กทม.ฟื้น'โล้ชิงช้า' ร่วมเฉลิม 84พรรษา
.
(https://forum.hindumeeting.com/proxy.php?request=http%3A%2F%2Fwww.uppicweb.com%2Fx%2Fi%2Fif%2Fp7402.jpg&hash=6829d74f1a005930cb0682cb8a0c90653bdf26e8) (http://www.uppicweb.com/show.php?id=b89cefe8b9defe9fe3c570656e0502ae)
.
ฮือฮา! กทม.เล็งฟื้นพิธีโล้ชิงช้าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากพิธียกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่คนไทยและบ้านเมืองมีความสงบสุข .
รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานครแจ้งว่า ผู้บริหาร กทม.มีแนวคิดรื้อฟื้นพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ณ เสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งพิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี 2474 การจัดพิธีโล้ชิงช้าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา หรือ 7 รอบในปี 2554 .
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้หารือกับพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าสำนักพราหมณ์ในสำนักพระราชวัง ซึ่งท่านเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ทางผู้บริหาร กทม.จะดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเตรียมจัดพิธีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ความไม่สงบ ความวุ่นวายทางการเมือง กทม.จึงมีแนวคิดฟื้นฟูพิธีโล้ชิงช้าที่ยกเลิกไปนานแล้วกลับมาให้ประชาชนชาวไทยได้สัมผัสพระราชพิธีคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้คนไทยอีกด้วย .
"เสาชิงช้าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2327 ปัจจุบันมีอายุ 226 ปี กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปี 2492 โดยมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตาม ทางวิศวกรจะต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเพื่อความปลอดภัย และป้องกันอันตรายในการประกอบพิธีโล้ชิงช้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดพิธีครั้งนี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และเกิดความศักดิ์สิทธิ์เหมือนในสมัยโบราณ" แหล่งข่าวกล่าว. จากเอกสารของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์อธิบายถึงพิธีโล้ชิงช้าว่า เป็นพิธีกรรมในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของพราหมณ์ เชื่อว่ากันพระอิศวรเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ทุกปี จึงจัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตและความเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระนคร ส่วนการโล้ชิงช้าจัดแสดงตำนานเทพเจ้าสร้างโลก โดยเสาทั้งสองข้างแทนภูเขาใหญ่ ผู้โล้ชิงช้าเป็นตัวแทนพญานาคมายื้อยุดทดสอบความแข็งแรงของโลก พระยายืนชิงช้าเป็นตัวแทนพระอิศวรมาเยี่ยมโลก และทดสอบความแข็งแรงโดยยืนขาข้างเดียว แต่พิธีนั้นให้พระยานั่งไขว้ห้างแทน ซึ่งคตินี้สอนเรื่องความไม่ประมาท. พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความวิตกกังวลว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน ดังนั้น พิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็นต้นพุทรา ช่วงระหว่างเสาคือแม่น้ำ ผู้ทำหน้าที่โล้ชิงช้าคือนาลิวัน เปรียบเป็นพญานาค โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ .
ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เท่านั้น. .
.
ที่มาของข่าวจาก : http://www.thaipost.net/x-cite/120810/26061 (http://www.thaipost.net/x-cite/120810/26061)
เป็นข่าวที่น่าสนใจนะคับ แต่ว่างอค์ประกอบของการโล้ชิงช้า ไม่ได้มีแต่การโล้ชิงช้าเพียงอย่างเดียว
กระบวนการเริ่มตั้งแต่การแห่เทวรูป แห่พระยายืนชิงช้า ฯลฯ ที่เป็นองค์ประกอบอีกมาก ทั้งนี้ถ้าเอากันครบจริงๆ
ก็รวมไปถึงการตรียัมปวายที่พระอุโบสถวัดพระแก้วด้วย
แต่สำคัญที่สุด จะรื้อฟื้น"พระราชพิธี"อย่างไร ให้เป็น "พระราชพิธี" และไม่กลายเป็น"งมงาย"
ถ้าแก่นของพระราชพิธีนี้คือ "ความไม่ประมาท" จะรื้อฟื้นอย่างไรให้คนเข้าใจได้ว่า
พระราชพิธีนี้มีจุดมุ่งหมายอย่างไร นอกไปจากการสักการะบูชาพระเป็นเจ้าเพื่อความ
สวัสดิมงคลแต่อย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้