง** แลกระแจะจันทน์ ลึงค์อันงามโศภิตด้วยสายสร้อยดอกบัว
ลึงค์ผู้ทำลายเสียซึ่งบาปที่สั่งสมพอกพูน
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
เทวคณารฺจิตลิงฺคมฺ เสวิตลิงฺคมฺ ภาไวรฺภกฺติเรว จ ลิงฺคมฺ |
ทินกรโกฏิปฺรภากรลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันเป็นที่บูชารับใช้โดยคณะเทพ ลึงค์อันเป็นที่บูชาด้วยรักแลภักดี
ลึงค์อันประภาแสงดั่งดวงทินกร นับด้วยโกฏิ
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
อษฺฏทโลปริเวษฺฏิตลิงฺคมฺ สรฺวสมุทฺภวการณลิงฺคมฺ |
อษฺฏทริทฺรวินาศิตลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันห่อหุ้มไปรอบด้วยกลีบบุปผาทั้งแปดชนิด ลึงค์อันเป็นมูลการณะของสรรพสิ่ง
ลึงค์อันทำลายซึ่งความยากจนขาดแคลนทั้งแปดประการ***
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
สุรคุรุสุรวรปูชิตลิงฺคมฺ สุรวนปุษป สทารฺจิต ลิงฺคมฺ |
ปราตฺปรํ ปรมาตฺมากลิงฺคมฺ ตตฺ ปฺรณมามิ สทาศิวลิงฺคมฺ ||
ลึงค์อันเป็นที่บูชาสักการะโดยคุรุของเทวะแลเทวะผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ลึงค์อันเป็นที่สักการะอยู่ทุกเมื่อด้วยวนบุปผาแห่งสวรรค์ ลึงค์อันเป็นบรมสัตย์ เป็นปรมาตมัน
ข้าฯขอประณตน้อมอย่างยิ่ง แด่พระสทาศิวลึงค์นั้น
ลิงฺคาษฺฏกมิทํ ปุณยํ ยะ ปเฐตฺ ศิวสนฺนิเธา |
ศิวโลกมวาปฺโนติ ศิเวณ สห โมทเต ||
บุณย์แห่งการท่องบทสวดสรรเสริญพระศิวลึงค์ทั้งแปดบทนี้ ใกล้องค์พระศิวะ
ย่อมไปสู่ศิวโลก ร่วมเสวยบรมสุขกับพระศิวะ

เทวตำนานเล่าว่าพระทักษะไม่เชิญพระศิวะผู้เป็นเขยไปร่วมพิธียัชญกรรม ทำให้พระสตีชายาของพระศิวะเสียพระทัยโดดลงกองไฟ(ซึ่งต่อมาฮินดูบางพวกได้นำมาเป็นพิธีสตี คือการที่ภรรยาโดลงกองไฟเผาศพของสามี) พระศิวะทรงพิโรธกลายร่างเป็นไภรวะ เข้าประหัตประหารพระทักษะแลเทวดาในที่นั้น
**ผงกุงกุมหรือสินทูร ใช้เจิมหน้าผาก
*** เรียกว่า อษฺฏทริทฺร ได้แก่ 1.ธนทริทฺร ความยากจนเงินทอง 2.อายุรทริทฺร ความมีอายุสั้นมีสุขภาพไม่ดี 3. วิทฺยาทริทฺร ความยากจนความรู้
4.กีรฺติทริทฺร ความยากจนเกียรติยศ 5.วาคฺทริทฺร ความยากจนวาจา มีคำพูดไม่ไพเราะไม่น่าเชื่อถือ 6.คุณทริทฺร ความยากจนคุณความดีต่างๆ
7.กามทฺริทร ความยากจนความสุขแบบชาวโลก 8.ธรฺมทริทฺร ความยากจนธรรม



เมืองวาราณสีหรือกาศีที่คนไทยรู้จักกันในชื่อพาราณสี ถือเป็นบุณยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของฮินดูชน เนื่องจากเมืองนี้เป็นที่ที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน เป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาเพราะเต็มไปด้วยวัดวาอารามแลแหล่งเรียนรู้ทางศาสนามากมาย แลเป็นเมืองแห่งพระศิวะ เพราะเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ที่สำคัญหนึ่งในสิบสององค์(ทวาทศชโยติลึงค์)ของอินเดีย เรียกว่า “พระวิศวนาถ” หรือ “กาศีวิศวนาถ” ซึ่งแปลว่าพระผู้เป็นที่พึงแห่งสากลจักรวาล หากท่านได้ไปเยือนนครวาราณสี และได้มีโอกาสล่องเรือในแม่น้ำคงคายามเช้าตรู่ ท่านจะได้พบบรรยากาศที่มหัศจรรย์มีมนตร์ขลัง ราวกลับได้ย้อนไปหลายพันปีที่แล้ว เป็นบรรยากาศที่ยากจะอธิบาย ทำให้ท่านตระหนักถึงความงามของโลก ความมีศรัทธาในศาสนาของผู้คนที่ยังคง “แสวงหา” ความจริงแห่งชีวิต แลความไม่เที่ยงของสังขาร ที่เราอาจตระหนักได้โดยควันไฟเผาซากศพที่พวยพุ่งอยู่ริมน้ำอย่างไม่รู้ดับ
ชาวฮินดูไม่ได้อาบน้ำคงคาเพราะน้ำคงคาจะชำระบาปหรือสร้างอิทธิปาฏิหาริย์ เขารู้ว่ากรรมของผู้ใดผู้นั้นต้องรับเอง แต่ชาวฮินดูอาบน้ำคงคาเพื่อเชื่อมโยงตนเองกับพระผู้เป็นเจ้า เพราะน้ำคงคานั้นไหลมาจากเทือกเขาไกรลาศอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตแห่งพระเป็นเจ้า ไหลมาจากพระเศียรของพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา ฮินดูชนต้องการเพียงสัมผัสความรักความกรุณาของพระเจ้าในน้ำแต่ละหยาดหยด เพื่อชำระอกุศลจิตและเข้าถึงพระเป็นเจ้า คือพระวิศวนาถในจิตใจตนเอง
|| วิศฺวนาถาษฺฏกมฺ ||
บทสรรเสริญพระวิศวนาถแปดบท
คํคาตรํกรมณียชฏากลาปํ
เคารีนิรนฺตรวิภูษิตวามภาคมฺ |
นารายณปฺริมนํคมทาปหารํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระศิวะ ผู้ทรงมีเครื่องประดับมุ่นมวยพระเกศาที่น่าหลงใหลคือการกระเพื่อมไหวของพระคงคา
ผู้มีพระเคารีประดับอยู่เบื้องซ้ายของพระองค์เสมอ ผู้เป็นที่รักแห่งพระนารายณ์
ผู้ประหารพระอนงค์
ขอไหว้ พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

วาจามโคจรมเนกคุณสฺวรูปํ
วาคีศวิษณุสุรเสวิตปาทปีฐมฺ |
วาเมน วิคฺรหวเรณ กลตฺรวนฺตํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระผู้ซึ่งวาจาไม่อาจเข้าถึงได้ ผู้มีธรรมชาติเป็นอเนกคุณ
มีพระพรหมา พระวิษณุแลเทวะทั้งหลายรับใช้แทบเบื้องพระแท่นรองบาท
ทรงเป็นเจ้าบ่าวอันมีเจ้าสาว ประทับอยู่บนพระเพลาเบื้องซ้าย
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ภูตาธิปํ ภุชคภูษณภูษิตาคํ
วฺยาฆฺราชินาพรธรํ ชฏิลํ ตฺริเนตรมฺ |
ปาศากุศาภยวรปฺรทศูลปาณึ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระผู้เป็นอธิบดีแห่งภูติ ผู้ประดับพระองค์ด้วยนาค ผู้ชำนะแลนุ่งห่มหนังพยัคฆ์
ผู้มุ่นมวยพระเกศา พระตรีเนตร
ทรงถือบ่วงบาศ อังกุศะ(ขอช้าง) แลตรีศูลในพระหัตถ์ ทรงปกป้องแลประทานพร
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ศีตาสุโศภิตกิรีฏวิราชมานํ
ภาเลกฺษณานลวิโศษิตปญฺจพาณมฺ |
นาคาธิปารจิตภาสุรกรฺณปูรํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระผู้งดงามเยือกเย็นด้วยปิ่นพระจันทร์ ผู้ทรงลืมพระเนตรก็เกิดไฟบรรลัยกัลป์พุ่งไปผลาญ(กามเทพ)
ผู้มีพระกุณฑลพญานาคอันส่องสว่างงดงาม
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ปํจานนํ ทุริตมตฺตมตํคชานา
นาคานฺตกํ ทนุชปุควปนฺนคานามฺ |
ทาวานลํ มรณโศกชรา’ฏวีนา
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระผู้มีห้าพักตร์ (เป็นสิงห์)ผู้ฆ่าแห่งช้างคลั่งทั้งหลายแห่งบาป
(เป็นครุฑ)ผู้ฆ่านาค ผู้ทำลายกองทัพอสูรแลนาคทั้งหลาย
พระองค์คือไฟป่าโหมไหม้ป่า แห่งมรณะ โศก แลชรา
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

เตโชมยํ สคุณนิรฺคุณมทฺวิตีย-
มานนฺทกํ ทมปราชิตมปฺรเมยมฺ |
นาทาตฺมกํ สกลนิษฺกลมาตฺมรูปํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระผู้ทรงเดช ทรงเป็นทั้งสคุณ(มีคุณสมบัติต่างๆ) แลนิรคุณ (ปราศจากคุณสมบัติ) ทรงเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง เป็นอานันทสุข เป็นผู้ใครๆไม่อาจชำนะได้ ผู้ใครๆไม่อาจประมาณได้ เป็นองค์แห่งเสียง ทรงทั้งเป็นแลไม่เป็น ทั้งหมดหรือส่วนเสี้ยว
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

อาศา วิหาย ปริหฤตฺย ปรสฺย นินฺทา
ปาป รตึ จ สุนิวารฺย มนะ สมาเธา |
อาทาย หฤตฺกมลมธฺยคตํ ปเรศํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
จงละวางความปรารถนาทั้งหลาย เลิกการนินทาว่าร้ายผู้อื่น
ละทิ้งความยึดมั่นในบาปแลความหลง ตั้งจิตใจไว้ในสมาธิ
สำรวมจิตไปยังพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดซึ่งประทับอยู่ในกมลหฤทัย(หัวใจรูปดอกบัว)ของเรา
ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

ราคาทิโทษรหิตํ สฺวชนานุราคํ
ไวราคฺยศานฺตินิลยํ คิริชาสหายมฺ |
มาธุรฺยไธรฺยสุภคํ ครลาภิรามํ
วาราณสีปุรปตึ ภช วิศวนาถมฺ ||
พระองค์ผู้ถ่ายถอนซึ่งโทษ มีราคะเป็นต้น ทรงเป็นที่รักของชนสาวกของพระองค์ ทรงเป็นผู้หน่ายในราคะ เป็นที่พำนักอันศานติ เป็นผู้อนุเคราะห์พระคิริชา ทรงเป็นความเลิศล้ำฉ่ำหวาน ความมั่นคง ความมีโชค ทรงงดงามด้วยยาพิษ(ซึ่งเกิดจากการเสียสละดื่มพิษของนาคครั้งกวนเกษียรสมุทร ทำให้พระศอมีสีดำ) ขอไหว้พระวิศวนาถ บดีแห่งนครวาราณสี

วาราณสีปุรปเตะ สฺตวนํ ศิวสฺย
วฺยาขฺยาตมษฺตฏกมิทํ ปฐเต มนุษฺยะ |
วิทฺยา ศฺริยํ วิปุลเสาขยมนํตกีรฺตึ
สํปฺราปฺยเต เทหวิลเย ลภเต จ โมกษมฺ ||
บุคคลใด ท่องบทสรรเสริญทั้งแปดบทแห่งพระศิวะ บดีแห่งนครวาราณสีนี้ ย่อมได้รับ วิทยา ศรี(ความมีโขค ความร่ำรวย)
สุขอันไพบูลย์ เกียรติยศอนันต์ แลเมื่อทิ้งร่างกายไปแล้ว ย่อมได้รับความวิมุติหลุดพ้น

วิศวนาถาษฺฏกมิทํ ยะ ปเฐตฺ ฉิวสนฺนิเธา |
ศิวโลกมวาปฺโนติ ศิเวณ สห โมทเต ||
ผู้ใดท่องบทสรรเสริญทั้งแปดบทแห่งพระวิศวนาถนี้ ใกล้องค์พระศิวะ
ย่อมไปสู่ศิวโลก ร่วมเสวยบรมสุขกับพระศิวะ


อะไรเป็นเครื่องบูชาที่ดีที่สุด คนร่ำรวยอาจถวายเงินทองมากมาย อาจสร้างวัดใหญ่โตที่ทำด้วยหินอ่อน ถวายอาหารอย่างดี ถวายเครื่องทรงที่ประดับด้วยเพชรพลอยนานา แล้วคนจนเล่า คนจนที่ไม่มีแม้แต่อาหารเลวๆสำหรับตนเองจะมีสิ่งใดถวายพระเป็นเจ้า แต่กระนั้นมนุษย์ทุกคนไม่ว่าดีหรือเลว รวยหรือจน ก็ล้วนมีสมบัติที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งติดตัวมาคือ “ใจ” แลด้วยสมบัติชิ้นนี้เองที่เราทุกคนอาจถวายแด่พระเป็นเจ้าได้ เราผู้ไม่มีสิ่งมีค่าใดๆติดตัวอาจเข้าไปสู่เทวสถานหรือสถานที่งดงามด้วยธรรมชาติ ครั้นแล้วเราก็ตรึกนึกจินตนาการถึงสิ่งที่ดีที่สุด สวยงามที่สุดเท่าที่เราจะนึกคิดได้ แล้วเราก็ถวายสิ่งที่อยู่ในใจนั้นแด่พระองค์ นี่คือจิตวิญญาณที่แท้แห่งความเป็นฮินดู ที่ทุกคนไม่ว่าราชาหรือขอทานยาจก ขอเพียงมีใจที่รักภักดีก็สามารถถวายบูชาแด่พระเจ้าได้เสมอหน้ากัน แลด้วยจิตวิญญาณที่ว่านี้เอง เราก็อาจแปรผันทุกสิ่งในชีวิตเราให้กลายเป็นเครื่องบูชาแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้สถิตในหัวใจของเราได้ทุกเมื่อ

|| ศิวมานสปูชา ||
การบูชาพระศิวะด้วยใจ

รตฺไน กลฺปิตามาสนํ หิมชไละ สฺนานํ จ ทิวฺยามฺพรํ
นานารตฺนวิภูษิตํ มฺฤคมทาโมทางฺกิตํ จนฺทนมฺ |
ชาตีจมฺปกพิลฺวปตฺรรจิตํ ปุษฺปํ จ ธูปํ ตถา
ทีปํ เทว ทยานิเธ ปศุปเต หฺฤตฺกลฺปิตํ คฺฤหฺยตามฺ || ๑ ||
ข้าแต่พระสมุทรแห่งความกรุณา พระผู้เป็นนายของสัตว์ทั้งหลาย ข้าฯขอถวายพระราชอาสน์อันประดับด้วยรัตนะอันมีค่าแด่พระองค์ กับทั้งน้ำอันเย็นชุ่มฉ่ำเพื่อพระองค์จะได้สรงสนาน วิภูษาอาภรณ์อันประดับด้วยรัตนะต่างๆ ทั้งเครื่องกระแจะจุลจันทน์หอมผสมชะมดเช็ดเพื่อประทินพระวรกาย ดอกมะลิ ดอกจำปาแลใบมะตูม ธูปหอมแลประทีป ขอทรงโปรดรับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อันข้าฯจัดเตรียมไว้ในใจเพื่อพระองค์ด้วยเถิด พระผู้เป็นเจ้า

เสาวรฺเณ นวรตฺนขณฺฑรจิเต ปาตฺเร ฆฺฤตํ ปายสํ
ภกฺษฺยํ ปญฺจวิธํ ปโยทธิยุตํ รมฺภาผลํ ปานกมฺ |
ศากานามยุตํ ชลํ รุจิกรํ กรฺปูรขณฺโฑชฺชฺวลํ
ตามฺพูลํ มนสา มยา วิรจิตํ ภกฺตฺยา ปฺรโภ สฺวีกุรุ || ๒ ||
ข้าวอันมีรสหวานในภาชนะล้วนด้วยทองประดับนพรัตน์ เนยใส นมโค เบญจกระยาหารที่ปรุงด้วยนมแลนมส้ม ผลกล้วย ผัก น้ำหวานอบร่ำด้วยการบูรแลหมากพลู ข้าฯได้จัดเตรียมสิ่งทั้งปวงนี้ไว้ในใจด้วยความภักดี ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอโปรดทรงรับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไว้ด้วยเถิด

ฉตฺรํ จามรโยรฺยุคํ วฺยชนกํ จาทรฺศกํ นิรฺมลมฺ
วีณาเภริมฺฤทงฺคกาหลกลา คีตํ จ นฺฤยํ ตถา |
สาษฺฏางฺคํ ปฺรณติะ สฺตุติรฺพหุวิธา หฺเยตตฺสมสฺตํ มยา
สงฺกลฺเป สมรฺปิตํ ตว วิโภ ปูชา คฺฤหาณ ปฺรโภ || ๓ ||
ฉัตร แส้ขนจามรี พัดโบกและกระจกใสสะอาด วีณา กลองเภรี กลองมฤทังคะและกลองกาหล คีตดุริยนาฎกรรม การหมอบกราบอัษฏางคประดิษฐ์กับทั้งบทสวดสดุดีทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงที่ข้าฯจัดเตรียมไว้นี้ ขอน้อมถวายแด่พระองค์ ขอพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพลัง โปรดทรงรับเครื่องบูชาของข้าฯด้วยเถิด

อาตฺมา ตฺวํ คิริชา มติะ สหจราะ ปฺราณาะ ศรีรํ คฺฤหํ
ปูชา เต วิษโยโปภครจนา นิทฺรา สมาธิสฺถิติะ |
สญฺจาระ ปทโยะ ปฺรทกฺษิณวิธิะ สฺโตตฺราณิ สรฺวา คิโร
ยทฺยตฺกรฺม กโรมิ ตตฺตทขิลํ ศมฺโภ ตวาราธนมฺ || ๔ ||
ข้าแต่พระเป็นเจ้าผู้ทรงพระกรุณา พระองค์คืออาตมันของข้าฯ พระคิริชาคือพุทธิปัญญา ลมปราณทั้งหลายของข้าฯคือบริวารของพระองค์ กายข้าฯคือวิมานที่ประทับ ความพึงใจอันเกิดแต่ผัสสะทั้งหลายของข้าฯคือเครื่องบูชาพระองค์ นิทราของข้าฯคือการเข้าสมาธิของพระองค์ เมื่อข้าฯเดินคือการประทักษิณรอบพระองค์ ทุกสิ่งที่ข้าฯกล่าวคือการสวดสรรเสริญพระองค์ ทุกๆสิ่งที่ข้าฯกระทำคือการถวายความภักดีต่อพระองค์

กรจรณ กฤตํ วากฺกายชํ กรฺมชํ วา |
ศฺรวณนยนชํ วา มานสํ วาปราธมฺ |
วิหิตมวิหิตํ วา สรฺวเมตตฺกฺษมสฺว |
ชย ชย กรุณาพฺเธ ศฺรีมหาเทวศมฺโภ || ๕ ||
บาปทั้งหลายที่ข้าฯได้กระทำด้วยมือ ด้วยเท้า ด้วยวาจา กาย ด้วยการกระทำ ด้วยหู ด้วยตาหรือด้วยใจ ไม่ว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอโปรดทรงอภัยบาปทั้งปวงนั้นด้วยเถิด
ข้าแต่พระสมุทรแห่งความกรุณา พระมหาเทวะผู้ยิ่งใหญ่ พระเป็นเจ้าผู้มีความสุข ขอพระองค์ทรงมีชัยเทอญ ขอพระองค์ทรงมีชัยเทอญ


ความจริงสูงสุดหรือสภาวธรรมชาติเดิมแท้เป็นอย่างไร เป็นคำถามที่นักปราชญ์ทั้งหลายพยายามจะอธิบาย เช่นว่าเป็นสัตตะ- ความจริง จิต -มีธรรมชาติเป็นจิต อานันทะ -เป็นอานันทสุข แต่แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะตอบคำถามนี้ เพราะเมื่อเราลองค้นดูว่าสิ่งต่างๆทั้งที่ประกอบเป็นตัวตนของเรา ทั้งที่อยู่รอบๆตัว ทั้งที่เป็นรูปธรรมแลนามธรรม อะไรกันเล่าคือสารัตถะหรือแก่นแท้แห่งการดำรงอยู่ของเราที่เราอาจเรียกว่าอาตมัน พรหมัน หรือเรียกในแง่มุมของสภาวะการรับรู้ธรรมชาติเดิมแท้ว่า นิรวาณ หากเราใช้ความคิดเข้าไปไขว้คว้ายึดจับ เราจะหลงอยู่ในกรอบแห่งการคิด และเราจะล้มเหลว
มีความเข้าใจผิดอยู่ว่าอาตมันนั้นคือ “อัตตา” อัตตาที่หมายถึงการรับรู้การดำรงอยู่ของตัวเองแลการเข้าไปยึดครองตัวตนและสิ่งรอบๆดังที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “ตัวกูของกู” แต่นั้นคือสิ่งที่ฮินดูเรียกว่า “อหังการ” ซึ่งมิใช่อาตมัน บ้างก็เข้าใจผิดไปว่าคือตัวตนที่มีลักษณะอย่างดวงวิญญาณสิงในร่างกาย ที่สามารถละจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างดุจดั่งการเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่นั่นก็มิใช่อาตมันที่แท้ เป็นเพียงแต่การอุปมาเรื่องสภาวะสังขารธรรมที่ไม่เที่ยงกับสภาวะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
เมื่อเราใช้ปัญญาญาณหรือ “หัวใจ” เข้าสำรวจตรวจหาสภาวะที่ว่านี้ แลหากเราสามารถค้นพบได้ สิ่งนั้นก็อาจไม่สามารถบรรยายด้วยความคิดหรือคำพูดใดๆของมนุษย์ ฉะนั้นอย่างดีเราก็ทำได้แค่เพียงปฏิเสธว่ามันไม่ใช่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งนี้ แลเมื่อนิรวาณหรือความหลุดพ้นอุทัยขึ้น ผู้หลุดพ้นอาจอุทานด้วยมหาปิติออกมาเป็นลำนำว่า “ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!” เขามิได้กล่าวออกมาอย่างพวกทรงเจ้าเข้าผีมิจฉาทิฐิที่คิดว่าตนมีเทพสิงอยู่ แต่เขาได้บังเกิดความรู้แจ้งขึ้นว่า “ตัวเขา” กับ “ ศิวะ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกอันหนึ่งแห่งสัจภาวะหรือความจริงแท้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ในห้วงเวลานั้น เขาได้พ้นไปจากทวันทวธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่มีทั้งความหลุดพ้นหรือสังสารวัฏ ไม่มีทั้งสุขหรือทุกข์ ตัวเขาหรือสิ่งอื่นอีกต่อไป
นิรฺวาณษฏฺกมฺ
ลำนำแห่งนิรวาณ

มโนพุทฺธยหํการจิตฺตานิ นาหํ
น จ โศฺรตฺรชิหฺเว น จ ฆฺราณเนเตฺร |
น จ โวฺยมภูมิะ น เตโช น วายุ-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๑ ||
ข้าฯ มิใช่ มโน-1 พุทธิ-2 อหังการ-3 จิต-4
มิใช่การฟังแลการรับรส การดมกลิ่นแลการมองเห็น
มิใช่ธาตุน้ำแลดิน ไฟแลลม
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น จ ปฺราณสํโชฺญ น ไว ปญฺจวายุรฺ
น วา สปฺตธาตุรฺน วาปญฺจโกศะ |
น วากฺ ปาณิปาเทา น โจปสฺถปายู
จิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๒ ||
มิใช่ปราณ การรู้สำนึก หรือลมทั้งห้า-5
มิใช่ธาตุทั้งเจ็ด-6 มิใช่ปัญจโกศะ -7
มิใช่ปาก มือ เท้าทั้งสอง อวัยวะสืบพันธ์หรือขับถ่าย
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น เม เทฺวษราเคา น เม โลภโมเหา
น เม ไว มโท ไนว มาตฺสรฺยภาวะ |
น ธรฺโม น จารฺโถ น กาโม น โมกฺษ-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๓ ||
ข้าฯมิใช่ความชังหรือราคะ ข้าฯมิใช่โลภะหรือโมหะ
ข้าฯมิใช่ความยโสโอหังหรือความอิจฉาริษยา
มิใช่ธรรม-8 แลอรรถ-9 มิใช่กามหรือโมกษะ
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น ปุณฺยํ น ปาปํ น เสาขฺยํ น ทุะขํ
น มํโตฺร น ตีรฺถ น เวทา น ยชฺญา |
อหํ โภชนํ ไนว โภชยํ น โภกฺตา
จิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๔ ||
มิใช่บุณย์ มิใช่บาป มิใช่สุข มิใช่ทุกข์
มิใช่มนตร์-10 มิใช่ตีรถะ-11 มิใช่พระเวท มิใช่ยัชญะ-12
ข้าฯมิใช่ทั้งการเสพเสวยความพึงใจหรือสิ่งให้ความพึงใจ มิใช่ผู้เสพเสวยความพึงใจ
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

น มฤตฺยุรฺน ศงฺกา น เม ชาติเภทะ
ปิตา ไนว เม ไนว มาตา จ ชนฺมา |
น พํธุรฺน มิตรํ คุรุรฺไนวศิษฺย-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๕ ||
ข้าฯมิใช่ความตายหรือความกลัว ข้าฯมิใช่สิ่งที่อาจจัดหมู่พวกหรือประเภทได้
ข้าฯมิใช่บิดาหรือมารดาแลการเกิด
มิใช่ญาติพี่น้อง มิใช่มิตร มิใช่ครูหรือศิษย์
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!

อหํ นิรฺวิกลฺโป นิราการรูโป
วิภุตฺวาจฺจ สรฺวตฺร สรฺเวนฺทฺริยาณามฺ |
น จาสงฺคตํ ไนว มุกติรฺน เมย-
ศฺจิทานํทรูปะ ศิโว’หํ ศิโว’หมฺ || ๖ ||
ข้าฯ ปราศจากการนึกคิด ปราศจากรูปลักษณ์
แผ่ซ่านไปทั่ว ไม่อาจเข้าถึงได้โดยอินทรีย์ทั้งปวง
มิใช่สมมุติหรือวิมุติ ไม่อาจหยั่งวัดได้
ข้าฯคือจิตบริสุทธิ์แห่งอานันทสุข ข้าฯคือศิวะ! ข้าฯคือศิวะ!


7ใจหรือความคิด เป็นตัวรับรู้แลส่งผ่านข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้งหลายไปยังพุทธิ
2 พยานในการรู้คิด หรือความฉลาด ความเข้าใจ
3อัตตา หรือการรับรู้ความมีอยู่ของตัวเอง
4เจตจำนง หรือความจำได้ระลึกได้
5ลมที่ค้ำจุนร่างกายห้าอย่าง คือ ปราณ อปาน วยาน สมาน อุทาน ซึ่งอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย
6น่าจะหมายถึง ธาตุของกายที่เกิดจากธาตุทั้งสี่(โดยทั่วไปนับเป็นแปดอย่าง แต่ลมกล่าวไปแล้ว จึงมีเจ็ดอย่าง) ได้แก่ เลือด เนื้อ กระดูก ไขกระดูก เสียงพูด มนัส แลของเสียในร่างกาย
7 คือเครื่องห่อหุ้ม(โกศ)ชีวะทุกดวง มีห้าชั้น ได้แก่ 1.อนฺนมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยอาหารได้แก่กายหยาบ 2.ปฺราณมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยปราณ 3.มโนมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยใจหรือความคิด 4.วิชฺญานมยโกศหรือพุทฺธิมยโกศ-โกศที่สร้างด้วยความรู้คิดหรือความรู้ 5 อานนฺทมยโกศ - โกศที่ประกอบด้วยอานันทสุข เป็นชั้นในสุด ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งอาตมัน
8 การทำหน้าที่
9ผลประโยชน์หรือการแสวงหาทรัพย์สิน
10คำศักดิ์สิทธิ์
11สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
12การบวงสรวงบูชา


ตามขนบธรรมเนียมของฮินดู เมื่อกระทำพิธี “บูชา” เทวะที่กระทำอย่างถูกต้องโดยพราหมณ์ ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ คล้ายการเชื้อเชิญญาติมิตรที่เคารพมางานเลี้ยง เริ่มต้นด้วยการอัญเชิญ การถวายที่นั่ง ถวายการล้างเท้า ล้างมือแลถวายสิ่งต้อนรับ ถวายน้ำบ้วนปาก ถวายน้ำสรงน้ำอาบ เสื้อผ้า เครื่องประดับ สายอุปวีตมงคลพราหมณ์ เครื่องหอมจุลเจิม ดอกไม้มาลัย ถวายอาหารหมากพลู การประทักษิณเวียนขวา การกราบกราน การขับบทสวดสดุดี การเวียนประทีปแลการกล่าวคำสวัสดิมงคลอัญเชิญกลับ ด้วยขั้นตอนตามลำดับทั้งหมดนี้ การบูชาตามประเพณีจึงสมบูรณ์
แต่หากพระเป็นเจ้าทรงเป็นสภาวะนามธรรมล้วนๆเป็นสภาวะที่ไร้ขอบเขต มิใช่เป็นสภาวะบุคคลแบบ “เทวะ” เราจะบูชาด้วยวิธีการใด เราจะบูชาได้ที่ไหน แม้ว่าพระเจ้าหรือสภาวะสูงสุด(ปรพรหมัน)ที่ปราศจากคุณสมบัติใดๆ(นิรคุณพรหมัน) จะสำแดงพระองค์ด้วยอำนาจมายาออกมาเป็นพระเจ้าในแบบบุคคลหรือเทวะต่างๆ(สคุณพรหมันหรืออีศวร)ซึ่งทำให้การบูชาตามแบบพิธีกรรมของเราเป็นไปได้ แต่การรู้แจ้งสัจธรรมความจริงแท้ ที่เป็นสภาวะไร้รูป-นาม ย่อมเป็นการบูชาที่สูงสุด

ปรา ปูชา
การบูชาอันสูงสุด


ปูรฺณสฺยาวาหนํ กุตฺร สรฺวาธารสฺย จาสนมฺ |
สฺวจฺฉสฺย ปาทฺยมรฆฺยํ จ ศุทฺธสฺยาจมนํ กุตะ || ๑ ||
ณ ที่ใดเล่าจะสามารถอัญเชิญ สภาวะแห่งความบริบูรณ์ แลอาจสามารถถวายอาสน์ แด่องค์ผู้ค้ำจุนสรรพสิ่ง
การถวายน้ำล้างพระบาท การถวายสิ่งต่างๆลงในพระกร
แลการถวายน้ำล้างพระโอษฐ์ ขององค์สภาวะอันบริสุทธิ์ จะมีจากที่ใด?

นิรฺมลสฺย กุตะ สฺนานํ วสฺตฺรํ วิศฺโวทรสฺย จ |
นิราลมฺพสฺโยปวีตํ ปุษฺปํ นิรฺวาสนสฺย จ || ๒ ||
การถวายน้ำสรงสนานแห่งองค์สภาวะนิรมล แลการถวายเครื่องนุ่งห่มแห่งองค์ผู้มีอุทรเป็นสากลโลก
จะมีจากที่ใดกัน?
การถวายสายอุปวีต แห่งองค์ผู้ปราศจากประคับประคองจากสิ่งทั้งปวง แลการถวายบุปชาติแห่งผู้ที่กลิ่นสุคนธ์ไม่อาจกระทบ จะมีจากไหน?

นิรฺเลปสฺย กุโต คนฺโธ รมยสฺยาภรณํ กุตะ |
นิตฺยตฤปตสฺย ไนเวทฺยํ ตามฺพูลํ จ กุโต วิโภะ || ๓ ||
จากที่ใดเล่าที่จะถวายเครื่องหอมแห่งองค์ผู้ปราศจากมลทิน การถวายอาภรณ์เครื่องประดับแห่งองค์ผู้รื่นรมณ์อยู่เสมอจะมีจากไหน?
การถวายอาหารทั้งหลายแห่งองค์ผู้อิ่มเอมเป็นนิตย์
แลการถวายหมากพลูแห่งองค์ผู้ทรงพลังจะมีจากที่ใด?

ปฺรทกฺษิณา หฺยนนฺตสฺย หฺยทฺวยสฺย กุโต นติะ |
เวทวากฺไยรเวมยสฺย กุตะ โสฺตตรํ วิธียเต || ๔ ||
การประทักษิณาแห่งองค์อนันตภาวะ แลการนอบคำนับแห่งองค์ผู้ไม่เป็นสองโดยแท้จะมีจากที่ใด?
การสวดบทสรรเสริญแห่งองค์ผู้ถ้อยคำพระเวทไม่อาจรู้ได้จะมีจากไหน?

สฺวยํ ปฺรกาศมานสฺย กุโต นีราชนํ วิโภะ |
อนฺตรฺพหิศฺจ ปูรณสฺย กถมุทฺวาสนํ ภเวตฺ || ๕ ||
การเวียนประทีปถวาย แห่งองค์ผู้มีจิตสว่างโชติช่วง เป็นอยู่ได้เอง ผู้ซ่านไปทั่วจะมีจากที่ไหน?
พิธีกล่าวคำสวัสดิมงคล แห่งองค์ผู้บริบูรณ์ทั้งภายในแลภายนอก องค์พระผู้เป็นที่มาของทุกสิ่งจะมีจากที่ใดเล่า?

เอวเมว ปรา ปูชา สรฺวาวสฺถาสุ สรฺวทา |
เอกพุทะยา ตุ เทเวศ วิเธยา พฺรหฺมวิตฺตไมะ || ๖ ||
ดังนั้น การบูชาอันสูงสุด ย่อมมีในการณ์ทั้งหลายในกาลทุกเมื่อนั่นเทียว
โดยความรู้ในเอกภาวะ(ความเป็นหนึ่งเดียวของสัจธรรม) อนึ่ง คือการกระทำให้แจ้งซึ่งความรู้แห่งพรหมันอันสูงสุด
|| ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
จงตื่นเถิด! จงตื่นเถิด!

อาศยา พทฺธเต โลกะ กรฺมณา ปริพทฺธฺยเต |
อายุกฺษยํ น ชานาติ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
ชนฺมทุะขํ ชราทุะขํ ชายาทุะขํ ปุนะ ปุนะ |
อํตกาเล มหาทุะขํ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
กาม กฺโรเธา โลภ โมเหา เทเห ติษฐนฺติ |
ชฺญานรตฺนาปหาราย ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||
ไอศฺวรฺยํ สฺวปฺน สํกาศํ เยาวนํ กุสุโมปมมฺ |
กฺษณิกํ ชลมายุษฺจ ตสฺมาตฺ ชาคฤหิ ชาคฤหิ ||

ชาวโลกถูกพันธนาการด้วยความปรารถนา และถูกพันธนาการแน่นยิ่งขึ้น
ด้วยกรรมของตน พวกเขามิรู้เลยว่าชีวิตนั้นสั้นนัก ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ทุกข์จากการเกิด ทุกข์จากความชรา ทุกข์จากภรรยา เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในวันสุดท้าย(ของชีวิต) ทุกข์มหันต์ก็บังเกิดขึ้น ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในร่างนี้ พวกมันคือโจร
ผู้ปล้นรัตนะแห่งปัญญาไป ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !
ราชอำนาจเป็นดั่งความฝัน วัยเยาว์เป็นดั่งบุปผชาติ(ซึ่งโรยราเพียงชั่ววัน)
และชีวิตก็ไม่จีรัง ดั่งสายน้ำ ดังนั้น จงตื่นเถิด ! จงตื่นเถิด !

มนตร์คือถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชาวฮินดูแล้วนั้นมนตร์มิใช่เพียงแค่คำสรรเสริญพระเป็นเจ้า หรือเป็นไปในทำนองว่ามีเข้มขลังอาจดลบันดาลอะไรต่างๆได้ แท้จริงแล้วมนตร์สามารถเป็น “อุบาย” หรือ “เครื่องมือ”เพื่อนำไปสู่สัจภาวะได้ มนตร์มิได้สำคัญเพราะมันมีความหมายเท่านั้น แต่เพราะมันเป็น “เสียง ” ที่บรรจุความลึกลับบางอย่างแห่งธรรมชาติไว้ ดังนั้นเราพึงเพ่งมนตร์ด้วยความพินิศ พึงใช้ทั้งสมองแลใจเพื่อเข้าถึงมนตร์ เพื่อที่เราจักได้เป็น “ผู้เห็น” ความหมายที่แท้จริงในมนตร์นั้น แลจักได้รับความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของมนตร์ คือการเข้าถึงสภาวะบริสุทธิ์เดิมแท้
มหามฤตยุนชยะ มนตราที่ข้าพเจ้าเลือกมาไว้ในหนังสือนี้ปรากฏในคัมภีร์ยชุรเวท ถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นมหามนตร์ เป็นมนตร์สรรเสริญพระศิวะที่ทรงเป็น “กาละ” หรือเวลาที่กลืนกินทุกสิ่ง เป็น “มฤตยู” คือความตายที่พรากทุกสิ่ง แต่ก็ทรงมีชัยเหนือความตายด้วย เป็นมนตร์อันอาจทำให้ผู้เพ่งมนตร์ชำนะความตายเสียได้ ขอท่านโปรดเพ่งพิศความหมายของมนตร์ให้ทะลุว่า เราจักชนะเสียซึ่งความตายแลบรรลุสู่อมฤตภาพได้อย่างไร


มห มฤตยุนฺชย มนฺตร
มหามฤตยุนชยะ มนตรา

โอมฺ ตฺรฺยมฺพกํ ยชามเห สุคนฺธึ ปุษฺฏิวรฺธนมฺ |
อูรฺวารุกมิว พนฺธนานฺมฤตฺโยรฺมุกฺษีย มา’มฤตาตฺ ||
โอมฺ ศาติะ ศาติะ ศาติะ||

โอม เราทั้งหลายขอบวงสรวงบูชาซึ่งพระตรีเนตร ผู้มีพระกายหอมหวล ผู้เพิ่มพูนทรัพย์สิน
ขอให้เราทั้งหลายเป็นอิสระจากพันธนาการแห่งมฤตยู เพียงดั่งผลแตง(อูรวารุก)หลุดจากขั้วของมัน แลอย่าให้อมฤตภาพสิ้นสูญไปเทอญ
โอม ศานติ ศานติ ศานติ
ศานติ ปาฐ
บทแผ่เมตตา

โอมฺ สรฺเว ภวนฺตุ สุขินะ สรฺเว สํตุ นิรามยาะ |
สรฺเว ภทฺราณิ ปศฺยํตุ มา กศฺจิทฺ ทุะขภาคฺ ภเวตฺ ||
โอมฺ ศาติะ ศาติะ ศาติะ||
โอม ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงมีสุข ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงปราศจากความป่วยไข้
ขอสรรพสิ่งทั้งปวงจงพบแต่สิ่งดีงาม ขออย่าให้ใครมีส่วนแห่งความทุกข์เลย
โอม ศานติ ศานติ ศานติ

โอมฺ อสโต มา สทฺคมย |
ตมฺโส มา ชฺโยติรฺคมย |
มฤตฺโยรฺมา อมฤตํ คมย |
โอมฺ ศาติะ ศาติะ ศาติะ||
โอม นำข้าฯ จากอสัตย์ สู่สัจจะ
จากมืดมน สู่สว่าง
จากความตาย สู่อมฤต
โอม ศานติ ศานติ ศานติ
กฺษมา ปารฺถนา
บทขอขมา

มนฺตฺรหีนํ กฺริยาหีนํ ภกฺติหีนํ สุเรศวร
ยตฺปูชิตํ มยาเทว ปริปูรฺณํ ตทสฺตุ เม |
อปราธ สหสฺราณิ กฺริยานฺเต’หรฺนิศํ มยา
ทาโส’ยํ อิติ มา มตฺวา กฺษมสฺว ปุรุโษตตม ||
พระผู้เป็นเจ้าแห่งเทวะ ความบกพร่องในการสวดมนตร์ ความมีกริยาต่ำช้า ความมีภักดีน้อย
อันมีในการบูชาที่ข้าฯได้กระทำนั้น เทวะ! ขอให้สิ่งที่กล่าวมานั้นจงกลับบริบูรณ์ขึ้นด้วยเถิด
(อาจมี)การกระทำไม่ถูกควรนับพันๆครั้ง ซึ่งข้าฯกระทำในทิวาแลราตรี
เช่นนั้นขอโปรดทรงเห็นข้าฯเป็นทาสผู้รับใช้อันต่ำต้อยเถิด ขอทรงยกโทษเถิด พระเป็นเจ้าผู้สูงสุด
เพลงอารตี “ตริคุณ สวามี กิ อารตี” ( ฮินดี )(อารตีพระศิวะ)
เพลงอารตรี พระผู้ทรงสามพระคุณ

โอมฺ แย ฉิ่วะ โองการา หะเร่อะ แย ฉิวะ โองการา
บรัหมา วิฉ่ะนุ สดา ศิวะ อรัคทามกีท่ารา, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
โอม ขอพระศิวะผู้เป็นอักษรโอมจงมีชัย ขอพระหระ ผู้เป็นอักษรโอมจงมีชัย
พระพรหมพระวิษณุแลเทพเจ้าอื่นๆเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

เอกานะเน่อะ จตุรานะเน่อะ ปัญจานะนเอะ ราแย
หังสาสะเน่อะ กะรุรฺาสะเน่อ วริฉ่ะนะนเอะ ราแย, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
ในฐานะพระวิษณุทรงมีหนึ่งพระพักตร์ ในฐานะพระพรหมาทรงมีสี่พักตร์ เมื่อเป็นพระศิวะทรงมีห้าพระพักตร์ ทำให้เกิดความเบิกบานใจเมื่อได้เห็น ในฐานะพระพรหมาทรงประทับเหนือหงส์อาสน์
ในฐานะพระวิษณุทรงครุฑอาสน์ ในฐานะพระศิวะทรงประทับพระโคนนทิซึ่งตกแต่งไว้ดีแล้ว
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

โด ภุ่เย่อะ จารร จะตุรภุ่เย่อะ ด่ะฉ่ะภุ่เย่อ เส โซเฮ
ตีโนม รูป่ะ นิระขะเต ตริภุ่วะนะ ยะเน่อะ โมเฮ่, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
ในฐานะพระพรหมาทรงมีสองกร ในฐานะพระวิษณุทรงมีสี่กร และในฐานะพระศิวะทรงมีสิบกร
ทุกสิ่งที่มองเห็นล้วนงดงามหาที่เปรียบ ไม่มีใครในสามโลกที่งดงามน่าหลงใหลไปกว่าพระองค์
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

อักฉ่ะมาเล่อะ วะนะมาเล่อะ มุณด่ะมาเล่อะ ธ่ารี
จันดะนะ มริก่ะ มะด่ะ โซเฮ ภาเล ฉ่ะฉิ่ธ่ารี, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
พระองค์ทรงสวมมาลาเมล็ดรุทรากษะ มาลาดอกไม้ป่า มาลากะโหลกศีรษะมนุษย์ ทรงชโลมพระวรกายด้วยชะมดเช็ดและกระแจะจันทน์ ทรงทัดจันทร์เป็นปิ่นทำให้ระยิบระยับงดงาม
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

ฉเวตามบะเร่อะ ปีตามบะเร่อะ บาคั่มบ่ะเร่อะ อังเก
สะนะกาดิเก่อะ บรัหมาดิเก่อะ ภูตาดิเก่อะ ซังเก, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
พระองค์ทรงแต่งพระวรกายด้วยผ้าไหมสีขาว สีเหลืองอันงดงามและหนังเสือ ขณะที่ทรงแวดล้อมอยู่ด้วยคณะบริวารของพระองค์ คือ เทวะ เช่นพระพรหมา เทวฤาษี เช่นพระสนกมุนี หมู่ภูตเป็นต้น
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

กัรมัธเย เจ่อะ กะมันด่ะลุ จักเร่อะ ตริฉูล่ะ ธัรตา
ยักเก่อะกัรตา ดุข่ะฮัรตา ย่ะก่ะปาละนะกัรตา , โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
พระองค์ทรงถือหม้อน้ำกมัณฑาลุ(หม้อน้ำดื่มของนักบวช)ถือจักร ตรีศูล พระองค์นำมาซึ่งความสุขและทำลายความทุกข์และทรงเป็นผู้อภิบาลโลกนี้
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

บรัหมา วิฉ่ะนุ สะดาฉิ่วะ ยา นะเต่อะ อวิเวกา
ประนะวักฉ่ะเร่อะ เมห์ โฉภิ่เต่อะ เย ตีโนม เอกา, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
คนไร้ปัญญาคิดว่าพระพรหมาพระวิษณูและพระสทาศิวะ แยกออกเป็นเทพ สามองค์มิได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่พระเป็นเจ้าทั้งสามองค์นั้นรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างหมดจดในพยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “โอม”
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

ตริกุเน่อะ ฉิ่ว่ะ กี อารตี โย โกอี่ นะเร่อะ กาเว่
กะฮะเต่อะ ฉิวานันดะสวามี มะนะ ว ามฉิต ผ่ะเล่อะ ปาเว่, โอม ฮะเร่อ ฮะเร่อ มะฮาเดวา
ท่านสวามีศิวานันทะกล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่สวดขับร้องอารตีนี้แด่พระศิวะเจ้าผู้ประกอบด้วยคุณสาม
ย่อมได้รับในสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา
โอม ขอพระหระ พระมหาเทวะจงมีชัย

(หร แปลว่านำไป (ธาตุ หรฺ) หมายถึงพระศิวะ ผู้ทรงนำวิญญาณของผู้ตายไป(เพราะถือกันว่าทรงเป็นพระกาล แลพระมฤตยูด้วย) และทรงทำให้สรรพสิ่งแตกทำลายเวียนว่ายเป็นวัฏจักร บางท่านตีความว่า หระ หมายถึงทรงนำความทุกข์ไป)

การออกเสียงสันสกฤตอย่างสังเขป

เนื่องจากบทสวดมนต์ล้วนรจนาขึ้นในภาษาสันสกฤต จึงควรเรียนรู้วิธีออกเสียงให้ใกล้เคียงกับภาษาเดิม เพราะแม้จะเขียนขึ้นใหม่ในภาษาไทยก็ไม่ได้ออกเสียงอย่างที่เขียนตามตัวอักษร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงนำวิธีออกเสียงแบบง่ายๆคร่าวๆไว้ให้เท่าที่จำเป็น ผู้สนใจพึงแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และฝึกฝนจากเจ้าของภาษาจะดีที่สุด
การออกเสียง
ค = g ใน go (ออกเสียงคล้าย ก )
ฆ = gh ใน Beg him(ออกเสียงคล้ายก+ห หรือ ค เสียงก้อง)
ช = j ใน jam (ออกเสียงคล้าย ย)
ฌ = g-e-h ใน charge him
ฏ,ฐ,ฑ,ฒ,ณ, = ต ถ ท ธ น แต่ม้วนลิ้นเข้าปากให้มากที่สุดเวลาพูด
ท = ด
ธ = ด(เสียงก้อง)
พ = บ
ภ = บ (เสียงก้อง)
ศ = คล้าย ฉ
ษ = sh ใน she(ม้วนลิ้นเข้าในปากเวลาออกเสียง)
ห = ฮ
ญ = ย แต่เสียงขึ้นจมูก(ขึ้นนาสิก)

นิคหิต ( . ) ถ้าอยู่ใต้อักษรตัวใดแสดงว่าตัวนั้นเป็นตัวสะกด หรือ ตัวนั้นออกเสียงครึ่งเดียว เช่น เอกทนฺ = เอกะดัน นาเคนฺทฺร = นาเกนดระ ศฺรี = ฉะรี(ออก ฉ ครึ่งเสียง) ตรฺ = ตัร(ออก ร นิดหน่อย)
( -ํ )พินธุ(คล้าย -ม หรือ ตามด้วยพยัญชนะนาสิกของตัวที่ตามมา) ขรฺวํ = ขะรวัม
สุนฺทรํ = สุนดะรัม คเณศํ = กะเนฉัม คํคา = กังกา วํทนา = วันทะนา
(  ) = - ม เช่น กึม อ่านว่า กิม ( - า ํ ) = -าม เช่น อานา อ่านว่า อานาม
วิสรคะ หรือสระอะ( ะ ) อยู่หลังอักษรตัวใด ให้เออกเสียงเหมือนมีเสียงก้องตาม หรือมี ห ตาม สระที่อยู่หลัง เช่น นมะ = นะมะฮะ(ตัวมะออกเสียงก้องคล้ายมี ฮะ ตาม) คุรุะ = กุรุฮุ(ตัวรุออกเสียงก้อง)


ตัวอย่างการออกเสียง
นาเคนฺทฺรหาราย ตฺริโลจนาย ภสฺมางคราคาย มเหศฺวราย
นิตฺยาย ศุทฺธาย ทิคมฺพราย ตสฺไม นการาย นมะศิวาย.
ออกเสียงเป็น
นาเกนดระฮารายะ ตริโลจะนายะ บัสมางกะรากายะ มะเฮฉวรายะ
นิดยายะ ฉุด ด(ห)ายะ ดิกัมบะราย ตัสไม นะกะรายะ นะมะ(ฮะ) ฉิวายะ

บรรณานุกรม

จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา. พระศิวะ พระวิษณุ พระคเณศ. กรุงเทพฯ : เทวสถานโบสถ์พราหมณ์, 2545.
บำรุง คำเอก. พจนานุกรมฮินดี – ไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์สันสกฤตศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะ
โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร , 2548.
วรลักษณ์ พับบรรจง.คัมภีร์ ปัญจเวทานตะ. ม.ป.ท. ม.ป.พ. ,2546 (เอกสารอัดสำเนา)
วิสุทธ์ บุษยกุล.แบบเรียนภาษาสันสกฤตเล่ม 1 .กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาภาษาตะวันออก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2523.
สุขุม ศรีบุรินทร์(แปล).สารัตถะปรัชญาอินเดีย.กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการวิจัย
แห่งชาติ, 2531.
สุนทร ณ รังสี.ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ(พิมพ์ครั้งที่ 3 ).กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.
Apte,Vasudeo Govind. Sanskrit – English Dictionary. New York : Hippocrene Book, 2003.
Mahadevan ,TMP. Sankaracharya. New Delhi : National Book Trust, 1968.
Pavitrananda,Swami. Hymns And Prayers To Gods And Goddesses. Calcutta : Advaita
Ashrama,2000.
Radhakrishnan. The Vedanta according to Samkara and Ramanuja. London : George Allen &
Unwin LTD,1928.
Sharma , Arvind. Classical Hindu Thought : An Introduction. NewDelhi : Oxford University
Press, 2000.
Sharma ,Pt.Atma Ram(Tr.). Mahā jālīsā samghaha.Delhi : Motilal Banarasidas, 1994

ตฺวเมว มาตา จ ปิตา ตฺวเมว
ตฺวเมว พํธุศฺจ สขา ตฺวเมว |
ตฺวเมว วิทฺยา ทฺรวิณํ ตฺวเมว
ตฺวเมว สรฺวํ มม เทวเทว ||
พระองค์ คือมารดาแลบิดา
พระองค์ คือญาติพี่น้องแลมิตร
พระองค์ คือความรู้แลทรัพย์สิน
พระองค์ คือสรรพสิ่งทั้งหลายนั่นเทียว
พระองค์ คือเทวะแห่งเทวะ!

ที่มา
ขอขอบพระคุณพี่ศรีหริทาส    

กระทู้นี้ขออนุญาติดันกระทู้ครับ

เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

ขอบพระคุณพี่หริทาสอีกครั้งครับ

ขอบคุณมากค่ะ
เสียหายไม่ว่า  แต่เสียหน้าไม่ได้

ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

อีกไม่นานก็จะถึงศิวะราตรีแล้ว

กระทู้นี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านที่ศรัทธาในองค์พระศิวะไม่มากก็น้อยเลยครับ
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

สาธุค่ะ

ขอพระเป้นเจ้าอำนวยพรแด่อาจารย์หริทาสค่ะ

   ขอพาหาพลรามอันงามขาว    ดังจันทร์คราวเริ่มแรกอุทัยไข
ทรงกำลังสามารถฉกาจไกร       ดังว่าได้ดื่มซึ่งอาสวรส
เต็มด้วยอวตารแห่งปัทมา        ลักษมีกันยาสุภาสด
น่าใคร่ราววสันต์อันงามงด       จงคุ้มท่านทั้งหมดในที่นี้


(คัดจากเทวีวาสวทัตตา ของภาสะ แปลโดย ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล)

อ่านยังไง ครับบท สวด ครับ อ่านไม่ออก ใคร็ได้ช่วย สอนวิธีการอ่านหน่อย ไอ้จุดที่อยู่ บน อยู่ล่างนี่ละครับ เงง เลย
Hare krishna Hare Ram

ขอบคุณคับพี่กับความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งคับผม

อ่านยากมากครับ แน่ะนำในการอ่านด้วยครับ
หรือมีท่านใดที่แปลคำอ่านเป็นภาษาไทยแล้ว แน่ะนำด้วย หรือมีขายที่ไหนบ้าง หนังสือเล่มนี้

ต้องไปดูวิธีการอ่านออกเสียงภาษาสันสกฤต(ค่อนข้างยากพอสมควร สำหรับเราๆ) หนังสือ ไม่แน่ใจว่าที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ มีหรือป่าว แต่เคยเห็นอ่ะค่ะ
ขอบคุณคุณหริทาสมากค่ะ กระทู้นี้เป็นประโยชน์อนันต์เลยค่ะ

ขอบคุณพี่ๆนะครับได้ความรู้อีกแล้ว