Loader

ว่าด้วยเรื่องของ "กลัศ"

Started by หริทาส, March 15, 2010, 19:01:21

Previous topic - Next topic

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

March 15, 2010, 19:01:21 Last Edit: March 15, 2010, 21:09:19 by หริทาส
โอมฺ ศฺรีคุรุภฺโย นมะ||
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ครูทั้งหลาย||



ว่าด้วยเรื่องกลัศ

มีหลายคนสงสัยหรือเพิ่งเริ่มสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของ กลัศ(กลศ)หรือบางคนไพล่ไปเรียกว่า "บายศรีแขก"
หม้อน้ำอะไรไม่รู้มีใบมะม่วง มีมะพร้าวๆ เห็นไปพิธีฮินดูที่ไหนก็มีคนตั้งเอาไว้ แถมสมัยนี้หัวใสมีคนทำขายทั่วไปตามร้านขายดอกไม้เครื่องบูชา ก็ยังมึนๆทั้งคนขายคนซื้อว่า ตกลงกลัศนี่คืออะไรกันแน่


วันนี้หลังจากตรวจข้อสอบแล้วพอมีเวลาว่าง ผมก็อยากมาแชร์ความรู้กับทุกๆคน เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า กลัศ เท่าที่สติปัญญาอันน้อยของผมจะมีนะครับ ซึ่งอาจแตกต่างกับสิ่งที่ทุกคนรู้ หรือคงช่วยเสริมเติมเต็มในมิติที่อาจขาดหายไปนะครับ


เท่าที่ค้นคว้ามา

กลัศ(สันสกฤต กลศ)ออกเสียงคล้าย กลัช แปลตามตัวแปลว่า "หม้อน้ำ" ซึ่งมีอีกหลายคำที่แปลว่าหม้อน้ำ
เช่ม  กุมภ์(กุมฺภ ซึ่ง หลายคนเสียงว่า กุมบ๊อม ซึ่งผมว่ามาจาก กุมภํ ตัว ภออกเสียงคล้าย บ เสียงก้อง ทำให้แรกๆก็งงว่าคืออะไรครับ)
ขตะ เป็นต้น

หม้อกลัศถูกนำมาใช้ในพิธีของศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ยุคพระเวทแล้ว โดยในสมัยแรก หมายถึง หม้อปูรณกลัศ หรือปูรณฆตะ หมายถึง "หม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์" ซึ่งในยุคพระเวท เรียกว่า โสมกลัศ หรือ จันทรกลัศ
ในยุคพระเวทเชื่อว่า หม้อกลัศ คือหม้อที่บรรจุ น้ำ อมฤต(อมฤต)เป็น แหล่งธารของชีวิต และเป็นตัวแทนแห่งความสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญาหาร เนื่องจาก น้ำเป็นสัญลักษณ์ของความบริบูรณ์ และหม้อน้ำก็ดุจดังครรโภทรของพระแม่ธรณีซึ่งยังให้เกิดพืชผลตามมา

(อ่านรายละเอียดได้ต่อจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Kalasha )


สัญลักษณ์หม้อปูรณฆตะ ที่ใช้ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ดังนั้นในทางหนึ่งหม้อกลัศจึงเป้นสัญลักษณ์มงคลถึงความอุดมสมบูรณ์
และอีกทางหนึ่ง กลัศ คือการจำลองจักรวาลหรือระบบนิเวศวิทยาที่ประกอบด้วย แผ่นดิน แผ่นน้ำ ต้นไม้พืชพันธ์และชีวิตนานา ซึ่งเป็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งที่ใกล้ชิด


ในสมัยต่อมา กลัศได้ค่อยๆปรับเปลี่ยนความหมาย จากสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มาสู่การเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าบางพระองค์ในพระเวท

ซึ่งได้เคยสอบถามจากครู คือท่านอาจารย์บัณฑิตลลิตว่า การสถาปนากลัศในพิธีทำเพื่ออะไร

ท่านว่า โดยปกติแล้ว เวลาจะทำพิธีบูชาที่เป็นทางการและครบถ้วนสมบูรณ์

ก่อนการบูชาเทวดาประธาน(ปฺรธานเทวตา)ที่เรากำหนดไว้แล้ว
ต้องบุชาเทวดา ห้าหมวดก่อน

เรียกว่า ปญฺจางฺคปูชา
โดย สถาปนา ปีฐ หรือแท่นนั่งของเทวดา โดยใช้เม็ดข้าวย้อมสีและทำเป็นรูปร่างทางเลขาคณิตต่างๆ สมมุติว่าเป็นที่ประทับตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ และทำการสถาปนาอัญเชิญเทวดาต่างๆมาสถิตในปีฐนั้น
ปัญจางคเทวตา
ได้แก่
1.พระคเณศ
2.พระแม่เคารี (ใช้หมากพันสายสิญจน์ แทนทั้งสองพระองค์ทั้งพระคเณศและพระเคารี การบูชานี้เรียกว่า คเณศามฺพิกาปูชา)
3.โษฑศมาตฤกา หรือพระแม่ทั้ง 16 พระองค์(รวมทั้งพระเทวเสนา)เช่น สวาหา สวาธา ฯลฯ ใช้ข้าวสารสีแดง-เหลืองทำเป็นตารางและใช้หมากวางไปในจุดต่างๆ
4.ฆฤตสัปตมาตฤกา พระแม่ทั้ง 7 พระองค์ ใช้ฆีเช็ดแผ่นไม้หรือหิน แล้วปูผ้าจากนั้น ใช้กุงกุมจุด เป็นจุดสมมุติว่าเป็นพระแม่องค์หนึ่งๆ ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ โดยมีอักษร "ศฺรีะ" อยู่เบื้องบน พระแม่สัปตมาตฤกา เช่นพระลักษมี พระสรัสวตี กาลี ฯลฯ
5.วรุณเทวตา หรือการบูชาเทวดาวรุณ โดยการ สถาปนากลัศขึ้น


แท่นปัญจางคเทวตาปีฐ(ก่อนการอัญเชิญเทวดามาสถิต) โปรดสังเกตว่า ตารางสีเหลี่ยมสีเหลืองแดงคือปีฐของพระแม่โษฑศมาตฤกา สามเหลี่ยมสีแดงคือที่ประทับพระแม่เคารี สวัสติกะสีเหลืองคือที่ประทับพระคเณศ(หมากจะถูกนำมาวางเมื่ออาวาหัน หรืออัญเชิญแล้ว)และข้าวรูปดอกบัว คือที่ตั้งของกลัศ หรือที่ประทับของเทวดาวรุณ(เข้าใจว่าภาพนี้กลับหัวนะครับ เนื่องจากสามเหลี่ยมของพระแม่เคารีต้องเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ เนื่องจากผู้ถ่ายภาพไม่สามารถถ่ายจากด้านในมณฑลพิธีได้จึงถ่ายจากรั้วด้านนอกทำให้ภาพกลับหัว) (ขอบคุณภาพจากสยามคเณศครับ)


ดังนั้นการสถาปนากลัศก่อนการบูชาเทวดา
คือการ สถาปนาและบูชาพระวรุณ
ซึ่งในคัมภีร์พระเวท พระวรุณ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ มหาสมุทรและท้องฟ้า และคอยลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด


พระวรุณ



เมื่อทำบูชาปัญจางคเทวตาบูชาแล้ว จึงทำการบูชาเทพเจ้าที่กำหนดต่อไป


ต่อมากลัศได้ทำหน้าที่อีกประการหนึ่ง คือ เป็น "ตัวแทน"ของเทวดา ต่างๆโดยตรง

เช่นพระคเณศ พระศิวะ พระแม่ต่างๆ โดยพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะสวดมนตร์ตามคำภีร์พระเวท และระบุให้กลัศเป็นเทวดาแต่ละองค์
และเมื่อทำการบูชา ก็จะบูชาที่กลัศนั้น เสมือนว่า ได้บูชาเทพเจ้าพระองค์นั้น โดยไม่ต้องใช้ มูรติ หรือเทวรูปก็ได้





ปราชญ์ได้ตีความและอธิบาย ส่วนต่างๆของกลัศให้กลายเป็นส่วนต่างๆหรืออวัยวะของเทพเจ้า เช่น มะพร้าวเป็นส่วนพระเศียร ใบมะม่วงเป็นส่วนของพระพาหา หรือแขน เป็นต้น และได้มีการอธิบายไปถึงเรื่องของจักรต่างๆ รวมทั้งจักรวาลวิทยาที่ปรากฏในกลัศ




รูปเคารพของพระคเณศปรากฏแบบ กลัศ



กลัศสามใบในมณฑลพิธีมหาศิวราตรี บน มณฑลของศักติและโยคินีต่างๆ ใบสีแดงหมายถึงพระแม่มหาลักษมี ใบสีขาวหมายถึงพระแม่มหาสรัสวตี และใบสีดำหมายถึงพระแม่มหากาลี(ภาพจากเวปสยามคเณศครับ)


ดังนั้น โดยสรุป กลัศที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู จึงอาจแบ่งออกได้ตามวิวัฒนาการและความหมาย ดังนี้
1.เป็นสัญลักษณ์ของหม้อปูรณฆตะ หรือ หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความหมายที่เก่าแก่ที่สุด และสะท้อนระบบชีววิทยาตามแนวคิดพระเวท
2.เป็นตัวแทนของเทวดา วรุณ ซึ่งเป็นเทวดาในฤคเวท
3.เป็นตัวแทนของเทวดาต่างๆ ตามแต่จะสถาปนา เช่น สัตยนารายณ์ พระเทวี และพระศิวะ
4.ในการตีความของบางท่าน กลัศยังหมายถึงจักรวาลวิทยา หรือจะว่าไปเป็น "มณฑล" แบบหนึ่ง และยังเชื่อมโยงไปเรื่องจักรต่างๆ (อันนี้ผมความรู้น้อยต้องขออภัยที่ไม่ได้ให้รายละเอียด)


กลัศ จึงไม่ใช่ "บายศรี" โดยประการสำคัญ คือ กลัศ ไม่ใช่ "เครื่องบูชา" แต่ตัวกลัศเอง เป็น "วัตถุแห่งการบูชา"
แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงอยู่บ้างในเชิงความคิดเช่น การถือว่าบายศรีเป็นเขาพระสุเมรุ(บายศรีปากชาม)หรือการจำลองระบบจักรวาลวิทยาแบบหนึ่ง แต่บายศรีเป็นคติ "ผี"ในสังคมโบราณ ที่มีเรื่องของ "ขวัญ" และถูกทำให้เกี่ยวข้องกับฮินดูในภายหลัง



กลัศทำยังไง ประกอบพิธียังไง

พราหมณ์กำลังประกอบพิธีสถาปนากลัศ (ภาพในงานมหาศิวราตรี ขอบคุณเวปไซต์สยามคเณศ เจ้าของภาพครับ)



การสถาปนากลัศ มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนัก (เช่นของที่ใส่ วัสดุ การห่อหุ้ม สี ฯลฯ)โดยมีโครงสร้างหลักเหมือนกัน คือประกอบด้วยหม้อ บรรจุน้ำ ใบมะม่วงและมะพร้าว


ผมขอยกตัวอย่างการสถาปนากลัศ เท่าที่ทราบจากครูท่าน มาไว้เป็นความรู้นะครับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พราหมณ์โดยมากในฝ่ายเหนือ กระทำกัน

ใช้หม้อน้ำ หากเป็นวัสดุที่กำหนดว่ามีค่าและศักดิ์สิทธิ์ เช่น เงิน ทอง ทองเหลือง ทองแดง ปัญจโลหะ ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องห่อหุ้ม(แต่ต้องพันด้วยสายสิญจน์แดงที่คอกลัศ) หากเป็นหม้อดินเผาต้องหุ้มด้วยผ้าแดง(ท่านว่า เสมือนการห่อหุ้มพระมูรติด้วยเสื้อผ้า) และมี ฝาด้วยเรียกว่า ปูรวปาตฺร ซึ่งจะรองรับมะพร้างวอีกที หม้อนี้ต้องไม่เคยใช้มาก่อน และควรมีขนาดพอเหมาะ คือราวๆ ปากกว้าง 6-9 นิ้ว ไม่มีหู วางมะพร้าวแล้วสวยงาม มะพร้าวไม่หล่นลงไป หรือมะพร้าวใหญ่กว่ากลัศมาก
ในประเพณีทางภาคเหนือ บนปากกลัศ หากใช้มะพร้าว ต้องหุ้มผ้าแดงที่มะพร้าว เสมือนการห่อหุ้มพระมูรติเช่นกัน มะพร้าวต้องรานเปลือกออกให้หมดจะได้ไม่ใหญ่เกินไป นอกจากมะพร้าวแล้ว ในบางกรณี ที่ปากกลัศอาจเป็น เทวรูปของเทวดาประธาน หรือ ประทีป(ในกรณีการบูชาพระสุริยนารายณ์ ในเทศกาลสังกรานติ)



กลัศที่มีเทวรูปพระศิวะอยู่บนปาก ประดิษฐานอยู่กลางมณฑลที่เรียกว่า ทฺวาทศชฺโยติลิงฺคสรฺวโตภทฺรปีฐ(หรือมณฑลแห่งพระชโยติศิวลึงค์ทั้ง 12) เป็นกลัศของเทวดาประธาน ในงานศิวราตรี


เมื่อจะสถาปนากลัศ พราหมณ์จะสวดมนตร์ในคัมภีร์พระเวท เติมน้ำ
อัญเชิญเทวดาวรุณ และเติมสิ่งต่างๆ คือ  ใบมะม่วง (ยอดที่มีใบ 5หรือ9 ใบโดยไม่ฉีกขาด และรูปร่างสวยงาม) ใส่สัปตมฤติกา(ดินจากที่ต่างๆ 7 ที่เช่นที่เลี้ยงโค(โครส)) สัปตเอาษธิ(สมุนไพร 7 อย่างเช่น ขมิ้น หญ้าฝรั่น ฯลฯ)หมากและพลู คัณธะ หรือเครื่องหอม คือ จันทน์น้ำหอมขมิ้นฯลฯ ดอกไม้ หญ้าแพรก เหรียญเงิน และคล้องมาลัยที่ปากกลัศเมื่อบรรจุสิ่งต่างๆแล้วจะปิดด้วยปูรฺวปาตฺรที่หงายขึ้นวางข้าวสารย้อมสีและทำสัญลักษณ์มงคลเช่นสวัสติกะ จากนั้นวางมะพร้าว(ศรีผลหรือนาฬิยัล)บนปูรวปาตฺร  จุลเจิม คล้องดอกไม้ มาลัย บนยอดวางดอกบัว ทำการบูชาและสถาปนาเทวดาให้สถิตยังส่วนต่างๆโดยการถวายอักษัตในส่วนต่างๆ แล้ว ประดิษฐานในมณฑล หรือถ้าไม่ได้สถาปนาปีฐ ต้องวางบนข้าวสารย้อมสีเสมือนเป้นแท่นนั่ง โดยไม่วางกลัศไว้บนโต๊ะหรือที่บูชาเฉยๆ โดยทุกๆขั้นตอนพราหมณ์จะสวดมนตร์ในพระเวทตลอด

นอกจากทำกลัศเพื่อบูชาแล้ว ยังมีการสถาปนากลัศเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นอีก เช่น ในพิธีอภิเษกของบางนิกาย ก้ใช้น้ำจากกลัศในการอภิเษกหรือรดสรงเทวรูปด้วย โดยถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการอภิเษกนักบวชเพื่อเลื่อนฐานะ เช่น เพื่อเป็น สวามี (คล้ายการฮดสรง หรือสถาปนา ครูบา หรือ อาชญา พระสงฆ์ในภาคเหนือและภาคอีสานสมัยก่อน)ใช้รดสรงผู้มีอายุมาก(คล้ายการรดสรงขึ้นพลับพลาของคนแกด่ในภาคใต้)ซึ่งเป็นประเพณีในอินเดียใต้

และในพิธ๊ที่เกี่ยวกับการสถาปนาเทวสถานก็จะมีการสถาปนากลัศ1008 ใบ หรือ108ใบใช้รดสรงเทวรูปประธาน
และการทำศิขรบูชา หรือสถาปนากลัศไว้บนยอดเทวสถาน(ไม่จำเป็นต้องเป็นกลัศจริงๆก็ได้ อาจทำด้วยโลหะ หรือปูนปั้นเป้นรูปกลัศหรือหม้อน้ำ ซึ่งมาจากการสร้างบ้านและเทวสถานของวพราหมณ์ในสมัยโบราณที่ต้องเอาหม้อน้ำไว้บนหลังคาเพื่อกันอัคคีภัยและเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง) ทำการรดสรงยอดนั้นเรียกว่า กุมภาภิเษก(ที่บางคนเรียก กุมบอม?)

พิธีสถาปนาหม้อน้ำ 1008ใบ



พิธีกุมภาภิเษกยอดของเทวสถานและทำศิขรปูชา



จะเห็นได้ว่าการสถาปนากลัศในพิธีกรรมมีความยุ่งยากมาก และเมื่อเสร็จพิธี จะถือว่าน้ำในกลัศ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวิสรชัน หรือเชิญเทวดากลับแล้ว จะเปิดและประพรมเป็นสิริมงคล

ได้เรียนถามท่านครูว่า ถ้าเสร็จพิธีแล้วเราจะทำยังไงกับของต่างๆ ท่านว่า สมัยโบราณ ทุกสิ่งในพิธีต้องยกให้พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี(รวมทั้งแผ่นดิน หรือที่ดินที่ทำยัญญกรรมด้วย) แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว พวกข้าวต่างๆพราหมณ์จะเอาไปรับประทานของใช้เอาไปใช้ แต่สมัยปัจจุบันไม่สะดวก ประสาทต่างๆก็จะเอาไปจำเริญน้ำ หรือลอยน้ำ


จะเห็นได้ว่าการสถาปนากลัศเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก ถ้าหากประสงค์จะสถาปนากลัศให้ถูกต้อง ก็ควรให้พราหมณ์ผู้ชำนาญในพิธีเป็นผู้สถาปนา และชาวฮินดูเองก็ไม่ได้ทำกลัศสถาปนากันบ่อย มักทำเฉพาะในพิธีและโอกาสสำคัญ เช่น คฤหประเวศ(ขึ้นบ้านใหม่) คเณศจตุรถี สัตยนารายณ์ปูชา นวราตรี เป็นต้น


เว้นแต่ต้องการมีกลัศเพื่อใช้ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์มงคล เพื่อความอุดมสมบูรณ์
ในปัจจุบัน มีการทำกลัศในลักษณะสัญลักษณ์มงคลมาก เช่น ทำด้วยวัสดุชนิดเดียวกันประดับประดาสวยงาม และนำมาวางไว้ในที่มงคลของบ้าน โดยมิได้ถือว่าเป็นวัตถุแห่งการบูชาเช่นเดียวกับเทวรูป และไม่ต้องซีเรียสในเรื่องของพิธีกรรมมากนัก



บทความ โดย หริทาส

ท่านใดจะนำไปเผยแพร่ต่อ โปรดแจ้งด้วยครับ

ขอบพระคุณพี่หริทาสมากๆเลยครับสำหรับบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกลัศ

เพราะเรื่องนี้ในความคิดผมเป็นเรื่องที่คลุมเครือมานานพอสมควร

อย่างน้อยๆบทความของพี่หริทาสก็ช่วยทำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกลัศมีความกระจ่างขึ้น

ขอขอบพระคุณด้วยความเคารพในความรู้เป็นอย่างยิ่งเลยครับพี่
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0


Quote from: อักษรชนนี on March 15, 2010, 19:15:03
ขอบพระคุณพี่หริทาสมากๆเลยครับสำหรับบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกลัศ

เพราะเรื่องนี้ในความคิดผมเป็นเรื่องที่คลุมเครือมานานพอสมควร

อย่างน้อยๆบทความของพี่หริทาสก็ช่วยทำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกลัศมีความกระจ่างขึ้น

ขอขอบพระคุณด้วยความเคารพในความรู้เป็นอย่างยิ่งเลยครับพี่

มิได้ครับ รับการคารวะสามจอก 5555


พี่พอมีเวลา และเห็นเรื่องนี้เป้นเรื่องที่คนถามมากคนอธิบายน้อย และกลัว จะ "ไหล"ไปไกล

ก็เลยมาเขียนไว้ก่อนครับบ

ถ้ามีโอกาสคงจะเขียนอะไรต่อมิอะไรมาให้อ่านกันอีกครับ

งั้นผมขอรอปูเสื่ออ่านความรู้ดีๆจากพี่คนแรกเลยคร๊าบบบ ^_^
WELCOME TO HINDUMEETING

เรียน สมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ของเว็บ HinduMeeting
ขอความกรุณาทุกท่านศึกษากฎ กติกา มารยาทของเว็บด้วยนะครับ

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=1423.0

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลดีๆที่นำมาให้

ในใจคิดว่าอยากจะถวายกลัศแด่พระแม่ แต่การทำกลัศแต่ใบพิธียุ่งยากมากเหลือเกิน เลยคิดว่าไม่ทำดีกว่า หากว่าทำไม่เป็นทำสุ่มมี่สุ่มห้าไปจารีตประเพณีจะเสื่อมซะหมด ดังนั้นขอบูชาท่านด้วยกำลังที่เหมาะสมดีกว่า
วงการมายา ไม่ใช่สนามเด็กเล่น แต่เป็นสมรภูมิรบ และ การผูกสัมพันธ์ไมตรี ทั้งจริงและจอมปลอม

มายา ความหมายของมันช่างลึบลับเหลือเกิน

วงการมายาไม่ใช่ของเล่นทั่วไป เข้าแล้วออกยาก ระวังเอาไว้

ขอบคุณความรู้ดีๆครัฟ
ได้ความรู้ประดับปัญญา
เหมือนได้อาภรณืประดับกายครัฟ

ขอบคุณอาจารย์พี่ตุลครับ ^^

 

    กราบขอบพระคุณพี่ตุล   ขวัญใจพวกเราชาว HM อีกครั้งคะ    สำหรับความรู้ดีๆที่อัดแน่นไปด้วยสาระจริงๆ ...


ขอบคุณครับสำหรับความรู้ที่นำมามอบให้ครับ
โอม ทัต ปูรูชยา วิดมาเฮ วักรา ทุนดายา ดีมาฮี ทะโน ทันติ ปราโชดายะ 

ขอบพระคุณในการนำความรู้ใหม่ๆๆมาให้ได้เข้าใจนะคะ
Om Shrim Maha Lakshmiyei Swaha

อ๋ออย่างนี้นี่เอง  ขอขอบพระคุณสำหรับ

ข้อมูลดีๆ  และรูปภาพสวยๆครับ

ขอบคุณครับ


ขอดันกระทู้ความรู้ดีๆจากท่านผู้รู้จริงนะครับ

ขอขอบพระคุณ  คุณหริทาส  อีกครั้งครับ
 

พฤษภกาสรอีกกุญชรอันปลดปลง
   โททนต์เสน่คงสำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวายมลายสิ้นทั้งอินทรีย์   สถิตทั่วแต่ชั่วดีประดับไว้ในโลกา

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์      มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด   ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน